มนุษย์เริ่มรักความเร็วตั้งแต่สนุกกับการวิ่งแข่งด้วยสองขา เปลี่ยนเป็นควบม้า พาหนะมีชีวิตที่เร็วที่สุดของมนุษย์ กระทั่ง ‘คาร์ล เบนซ์’ (Carl Benz) สามารถสร้างยานพาหนะที่รวดเร็วกว่าม้าหลายเท่า เปลี่ยนจากโดยสารสัตว์จอมพยศกลายเป็นเครื่องยนต์สี่ล้อเร็วแรงเกินจินตนาการ
‘ฟอร์มูลา’ (Formula) หมายถึงชุดของกฎการแข่งขัน ส่วนคำว่า ‘วัน’ (One) คือหมวดหมู่สำหรับประเภทรถที่ทรงพลังมากที่สุด ฟอร์มูลาวันกรังด์ปรีซ์ (Formula 1 Grand Prix) คือการแข่งขันรถยนต์ล้อเปิดทางเรียบที่เร็วแรงที่สุดในโลกและแพงที่สุดในโลกเช่นกัน
รถยนต์สูตร 1 เพียงหนึ่งคัน ราคาประมาณ 500 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุง ค่าพัฒนา หรือค่าตัวนักขับ ด้วยต้นทุนที่สูงกว่ากีฬาทั่วไป จึงไม่แปลกที่ตั๋วเข้าชมจะมีราคาสูงลิ่ว พร้อมแปะป้าย ‘กีฬาคนรวย’ ที่มีเพียง 20 คนในโลกที่ได้ลงสนามแข่ง
เมื่อความนิยมจากยุโรปแผ่ขยายไปทั่วโลก หลายประเทศเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ‘กีฬาแข่งรถหรูหรา’ ซึ่งจำเป็นต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อรองรับการแข่งขัน เปลี่ยนภาพลักษณ์ปรับปรุงเมืองใหม่ และเฝ้ารอเม็ดเงินที่ย้อนคืนภายหลัง หลายประเทศสำเร็จ บางประเทศล้มเหลว และคราวนี้ประเทศไทยขอลองพนันครั้งใหญ่กับ F1 บ้าง แต่คำถามใหญ่ๆ คือ F1 มีดีอะไร และการแข่งรถจะช่วยพัฒนาเมืองได้จริงหรือ

ความสนุกของ F1 กีฬาที่มากกว่าการแข่งรถ
‘การแข่งขันรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ แม้ฟังดูน่าตื่นเต้น แต่สำหรับผู้ชมหน้าใหม่คงรู้สึกไม่ต่างอะไรกับการแข่งรถทั่วไป เพียงวิ่งวนในสนาม นานๆ แซงที วนไปมาแบบนี้เป็นชั่วโมง คำถามคือ ‘สนุกตรงไหน’
แน่นอนว่ามีส่วนจริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด นอกจากความตื่นเต้นของ 20 บุคคลที่ขับรถเก่งที่สุดในโลก เบียดบี้ด้วยความเร็วกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความสนุกที่สุดของ F1 คือ ‘ปัญหา’ เฉพาะหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาจาก ‘ทีม’ คือหนึ่งในหัวใจของ F1
หลายคนมักคิดว่า F1 เป็นกีฬาประเภทเดี่ยวแบบ Man and Machine แต่แท้จริงแล้ว F1 เป็นกีฬาประเภททีม เนื่องจากมีทีมงานมากมายอยู่เบื้องหลังรถหนึ่งคัน เช่น ทีมวิศวกร ทีมกลยุทธ์ และทีมช่างพิต (Pit Crew) หากขาดตำแหน่งใดไปหรือประสานงานกันผิดพลาด การคว้าชัยในแต่ละสนามคงเป็นไปไม่ได้ ต่อให้เป็นนักขับที่เก่งที่สุดหรือรถที่แรงที่สุดก็อาจไม่ชนะเสมอไปหากกลยุทธ์ทีมผิดพลาด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มีรางวัลสำหรับทีมผู้สร้าง (Constructors) แยกจากรางวัลนักขับอีกที
ไม่มีทีมไหนอยากเกิดปัญหาเว้นแต่ผู้ชมที่ตื่นเต้นไปกับมัน ทั้งปัญหาสภาพอากาศหรือด้านกลยุทธ์ ยกตัวอย่าง หากระหว่างการแข่งเกิดฝนตก ทีม A ซึ่งกำลังเป็นผู้นำเรียกรถเข้ามาเปลี่ยนยางสำหรับสนามเปียก แต่ทีม B ที่อันดับรองลงมาเลือกฝืนใช้ยางเดิมเพื่อแซงอันดับ เพราะคิดว่าฝนอาจตกไม่นาน ผลลัพธ์คือ ถ้าฝนตกหนักต่อไป ทีม A จะได้เปรียบ สามารถแซงกลับในสนามเปียกได้ง่ายกว่า และทีม B จะอันดับหล่นไปเรื่อยๆ เพราะยางไม่เหมาะกับสภาพสนาม แต่หากฝนตกไม่นานจะกลายเป็นว่าทีม A เสียเวลาเปลี่ยนยางฟรี และยากที่จะตามทีม B ทัน

