สัญญาณไฟเหลือง เตรียมหยุด หรือ เตรียมเหยียบ - Urban Creature

ฮันแน่~ ชอบเร่งเครื่องตอนเห็นไฟเหลืองกันหรือเปล่า ถ้าเคยทำหรือยังทำอยู่อยากให้ลองอ่านเรื่องราวเหล่านี้ดูสักนิด แล้วคุณอาจจะเปลี่ยนความคิดใจเย็นลง เมื่อไฟสีเหลืองอำพันแสดงอยู่บนเสาสัญญาณจราจร เราต้องทำตัวอย่างไรดี

หลักการทำงานง่ายๆ ของไฟจราจรคือการใช้สีบ่งบอกสัญญาณการขับขี่ ไฟเขียวคือสัญญาณให้รถวิ่ง ในทางกลับกันไฟแดงคือสัญญาณบ่งบอกว่าให้หยุดรถ ทว่าไฟเหลืองกลับมีความพิเศษมากไปกว่านั้น เพราะสำหรับบางคนเห็นไฟแล้วเตรียมตัวหยุด แต่หลายคนเมื่อเห็นไฟเหลืองก็เปลี่ยนตัวเองเป็นวัวกระทิงที่พร้อมพุ่งกระโจนใส่ไฟเหลืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีโอกาสก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่าปกติ


| ขับรถฝ่าไฟเหลืองผิดมั้ยนะ

คำตอบคือผิด แต่มีข้อยกเว้นบางกรณีอ้างอิงตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ระบุไว้ว่าผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏข้างหน้าในกรณีต่อไปนี้ สัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพัน ให้ผู้ขับขี่เตรียมหยุดรถหลังเส้น เพื่อเตรียมปฏิบัติตามสัญญาณที่จะปรากฏต่อไป เว้นแต่ผู้ขับขี่ที่ได้ขับเลยเส้นรถหยุดไปแล้วขณะเกิดไฟเหลืองให้ขับรถเลยไปได้ เท่ากับว่าถ้าขับรถผ่านเส้นหยุดก่อนที่ไฟเหลืองขึ้นมีโทษปรับ 1,000 บาท นั่นเอง


| แต่ในบางครั้งเราก็ไม่ได้ตั้งใจขับรถฝ่าไฟเหลือง

หากไม่นับในบางครั้งที่เราอาจไม่ได้ตั้งใจจะทำผิด แต่การออกแบบสัญญาณไฟจราจรดันไม่เอื้อต่อการขับขี่เท่าที่ควร เช่น สัญญาณไฟจราจรบางแยกไม่มีตัวเลขนับถอยหลังระบุให้ชัดเจน หนำซ้ำบางแยกไฟเขียวยังไม่มีฟังก์ชันกะพริบเพื่อส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ก่อนจะเปลี่ยนเป็นไฟเหลือง แต่จะเปลี่ยนแบบฉับพลันในขณะที่รถขับด้วยความเร็ว ทำให้ชะลอรถไม่ทันเพราะการเบรกกะทันหันอาจจะเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ จึงต้องตัดสินใจขับรถฝ่าไปในที่สุด

ความจริงตามกฎจราจรประเทศไทยมีระยะเวลาไฟเหลืองเฉลี่ยราว 3 วินาทีบวกกับระยะเวลาไฟแดงของจุดอื่นอีก 2 วินาทีเพื่อความปลอดภัย โดยระยะเวลาดังกล่าวถูกคำนวณให้คนขับมีเวลาเพียงพอเพื่อจะหยุดรถทันเมื่อขับขี่รถด้วยความเร็วตามกฎหมาย แต่หากขาดสัญญาณบอกก่อนเปลี่ยนสีก็ยากที่จะคำนวณระยะในการเบรกรถได้ ซึ่งพบว่าแยกไหนมีระยะเวลาไฟเหลืองต่ำกว่า 3 วินาที สามารถแจ้งสำนักจราจรฯ กทม. มาแก้ไขให้ตรงมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยเช่นกัน


| ช่วงเวลาวัดใจของไฟเหลือง คือโอกาสเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุ

จากพฤติกรรมการขับขี่ที่หละหลวมของคนไทย อาจไม่แปลกใจที่ข้อมูลจาก WHO จะรายงานว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และที่สำคัญในทวีปเอเชีย ไทยนับเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด

และจากรายงานวารสารวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังบอกข้อมูลบริเวณจุดเกิดเหตุที่น่าสนใจเอาไว้อีกว่า อุบัติเหตุที่เกิดบริเวณทางแยกคิดเป็นร้อยละ 5 – 7 ของตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด โดยเฉพาะแยกที่มีการควบคุมด้วยไฟสัญญาณจราจร หากผู้ขับขี่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรจะส่งผลให้ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นมากกว่าอุบัติเหตุจากกรณีอื่นๆ

จึงทำให้รู้ว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาต้นหรือปลายของสัญญาณไฟ หรือในช่วงคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนสัญญาณไฟ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาวัดใจของผู้ขับขี่บนถนน บางคนตั้งมั่นในการเอาชนะไฟเหลือง แม้ตัวเลขความน่าจะเป็นของการเกิดอุบัติเหตุอาจจะไม่มากนัก แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพที่ไม่สามารถซื้อหากันได้แล้ว ตัวเลขความน่าจะเป็นเพียงแค่ 1% ก็เพียงพอที่จะทำให้เราระมัดระวังตัวขึ้น เมื่อเราไม่ใช่เจ้าของท้องถนน การเคารพกฎจราจรจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะหมายรวมถึงชีวิตของผู้ร่วมถนนคนอื่นด้วย


Sources :
Parliament | https://bit.ly/3wxeriE
Thairath | https://bit.ly/34fJtja
วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น | https://bit.ly/3hRpS0M

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.