เชื่อไหม ถ้าเราบอกว่า เดือนมีนาคม 2565 คือเดือนที่มีแต่ของขึ้นราคา
ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะราคาน้ำมันที่กลับมาสูงแตะราคา 50 บาทต่อลิตร ทำให้หน่วยงานรัฐออกมาบอกประชาชนว่าต้องใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อประหยัดน้ำมันแทน
ตัดภาพมาที่อีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 มีการประกาศยกเลิกให้บริการรถเมล์ครีม-แดงในเส้นทาง ‘สาย 7 คลองขวาง-หัวลำโพง’ ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) เดินรถเมล์ธรรมดาในเส้นทางสายนี้มากว่า 46 ปี โดยได้ส่งไม้ต่อให้กับบริษัทเอกชนที่ใช้รถเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้บริการในเส้นทาง ‘สาย 7 ศึกษานารีวิทยา-หัวลำโพง’
ฟังเผินๆ ดูจะมีแต่ข้อดี เพราะการผลัดใบให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพนำรถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาให้บริการแทนรถเมล์เก่า ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในเมืองให้ดียิ่งขึ้น แต่ทำไมรถเมล์ใหม่นี้กลับกลายเป็นเรื่องคนนำมาถกเถียงขึ้นมาได้…
ว่าแต่จะเถียงกันเรื่องอะไร ตามเรามาสำรวจการเปลี่ยนแปลงนี้ไปพร้อมๆ กันได้เลย
รถเมล์ใหม่มาพร้อมราคาใหม่ที่สูงขึ้น
แม้ข้อดีของรถเมล์ไฟฟ้ามาใหม่ จะมาพร้อมกับความเป็นมิตรต่อผู้คนในเมืองมากขึ้น ทั้งเรื่องมลภาวะทางอากาศและมลภาวะทางเสียงที่หายไป ผู้ใช้รถเข็นก็สามารถขึ้นรถได้ง่ายกว่าเดิม เพราะทางขึ้นรถเมล์รุ่นนี้ไม่มีขั้นบันได แต่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกลับมาพร้อมกับค่าเดินทางที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากรถเมล์ สีครีม-แดงธรรมดา ที่เก็บค่าโดยสารราคา 8 บาทตลอดสาย เมื่อเปลี่ยนเป็นรถใหม่ก็เปลี่ยนการคิดค่าโดยสารมาเป็นเรตตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 15 บาท แตะเรตสูงสุด 25 บาท ส่งผลให้ราคาค่าโดยสารรถเมล์สาย 7 ตอนนี้สูงขึ้นจนกระทั่งบางระยะใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
จากการคิดคำนวณบวกเรตใหม่เพิ่มคร่าวๆ ผู้โดยสารเดิมที่เคยใช้แต่รถเมล์ธรรมดาสาย 7 จำเป็นต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 7 บาท สูงสุด 17 บาทต่อคนต่อเที่ยว หรือราว 300-700 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ยังใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้เหมือนตอนใช้บริการรถเมล์ ขสมก. อีกด้วย
เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงกันในกลุ่มผู้ใช้บริการรถเมล์ ซึ่งมีทั้งคนที่อยากเก็บรถเมล์ธรรมดาไว้สำหรับการเข้าถึงของผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่มองว่าควรเปลี่ยนเป็นรถเมล์ปรับอากาศทั้งระบบแต่รัฐควรอุดหนุนให้ราคาถูกลง รวมถึงการวิจารณ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่สามารถใช้กับขนส่งสาธารณะได้ทั้งระบบ นี่จึงเป็นความไม่ลงตัวและไม่ลงรอยของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นั่นเอง
