เคยรู้สึกไหมว่าทำไมอากาศบ้านเรายิ่งร้อนขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเข้าหน้าร้อนไวขึ้นกว่าปกติ และหน้าร้อนยังมีช่วงเวลานานขึ้นอีกด้วย
นี่อาจไม่ใช่แค่ความรู้สึก แต่นี่คือเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ของเรา เพราะท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้นในทุกๆ ปี ภัยพิบัติก็เริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เช่น พายุขนาดใหญ่ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สัตว์เริ่มสูญพันธุ์ ล้มตาย และขาดแคลนแหล่งอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญอย่างอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลง
| ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมคือจุดเปลี่ยนสำคัญ
เมื่อเวลาล่วงเลย วิวัฒนาการของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงจากยุคหิน ยุคทองสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก จนเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ ในปี 1760 ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลอังกฤษ โดยในช่วงแรกพัฒนาจากการเกษตรแบบชนบทเป็นการเกษตรแบบเมือง และกลายเป็นอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจรในที่สุด
ความผิดปกติของสภาพอากาศที่เห็นได้ชัดเจนเกิดขึ้นระหว่างปี 1877 – 1878 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่โลกประสบเหตุการณ์มากมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่เอลนีโญที่รุนแรงไปจนถึงภัยแล้งที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ความอดอยากครั้งใหญ่ และการระบาดของโรคครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 19 – 50 ล้านคน
| อุณหภูมิโลกเราเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่แล้ว
แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งความเจริญ แต่โลกก็ต้องสูญเสียความสมบูรณ์ของธรรมชาติอันเนื่องจากผลกระทบจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ซึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน
หากสรุปจากสถิติอุณหภูมิโลกตั้งแต่ต้นยุคอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบกันทุกเดือนตั้งแต่ปี 1851 – 2020 จะพบว่าอุณหภูมิโลกตลอด 169 ปีค่อยๆ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ช่วงปี 1851 – 1935
ช่วงเวลาของการเริ่มต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ -0.4 °C และสูงสุดอยู่ที่ +0.6 °C
ช่วงปี 1936 – 2020
ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ +0.6 °C และสูงสุดอยู่ที่ + 1.5 °C
แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในทั้งสองช่วงเวลามี ‘ความแตกต่าง’ โดยในช่วงปี 1851 – 1935 ยังมีการลดลงของช่วงอุณหภูมิอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับ ช่วงปี 1936 – 2020 อัตราการลดลงของอุณหภูมิไม่มีเลย มีแต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเท่านั้น
ในปัจจุบันตัวเลขอุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 °C โดยกรมอุตุฯ แห่งสหราชอาณาจักรคาดการณ์เอาไว้ว่าอุณหภูมิของโลกปี 2021 จะยังคงร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9 – 1.15 °C และนอกจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ความถี่ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ ดังนี้
ช่วงปี 1880 – 1980 อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่มีความถี่เฉลี่ยอยู่ที่ 13 ปี
ช่วงปี 1981 – 2016 อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่มีความถี่เฉลี่ยอยู่ที่ 3 ปี
ช่วงปี 2017 – 2020 อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่มีความถี่เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ปี
อัตราความถี่ยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ นี้เป็นปัจจัยที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากข้อมูลของ NASA และองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ บอกเอาไว้ว่า ช่วงปี 2010 – 2020 ถือเป็นทศวรรษที่อากาศเลวร้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
| โลกสมัยใหม่ในโซนสีแดง
ในขณะที่โลกหมุนไป ความรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรมกระจายออกไปทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่พุ่งสูงขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังภาวะโลกร้อน ณ ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่จะตระหนักและหันมาช่วยกันหยุดอุณหภูมิโลกเอาไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 °C ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 45 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และลดให้ใกล้ 0 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050
แต่หากมนุษย์ไม่สามารถลดปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จนอุณหภูมิพุ่งสูงจากเดิม 2 °C เมื่อไหร่ นั่นจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Hothouse Earth หรือภาวะที่โลกร้อนเหมือนอยู่ในเตาอบ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เลวร้ายและจะร้อนที่สุดในรอบ 1.2 ล้านปี ถึงตอนนั้นมนุษย์จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก หรือจุดที่เรียกว่า Point of no return
Sources :
BBC | https://bbc.in/2QjsqJi
Greenpeace | https://bit.ly/3taPR5W
Nasa | https://go.nasa.gov/2PZqQfN
Visual Capitalist | https://bit.ly/327mupc