บันทึกจากคนเชียงใหม่จากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 - Urban Creature

สิบกว่าปีที่แล้วเวลานึกถึงเชียงใหม่ หลายคนมักนึกถึงอากาศเย็นๆ ในช่วงฤดูหนาว คนจำนวนมากเดินทางมาเพื่อชมภาพทะเลหมอกกับทิวดอยต่างๆ และบ้างที่มาเพื่อลองจิบกาแฟถึงแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพอันดับต้นของประเทศ

นี่คือส่วนหนึ่งจากหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้คนมาเที่ยวที่เชียงใหม่ และทำให้จังหวัดนี้มีชื่อเสียง แต่ปัจจุบันเมื่อหมดช่วงฤดูหนาวที่เป็นหน้าไฮซีซันของจังหวัดไป เชียงใหม่ก็กำลังมี ‘ชื่อเสีย’ จากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จนติดอันดับหนึ่งของโลกอยู่หลายครั้ง และทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยถอยลงเพราะหนีจากฝุ่นไปจำนวนมาก

ฝุ่นจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ ต่อเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาพของผู้คนเชียงใหม่ที่จำต้องสูดอากาศหายใจที่มีกลิ่นควันผสมกับกลิ่นเลือด จากการอักเสบของทางเดินหายใจของตนเองจากฝุ่น และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 ในฐานะ ‘ผู้ประสบภัย’

เมื่อทาง Urban Creature ติดต่อมาขอให้เขียนเรื่องปัญหาฝุ่นควันในคอลัมน์ One Day With… เราจึงตอบตกลงทันที ในฐานะของคนเชียงใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยโดยตรง เราขอเป็นตัวแทนคนเชียงใหม่ในการนำเสนอให้ผู้คนทั่วไปได้เห็นประสบการณ์ของคนเชียงใหม่ที่ต้องทนอยู่กับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 มาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี คนเชียงใหม่ต้องเจออะไร ทนกับสิ่งไหน และมีความหวังกับอะไรบ้างที่จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนี้ให้หมดไป

ฝุ่นควัน PM 2.5 เชียงใหม่ ฝุ่นพิษ ภาคเหนือ

01

แม้ ‘อากาศ’ จะไม่ได้ถูกรวมอยู่ในปัจจัยสี่อันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่เรามองว่าอากาศคือสิ่งที่ทุกคนรับรู้โดยทั่วกันว่าคือ พื้นฐานสำคัญที่สุดในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์

แต่ปัจจุบันสำหรับคนเชียงใหม่รวมถึงคนในจังหวัดทางภาคเหนือ การหายใจเข้าลึกๆ ที่ควรจะเป็นเรื่องดีกลับกลายเป็นความเสี่ยง เป็นความหวาดกลัวไปแล้วว่า พวกเขากำลังจะสูดเอามลพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก และเป็นการทำร้ายสุขภาพของพวกเขาเอง จนบางคนเรียกการทนอยู่กับฝุ่นนี้ว่าเป็นการตายผ่อนส่ง

สำหรับคนเชียงใหม่ พวกเราเจอกับปัญหาฝุ่นควันนี้มาก่อนที่คนทั้งประเทศจะรู้จักกับคำว่า PM 2.5 ซึ่งเป็นคำที่เป็นกระแสขึ้นมาประมาณเกือบสิบปีที่แล้ว จากตอนที่กรุงเทพฯ เริ่มเจอกับปัญหาฝุ่นควันเช่นเดียวกัน และเป็นจุดเริ่มต้นให้สำนักข่าวต่างๆ เริ่มนำเสนอประเด็นปัญหาและผลกระทบจากฝุ่นควันนี้อย่างจริงจังจนคนทั้งประเทศหันมาสนใจ และทำให้คนเชียงใหม่ที่เจอปัญหามาก่อนหน้าได้รู้จักชื่อของฝุ่นเจ้าปัญหานี้ว่า PM 2.5