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึง ‘อุบัติเหตุ’ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น แม้ว่าทีม B จะขับนำอยู่ แต่ถนนที่ยังไม่แห้งสนิทอาจทำให้รถลื่นหลุดถนนพังเสียหาย หรือที่แย่กว่าคือโดนรถคันอื่นชน เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอในสนามที่รถแต่ละคันวิ่งเฉียด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเวลา เรื่องตลกร้ายคือ อุบัติเหตุเป็นหนึ่งในความสนุกของการแข่งขัน ไม่มีใครอยากเห็นนักขับบาดเจ็บ แต่ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ไม่คาดฝันขับเคี่ยวไปมาคือความสนุกที่สุดของ F1 อย่างปฏิเสธไม่ลง
นอกจากเรื่องในสนาม บรรดานักขับยังสร้างความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ที่ไม่ได้ขายเพียงการแข่งขัน แต่ขายความ ‘ดรามา’ (Drama) จากเรื่องราวแสนเข้มข้นที่เชือดเฉือนทั้งในและนอกสนามราวกับเขียนบทมาแล้ว แต่ทั้งหมดนั้นคือ ‘เรื่องจริง’ ซีรีส์สารคดีอย่างเป็นทางการของ F1 อย่าง ‘Formula 1 : Drive to Survive’ (Netflix) ที่ตามติดชีวิตนักขับทุกคนตลอดการแข่งขัน ทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ ได้เห็นอีกมุมที่มากกว่าภาพหลังพวงมาลัย ทั้งความขัดแย้ง ความเดือดดาล ความทะเยอทะยาน และความเศร้าในกีฬาที่ไม่มีเก้าอี้สำหรับผู้แพ้
หลายคนดู F1 ไม่เป็น แต่ติดตามซีรีส์ Formula 1 : Drive to Survive เสมือนเรียลลิตี้โชว์ เปลี่ยนจากคนนอกวงการ สถาปนาเป็นแฟนคลับตัวยงเหล่านักขับซูเปอร์ตาร์ในชีวิตจริง
เห็นได้ว่าตลาดของ F1 ขยายใหญ่ทุกปี ด้วยศักยภาพทั้งในและนอกสนาม บวกรวมกับการแข่งขันทุกสนามทั่วโลกก็ยิ่งขยายแฟนในทุกทวีป ส่งผลให้หลายประเทศเล็งเห็นโอกาสสำหรับการเลือกใช้การแข่งขันกีฬานี้เป็นหน้าเค้กตกแต่งให้เมืองดึงดูดแฟน F1 และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างที่กีฬาอื่นไม่เคยทำได้มาก่อน
สร้างภาพ (ลักษณ์) เมืองด้วย F1
ต้องอธิบายก่อนว่า สนามแข่งขัน F1 มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ สนามแข่งปกติที่สร้างเพื่อการแข่ง Motorsports อย่างที่เราคุ้นเคย และ Street Circuit สนามแข่งรถที่ปิดถนนสาธารณะเพื่อการแข่งขันชั่วคราว ซึ่งหลายประเทศเลือกแบบหลังเพราะไม่ต้องสร้างสนามใหม่ที่เสี่ยงถูกทิ้งร้างในอนาคต แถมยังใช้โปรโมตทิวทัศน์เมืองไปในตัว
ลองจินตนาการภาพการแข่ง F1 โดยมีวัดพระแก้วเป็นฉากหลัง คงส่งต่อความสวยงามทางภาพสู่สายตาชาวโลกได้ไม่ยาก ซึ่งประเทศไทยเคยมีการเจรจาเพื่อจัด F1 ในกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ในปี 2014 แต่ถูกปัดตกไป ไม่เป็นไร ครั้งนี้ในปี 2028 บ้านเราได้โอกาสแก้ตัวอีกครั้ง
ก่อนจะไปสำรวจความพร้อมเมืองไทย เรามาลองส่องเมืองรุ่นพี่ที่เคยประเดิมเป็นเจ้าภาพ F1 มาก่อนบ้างว่าเกิดอะไรขึ้น
