ถัดจากปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมขังที่หลายคนกังวลอยู่ในช่วงนี้ ก็คงเป็นเรื่อง ‘ค่าไฟ’ นี่แหละที่จะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถาโถมใส่ชาวไทยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นอันดับต่อไป
อัตราค่าไฟฟ้าส่อแววเป็นปัญหาน่าปวดหัว หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับ ‘ค่า Ft’ ของงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม ปี 2565 ขึ้นเป็น 93.43 สตางค์/หน่วย จากเดิม 24.77 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 4 เท่า นี่ยังไม่รวมถึงไตรมาสเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ปี 2566 ที่จะถึงนี้ที่จะมีการปรับขึ้นเป็น 98.27 สตางค์/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าแต่ละครัวเรือนจะใช้ไฟฟ้าในปริมาณเท่าเดิมหรือน้อยลง พวกเขาก็อาจต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ดี
หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าค่า Ft คืออะไร ทำไมถึงเป็นตัวแปรที่มีผลต่อการคิดค่าไฟ วันนี้ Urban Creature จึงอยากพาทุกคนไปรู้จักส่วนประกอบสำคัญของบิลค่าไฟฟ้าอย่างค่า Ft ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร และทำไมการขึ้นค่า Ft ของ กกพ. ถึงทำให้ค่าไฟแพงขึ้นขนาดนี้ เผื่อจะช่วยไขข้อข้องใจของใครหลายคน และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเพื่อวางแผนการใช้ไฟในอนาคตได้
บิลหนึ่งใบ ค่าไฟหนึ่งเดือน
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับส่วนประกอบของ ‘บิลค่าไฟ’ ในแต่ละเดือนกันก่อนดีกว่า ว่าโดยปกติแล้วเราสามารถรู้ข้อมูลอะไรได้บ้างจากกระดาษใบเล็กๆ เพียงใบเดียว
ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่เจ้าบิลค่าไฟก็อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์และครบถ้วนถึง 3 ส่วน นั่นก็คือ
- ข้อมูลทั่วไปของผู้ใช้ไฟฟ้า : ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงวันและเวลาอ่านหน่วยค่าไฟฟ้าประจำเดือน
- ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า : เลขอ่านครั้งก่อน-หลัง จำนวนที่ใช้ และประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง
- ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ : ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน ค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์
เท่ากับในหนึ่งเดือน จำนวนเงินที่เราจ่ายไป ไม่ได้มีเฉพาะค่าไฟตามจำนวนหน่วยที่เราใช้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าบริการส่วนอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วย และส่วนเรียกเก็บนี้เอง ที่ส่งผลให้ค่าไฟในแต่ละเดือนของเราอาจมากขึ้นหรือลดลง
ค่า Ft ตัวแปรสำคัญของค่าไฟฟ้า
หลังรู้จักส่วนประกอบทั้งหมดของบิลค่าไฟแล้ว ก็ถึงเวลาของสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟในแต่ละเดือนของเราเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นกระแสที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในโลกออนไลน์ตอนนี้ นั่นก็คือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ หรือ ‘ค่า Ft’ นั่นเอง
แต่เดิม ค่า Ft ย่อมาจาก ‘Float time’ ใช้อธิบายการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
แต่หลังจากเดือนตุลาคม ปี 2548 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณสูตร Ft ให้คงเหลือเพียงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ปัจจุบันค่า Ft ย่อมาจากคำว่า ‘Fuel Adjustment Charge (at the given time)’ แทน
โดยค่า Ft จะถูกปรับขึ้นลงภายใต้การพิจารณาของ กกพ. เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า สร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาค่าไฟมีการขยับตามค่า Ft อยู่เสมอทุกๆ 4 เดือน
เพิ่มราคา แปรผันตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิง
