ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567

ต้องยอมรับว่า ผมไม่ใช่คนเดียวที่ชอบถ่ายรูปสิ่งของงานออกแบบไทยๆ ที่ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันตามท้องถนน เพราะหลังจากที่ออกหนังสือ สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด ผมก็ได้พบปะผู้คนมากมายที่ชอบถ่ายรูปคล้ายๆ กัน แถมมีภาพที่น่าตื่นเต้นมากกว่าผมเสียอีก จนมีคนแซวว่า ใครๆ ก็เป็นคอลัมนิสต์ของคอลัมน์ดีไซน์-เค้าเจอได้ ถ้าเป็นคนที่ชอบเดินเล่นและมีนิสัยช่างสังเกตพอ ซึ่งผมก็เห็นดีเห็นงามด้วย เพราะไม่ได้ห่วงตำแหน่งอะไร (ฮา)

อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าถึงแม้จะถ่ายรูปคล้ายกัน แต่วิธีมองหรือคำอธิบายของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันออกไป บางคนมองเป็นไอเดีย บางคนมองเป็นงานครีเอทีฟ บางคนมองเป็นมีมตลกร้าย หรือบางคนมองเป็นปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่เรามีมุมมองที่หลากหลายในเรื่องเดียวกัน และผมมองว่าการบาลานซ์มุมมองต่างๆ เวลาพบเจอสิ่งของเรี่ยราดพวกนี้แหละคือหัวใจสำคัญ เพราะสิ่งของเหล่านี้ส่วนใหญ่มักสะท้อนปัญหาบางอย่างในสังคม

ผมเลยอยากย้ำเพื่อนๆ ผู้อ่านตอนนี้อีกครั้งว่า คอลัมน์นี้มีความตั้งใจแบ่งปันมุมมองเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจความเป็นไปของผู้คนในเมืองว่า เหตุใดพวกเขาถึงต้องดีไซน์ของกันเองจนกลายเป็นคัลเจอร์ มากกว่าแค่รูปภาพสนุกๆ เฉยๆ

และในฐานะคอลัมนิสต์ ผมจึงมีความรับผิดชอบที่ต้องคัดสรรภาพสิ่งของเหล่านี้จำนวนหนึ่งมาฝากให้ทุกท่านได้รับชมอีกครั้งในรอบนี้ เพราะไม่งั้นตำแหน่งนี้อาจโดนแย่งไปจริงๆ (ฮา)

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเกริ่นไปตอนต้น หากใครมีภาพสิ่งของแนวๆ เดียวกันนี้ จะติด #ดีไซน์เค้าเจอ เพื่อแบ่งปันกันก็ได้ อยากรู้จริงๆ ว่าทุกคนมีมุมมองแบบไหนกันบ้าง หรือจะท้าชิงตำแหน่งกับผมก็ไม่ว่ากัน

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

ศาล Pave

หากใครพอมีความรู้เรื่องการตั้งศาลพระภูมิมาบ้าง เราจะพบว่าความหมายของศาลพระภูมิก็คือเจ้าที่ ‘ดิน’ ทำให้การตั้งศาลทั่วไปนั้นมักต้องอยู่บนแท่งเสา เพื่อจำลองลักษณะเหมือนอยู่บนต้นไม้ที่งอกจากดิน และพันผ้าสามสีเอาไว้ให้เป็นแบบเดียวกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่เราเห็นกันบ่อยๆ

กลับมาที่รูปศาลพระภูมิและศาลตายายที่ตั้งอยู่บนอิฐทางเท้า (Paving Block) ที่กองๆ ให้ยกสูงจากพื้นดินขึ้นมาจนดูแปลกตารูปนี้ หลายคนอาจจะมองว่าผิดหลัก แต่ผมมองว่าไม่ได้ผิดอะไรหากตีความแบบที่เกริ่นไป นอกจากจะได้ประยุกต์วัสดุเหลือใช้จากไซต์ก่อสร้างแล้ว ท่านยังจะได้เป็นเจ้าที่จาก ‘ดิน’ จริงๆ อีกด้วย

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

Tri-แผง

เวลาเดินเจอแผงลอยขายของข้างทาง ผมมักมองดูว่ามีใครใช้เทคนิคอะไรในการ Portable ของขายแบบไหนได้บ้าง เมื่อพยายามมองหาทีไร ผมก็มักเจอเคสที่น่าสนใจเสมอๆ

ยกตัวอย่าง การใช้ขาตั้ง Tripod ประยุกต์เป็นขาตั้งแผงแบบรูปนี้ก็ดูเท่ไม่เลว เพราะสามารถปรับขาตั้งได้ตามใจ พับเก็บง่ายคล่องตัว มีกระเป๋าสะพายพกพาสะดวก เหมาะกับการเป็นแผงลอยสุดๆ

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

แกลลอน-แกนรั้ว

ผมรู้สึกชื่นชมทุกครั้งเวลาเจอสิ่งของที่เกิดจากการพยายาม DIY วัสดุเหลือใช้อยู่เสมอๆ เพราะนอกจากช่วยลดขยะแล้ว เราก็มักจะได้เห็นไอเดียและเทคนิคที่น่าสนใจ

