“เราอยากให้คนที่มารู้สึกว่าทุกช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่คือ Kind Moment ทั้งกับตัวเอง ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม”
‘แพม-เปรมมิกา ศรีชวาลา’ ผู้ก่อตั้ง ‘EKM6’ แพลนต์เบสด์คอมมูนิตี้สเปซสีเขียวเล็กๆ ภายในซอยเอกมัย 6 บอกกับเราถึงสิ่งที่อยากส่งต่อไปยังผู้เข้าใช้บริการ
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ภายในใจกลางย่านเอกมัยยังมีสถานที่หนึ่งที่เป็นเหมือนโอเอซิสสำหรับคนรักสุขภาพให้ได้มาใช้เวลาร่วมกับธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน โดยชื่อของ EKM6 ถูกตั้งขึ้นให้ล้อไปกับสถานที่ตั้งของตัวโครงการอย่าง ‘ซอยเอกมัย 6’ และคำว่า ‘E(very) K(ind) M(oment)’ ยังเป็นการย้ำเตือนว่าที่นี่จะทำให้คุณได้ดื่มด่ำไปกับธรรมชาติรอบตัว รวมถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Plant-based จากผู้ประกอบการรายเล็กในประเทศไทย จนทุกช่วงเวลากลายเป็น Every Kind Moment
E(verything) has a beginning.
“เราไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจตั้งแต่ต้น แต่มันเริ่มมาจากลูกแพ้นมและไข่ แล้วเขาอยากกินไอศกรีม เราเลยลองหาสูตรจากอินเทอร์เน็ตมาทำ จนกลายเป็นไอเดียเล็กๆ ที่ผุดมาจากลูกชายว่าทำไมไม่ลองทำขายดู”
แพมเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเข้าสู่วงการแพลนต์เบสด์อย่างเป็นทางการ ก่อนเริ่มขยับขยายมาเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ออกอีเวนต์ขายไอศกรีมแพลนต์เบสด์ในชื่อ Beyond Pops และได้พบกับกลุ่มผู้ประกอบการรายอื่นที่มีความสนใจในเรื่องสุขภาพเหมือนกัน
แต่ด้วยความที่เมืองไทยไม่ค่อยมีคอมมูนิตี้ของคนชื่นชอบอาหารแพลนต์เบสด์ให้รวมตัวกัน บวกกับแพมเองก็เห็นช่องว่างว่าบ้านเรายังไม่มีพื้นที่ที่รวมธุรกิจเหล่านี้ไว้และเปิดขายได้ทุกวันโดยไม่ต้องรองานอีเวนต์ นั่นจึงทำให้เธอตัดสินใจสร้างสถานที่แบบนั้นขึ้นมาด้วยตนเอง
“เรารู้สึกว่าคนที่มาอีเวนต์เกี่ยวกับแพลนต์เบสด์ มันมีตั้งแต่คนที่ให้ความสนใจแพลนต์เบสด์อยู่แล้วไปจนถึงคนทั่วไปที่เขาสงสัยว่าอาหารประเภทนี้คืออะไร เราเลยคิดเล่นๆ ว่าอยากทำที่ตั้งถาวรที่ไม่ใช่แค่งานอีเวนต์ครั้งคราว ให้ทุกคนมาลิ้มลองอาหารประเภทนี้ได้ตลอดเวลาบ้าง”
K(ind) space in Ekkamai place.