จากการถ่ายทอดสดทั่วโลกกว่า 1.5 พันล้านสายตา F1 ยืนยันตัวตนในการเป็นเวทีชั้นยอดโชว์ของดีของเด็ดประจำเมือง เห็นได้จากเมืองเจ้าภาพน้องใหม่ล่าสุดอย่าง ‘ลาสเวกัส’ ที่หมายมั่นปั้นเมืองแสดงแสงสีตลอดคืนแข่งขัน เพิ่มองค์ประกอบความร่ำรวยด้านกีฬาที่ขาดไป ด้วยการสร้างมูลค่า ‘Sin City’ ให้หรูหราและบันเทิงฟู่ฟ่ากว่าเดิม หรือบางประเทศที่เราไม่ค่อยคุ้นหูอย่าง ‘อาเซอร์ไบจาน’ ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันใน ‘Baku City Circuit’ ใจกลางเมืองหลวง นำเสนอสถาปัตยกรรมยุโรปตะวันออกวิจิตรแปลกตาเป็นฉากหลัง พาชาวโลกเปิดตามองเห็นเมืองน่าเที่ยวเมืองใหม่ที่เคยตกหล่นเรดาร์

ในฟากเศรษฐกิจแน่นอนว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างจากกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการท่องเที่ยว หรือเมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนหนึ่งมาจากการอุปโภคบริโภคของนักท่องเที่ยวในสัปดาห์แข่งขัน ค่าตั๋วเข้าชม ค่าลิขสิทธิ์ สปอนเซอร์ และอัตราการจ้างงานตั้งแต่ภาคบริการไปจนถึงการจัดสร้างทั้งชั่วคราวและถาวร
หากย่อลงมาถึงประโยชน์ชาวเมืองแบบรูปธรรมกว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่บังคับให้ต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะ ระบบไฟฟ้า ที่พักอาศัย หรือผังเมือง ล้วนต้องปรับปรุงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลายแสนคนในวันแข่งขัน
ยิ่งโดยเฉพาะปัจจัยหลักที่สุดอย่าง ‘ถนน’ ไม่มีทางที่ FIA (สหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ) จะยอมให้รถแข่งคันละกว่า 500 ล้านบาทวิ่งบนถนนไม่สมประกอบ แคบ เป็นหลุมบ่อ หรือบิดเป็นเกลียวคลื่นอย่างแน่นอน การปรับปรุงถนนครั้งใหญ่ย่อมเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายจะตกทอดเป็นมรดกให้ชาวเมืองขับขี่ต่อไป
แต่เมื่อหันกลับมามองความจริง ไม่ใช่ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จ บางประเทศขาดทุน บางประเทศถูกคัดค้านจากประชาชน เพราะอย่าลืมว่าชาวบ้านละแวกนั้นต้องยอมสละ ‘ถนนสาธารณะ’ ให้การแข่งขัน แล้วเมืองที่การคมนาคมชั้นเยี่ยมจากท้ายตารางอย่างกรุงเทพฯ จะแก้ปัญหาภูเขากองโตนี้อย่างไร
เมืองไทยกับความพร้อมในกีฬาเจ้าแห่งความเร็ว
ผู้สันทัดกรณีหลายรายอยากให้มีการแข่งขัน F1 ในไทย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากให้จัดในกรุงเทพฯ เนื่องจากประเทศไทยมีหลายทิวทัศน์ที่สวยงามสำหรับ F1 ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา หรือสถาปัตยกรรมในต่างจังหวัด แต่จากการศึกษาของรัฐบาลและ FIA ได้นำเสนอพื้นที่ที่ใช้แข่งขันและเคาะเลือกบริเวณเขตจตุจักร ซึ่งประกอบด้วย 8 พื้นที่หลัก ได้แก่
– พื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
– พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) (หมอชิต 2)
– พื้นที่ตลาดนัดจตุจักร
– พื้นที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
– พื้นที่สวนจตุจักร
– พื้นที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
– พื้นที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