หนึ่งในนั้นคือรั้วกั้นทางเดินจากขวดแกลลอนในรูปนี้ ที่เกิดจากการผ่าก้นขวดออกแล้วสวมขวดซ้อนต่อขึ้นไป โดยยึดด้วยหมุดติดต่อระหว่างขวดไว้ กลายเป็นแกนเสาเตี้ยๆ ที่ตั้งกับพื้นได้ มีน้ำหนักเบาและยกย้ายง่าย แถมยังร้อยเชือกที่หูหิ้วเพื่อขึงเป็นแนวกั้นทางได้อีกด้วย

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

ก๊อบแก๊บ Gutter

ช่วงหลังๆ ผมมักให้ความสนใจและสังเกตวิธีการจัดการน้ำทิ้งตามร้านค้าริมทางต่างๆ เป็นพิเศษ เพราะปัญหาเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย ท่อตัน น้ำท่วมขัง ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการจัดการน้ำเสียที่ไม่ดีพอจากร้านรวงเหล่านี้นี่แหละ

การจัดการน้ำแข็งที่ละลายด้วยถุงก๊อบแก๊บ ทำให้เป็นเหมือนรางน้ำและต่อให้ไหลลงถังพลาสติกแบบรูปนี้ ก็เป็นเทคนิคที่น่าสนใจดี

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

เตะ-ตาก

ตามชุมชนเล็กๆ พื้นที่บริเวณหน้าบ้านเป็นจุดที่ตากผ้าที่ดีที่สุด และพื้นที่หน้าบ้านนี้เองก็มักมีกิจกรรมหลากหลายอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถหรือสนามบอลเล็กๆ ของเด็กๆ 

ผมเคยเจอสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถตอบโจทย์ทั้ง 3 กิจกรรมที่กล่าวมา เป็นท่อน้ำพีวีซีต่อขึ้นเป็นโกลบอลเล็กๆ ให้เด็กแถวนั้น และใช้เป็นราวตากผ้าในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งโกลนี้เองก็เป็นที่กันรถจากเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

เก้าอี้มาดาม

คาแรกเตอร์หนึ่งของเหล่าเก้าอี้ริมทาง โดยเฉพาะตามซุ้มวินฯ มักเป็นเก้าอี้พังๆ ที่เอามาปะนิดซ่อมหน่อยด้วยเทคนิคต่างๆ ซึ่งไม่ว่าเก้าอี้จะอาการสาหัสแค่ไหนก็ยังจะซ่อมอีก อย่างพวกเก้าอี้ที่ขาหักไปแล้ว เราก็อาจจะได้เจอวิธีการดามขาด้วยท่อนเหล็กหรือไม้ แล้วพันทับด้วยเทปกาวคล้ายคนที่ถูกดามเฝือก

อย่างรูปเก้าอี้ขาพังตัวนี้ก็ใช้เทคนิคดามท่อนไม้ที่ขาในแบบเดียวกัน แต่เทปที่พันนั้นเป็นเทปลวดลายห่อของขวัญสีขาวดำ พอพันไปแล้วดูคล้ายๆ ลายกางเกงช้างแปลกๆ

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

Street Stool

Street Food ไทยแลนด์ ใครๆ ก็รู้ว่ามีหลากหลายระดับ ตั้งแต่หลักสิบบาทยันระดับมิชลิน ไกด์ กระนั้นหลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตว่าหลายร้าน Street Food นั้นตั้งอยู่บนพื้นหลากหลายระดับเช่นกัน กลายเป็นว่าหลายร้านจำเป็นต้องมีการทำตัวปรับระดับขาของร้านให้เท่ากันอยู่เสมอๆ

ดูได้จากร้านรถเข็นรูปนี้ที่วางคร่อมขอบพื้นเลยออกมา จึงต้องทำโครงหนุนล้อที่มีหน้าตาคล้ายเก้าอี้สตูลเตี้ยๆ ถ้าเอาโครงนี้ไปวางที่อื่นคงมีคนเข้าใจผิดนึกว่าเป็นเก้าอี้ซักผ้าแหงๆ

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

รางรับ

ประเด็นเดียวกับในรูปก่อนหน้า การมีของหนุนขาโต๊ะตามขอบพื้นถนนนั้นเป็นเรื่องปกติมากๆ แถมยังมีเทคนิคที่หลากหลายอีกด้วย อย่างรูปนี้ที่ทำเป็นโครงรางรับล้อจากขาโต๊ะที่เลยออกมา ซึ่งทำให้โต๊ะตัวนี้เลื่อนไปเลื่อนมาแนวข้างได้อีกแน่ะ

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กันยายน 2567 งานออกแบบ สิ่งของ ของใช้

พับ Parking

ปัญหาที่จอดรถในเมืองเป็นเรื่องใหญ่สุดๆ ไม่ต้องบอก ใครๆ ก็รู้ ทำให้เวลาที่ขับรถวนเพื่อหาที่จอดในเมือง เราอาจจะได้เห็นแท่งห้ามจอดหรือสิ่งของใดๆ ตั้งริมทางอยู่เสมอๆ เป็นนัยบอกว่า ยูห้ามจอดรถตรงนี้นะ

และเมื่อการตั้งของกั้นไว้เฉยๆ ก็อาจจะถูกยกออกได้อยู่ดี กลายเป็นว่าบางที่เราอาจจะเจอเจ้าของที่ที่จริงใจ โดยการทำท่อนเหล็กที่พับเปิด-ปิดได้ให้เป็นแนวกั้นรถไปเลย ซึ่งจะจอดตรงนี้ได้ก็ต้องมีกุญแจปลดล็อกบานพับก่อนนะ ยูโน้ว

Writer & Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.