แพมเล่าว่า ตอนแรกเธอและสามีตั้งใจจะขอเช่าพื้นที่ตรงนี้มาทำเป็นอะพาร์ตเมนต์ ไม่ใช่คอมมูนิตี้สเปซอย่างในทุกวันนี้ แต่เมื่อคุยไปคุยมา ด้วยความที่เจ้าของที่ดินไม่ได้สนใจอยากทำอะพาร์ตเมนต์เท่าไหร่นัก จึงมาจบที่แพลนต์เบสด์คอมมูนิตี้สเปซตามไอเดียที่เคยคิดเล่นๆ ของเธอ
“เราเลยลองคุยว่า ถ้าจะทำเป็นคอมมูนิตี้สเปซขนาดสองชั้น และคงส่วนของสวนข้างหน้าไว้เหมือนเดิม เขาสนใจไหม สุดท้ายก็เลยได้พื้นที่ตรงนี้มาเป็นที่เซ้งยี่สิบปี”
แต่กว่าจะออกมาเป็น EKM6 อย่างในทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแพมใช้เวลาในการออกแบบและก่อสร้างกว่า 3 ปีเลยทีเดียว
“ความจริงมันไม่ควรนานขนาดนี้ แต่เพราะว่าเป็นช่วงโควิดพอดี อะไรหลายๆ อย่างเลยต้องปรับเปลี่ยน” เธอเล่า
หากมองไปยังวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างตัวโครงการ จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถึงอย่างนั้นแพมก็ยังบอกกับเราว่า ความจริงควรจะมีมากกว่านี้ แต่เพราะบางรายการราคาหลังโควิดเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ทำให้ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ ต้องลดสเปกบางอย่างลงมา
นอกจากวัสดุก่อสร้างแล้ว เธอยังตั้งใจออกแบบให้พื้นที่เป็นคอมมูนิตี้แบบ Open-air เพราะทราบมาว่าที่ดินตรงนี้เป็นพื้นที่รับลม บวกกับช่วงเริ่มก่อสร้างเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาด การทำพื้นที่ในรูปแบบเปิดจึงน่าจะเหมาะสมกว่า
“อีกอย่างเราไม่อยากให้ที่นี่กลายเป็นห้างฯ ที่เดินเข้ามาแล้วมีแต่แอร์ เราต้องการที่โปร่ง รับลมและแสงจากธรรมชาติ อยากให้คนที่มาได้มีโอกาสเดินในสวน เอาเท้าสัมผัสดิน” เธอเล่าพลางยิ้ม
M(oment) from vendor to vendor.
“ด้วยความที่ตัวเราเป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ในวงการแพลนต์เบสด์มาก่อน พอมีโอกาสสร้างคอมมูนิตี้สเปซ เราก็อยากส่งต่อแรงสนับสนุนไปยังผู้ประกอบการรายเล็กๆ คนอื่นต่อไปด้วย”
เพราะแพมรู้ว่าการเป็นผู้ประกอบการรายเล็กในเมืองใหญ่เป็นเรื่องยาก ดังนั้นการรวมเอากลุ่มคนเหล่านี้ไว้ในที่เดียวกันจะทำให้เขามีหน้าร้านเป็นของตัวเอง มีโอกาสได้จัดอีเวนต์ในพื้นที่เดียวกัน ได้พบปะพูดคุยกับลูกค้าเยอะขึ้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้คนที่สนใจอาหารแพลนต์เบสด์หรือวัตถุดิบท้องถิ่นในประเทศไทยรู้จุดว่าหากต้องการซื้อของเหล่านี้จะต้องมาที่ไหน
ปัจจุบันพื้นที่ภายใน EKM6 ถูกจับจองเกือบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์จากผู้ประกอบการรายเล็กที่มีแพสชันไปในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มตั้งแต่ทางเข้าคอมมูนิตี้ที่ใครผ่านไปผ่านมาจะเห็นคาเฟ่อาหารประเภทแพลนต์เบสด์น่ารักๆ อย่าง ‘Kynd Kulture Cafe’ ที่เน้นโพรไบโอติกส์ (Probiotics) และพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดี กระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์ภายในทางเดินอาหารให้เหมาะสม
