คืนชีพป่าหลังไฟไหม้ เร็วหรือช้า ‘โลกร้อน’ คือกุญแจสำคัญ - Urban Creature

ความสมดุลคือคุณตามธรรมชาติ ดินน้ำลมฟ้าอากาศเติมวาดชุบชีวิตชน หมู่ไม้พันธุ์อยู่กันมาหลายชั่วคน ให้ใบให้ดอกให้ผลให้คนได้ผลประโยชน์” – ชีวิตสัมพันธ์/คาราบาว

คำนิยามของ ‘ไฟป่า’ คือไฟที่เกิดจากสาเหตุใดก็ตามที่ปราศจากการควบคุม จนลุกลามและเผาผลาญเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหญ้า ใบไม้ กิ่งไม้แห้ง ท่อนไม้ ตอไม้ วัชพืช เป็นต้น

ณ ปัจจุบัน ปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบได้อย่างกว้างขวางและรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ระบบธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต ที่อยู่อาศัย ระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงความรู้สึกและจิตใจของมนุษย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ภาคเหนือในประเทศไทยเผชิญปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันมาอย่างยาวนานหลายปี เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้รับการแก้ไข และจะเป็นจุดสนใจให้กับสื่อเฉพาะเวลามีปัญหาให้เห็นชัดเจนเท่านั้น และจากการคาดคะเนทั้งนักวิชาการ คนพื้นที่ และทางราชการก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาคเหนือจะต้องเผชิญปัญหาไฟป่าต่อเนื่องไปอีกทุกปี นั่นส่งผลให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือพุ่งทะลุสถิติ จนเคยครองแชมป์อันดับหนึ่งของโลกมาแล้ว

Photo Credit : bit.ly/2LmQPrr

ไฟดุ รุนแรง และมีผลกระทบมากกว่าทุกปี

นโยบายห้ามเผาของรัฐบาลซึ่งออกมาเพื่อยับยั้งการเกิดไฟป่าจากน้ำมือมนุษย์นั้นอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเสียทีเดียว ชุมชนบนดอยหรือชุมชนในป่าเขา ยังจำเป็นต้องเผาเพื่อการทำไร่หมุนเวียน เป็นลักษณะการเผาเพื่อยังชีพ แต่เมื่อนโยบายของรัฐบาลออกมา ทำให้ต้องไปแอบเผาที่ไกลๆ อาจยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามากขึ้น

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจได้มีโอกาสสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ โดยชี้ว่า สาเหตุที่ไฟป่าปีนี้หนักกว่าปีก่อนๆ เพราะในปีที่ผ่านมาเริ่มมีการรณรงค์ไม่ให้เผาจึงเกิดการสะสมของเชื้อเพลิงในป่า เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นจึงยากต่อการดับไฟและควบคุมไม่ให้ลุกลาม

สภาพอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้น ป่าดิบชื้นที่สะสมเชื้อเพลิงมามากพอตัวจะติดไฟง่ายและมีลักษณะไฟที่สูงกลายเป็นไฟเรือนยอด (Crown Fire) และไฟใต้ดิน (Ground Fire) ซึ่งเป็นไฟที่แรงและมาคุมากๆ จะไหม้ตอไม้อยู่ 7 – 10 วัน และถึงแม้ว่าไฟข้างนอกจะถูกดับไปแล้ว แต่ตอไม้ที่ยังไหม้ก็สามารถปะทุขึ้นเป็นไฟป่าได้อีก ชาวบ้านเหล่านั้นให้คำนิยามเหตุการณ์ไฟป่าในปีนี้ว่า ‘ไฟดุ’

Photo Credit : bit.ly/3dCGRhK

ควันหลงที่ไม่เหมือนเดิม

ถึงแม้ว่าไฟป่าจะสร้างความเสียหายในหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ผู้คน และที่อยู่อาศัย แต่หากพูดถึงเรื่องไฟและตัวป่าแบบเอกเทศแล้ว เหตุการณ์ไฟป่าก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ธรรมชาติที่มีผลทั้งด้านลบและบวก

ไฟป่านั้นจริงๆ แล้วเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สำคัญ ป่าที่เกิดขึ้นมานานจะอุดมไปด้วยเศษซากพืช สัตว์ แมลงที่รอกาลเวลาย่อยสลาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟป่า ซากพืชซากสัตว์เหล่านี้จะถูกทับถมอยู่ในผืนดินแทนที่จะต้องรอคอยวันเวลาย่อยสลาย

และเมื่อไฟได้ถาโถมเข้ามาในส่วนของพุ่มไม้ มันจะเผาทำลายจนแสงพระอาทิตย์สามารถส่องถึงพื้นผิวป่า เป็นสารอาหารให้พืชพื้นเมืองสามารถเจริญเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง เปลวไฟจึงเป็นวิธีธรรมชาติรูปแบบหนึ่งที่สามารถไล่วัชพืชที่แย่งสารอาหารและพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่หลงเข้ามาได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถกำจัดโรคที่ไม่พึงประสงค์ และกำจัดแมลงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเจริญเติบโตต่อพืชป่า

