ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567

เป็นหลายครั้งที่ใครหลายคนชวนผมคุยเรื่องการออกแบบเก้าอี้แนว Street Furniture สไตล์ไทยๆ ที่พบเจอได้ตามริมทางท้องถนนเมืองไทย อย่างเช่นเก้าอี้พี่วินมอเตอร์ไซค์ หรือเก้าอี้ตามร้าน Street Food ที่มักมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวและหน้าตาที่คาดเดาไม่ได้

แต่ส่วนตัวผมเองให้ความสนใจ Urban Vernacular (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมือง) แบบรวมๆ เป็นหลัก ซึ่งไอ้เจ้าเก้าอี้แนวๆ นี้ที่เอ่ยมาก็ถือเป็นหนึ่งในประเภทของ Urban Vernacular ที่การปรากฏตัวนั้นล้วนเกิดจากความจำเป็นที่ต้องมีที่นั่งริมทางในที่สาธารณะ ไม่ว่ารอลูกค้าหรือนั่งกินข้าว ทำให้มีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องมีเก้าอี้ใช้นั่งกันเองแบบชั่วคราวและเบาตัว

ผมเองก็มีการบันทึกภาพเก้าอี้พวกนี้อยู่จำนวนหนึ่ง จนพอจะจับคาแรกเตอร์ได้บ้างว่าเก้าอี้ที่ใช้นั่งพวกนี้ก่อรูปได้กี่แบบ ซึ่งผมสามารถให้คีย์เวิร์ดเบื้องต้นได้ประมาณว่า ซ้อน ซ่อม พลิก รวมร่าง

ซ้อน – เกิดจากพวกวัสดุเหลือใช้หรือเก็บได้แถวนั้น มักเป็นเศษไม้เศษอิฐ นำมาเรียงตัวซ้อนกันในแนวดิ่งเป็นเก้าอี้ม้านั่ง
ซ่อม – ต่อจากวัสดุเหลือใช้ เก้าอี้เหลือใช้ ก็เอามาปะนิดซ่อมหน่อยด้วยเทคนิคต่างๆ ใช้นั่งต่อได้ยาวๆ
พลิก – เป็นการเอาวัสดุรอบตัวพลิกไปพลิกมาให้เป็นเก้าอี้หรืออะไรที่มากกว่านั้น
รวมร่าง – คือผลของทั้ง 3 คีย์เวิร์ดก่อนหน้า เมื่อ ซ้อน ซ่อม พลิก แล้วมักเกิดการรวมร่างกับวัสดุใดๆ กลายเป็นเก้าอี้ที่คาดเดาหน้าตาไม่ได้

แต่ไอ้เจ้า 4 คีย์เวิร์ดนี้ไม่ได้ตายตัวนะ หลายครั้งค่อนข้างคาบเส้นกันไปกันมา คาดเดาได้ยาก ด้วยเหตุนี้เอง เชื่อได้ว่าเวลาที่หลายคนพอได้เห็นเก้าอี้พวกนี้ก็มักรู้สึกตื่นตา คงน่าจะชอบความคาดเดาไม่ได้นี่แหละ รวมถึงหน้าตาที่แปลกไปจากขนบและความคุ้นชินของนิยามเก้าอี้แบบเดิมๆ หาดูจากนิตยสารไหนก็ไม่มี

คอลัมน์ ดีไซน์-เค้าเจอ ประจำเดือนนี้ ผมจึงขออนุญาตเน้นภาพเก้าอี้สไตล์ไทยๆ ริมทางพวกนี้ และลองเล่าด้วยคีย์เวิร์ดที่ผมลองตั้งขึ้นมาเองให้เพื่อนๆ ลองได้รับชมกัน

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat ซ้อน + รวมร่าง

หัวใจหนึ่งของ Urban Vernacular คือการนำวัสดุรอบๆ พื้นที่ตรงนั้นๆ มาใช้สร้างฟอร์มของตัวเองขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ การที่จะเจอเก้าอี้ที่เกิดจากการซ้อนของแผ่นอิฐปูพื้นฟุตพาทที่เหลือจากการก่อสร้างตรงนั้น และพาดด้วยแผ่นไม้แบบภาพนี้ คือเรื่องที่เราสามารถคาดเดารูปแบบได้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat ซ้อน + รวมร่าง

