ธีสิสใช้ ‘ของเล่น’ พัฒนา ‘ย่านสะพานเหล็ก’ - Urban Creature

การพัฒนาเมืองยังคงต้องเกิดขึ้นทุกวันไม่มีหยุด เพื่อปรับเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย หลายสถานที่เป็นไปตามแบบแผน และอีกหลายพื้นที่ก็ยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะปัญหาจากการเข้ามาของสิ่งใหม่ที่ผลักให้คุณค่าของความดั้งเดิมทั้งชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญา หรือวัฒนธรรมต่างๆ สูญหายไป

‘แนน-นภัสสร จันทรเสนา’ บัณฑิตจบหมาดๆ จากสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจการพัฒนาเมืองในเรื่องของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชนดั้งเดิม ได้จัดทำผลงานวิทยานิพนธ์ชื่อว่า ‘โครงการฟื้นฟูบูรณะเมืองและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ย่านสะพานเหล็ก สู่ย่านของเล่นร่วมสมัย’ ขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเมืองนั้นมีหลายวิธี และ ‘การพัฒนาย่านสร้างสรรค์’ เป็นหนึ่งวิธีที่ธีสิสนี้เลือกใช้

คอลัมน์ Debut วันนี้พาไปรู้จักวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์จากเวที TOY ARCH Thailand ประจำปี 2566 กับไอเดียการพัฒนาเมืองที่มีแนวคิดจาก ‘ของเล่น ของสะสม’ จะนำไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ในรูปแบบไหนได้บ้าง ไปดูกัน

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

‘ของเล่น ของสะสม’
สู่แนวคิดการพัฒนาย่านสร้างสรรค์

แนนมีบ้านเกิดอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด เธอเลือกเข้ามาเรียนคณะสถาปัตยกรรมฯ ที่จุฬาฯ เพราะมีความชอบด้านงานศิลปะและการออกแบบเป็นทุนเดิม บวกกับที่เธอชอบการท่องเที่ยวและเป็นนักสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ จากการได้มาใช้ชีวิตเรียนหนังสือในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ทำให้ทุกๆ วันจะได้พบกับมุมมองที่ต่างออกไป

ตลอดระยะเวลา 4 – 5 ปีของการศึกษา แนนพบว่าตัวเองนั้นอยากพัฒนาเมืองในเรื่องวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของชุมชนดั้งเดิม และได้พบเจอปัญหาต่างๆ ของการพัฒนาเมืองอย่างเช่น คนดั้งเดิมถูกย้ายออกและแทนที่ด้วยคนกลุ่มใหม่ หรือการขาดคนที่จะมารับช่วงสืบทอดภูมิปัญญา ด้วยเหตุนี้ ทำให้เธอค้นหาวิธีการพัฒนาเมืองที่เหมาะสมและสามารถรองรับองค์ประกอบดังกล่าวได้ นั่นคือ ‘แนวคิดของการพัฒนาย่านสร้างสรรค์’ หรือการนำวิทยาการด้านศิลปะและภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของธีสิสชิ้นนี้เลยก็ว่าได้

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’
Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

“เราเป็นเหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบเที่ยวดูงานศิลปะ มีโอกาสเดินสำรวจย่านสะพานเหล็ก ไปเห็นช่วงที่ Art Toys หรือของเล่นศิลปะจากศิลปินกำลังกลับมาฮิตเป็นกระแส พอได้ไปเดินได้ไปเห็นก็พบว่า ย่านสะพานเหล็กหรือคลองโอ่งอ่างต่างมีปัญหาของพื้นที่ดั้งเดิมมานาน เหมือนยังไม่ได้มีใครพัฒนาให้ถูกทิศทางสักที ทั้งๆ ที่เป็นย่านที่มีศักยภาพมากๆ ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่สำคัญอย่างเมืองเก่า ข้างๆ เป็นเยาวราชย่านท่องเที่ยว มีเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็กที่วัยรุ่นคนรุ่นใหม่ไปเดินกันบ่อยๆ รู้สึกว่าเศรษฐกิจด้านอาร์ตทอยสามารถเติบโตได้

“ในส่วนวัฒนธรรมชุมชนรอบๆ ก็มีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่หลากหลายมาก อย่างชุมชนพาหุรัดหรือสำเพ็งที่มีจุดแข็งของชุมชน แต่เมื่อถอยออกมามองทั้งย่านมันเหมือนแต่ละย่านไม่ได้ไปด้วยกัน ต่างคนต่างพัฒนา ต่างชุมชนต่างก้าวไปเฉพาะสินค้าหรือวัฒนธรรมของตัวเอง 

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

“ทางสำนักงาน กทม. มีความพยายามปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เรามองว่าการพัฒนาในด้านของกายภาพหรือภูมิทัศน์อย่างเดียวอาจจะไม่ยั่งยืน เพราะมันขาดการพัฒนาชุมชนและบริบทรอบๆ ทั้งพาหุรัด สำเพ็ง หรือของเล่นอาร์ตทอยด์ตรงเมก้า พลาซ่า เหล่านี้เป็นย่านที่มีเสน่ห์และก็น่าจะพัฒนาไปต่อในอนาคตได้อีกไกลมากๆ มีความเกี่ยวข้องกับคนหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเจเนอเรชัน หลายช่วงอายุ ก็เลยสนใจพัฒนาย่านนี้