ของดีคือของแพง…อย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับขนส่งสาธารณะไทยวันนี้ คือการที่กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าแต่ค่าโดยสารกลับ ‘โนสนโนแคร์ค่าแรงขั้นต่ำ’ ค่ารถเมล์ก็แพงก้าวกระโดดแบบไปต่อไม่รอแล้วนะ เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ที่ค่าโดยสารรถเมล์สายเดิมคันเดิมเก็บเพิ่มสูงสุดถึง 9 บาท* ประกอบกับผังเมืองที่ยิ่งขยายก็ยิ่งเดินทางจากบ้านมาสู่ระบบขนส่งสาธารณะหลักได้ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ
บางคนคำนวณแล้วอาจใช้รถส่วนตัวได้ในราคาที่ถูกกว่าเห็นๆ ซึ่งยังไม่นับรวมกับเส้นทางเดินรถสาธารณะที่ยังไม่ครอบคลุมอย่างเพียงพอ และยังตามไม่ทันการพัฒนาและขยายตัวของเมืองอีกด้วย แล้วอย่างนี้เราจะแก้ไขปัญหารถติดได้อย่างไร เมื่อทุกอย่างในเมืองผลักไสให้คนจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว เพราะฉะนั้นการรณรงค์ให้คนในประเทศหันกลับมาใช้ขนส่งสาธารณะยิ่งเกิดขึ้นได้จริงยาก
*หมายเหตุ เทียบจากการปรับราคาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562 ส่งผลให้ค่าโดยสารบางระยะของรถเมล์สาย 141 ปรับจาก 13 บาท เป็น 22 บาท
ลำบากสองต่อ ไม่ใช่แค่ค่ารถเมล์ที่แพงขึ้น แต่รอนานขึ้น แถมรถหมดเร็วขึ้นด้วย
รถเมล์สาย 7 ถือเป็นเส้นทางล่าสุดต่อจากสาย 29 (รังสิต-หัวลำโพง) 75 (วัดพุทธบูชา-หัวลำโพง) และ 203 (ท่าอิฐ-สนามหลวง) ที่ ขสมก. ถอนตัวจากการให้บริการ ข้อดีคือทุกสายได้รถเมล์ใหม่เข้ามาวิ่งทดแทน แต่ข้อเสียนอกจากราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น บางสายรถก็หมดเร็วขึ้นด้วย อย่างสาย 29 และ 203 ที่ปัจจุบันไม่มีรถให้บริการ 24 ชั่วโมงแล้ว
คนที่เคยต้องเดินทางด้วยรถเมล์สาย 29 และ 203 ในตอนดึกถึงเช้ามืด อยู่ๆ ก็เหมือนถูกทิ้งไว้กลางทาง ไม่มีรถเมล์ให้กลับบ้านเสียดื้อๆ บางคนต้องเสียค่ารถเพิ่มขึ้นอย่างต่ำสองเท่าเพราะต้องนั่งรถสองต่อ ซึ่งรถสองต่อนั้นก็ไม่ได้ถูกวางตารางเดินรถมาให้เชื่อมต่อกันได้สะดวก บางคนเลยต้องเลือกเปลี่ยนวิถีชีวิตแทน เพราะไม่มีรถเมล์ให้ขึ้นอีกต่อไปหรือรอรถไม่ไหว
บางสายก็รอนานขึ้นจากเดิมรถเมล์สาย 7 เป็นสายที่มาถี่เป็นอันดับต้นๆ ของหัวลำโพง แต่เมื่อรถเมล์ ครีม-แดง หายไปถึง 28 คัน หรือราว 2 ใน 3 ของรถสายนี้ ก็ทำให้ผู้โดยสารบ่นระนาวเป็นเสียงเดียวกันว่ารอนานขึ้น บางครั้งรอเป็นชั่วโมงบ้างก็มี สิ่งนี้สะท้อนภาพความไม่พร้อมและศักยภาพของหน่วยงานผู้รับผิดชอบทั้งหมด
โชคดี…ที่รถเมล์ไฟฟ้าสาย 7 มีข่าวประชาสัมพันธ์ตารางเดินรถช่วง 20.00-05.00 น.
