กรวยจราจรเหตุเกิดจาก พนง. ทาสีถนน จนได้เครื่องหมายจราจร

กว่าจะมาเป็น ‘กรวยจราจร’ สีส้มแปร๊ดตั้งตระหง่านอยู่บนท้องถนน และเป็นสัญลักษณ์จราจรของสากลโลกที่บอกว่าเป็น ‘พื้นที่ห้ามเข้า’ ชนิดที่ต่อให้คุณบิดคันเร่งสุดแรง เหมือนดอมินิก ทอเรตโตเข้าสิงก็ต้องหักพวงมาลัยหลบทางให้ ซึ่งก่อนหน้านั้นมนุษย์เราเคยใช้ ‘แผงไม้’ กันมาก่อน แต่บ่อยครั้งที่โดนรถยนต์สอยกระจุยกระจาย แถมสร้างอันตรายให้ผู้ขับขี่ทวีคูณ ทำให้การใช้แผงไม้จึงไม่เวิร์กอย่างแรง!

‘Charles D. Scanlon’ พนักงานทาสีบนท้องถนนในเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา คลุกคลีกับรถที่เหยียบเส้นถนนที่ลงสีไว้แล้วยังไม่แห้งจนเลอะเทอะพื้นไปทั่ว หรือรถยนต์พุ่งเข้ามาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยขณะปฏิบัติงานอยู่บ้าง ทำให้เขารวบปัญหาทั้งหมดแล้วคิดค้น ‘กรวยจราจร’ เพื่อบอกรถยนต์ที่ขับผ่านไปมา กรุณาใช้ช่องทางอื่น เพราะสีเส้นถนนยังไม่แห้งค้าบโผ้มมมม (เสียเวลาทาใหม่แหละ)

Photo Credit : Traffic Safety Store
first-traffic-cone
Photo Credit : Traffic Safety Store

หลังจากตัดสินใจว่าจะทำกรวยจราจร ในปี 1940 เขาจึงเอาหนังมาเย็บเป็นทรงกรวยถูๆ ไถๆ ใช้งานไปก่อน หากรถคันไหนเกิดอุบัติเหตุขับชนกรวย อย่างน้อยมันก็ไม่ทำอันตรายต่อรถและผู้ขับขี่แน่นอน ซึ่งพอได้ลองใช้ปรากฏว่าเวิร์กซะงั้น เพราะรถหลายคันทยอยขับเบี่ยงทางและเดาได้ว่าข้างหน้าต้องมีการทาเส้นถนนอยู่แน่ๆ 

ในปีเดียวกัน Scanlon ยื่นจดสิทธิบัตร ‘กรวยจราจร’ และได้รับสิทธิบัตรในปี 1943 ในชื่อว่า ‘Safety marker (US 2817308)’ แถมเขายังตั้งกฎสำหรับการผลิตกรวยจราจรขึ้นมา 3 ข้อ
1. ใช้สีสันที่รถต้องมองเห็นได้ง่าย และวัสดุที่ใช้ต้องไม่สร้างความเสียหายแก่รถยนต์
2. ใช้พื้นที่จัดเก็บน้อยและขนย้ายได้ง่าย
3. ถ้ากรวยโดนรถเสยจนเหินฟ้าต้องตกลงมาในแนวตั้งเหมือนเดิม 

หลังใช้ไปสักพัก Scanlon ยังเห็นข้อเสียของกรวยจราจรอยู่เล็กน้อย พอเข้าสู่ช่วงปี 1955 เขาจึงปรับปรุงวัสดุให้ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม เวลากรวยโดนชนแล้วยุบเข้าไปจะคืนรูปกลับมาเหมือนใหม่ ซึ่งเขาได้รับสิทธิบัตรความยืดหยุ่นของกรวยในปี 1957 แต่ Scanlon ก็มีคู่แข่งลับๆ อย่าง ‘Herman Blumenthal’ ผู้พัฒนาให้กรวยจราจรมีฐานสี่เหลี่ยมขึ้นมา เพื่อไม่ให้กรวยกลิ้งอีเหละเขะขะเวลาล้มลง โดยมีชื่อเรียกว่า ‘Traffic Cone’ ซึ่งเขาได้รับสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมาทำให้ Scanlon หมดสิทธิ์พัฒนาฐานกรวยของตัวเองไปโดยปริยาย

ถึงแม้จุดเริ่มต้นของกรวยจราจรถูกใช้เพื่อกั้นพื้นที่สำหรับทาสีเส้นถนน แต่ปัจจุบันมันถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใช้กั้นทาง กั้นพื้นที่จอดรถ ตั้งด่านตรวจ หรือปิดช่องทางจราจร ซึ่งกรวยจราจรที่เราเห็น คือส่วนผสมระหว่าง ‘Scanlon’ และ ‘Blumenthal’ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว และเสริมให้กรวยจราจรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งสีส้มแสดเน้นมองเห็นระยะ 100 เมตรแล้วเด่นมาแต่ไกล บางครั้งมีแถบนีออนสะท้อนแสงมาด้วย เพื่อให้ใช้งานตอนกลางคืนได้สะดวก ส่วนฐานของกรวยเป็นทรงแบนเพื่อบาลานซ์ระหว่างน้ำหนักและส่วนสูงอย่างมั่นคง เพื่อให้แน่ใจได้ว่าไม่ปลิวหาย หรือหากโดนชน เวลาตกลงมาจะตั้งได้เหมือนเดิม ที่สำคัญรูด้านบนและด้านล่างมีเอาไว้เพื่อซ้อนกรวยเก็บได้ง่าย และการที่มีรูระบายด้านบนนั้นก็ยังใช้เสียบธงหรือป้ายได้ด้วย สุดท้ายคือการใช้พลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อให้กรวยนุ่มและยืดหยุ่น ไม่แตกกระจุยเพราะกระแทกกับรถยนต์ (ไม่นับกรวยอันแห้งกรอบเสื่อมคุณภาพจากแดดเปรี้ยงที่พร้อมสละชีพนะ)

นอกจากนี้ กรวยยังมีหลายขนาด น้ำหนัก และจุดประสงค์ในการใช้แตกต่างกันออกไป เช่น ขนาด 28 นิ้ว น้ำหนัก 4.54 กิโลกรัม นิยมใช้บนทางหลวง เพราะน้ำหนักเยอะช่วยให้กรวยไม่ปลิวหายไปตามความเร็วรถ ขนาด 28 นิ้ว น้ำหนัก 3.17 กิโลกรัม นิยมใช้บนถนนทั่วไป ขนาด 18 นิ้ว น้ำหนัก 1.36 กิโลกรัม ใช้สำหรับกั้นเขตเพื่อวาดเส้นบนถนน หรือขนาด 12 นิ้ว น้ำหนัก 680 กรัม ใช้สำหรับตั้งหน้าบ้าน หรือใช้งานเบาๆ

แน่นอนว่ากรวยจราจรถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ความปลอดภัย และเตือนผู้ขับขี่รถบนท้องถนนว่ากำลังมีการก่อสร้าง อุบัติเหตุ เบี่ยงเส้นทาง หรือบริเวณนั้นไม่ปลอดภัยที่จะขับเข้าไป ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมากว่าแปดทศวรรษ กรวยจราจรได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนไปแล้ว หากไม่มีกรวย เราคงนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเอาอะไรมาแทน เพราะฉะนั้นต้องขอบคุณ “Charles D. Scanlon, Thank you three times!”

Sources :
Cityworks
Dornbossign
Dpark
Traffic Safety Store

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.