“นอกจากเรื่องของเล่น จุดประสงค์ของการทำธีสิสชิ้นนี้ เราอยากให้วัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้” แนนบอกเล่าถึงที่มาของธีสิสโครงการฟื้นฟูบูรณะเมืองและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ย่านสะพานเหล็ก สู่ย่านของเล่นร่วมสมัย

สร้างพื้นที่ให้เมือง
เชื่อมชุมชนเกิดเศรษฐกิจยั่งยืน

เมื่อแนนมองเห็นพื้นที่ที่จะนำมาออกแบบเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้แล้ว เธอเริ่มตั้งต้นศึกษาประวัติศาสตร์และบริบทของพื้นที่เดิมที่มีทั้งศิลปะ วัฒนธรรม และมีแหล่งค้าขายของเล่นชื่อดังสะพานเหล็ก รวมถึงรอบๆ ยังมีชุมชนพาหุรัดที่เด่นเรื่องการค้าผ้าหรือการตัดเย็บ และสำเพ็งด้านงานประดิษฐ์ ขยับไปอีกนิดก็ได้สัมผัสวิถีชีวิตวัฒนธรรมอาหารหลากหลายเชื้อชาติทั้งอินเดีย เนปาล หรือเมียนมา เป็นต้น

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

“แนวคิดการออกแบบธีสิสคือ เราจะถอดอัตลักษณ์รูปแบบจากข้อต่อของเล่น ออกแบบให้ล้อไปกับข้อต่อของตึกที่มีการออกแบบพื้นที่กิจกรรมให้ได้ใช้งาน มีการออกแบบองค์ประกอบของอาคารต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อวัฒนธรรมและกลุ่มคน รวมถึงการเชื่อมต่อทุกเจเนอเรชันเป็นข้อต่อต่างๆ ที่ทำให้เมืองสามารถประกอบรวมกลุ่มความหลากหลายเข้าด้วยกัน” แนนบรรยายไอเดีย

แนนได้เล่าภาพรวมของธีสิสว่าจะแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่การออกแบบย่อย ดังนี้

1. พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสามยอด

บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าสามยอดเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าที่ดินสูงมากๆ แนนจึงได้ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่สามารถให้ประโยชน์ต่อสาธารณะได้เช่นกัน บริเวณนี้จึงมีแนวคิดในการพัฒนาให้เป็น ‘Creative and Design Office Center’ หรือศูนย์สร้างสรรค์ ทำหน้าที่เสมือนห้องสมุดที่ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ หรือทำพิพิธภัณฑ์ของเล่น เพื่อให้เกิดการสร้างประโยชน์การใช้สอยที่หลากหลายในพื้นที่เดียว

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

โดยจะนำอาคารเก่าตรงบริเวณแยกสถานีสามยอดซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ของโรงแรมมิราม่า (Miramar Bangkok Hotel) ที่ตัวอาคารมีเอกลักษณ์ นพมาฟื้นฟูปรับเปลี่ยนการใช้งานหรือขยายพื้นที่ภายในให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง จะช่วยดึงดูดกลุ่มคน กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของเมืองได้ และพื้นที่ตรงนี้ยังเชื่อมต่อไปถึงบริเวณคลองรอบกรุงได้อีกด้วย

2. พื้นที่ย่านเศรษฐกิจห้างฯ เมก้า พลาซ่า

บริเวณรอบๆ ห้างฯ เมก้า พลาซ่าเป็นพื้นที่เมืองเก่า การทุบหรือสร้างใหม่จึงทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้คือการปรับเปลี่ยน Façade หรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในให้กลายเป็นสถานที่น่าใช้งาน ดึงดูดกลุ่มคนให้เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยนำมาพัฒนาให้เป็น ‘Art and Toys Space’ หรือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มศิลปินไทยหรือคนรุ่นใหม่มาใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ สามารถเปิดธุรกิจจากงานฝีมือหรือการทำของเล่นศิลปะเพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งสร้างอาร์ตแกลเลอรีให้ศิลปินที่ทำงานด้านอาร์ตทอยได้มีพื้นที่สร้างงานและพบปะแฟนคลับหรือจะใช้จัดงานนิทรรศการก็ยังทำได้

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

และเดิมทีตัวตึกแถวที่ขนาบข้างริมคลองจะมีความสูงสามถึงห้าชั้นและมีความกว้างเล็กน้อย ไอเดียของธีสิสนี้จึงอยากขยายพื้นที่ทางตั้งให้เป็นสเตจหรือพื้นที่ที่หันหน้าเข้าคลอง เพื่อเพิ่มการใช้งานเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานของศิลปินอาร์ตทอยที่มีการอัปเดตคอลเลกชันใหม่ๆ กันอยู่ตลอดทั้งปี