โชคร้าย…เมื่อไปรอจริงๆ กลับไม่มีรถมาตามเวลาที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้
กลับตัวก็ไม่ได้…ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง
‘ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย’ นี่คือคำพูดเมื่อยุค 1990 แต่ผ่านมาสามทศวรรษ สี่เสือเจ้าเก่าแห่งเอเชียเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ปรับอากาศกันหมดแล้ว แต่วันนี้เมืองหลวงของไทยยังคงใช้รถเมล์ ครีม-แดง คนดีคันเดิม นับเป็นผลผลิตคุณภาพดีวิ่งทนจนต้องให้เครดิตการจัดซื้อในยุคนั้น เพราะผ่านมาแล้วสามสิบปี รถเมล์ครีม-แดงกว่า 1,500 คัน ที่ไม่มีแอร์ เป็นพื้นไม้ ไม่มีมาตรฐานไอเสียแม้กระทั่งยูโรวัน (มาตรฐานควบคุมมลพิษสหภาพในยุโรปเริ่มมีเมื่อปี ค.ศ.1992) ก็ยังถูก Romanticise ให้เป็นเสน่ห์สุดวินเทจ ภาพการช่วยเข็นรถเมล์เสียคือน้ำใจของคนไทย และต่อให้คนในเมืองต้องดมเขม่าน้ำมัน ฝุ่น PM 2.5 มากี่ปีต่อกี่ปี ก็ไม่มีทีท่าว่ารถเมล์เหล่านี้จะหายไปเลย
“รถเมล์ร้อนๆ มาแล้วจ้า”
เสียงตะโกนของกระเป๋ารถเมล์ที่ฟังแล้วดูอารมณ์ดีแต่ขำไม่ออก เพราะคำถามที่เกิดขึ้นคือ ‘ทำไมรถเมล์ราคาถูกในเมืองหลวงของไทย ต้องแลกมากับความอดทน’ ทั้งทนร้อน ทนฝุ่น และทนยืนเป็นชั่วโมงๆ เหมือนไร้จุดหมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าของดีมักมีต้นทุนที่ต้องแลกมา ทว่าระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่รัฐควรนำภาษีที่จัดเก็บจากประชาชน กลับมาพัฒนาคุณภาพ ให้ทุกคนในเมืองมีต้นทุนชีวิตที่ดี และลดความเหลื่อมล้ำของคนในเมืองให้ได้มากที่สุด
น่าเสียดายภาษีที่ใช้ดูงานต่างประเทศไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีผ่านไป แต่สิ่งที่หน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบในไทยไม่เคยพูดถึงเลยคือ ‘การอุดหนุนระบบขนส่งสาธารณะ (Public Transport Subsidy)’ อย่างน้อยก็เพื่อให้มีการอุดหนุนค่าโดยสารให้ถูกลง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนในเมืองหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะนำมาใช้สักที
ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทุกส่วน หากเราได้ผู้ว่าฯ ที่เข้าใจระบบขนส่งสาธารณะ มีประสบการณ์และรู้ดีว่า ปัญหาคืออะไร ภายใต้โครงสร้างอันซับซ้อนนี้ หน่วนงานของกรุงเทพมหานคร ทำอะไรได้จริงบ้าง ซึ่งสิ่งที่พวกเราต้องเผชิญอยู่ทุกวันคงไม่มีเวลามากพอให้ว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาเรียนรู้แบบ Day 1 อีกต่อไป นี่จึงเป็นโอกาสในรอบ 9 ปี ที่จะชี้ชะตาอนาคตของกรุงเทพฯ ว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะให้ดีกว่าวันนี้ได้แค่ไหน รถเมล์ถูกและดีมีได้จริงหรือไม่ จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ที่รักษาและพัฒนาคนเก่งๆ ให้อยู่ที่นี่ต่อไปได้หรือเปล่า
เพราะรถเมล์และระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ถือเป็นโจทย์ที่โหดหินสำหรับผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มาทุกยุคทุกสมัย