ช่วงแรกที่เชียงใหม่เจอกับปัญหาฝุ่น คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่มีใครรู้จักแอปฯ บอกค่าฝุ่นอย่าง AirVisual หรือมีเครื่องฟอกอากาศในบ้านสักคนเลยด้วยซ้ำ กระทั่งมีอยู่ปีหนึ่งที่ฝุ่นมีปริมาณมากขึ้น ขนาดที่บดบังดอยสุเทพทั้งลูกให้หายไปต่อหน้าคนเชียงใหม่ได้ วันนั้นเองที่ทำให้พวกเราตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาฝุ่นควันนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนเชียงใหม่เริ่มใช้ดอยสุเทพ ดอยศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่นี่แหละเป็นตัววัดค่าฝุ่นในแต่ละวันว่ามากน้อยแค่ไหน วันไหนที่ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพได้เลยแปลว่าวันนั้นฝุ่นเยอะ การมองดอยเพื่อวัดค่าฝุ่นจึงกลายเป็นกิจวัตรแรกประจำวันของผู้คนเชียงใหม่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นควัน และต่อมาก็ทำควบคู่ไปกับการใช้แอปฯ หรือเครื่องบอกค่าฝุ่นถึงปัจจุบัน

ฝุ่นควัน PM 2.5 เชียงใหม่ ฝุ่นพิษ ภาคเหนือ

02

ช่วงปีแรกๆ ที่เชียงใหม่เพิ่งประสบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังไม่มีใครคิดว่ามันจะเป็นปัญหาร้ายแรง เนื่องจากตอนนั้นปริมาณของฝุ่นยังไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ บางคนเคยเรียกมันอย่างเหน็บแนมว่าเป็น ‘ฤดูฝุ่น’ เพราะฝุ่นมักจะมาหนักสุดในช่วงเดือนมีนาคม และเดี๋ยวก็หายไปเมื่อฝนแรกของเดือนเมษาฯ ที่มักจะตกลงมาใกล้กับช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือประเพณีปีใหม่เมืองของคนเชียงใหม่

ทุกครั้งที่มีฝุ่น คนเชียงใหม่เวลานั้นจึงตั้งตารอฝนให้ตกจากฟ้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยชะล้างฝุ่นพิษนี้ให้หายไปได้ กระทั่งประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว เมื่อฝนแรกของเดือนเมษาฯ ตกลงมาเพื่อช่วยชะล้างฤดูฝุ่นควันให้หายไปอย่างทุกทีที่ผ่านมา แต่ในวันถัดมาเมื่อคนเชียงใหม่ตื่นขึ้นมา พวกเขากลับพบกับความจริงใหม่ว่า ฝุ่นควันนั้นยังคงอยู่เหมือนเดิมแทนที่จะเป็นท้องฟ้าสดใสหลังฝน นับตั้งแต่นั้นมา คนเชียงใหม่จึงไม่มีใครมองปัญหานี้ว่าเป็นเพียงฤดูฝุ่นอีกต่อไป

ภายหลังยังมีการนำเอางานวิจัยออกมายืนยันอีกว่า ฝนนั้นไม่สามารถชะล้างฝุ่น PM 2.5 ได้ทั้งหมด เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดที่เล็กมากๆ เมื่อเทียบกับเม็ดฝน ประกอบกับการแหวกอากาศร่วงลงมาของเม็ดฝนยังกลายเป็นการผลักฝุ่นมากกว่าการชะล้าง ในงานวิจัยมีการแสดงตัวเลขให้เห็นอีกว่า ฝนตกเบาๆ หนึ่งชั่วโมงสามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ไม่ถึงสามเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ส่วนฝนตกหนักลดปริมาณฝุ่นได้ประมาณยี่สิบเปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นเหตุผลให้ช่วงหลังมาแม้ว่าจะมีฝนตกที่เชียงใหม่แต่ฝุ่นก็ยังคงอยู่

ฝุ่นควัน PM 2.5 เชียงใหม่ ฝุ่นพิษ ภาคเหนือ

ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ฝนช่วยคือการช่วยดับไฟในป่า ลดจุดความร้อนลง และช่วยเปลี่ยนแปลงความกดอากาศที่กดฝุ่นควันให้อยู่ในภูมิประเทศแบบแอ่งกระทะ ที่มีเมืองเชียงใหม่อยู่ในแอ่งให้ฝุ่นกระจายออกไปได้บ้าง