จากที่เล่ามาจะเห็นว่า กกพ. ปรับค่า Ft เรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่ทำไมครั้งล่าสุดต้องกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงในวงกว้างด้วย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าค่า Ft ครั้งนี้ปรับขึ้นจาก 24.77 สตางค์/หน่วย เป็น 93.43 สตางค์/หน่วย ซึ่งขยับขึ้นถึง 68.66 สตางค์/หน่วย หรือคิดเป็น 377 เปอร์เซ็นต์ในครั้งเดียว ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากปกติแล้วมักจะขยับตัวเพิ่มขึ้นครั้งละประมาณ 10 – 20 สตางค์/หน่วย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่แตะ 90 สตางค์/หน่วย ในรอบ 11 ปี หลังจากที่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปี 2554 เคยขึ้นไปสูงถึง 95.81 สตางค์/หน่วย
การปรับขึ้นค่า Ft รอบนี้ ทาง กกพ. ได้ชี้แจงว่าสาเหตุหลักมาจากปริมาณเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลง จึงจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทน ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาก็กำลังเผชิญกับภาวะการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงที่ลดลง ทำให้ไทยจำเป็นต้องหาช่องทางอื่นในการซื้อ และได้มาในราคาที่แพงขึ้น เพราะผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการที่ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติชะลอการลงทุนในช่วงโรคระบาด
อีกทั้งการคงค่า Ft ในช่วงไตรมาสเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ไว้ที่ 24.77 สตางค์/หน่วย ทั้งๆ ที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าแบกรับต้นทุนไปแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องปรับค่า Ft รอบใหม่ จึงมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้รายได้จากค่าไฟฟ้าครอบคลุมต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า และใกล้เคียงกับราคาตลาดเชื้อเพลิงในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงถูกผลักมาให้ประชาชนอย่างเราๆ ที่ต้องเผชิญกับราคาค่าไฟที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ ทั้งๆ ที่ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิมหรือลดลงด้วยซ้ำ
มาตรการช่วยเหลือภาคประชาชน
จากการปรับขึ้นค่า Ft ของ กกพ. ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้ออกมาชี้แจงถึงมาตรการส่วนลดค่า Ft ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น โดยแบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้
- กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน : ลดค่า Ft ไป 92.04 สตางค์/หน่วย เหลือจ่าย 01.39 สตางค์/หน่วย ตามจำนวนหน่วยที่ใช้จริง
- กรณีใช้ไฟฟ้า 301 – 350 หน่วย/เดือน : ลดค่า Ft ไป 51.50 สตางค์/หน่วย เหลือจ่าย 41.93 สตางค์/หน่วย ตามจำนวนหน่วยที่ใช้จริง
- กรณีใช้ไฟฟ้า 351 – 400 หน่วย/เดือน : ลดค่า Ft ไป 30.90 สตางค์/หน่วย เหลือจ่าย 62.53 สตางค์/หน่วย ตามจำนวนหน่วยที่ใช้จริง
- กรณีใช้ไฟฟ้า 401 – 500 หน่วย/เดือน : ลดค่า Ft ไป 10.30 สตางค์/หน่วย เหลือจ่าย 83.13 สตางค์/หน่วย ตามจำนวนหน่วยที่ใช้จริง
ถึงแม้จะมีนโยบายรัฐออกมาอุ้มค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ประชาชนก็ยังคงต้องรัดเข็มขัดประหยัดไฟกันต่อ เพื่อให้จำนวนการใช้ไฟยังอยู่ในเกณฑ์การลดค่า Ft ของ กฟภ. และ กฟน.
มากไปกว่านั้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจต้องประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ด้วย จะได้มีเงินในกระเป๋าให้อุ่นใจไว้ก่อน เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต กกพ.จะปรับค่า Ft ขึ้นหรือลง ถ้าหากปรับขึ้น หมายความว่าประชาชนจะยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาค่าไฟแพงกันต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต
Sources :
กรุงเทพธุรกิจ | t.ly/Ci3n
การไฟฟ้านครหลวง | t.ly/sKjC
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค | t.ly/4RRR
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน | t.ly/7JXh