– พื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยจัดสรรปันส่วนในหน้าที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ Fan Zone พื้นที่ Grandstand เป็นที่นั่งบนอัฒจันทร์สำหรับผู้ชมทั่วไปกระจายตามจุดต่างๆ ของสนาม พื้นที่ Paddock Club เป็นโซน VIP ตั้งอยู่บนอาคาร Pit Lane โดยรัฐบาลคาดการณ์ค่าเฉลี่ยผู้ชมเข้าร่วมงานไว้ที่ 407,132 ราย และตั้งเป้าหมายให้รถไฟฟ้าเป็นการคมนาคมหลักในการเข้าถึงการแข่งขัน
เป้าหมายหลักของการเสนอตัวจัดอีเวนต์ แน่นอนว่าการท่องเที่ยวต้องยืนหนึ่งอยู่แล้ว ถัดมาคือการใช้ F1 เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเร่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ช่วยให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่บกพร่อง รวมไปถึงการสร้างโอกาสจ้างแรงงานหลากหลายระดับ กระตุ้นความสนใจด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และ STEM Education ในกลุ่มเยาวชน แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวิศวกรรม เครื่องกล และอากาศพลศาสตร์
ฟังแล้วดูจะเป็นโปรเจกต์ที่พัฒนาเมืองและบุคลากรอย่างก้าวกระโดด แต่การใช้งบประมาณเพื่อ ‘อีเวนต์หรู’ อาจไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับกิจกรรมคนรวยแบบนี้ คาดการณ์ได้เลยว่า วิถีชีวิตและชุมชนย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด การปิดถนนหลักบริเวณจตุจักร (แม้เพียงสามวัน) จะทำให้การจราจรประจำวันของคนในพื้นที่ติดขัดหนักขึ้น ระดับที่ต้องปรับเส้นทางหรือเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะบางส่วน หากรัฐสามารถแก้ปัญหาชื่อเสีย (ง) ด้านการคมนาคมของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นเจ้าภาพ F1 ได้คงยอดเยี่ยม

ปัญหาถัดมากำลังต่อคิวรอ นั่นคือ ค่าครองชีพและราคาที่อยู่อาศัยในย่านจะพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะถ้าเกิดการเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็น ‘ย่านผู้ดี’ (Gentrification) บีบไล่ผู้อาศัยเดิม กลายเป็นยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้นเพียงเพื่อภาพลักษณ์เมือง คงพูดว่างานนี้ประสบความสำเร็จไม่เต็มปากหากอีเวนต์กระตุ้นเศรษฐกิจบีบค่าครองชีพจนคนท้องถิ่นอยู่ไม่ได้
แม้จะใช้เวลาเพียงสามวันในการแข่งขัน แต่ด้วยงบประมาณมหาศาลและผลกระทบทั้งระยะสั้นและยาว ย่อมเสี่ยง ‘เจ๊ง’ ได้ไม่ยาก ในทางกลับกันก็เป็นโอกาส ‘Now or Never’ ที่อาจไม่มีอีกแล้ว
การเตรียมพร้อมที่ดีและรับฟังทุกฝ่ายอย่างถี่ถ้วน น่าจะเป็นวิธีการเปิดเส้นทางใหม่ที่สามารถป้องกันอุบัติเหตุให้เกิดน้อยที่สุด เพราะยังไงก็มีปัญหาเกิดขึ้นอยู่แล้วสำหรับหนึ่งในอีเวนต์ที่ใหญ่และยากที่สุดของโลก ประเทศเจ้าภาพก็เหมือนกับทีม F1 ที่ทีมใดแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ทีมนั้นคือ ‘ผู้ชนะ’
Sources :
Baku City Circuit | bit.ly/44ZgvUK
BBC | bit.ly/3GotnKN
F1 | bit.ly/3TEak21
Wisconsin Business Review | bit.ly/467bEC0
กรมประชาสัมพันธ์ | bit.ly/44Ie2MZ