เมื่อพื้นที่เกิดการจัดงานก็ส่งผลให้เกิดบรรยากาศงานของเล่นหรืองานศิลปะรูปแบบต่างๆ ทำให้เมืองมีสีสันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไม่ซ้ำเดิม เกิดพื้นที่สาธารณะของเมืองรูปแบบใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการเป็นเพียงทางเดินริมน้ำ

3. พื้นที่ประดิษฐ์ของเล่นร่วมกัน

ในพื้นที่นี้มีแนวคิดในการออกแบบชื่อว่า ‘Replay Zone’ เป็นเหมือนพื้นที่ประดิษฐ์ของเล่นร่วมกัน จะใช้จุดเด่นจากการค้าของชุมชนพาหุรัดและสำเพ็งมามีส่วนร่วมในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ช่วยฉายภาพให้เห็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอันเป็นมรดกชุมชนมากยิ่งขึ้น

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’
Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

มีการออกแบบที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของชุมชนได้เป็นพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น การมีพื้นที่เวิร์กช็อปการประดิษฐ์ผ้าหรือเป็นพื้นที่ให้คนที่สนใจได้มาเรียนรู้เรื่องการตัดเย็บ หรือการเปิดพื้นที่ประดิษฐ์ของเล่นเพื่อการเข้าถึงของทุกกลุ่มคนรวมถึงเด็กด้อยโอกาส โดยอาศัยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ในย่าน เช่น วิทยาลัยเพาะช่างที่มีบุคลากรชำนาญในด้านศิลปะงานฝีมือได้มาร่วมฟื้นฟูย่านจากการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครหรือวิทยากรที่จะมาถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันให้คนที่อยากศึกษาการประดิษฐ์ และส่งต่อเทคนิคต่างๆ โดยการใช้วัสดุจากชุมชนมาสร้างงานศิลปะ

4. พื้นที่สาธารณะริมน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสาธารณะ

ธีสิสนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมต่อสู่พื้นที่สาธารณะ โดยส่งเสริมการเดินและใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งสาธารณะ เช่น จากพื้นที่บริเวณ MRT สามยอด สามารถเดินไปยังบริเวณปากคลองตลาดหรือสะพานพุทธได้ง่ายๆ โดยผ่านถนนตรงชุมชนพาหุรัดและผ่านพื้นที่สาธารณะริมคลอง แต่ปัญหาของพื้นที่ที่กล่าวมากลับพบว่า ทางเดินเท้าไม่เอื้อให้ผู้คนเดินได้อย่างปลอดภัย เส้นทางนั้นจึงเกิดภาพร้างไร้ผู้ใช้งาน ทั้งๆ ที่ใกล้เคียงยังมีขนส่งมวลชนอย่างท่าเรือสะพานพุทธที่ผู้คนใช้สัญจรไปมา เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ในเมืองได้ จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาให้พื้นที่สาธารณะบริเวณนี้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

ผ่านการสร้าง ‘Play-Park (พักเล่น)’ หรือพื้นที่สาธารณะนันทนาการริมน้ำและการเชื่อมต่อท่าเรือสะพานพุทธ โดยมีพื้นที่สาธารณะสร้างสรรค์ (Creative Park) ที่มีแนวคิดในการสร้างพื้นที่เล่นกีฬาของเยาวชน เพื่อทำให้บรรยากาศของพื้นที่ไม่เปลี่ยวร้าง และสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะทำให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหมุนเวียนสำหรับชุมชนได้ใช้จัดแสดงงานศิลปะเพิ่มสีสันให้กับเมืองด้วย

ผู้จัดทำธีสิสชิ้นนี้บอกเล่าว่า มีความคาดหวังว่าพื้นที่ย่านสะพานเหล็กจะกลายเป็นย่านที่สร้างสรรค์ให้กับเมือง ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในด้านของเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การฟื้นฟูเมือง รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในเมืองมากขึ้น”

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

แนนยังเน้นย้ำให้เห็นว่า ไอเดียในธีสิสนี้จะสามารถสร้างให้เกิดขึ้นจริงได้ และได้ทิ้งท้ายความคิดเห็นต่อการพัฒนาเมืองไว้ว่า 

“อยากให้คนรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ ทุกคนมีส่วนร่วมทำได้ แม้จะไม่ได้เรียนเรื่องออกแบบเมืองหรือเรียนเรื่องการพัฒนาเมืองมาก่อน

“บ้านเมืองนั้นมีหลายสเกลหลายรูปแบบ คนหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองในแบบที่ตัวเองต้องการได้ อยากเห็นสังคมที่ประชาชนหรือรัฐบาลตระหนักถึงและเห็นคุณค่าของการออกแบบเมือง เพราะเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิตหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราได้”

Creative Art District : TOYS ธีสิสที่ใช้ ‘ของเล่น’ มาพัฒนาเมือง ให้สร้างสรรค์ผ่าน ‘ย่านสะพานเหล็ก’

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.