ช่วงนี้กระแสการซื้อคอนโดฯ เก่าเพื่อรีโนเวตใหม่ค่อนข้างมาแรงในหมู่คนที่ต้องการมีที่พักเป็นของตัวเอง เนื่องจากสู้ราคาที่สูงขึ้นของคอนโดฯ ใหม่ไม่ไหว แถมหลายๆ แห่งยังได้ตารางเมตรน้อยลงอีกต่างหาก
เกิดเป็นข้อสงสัยในกลุ่มชาวคอนโดฯ ถึงกรณีการต่อเติมหรือดัดแปลงห้องคอนโดฯ ในครอบครองว่า เราสามารถทำอะไรกับห้องของเราได้บ้าง ทำเองได้เลยไหม หรือต้องไปขออนุญาตใครก่อน
คอลัมน์ Curiocity อาสามาไขข้อข้องใจว่า หากต้องการต่อเติมดัดแปลงห้องคอนโดฯ แบบไหนที่ทำได้บ้าง และในระหว่างทางมีขั้นตอนอะไรที่ต้องดำเนินการขออนุญาต
ต่อเติมดัดแปลงได้ ถ้าอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบคอนโดฯ
เชื่อว่าหลายคนที่ซื้อคอนโดฯ เป็นของตัวเอง คงมีความคิดอยากตกแต่งปรับเปลี่ยนรูปแบบภายในห้องให้แสดงออกถึงตัวตนของเรามากที่สุด เพราะเป็นสถานที่ที่เราต้องใช้ชีวิตทุกๆ วันนับต่อจากนี้
หากเป็นเพียงการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ หมุนโซฟา เปลี่ยนฮวงจุ้ย ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เนื่องจากสามารถทำได้เองโดยไม่ส่งเสียงดังรบกวนห้องอื่นในบริเวณใกล้เคียง หรือถ้ามีความจำเป็นต้องเจาะผนังหรือทำเสียงดังขึ้นมาหน่อย หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าต้องแจ้งทางนิติฯ และทำในวันและเวลาที่ทางคอนโดฯ กำหนด
แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น อันนำมาซึ่งการต่อเติมดัดแปลงที่อาจกระทบต่อตัวโครงสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการทุบผนังกั้นห้อง เพิ่มประตูหน้าต่าง หรือต่อเติมระเบียงให้กลายเป็นห้องด้วยแล้ว เจ้าของห้องอย่างเราๆ อาจต้องตรวจดูดีๆ ว่าการดำเนินการนั้นขัดต่อ ‘พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551’ รวมไปถึง ‘ระเบียบของห้องชุด’ ของคอนโดฯ แต่ละแห่งหรือไม่
เพราะที่พักอาศัยประเภทคอนโดฯ ถือเป็นที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมากมาอยู่รวมกัน การปรับเปลี่ยนต่อเติมในบริเวณห้องพักจึงไม่สามารถทำได้ตามใจ เนื่องจากจำเป็นต้องคำนึงถึงส่วนรวมด้วย
ต่อเติมดัดแปลงหนึ่งครั้งเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด
หลังจากที่มั่นใจแล้วว่าต้องการต่อเติมดัดแปลงรูปแบบโครงสร้างภายในห้องจริงๆ อันดับแรกที่เราต้องทำคือ การยื่นพิมพ์เขียวในส่วนที่ต้องการปรับปรุงต่อเติมคอนโดฯ กับทางนิติบุคคล เพื่อให้ทางนิติฯ นำคำร้องและพิมพ์เขียวไปยื่นต่อวิศวกรอาคารอีกต่อหนึ่ง สำหรับตรวจดูว่าการดัดแปลงนี้มีผลกระทบกับตัวโครงสร้างของอาคารหรือไม่
และเมื่อผ่านด่านนิติฯ ได้แล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเริ่มก่อสร้างได้เลย เพราะจำเป็นต้องมีการเปิดประชุมคอนโดฯ เพื่อลงมติอนุญาตให้ก่อสร้างก่อน เพราะตามพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตราที่ 48 กล่าวว่า การอนุญาตให้เจ้าของร่วมทำการก่อสร้าง ตกแต่ง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือต่อเติมห้องชุดของตนเองที่มีผลกระทบต่อทรัพย์ส่วนกลางหรือลักษณะภายนอกของอาคารชุดโดยค่าใช้จ่ายของผู้นั้นเอง ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดก่อนนั่นเอง
และหากการประชุมครั้งแรกมีคะแนนเสียงไม่ครบตามกำหนด ก็จำเป็นต้องเรียกประชุมใหม่ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อน โดยในการประชุมครั้งนี้จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ถึงจะเริ่มดำเนินการต่อไปได้
หลังจากการประชุม เจ้าของห้องต้องดำเนินการแจ้งรายละเอียดการก่อสร้างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินการและขอบเขตความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น ต่อผู้พักอาศัยที่มีอาณาเขตที่อยู่ติดกัน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านซ้าย ด้านขวา ด้านบน และด้านล่าง
จากนั้นจึงจะมาถึงขั้นตอนที่เจ้าของห้องรอคอย นั่นคือ การเริ่มลงมือปรับเปลี่ยนห้องของเราให้เป็นตามที่ใจต้องการ
Sources :
CondoNewb | t.ly/4O7WH
MThai | t.ly/2GnIE
PM Service | t.ly/iogRf
PropertyHub | t.ly/Gppv4
พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 | t.ly/myYnS