จากงานวิจัยเรื่องเม็ดฝนกับความสามารถในการชะล้างฝุ่น PM 2.5 นี้เอง ยังทำให้เราเห็นได้อีกว่า หลายปีที่มีการซื้อหรือนำรถฉีดน้ำมาฉีดบริเวณพื้นที่ใจกลางเมืองของหน่วยงานภาครัฐของจังหวัดเชียงใหม่นั้น แทบไม่ได้ผลอะไรเลย

ล่าสุดยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนเชียงใหม่เกี่ยวกับการนำรถมาพ่นน้ำแก้ปัญหาฝุ่นอีกครั้ง หลังจากที่มีการเปิดตัวรถพ่นน้ำขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าของทางเทศบาลนครเชียงใหม่ที่เพิ่งสั่งซื้อมาใหม่จำนวน 7 คัน เป็นเงินเกือบ 20 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการชี้แจงว่า ทางเทศบาลเลิกนำรถมาใช้พ่นน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นควันแล้วเนื่องจากไม่ได้ผล ส่วนรถที่เพิ่งจัดซื้อมาใหม่นั้นสำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นผิวถนนในตัวเมือง ซึ่งก็ทำให้ประชาชนเชียงใหม่วิจารณ์ต่อไปถึงลำดับความสำคัญของการใช้งบจำนวนขนาดนี้ว่า ควรนำไปใช้สนับสนุนกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดับไฟป่าที่มีการเสียชีวิตทุกปี และขาดแคลนอุปกรณ์จนประชาชนต้องช่วยกันบริจาคทุกครั้ง หรือนำไปแก้ไขปัญหาฝุ่นควันให้ดีกว่านี้จะเหมาะสมกว่าไหม

เช่นเดียวกัน ประเด็นการให้และใช้งบประมาณยังเป็นสิ่งที่ทางประชาชนวิจารณ์ไปถึงนโยบายและงบประมาณแก้ไขฝุ่นควันของทางรัฐบาลด้วยเช่นกัน นั่นจึงทำให้เราเห็นภาพประชาชนกับนักวิชาการเชียงใหม่ร่วมมือกันฟ้องอดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ละเลยการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขณะเป็นผู้นำรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา

ฝุ่นควัน PM 2.5 เชียงใหม่ ฝุ่นพิษ ภาคเหนือ

03

ในจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นควันติดอันดับหนึ่งของโลก เชียงใหม่ยังมีตัวเลขผู้ป่วยโดยเฉพาะมะเร็งปอดมากที่สุดในประเทศเป็นผลตามมา และในช่วงเวลาไม่กี่ปี ชาวเชียงใหม่ต้องสูญเสียอาจารย์ที่มีองค์ความรู้ระดับประเทศ หรือบุคคลมีชื่อเสียงไปเพราะมะเร็งปอดจำนวนไม่น้อย ยังไม่นับโรคอื่นๆ อีกจำนวนมากที่กำลังทำร้ายสุขภาพของผู้คนอยู่ขณะนี้

ผู้คนในเชียงใหม่ต้องดิ้นรนหาทางรอดกันเอง พวกเขาต้องควักเงินตนเองไปหาซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นมาสวมใส่กันเองทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ช่วงไหนฝุ่นหนักๆ ก็ต้องใส่กันในบ้านด้วยซ้ำ เช่นเดียวกันกับการต้องไปหาซื้อเครื่องกรองอากาศมาใช้เพื่อปกป้องตนเองและคนในครอบครัว คนที่ทำงานออฟฟิศบางแห่งสามารถทำงานที่บ้านได้ แต่คนที่ต้องทำงานกลางแจ้งก็ต้องอดทน บางคนที่มีฐานะทางการเงินดีหน่อยหรือมีทางเลือกก็จะย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดในช่วงที่ฝุ่นมา แต่บางคนที่ไม่มีทางเลือกหรือกำลังมากพอก็ต้องทนอยู่กับฝุ่นที่เชียงใหม่ต่อไปด้วยความจำเป็น

แน่นอนว่าพอปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่รุนแรงขึ้น ผู้คนเชียงใหม่ก็เริ่มต้นตั้งคำถามกันว่า อะไรคือต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น และในช่วงแรกกระบวนการหาสาเหตุที่ง่ายที่สุดก็คือการหาแพะรับบาป หาสักตัวละครมาเพื่อชี้กล่าวโทษ นั่นคือ ชาวบ้านบนป่าบนดอย ว่าคือต้นตอของปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการเผาพื้นที่ทำการเกษตร เผาหาเห็ด หาของป่าต่างๆ

