7 กลุ่มโรคร้ายที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด - Urban Creature

เดือนแห่งการเริ่มต้นใหม่เวียนกลับมาอีกครั้ง เชื่อว่าหลายคนคงตั้ง New Year’s Resolution หรือเป้าหมายชีวิตที่อยากทำให้สำเร็จในปีกระต่ายเอาไว้บ้างแล้ว ทั้งเรื่องการงาน การเงิน การใช้ชีวิต รวมถึงการดูแลสุขภาพ 

‘สุขภาพ’ ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่หลายคนอยากปฏิวัติให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะหากละเลยหรือปล่อยให้สุขภาพย่ำแย่ วันใดวันหนึ่งอาจล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล แย่ที่สุดคือการเป็นโรคร้ายที่รุนแรงถึงชีวิต

ใครๆ ก็อยากสุขภาพดีปลอดโรคกันทั้งนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คอลัมน์ City By Numbers จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจว่า โรคใดบ้างที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดในปีที่ผ่านมา และต้นตอสาเหตุของโรคต่างๆ มาจากอะไร เผื่อใครลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตให้รอบคอบมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายเหล่านี้

7 กลุ่มโรคร้ายที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ปี 2564 เปิดเผยว่า หากจำแนกตามอัตราเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน สามารถแบ่งสาเหตุการเสียชีวิตได้เป็น 7 กลุ่มโรคร้ายดังต่อไปนี้

1) มะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด 128.50 คน
2) หลอดเลือดในสมอง 55.50 คน
3) ปอดบวม 49.70 คน
4) หัวใจขาดเลือด 33.50 คน
5) เบาหวาน 24.50 คน
6) ความดันโลหิตสูง 14.50 คน
7) เอดส์ 5.50 คน

ที่น่าสังเกตคือ หากอ้างอิงจากอัตราเสียชีวิตจากโรคร้ายต่อประชากร 100,000 คนของ NESDB ระหว่างปี 2541 – 2564 จะพบว่า มะเร็งและเนื้องอกคือสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับสูงสุดตลอด 23 ปีที่ผ่านมา และในแต่ละปีอัตราดังกล่าวยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ส่วนสาเหตุของภัยเงียบอย่างมะเร็งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่เรื่องพันธุกรรมในครอบครัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งปัจจัยภายนอกที่ว่าคือพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น

1) การกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำๆ
2) การสูบบุหรี่
3) การดื่มสุรา
4) ความเครียด
5) การได้รับรังสี
6) การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
7) ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
8) ความอ้วน
9) ไม่ออกกำลังกาย
10) ไม่กินผักและผลไม้สด

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกอย่างการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ความอ้วน ความเครียด ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายกลุ่มอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด และเบาหวานเช่นกัน การลดความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้จึงทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตัวเอง 

ส่วนสิทธิการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ประชาชนสามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาลได้ 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม 

สำหรับสิทธิบัตรทอง ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ย้ำว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเลือกไปรักษาที่หน่วยบริการที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ และรักษาฟรี โดยไม่จำเป็นต้องรอรักษากับหน่วยบริการใกล้บ้าน

สำหรับสิทธิข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายยาได้โดยตรงโดยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน ซึ่งปัจจุบันโครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง (OCPA) มีรายการยาสำหรับการรักษาโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาที่เบิกจ่ายตรงได้จำนวนทั้งสิ้น 21 รายการ และ 35 เงื่อนไขข้อบ่งชี้

สำหรับสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ซึ่งสถานพยาบาลที่เลือกไว้จะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการรักษา รวมถึงไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน ยกเว้นมีค่าใช้จ่ายในการบริการด้านอื่นๆ นอกเหนือสิทธิประกันสังคม เช่น การใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียาหลัก เป็นต้น

Sources : 
Boltech | bit.ly/3ITYLjd
Business Plus | bit.ly/3IxCuHD
NESDB | bit.ly/3QwgVt6
Phyathai | bit.ly/3ZmFeNX
Royal Thai Government | bit.ly/3vRjMmF
Thai Cancer Society | bit.ly/3vOEhR5
Thairath | bit.ly/3QIgTOV
TISCO | bit.ly/3VYzIhE


‘CITY CHECKUP ตรวจสุขภาพเมือง’ คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนมกราคม 2566 จาก Urban Creature ที่อยากชวนทุกคนมาเช็กอัปสุขภาพเมืองผ่านผู้อยู่อาศัย โครงสร้าง และนโยบาย ที่เปรียบเหมือนเป็นร่างกายและจิตใจของเมือง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ปีใหม่

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.