แต่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พันธุ์พืช
ไม่สามารถเติบโตบนผืนป่าได้เหมือนเดิม

Dr.Camille Stevens-Rumann ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโดและอดีตนักดับเพลิง ได้เผยแพร่ผลงานที่ชื่อว่า Ecology Letters เป็นผลวิจัยเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า ศาสตราจารย์ท่านนี้ได้ทำการศึกษาเหตุการณ์ไฟป่ามากว่า 1,500 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1988 – 2011

เขาค้นพบว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นก่อน ค.ศ. 2000 กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ไฟป่าจะกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม พืชพันธุ์ต่างๆ นานากลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่หลัง ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป ตัวเลขหล่นเหลือเพียง 46 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในสามของพื้นที่ที่โดนไฟไหม้จะไม่มีต้นไม้เจริญเติบโตได้เลย

ผืนป่าและต้นไม้ต้องการความชื้น เพราะมันเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้หลังจากไฟป่า โดยความชื้นที่ธรรมชาติต้องการบางครั้งจะมาในรูปแบบของ ‘ฝน’ ที่ตกลงมาเพื่อชำระล้างความสกปรกหลังไฟป่าให้สะอาดและชุ่มชื้น พร้อมให้สารอาหารตามที่สิ่งมีชีวิตสีเขียวต้องการ เมล็ดพันธุ์ที่ฝังไว้ในดินได้มีโอกาสเฉิดฉายหาแสงอาทิตย์ แต่เมื่อโลกร้อนขึ้น สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปมากจนแทบกู้ไม่กลับ เม็ดฝนที่ควรตกลงมากลับน้อยลง นั่นจึงส่งผลให้ป่าฟื้นตัวยากกว่าเคย

Photo Credit : bit.ly/3fHJDnF

ลำดับขั้นป่าฟื้นฟูตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หากฝนเริ่มโปรยปราย สิ่งที่ฟื้นตัวเป็นอันดับแรกคือหน้าดิน โดยไฟที่เกิดจากการตั้งใจจุด (Prescribed Fire) เพื่อเพิ่มสารอาหารและปรับสภาพหน้าดินจะสร้างความเสียหายให้ป่าน้อยมาก และป่าจะฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นไฟที่สร้างความเสียหายมากกว่า การปรับสภาพหน้าดินจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูมากพอสมควร หลังจากนั้น ดอกไม้ป่าหรือวัชพืชขนาดเล็กที่เกิดได้ง่าย เช่น ต้นหญ้า จะเติบโตขึ้นบนหน้าดิน

ตามมาด้วยต้นไม้สายพันธุ์บุกเบิก (Pioneer Species) จะเป็นพืชกลุ่มแรกที่สามารถตั้งรกรากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยังไม่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะหลังจากไฟป่า เป็นพืชที่โตช้าและไม่เหมาะที่จะมาใช้ในปศุสัตว์ เมื่อพืชเหล่านี้เติบโตและเริ่มปกคลุมหน้าดิน จะก่อให้เกิดชั้นของดินขึ้น และป่าจะเริ่มมีความชื้นและความเย็นของบรรยากาศ

Photo Credit : Adobe Stock

ต้นไม้สูงหรือเถาวัลย์ไม่สามารถมีชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบนี้ แต่เหล่า Pioneer Species ได้ทำการบำรุงป่าโดยเพิ่มสมรรถภาพของดินและบรรยากาศให้ดีขึ้น อากาศ ความชื้น น้ำ เริ่มเข้าที่ ส่งผลให้เหล่าต้นไม้สูงและไม้ยืนต้นเจริญเติบโตในผืนป่าที่เคยไหม้เกรียมเป็นลำดับถัดมา 

“ต้นไม้สูงที่เริ่มงอกเงย คือสัญญาณที่บอกว่า ป่าเริ่มกลับสู่สภาพเดิม ความมั่นคงและธรรมชาติกำลังสร้างป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
และตามมาด้วยการหวนมามีชีวิตอีกครั้งของเราเหล่าสัตว์ป่าน้อยใหญ่”

การกู้สภาพแวดล้อมและบรรยากาศจากไฟป่าขนาดใหญ่นั้นอาจต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์ ทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง การดูแลผืนป่า คน และสิ่งมีชีวิตเมื่อเกิด พร้อมด้วยมาตรการเยียวยาหลังเกิดไฟป่าขึ้น ทั้งยังต้องควบคู่มากับสภาพภูมิอากาศที่ดี ไม่ร้อนจัด หนาวสุด หรือแปรปรวนเช่นที่เป็นอยู่ ดังนั้นพวกเราควรช่วยกันคนละไม้คนละมือในการบำรุงป่าให้อุดมสมบูรณ์ ไปพร้อมกับการใช้ชีวิตอย่างคำนึงถึงโลก เพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน


Sources :
Frontline Wildfire | shorturl.asia/p8XcL
HowStuffWorks | shorturl.asia/d4Yhn
National Geographic | shorturl.asia/beWjz
ประชาชาติธุรกิจ | shorturl.asia/l9vdc

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.