มากไปกว่านั้น ภาครัฐเองก็มีการออกมาตรการสอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการออกประกาศจับและให้เงินรางวัลกับผู้ที่พบเห็นคนเผาป่า โดยที่ความจริงแล้วผู้คนในเมืองหรือเราทุกคนต่างก็มีส่วนในการผลิตปัญหาฝุ่นควันนี้ขึ้นร่วมกันทั้งนั้น จากการใช้ยานพาหนะหรือพฤติกรรมต่างๆ

ทั้งที่เวลาเกิดไฟป่าขึ้นมาก็เป็นชาวบ้านนี้เองมิใช่หรือที่เป็นผู้ทำแนวกันไฟ ยอมเสี่ยงชีวิตทำหน้าที่ดับไฟ สำหรับเราจึงไม่มีใครถูกหรือผิดอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งในเวลาต่อมาก็เริ่มมีหน่วยงานจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทำงานร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและผู้คนในเมืองมากขึ้น สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า จนทำให้เชียงใหม่ลดจุดความร้อนลงไปได้มากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่น่าจะลดลงในที่สุด

ฝุ่นควัน PM 2.5 เชียงใหม่ ฝุ่นพิษ ภาคเหนือ

แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ปัญหาฝุ่นควันยังคงมีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิมทุกปี และนำมาสู่การเผยแพร่งานวิจัยที่กลายเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ขณะนี้ เมื่อมีการพบว่า บริษัทผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเราได้มีการลงทุนสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งในพื้นที่ทางภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขยายตัวหลายเท่าในแต่ละปี สอดคล้องกับสถิติการเพิ่มความรุนแรงของปัญหาฝุ่นควันอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนเชียงใหม่ถึงเริ่มได้รู้จักกับปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ฝุ่นที่เกิดจากการเผาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในพื้นที่ชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับเรา ซึ่งมีจำนวนพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าเราหลายเท่า

ปัญหานี้เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่มีการลงความตกลง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ของประเทศเรากับเพื่อนบ้านในปี 2547 ที่ทำให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้โดยไม่เสียภาษี ไม่จำกัดปริมาณ หรือช่วงเวลานำเข้า หลังจากการทำข้อตกลงนี้ มีการพบการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา โดยเฉพาะประเทศพม่ามากขึ้นเป็นจำนวนหลายเท่าในแต่ละปี และภายหลังจากข้อตกลงนี้ได้สามปี ในปี 2550 เชียงใหม่และจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านของเราก็เริ่มเจอปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับการขยายของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยิ่งยืนยันได้ชัดจากจำนวนจุดความร้อนบนแผนที่ในประเทศแถบเพื่อนบ้านของเราที่มีจำนวนมากกว่าเราหลายสิบเท่า และจากการตามย้อนรอยเส้นทางการเคลื่อนที่ของฝุ่นควันข้ามแดน

ฝุ่นควัน PM 2.5 เชียงใหม่ ฝุ่นพิษ ภาคเหนือ

ปัจจุบันผู้คนเชียงใหม่ต่างก็พยายามช่วยเหลือปกป้องกันและกัน พยายามแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาไฟป่าร่วมกันให้ดีที่สุด สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควันให้กับผู้คนในจังหวัด เพื่อไม่ให้เชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือต้นเหตุฝุ่นควันที่เกิดขึ้น แต่ความหวังที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่เพิ่มมากขึ้นจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนที่ต้องใช้คำว่า ‘มหาศาล’ ในพื้นที่เพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของผู้คนในต่างจังหวัด

ความหวังของคนเชียงใหม่ตอนนี้คือการได้เห็นรัฐบาลออกมารับปาก และออกนโยบายที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจังในอนาคตอย่างด่วนที่สุด ก่อนที่ปัญหาฝุ่นควันจะทวีความรุนแรงขึ้นจนไม่เหลืออากาศสะอาดให้ผู้คนเชียงใหม่ได้หายใจ และสำลักควันตายกันในที่สุด

ฝุ่นควัน PM 2.5 เชียงใหม่ ฝุ่นพิษ ภาคเหนือ

Writer & Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.