ถัดเข้าไปจะพบกับ ‘Plenti : The Wholesome Grocery Store’ ร้านขายของชำที่แพมเป็นคนดูแลด้วยตัวเอง ภายในวางขายผลิตภัณฑ์ประเภท Local Product ที่หลายๆ อย่างจะมีแค่เฉพาะที่นี่เท่านั้น อีกทั้งบริเวณด้านในสุดยังมีห้องเวิร์กช็อปสำหรับสอนทำอาหารและขนม ไปจนถึงการทำเวิร์กช็อปดอกไม้แบบ Sustainable และอื่นๆ อีกมากมาย
“ภายใน EKM6 ยังมีส่วนพื้นที่ให้เช่าสำหรับร้านค้าที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาหารหรือผลิตภัณฑ์ประเภทแพลนต์เบสด์ เราขอเพียงแค่มีจุดร่วมกันว่า ถ้าไม่ใช่แพลนต์เบสด์ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืออย่างน้อยๆ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์” แพมกล่าว
จากแนวคิดที่เปิดกว้างของแพม ทำให้คอมมูนิตี้สเปซแห่งนี้มีร้านค้าที่หลากหลาย โดยยังอยู่ภายใต้แนวคิดเดียวกัน นั่นคือ ความกรีนและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นร้านทำผม ‘Peach U Hair Room’ หรือร้านทำเล็บ ‘BARE NAIL SPA’ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์แบบออร์แกนิก ไปจนถึง ‘Nest by Little Treehouse Nursery’ ที่เป็น Sustainable Playgroup สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้เด็กๆ อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมส่วนที่กำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างอย่างร้านนวดหน้าที่ใช้น้ำมันธรรมชาติ สตูดิโอโยคะ และ Wine Bar วีแกนที่น่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี
E(very) K(ind) M(oment) at EKM6
หลังจากเดินทัวร์พื้นที่กันทั่วแล้ว แพมเล่าให้เราฟังว่า แม้จะเปิดที่นี่มาได้ไม่นาน แต่เพราะกระแสตอบรับดีก็มีคนชวนให้ไปเปิดที่ต่างจังหวัดอยู่เนืองๆ ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังมองว่าอยากให้ที่นี่อยู่ตัวกว่านี้ก่อน
“ไม่ใช่ว่าเราไม่มีแพลนจะไปนะ แต่อาจจะขอให้ที่นี่ Settle กว่านี้ก่อน เพราะใจเราอยากทำให้ EKM6 เป็นเหมือน Prototype สำหรับคนอื่น ให้เห็นตัวอย่างว่าถ้าเขาอยากทำโครงการประมาณนี้ก็สามารถทำได้”
ที่เป็นแบบนั้นเพราะจากระยะเวลาที่ตัวโครงการเปิดมาได้ยังไม่ถึงปีดี แม้ที่นี่จะขึ้นชื่อว่าเป็นแพลนต์เบสด์คอมมูนิตี้ แต่ลูกค้าที่เป็นวีแกนหรือทานแพลนต์เบสด์จริงๆ มีแค่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาที่นี่เป็นคนทั่วไปที่รักสุขภาพ อยากพาคุณพ่อคุณแม่มาทานอาหารที่ดี พาน้องหมามาเดินเล่นบริเวณสวนข้างหน้า มานั่งคาเฟ่ชิลๆ หรือมาทำเล็บทำผมเป็นหลักมากกว่า
ทำให้เห็นว่า แม้ EKM6 จะมีคอนเซปต์ที่ชัดเจนอย่างการเป็นแพลนต์เบสด์คอมมูนิตี้ แต่จริงๆ แล้วกลุ่มลูกค้านั้นกว้างกว่าแค่ชาวแพลนต์เบสด์หรือวีแกนไปมาก ทำให้โอกาสในการเติบโตของที่นี่มีมากขึ้นตามไปด้วย
“เราไม่ได้สร้างที่นี่ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนที่มาต้องเป็นวีแกน แต่เหตุผลที่เราสร้างที่นี่ขึ้นมาคืออยากให้อาหารประเภทแพลนต์เบสด์เป็น Another New Normal และอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนสถานที่หนึ่งที่คุณมาแล้วจะได้ลองอะไรใหม่ๆ กลับไป เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของคุณเอง”
EKM6
เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 20.00 น.
พิกัด : ซอยเอกมัย 6
แผนที่ : goo.gl/maps/VnoL5iacqCrmd7GQA