ปัจจุบันผู้คนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การเงิน และความรัก ทำให้พวกเขาหมดหวังและหาคำตอบให้อนาคตของตัวเองไม่ได้ เมื่อรู้สึกกังวลและไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิตดี คนจำนวนไม่น้อยจึงหันไปพึ่ง ‘การดูดวง’ ที่อาจช่วยปลอบประโลมให้พวกเขาเตรียมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
เมื่อมีคนเชื่อในการทำนายโชคชะตามากกว่าแต่ก่อน หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ตามมาคือ จำนวนของคนทำอาชีพ ‘หมอดู’ ที่ดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมการดูดวงที่ได้รับความนิยมก็มีหลายรูปแบบ ทั้งการอ่านลายมือ การเปิดไพ่ยิปซี การใช้ตัวเลข ฯลฯ ทั้งยังทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแบบตัวต่อตัว การโทรศัพท์และส่งข้อความทางไลน์ ไปจนถึงการดูคลิปวิดีโอที่อัดไว้แล้ว
เมื่อบริการดูดวงแพร่หลายจนกลายเป็นประเภทธุรกิจที่น่าจับตามอง ในฤดูเสียภาษีแบบนี้ เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่ทำอาชีพหรือธุรกิจเกี่ยวกับการดูดวงต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับมนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ หรือไม่
ข้อมูลจากช่อง YouTube ชื่อ ‘เก่งบัญชี ภาษีบรรเทา’ อธิบายไว้ว่า การทำธุรกิจหมอดูในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ ‘การดูดวงออนไลน์’ ซึ่งการเสียภาษีของผู้รับจ้างดูดวงแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
1) ธุรกิจดูดวงแบบจัดตั้งบริษัท : เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษี VAT
กรณีที่ผู้ประกอบการจัดตั้งบริษัท และมีหมอดูหรือซินแสหลายคนให้บริการลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์หรือผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีรายได้และต้องเสียภาษี หากบริษัทมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย เพราะฉะนั้นต้องเสียทั้ง ‘ภาษีเงินได้นิติบุคคล’ และ ‘ภาษี VAT’
สำหรับ ‘ภาษีเงินได้นิติบุคคล’ คือการเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นของบริษัท โดยคำนวณจาก ‘เรตภาษี’ คูณด้วย ‘กำไร’ ของบริษัท ซึ่งกำไรได้มาจากการเอารายรับมาหักจากรายจ่าย ทั้งนี้ บริษัทต้องเก็บเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับรายจ่ายทั้งหมดเพื่อนำมาทำรายการค่าใช้จ่ายด้วย เช่น Pay-In Slip และใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
หลังจากนำรายรับหักด้วยรายจ่ายจนได้กำไรออกมาแล้ว ให้นำกำไรนั้นไปเสียภาษีตามอัตราขั้นบันไดของธุรกิจแบบ SMEs ซึ่งมีเรตภาษีอยู่ 3 ขั้น ได้แก่
— กำไร 300,000 บาทแรก : อัตราภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ (ไม่ต้องเสียภาษี)
— กำไร 300,001 – 3,000,000 บาท : อัตราภาษี 15 เปอร์เซ็นต์
— กำไร 3,000,001 บาทขึ้นไป : อัตราภาษี 20 เปอร์เซ็นต์
สำหรับ ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)’ การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์จากฐานมูลค่าบริการ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการให้บริการหรือการชำระเงิน ทำรายการภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งด้วยแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป รวมถึงต้องยื่นเอกสารปิดงบการเงินรายปีของบริษัทด้วย
2) ธุรกิจดูดวงแบบไม่จัดตั้งบริษัท : เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับธุรกิจที่มีรายได้เกินกว่า 60,000 บาทต่อปี จะต้อง ‘ยื่นแบบภาษี’ แต่ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากรายได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ หากมีรายได้สุทธิ 150,000 บาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษี โดยคำนวณจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได
สอดคล้องกับ ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร ที่ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ iTAX ไว้ว่า ผู้ที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์ เช่น ขายของออนไลน์หรือมีรายได้ทางออนไลน์ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทที่ 8 หรือ ‘เงินได้ 40(8)’ กล่าวคือ เงินได้พึงประเมินที่ไม่สามารถจัดให้เข้ากลุ่มเงินได้ประเภทที่ 1 – 7 ได้ และไม่ได้รับยกเว้นภาษีด้วย จึงยังทำให้ผู้ที่รับเงินทางช่องทางดังกล่าว ซึ่งรวมถึงคนที่ทำอาชีพ ‘หมอดู’ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่นั่นเอง
Sources :
Bangkok Biz News | bit.ly/3LDf8Sm
Keng Bunchee PaSi Buntao | bit.ly/40l0SBJ
PEAK | bit.ly/3ZWeqnN
TradingView | bit.ly/40fQXxt
Welcome to MuTown คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนมีนาคม 2566 จาก Urban Creature ที่จะมาบอกเล่าถึงพฤติกรรมและเทรนด์ของคนเมืองรุ่นใหม่ที่พึ่งพาที่พึ่งทางใจอย่างการมูเตลูมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ปัจเจกแต่ยังรวมไปถึงผู้ประกอบการ บริษัท และผู้มีอำนาจในสังคม และพาไปดูความสำคัญของสถานที่ขอพร แลนด์มาร์กสำคัญๆ ในแต่ละย่านที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ รวมถึงสำรวจโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกระแสมูฯ นี้