การนำวัสดุรอบๆ พื้นที่ตรงนั้นๆ มาใช้ อาจไม่ใช่แค่เศษวัสดุที่กองทิ้งไว้แบบไม่ตั้งใจ แต่อาจเป็นวัสดุทิ้งไว้แบบตั้งใจจากธุรกิจหรืออาชีพแถวๆ นั้นก็ได้ด้วย

ยกตัวอย่าง เก้าอี้จากการซ้อนรวมร่างของตัวบอดี้เก้าอี้ออฟฟิศเก่ากับยางรถยนต์แบบรูปนี้ที่ผมเจอ ซึ่งแถวนั้นคือย่านเซียงกงซ่อมรถยนต์ ทำให้ไม่แปลกใจที่เราจะได้เจอเก้าอี้ที่เกิดจากของเหลือใช้จากร้านรวงแถวนั้น

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat ซ้อน + ซ่อม

เก้าอี้ถือเป็นเฟอร์นิเจอร์ประเภทหนึ่งที่มีโอกาสพังได้ง่าย โดยเฉพาะเหล่าเก้าอี้พลาสติกที่เป็นของใช้มหานิยมในบ้านเรา ซึ่งค่อนข้างเปราะบาง ชอบขาหัก พนักพิงพัง

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อดีหนึ่งที่เก้าอี้พลาสติกพวกนี้มีก็คือคุณลักษณะซ้อนทับได้ และคุณลักษณะนี้เองก็มักนำมาใช้ซ่อมเก้าอี้ตัวอื่นได้ต่อ ด้วยการซ้อนตัวที่พังทับลงไปในตัวที่ไม่พัง หรือซ้อนทับตัวที่พังส่วนหนึ่งกับตัวที่ไม่พังอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อซ้อนกันแล้วก็นำกลับมาใช้ใหม่ได้ทันที

อย่างในรูปนี้คือตัวอย่างของการซ้อนเพื่อซ่อมเก้าอี้อย่างที่ผมเอ่ยมานั่นเอง

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat ซ้อน + ซ่อม + รวมร่าง

ในทำนองเดียวกันกับในรูปก่อนหน้า เราจะเห็นการซ้อนเก้าอี้พลาสติกที่พังไปกับเก้าอี้วัสดุอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน อย่างโครงเก้าอี้เหล็กพังๆ ที่โดนเก้าอี้พลาสติกพังๆ ซ้อนทับไปมาแบบรูปนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat ซ่อม

เก้าอี้พลาสติกเวลาพังขึ้นมา มักมีลักษณะปริแตกตามจุดที่โครงสร้างอ่อนตัว กลายเป็นว่าหากเราหาอะไรไปค้ำปะในจุดที่ปริแตกได้ทันการ ก็จะสามารถต่ออายุเก้าอี้นั้นได้อีกยาวเลยทีเดียว

ภาพนี้ผมเจอการซ่อมเก้าอี้พลาสติกด้วยแผ่นเหล็กรูชิ้นเล็กๆ ยิงนอตปะดามในส่วนของคานค้ำขาของเก้าอี้พลาสติกที่กำลังปริแตก นับเป็นตัวอย่างการซ่อมเก้าอี้ที่ดูน่าสนใจ

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat ซ่อม + รวมร่าง

ความพังของเก้าอี้พลาสติก อาการปริแตกอาจจะหนักเกินใช้แผ่นเหล็กเล็กๆ ดามสู้ไหว ทำให้หลายครั้งเราอาจเห็นการซ่อมเก้าอี้พลาสติกด้วยการดามตามจุดแตกหักด้วยวัสดุนั่นนี่รวมร่างกันจนเป็นเก้าอี้ที่แปลกตา

ตัวอย่างเก้าอี้พลาสติกแปลกตาของพี่วินมอเตอร์ไซค์ภาพนี้ ที่ใช้ท่อน้ำพลาสติกยิงนอตเป็นโครงดามไว้ที่ขา และเศษท่อนไม้มัดลวดดามกับที่วางแขน

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat ซ่อม + พลิก + รวมร่าง

ในขณะเดียวกัน เก้าอี้จำพวกโครงเหล็กที่มักใช้ในห้องประชุม ตัวเบาะหรือตัวพนักพิงโฟมบุหนังเทียมส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนที่พังเป็นอันดับแรกๆ ทำให้หลายครั้งเราจะเห็นการหาวัสดุสิ่งของมาทดแทนพวกชิ้นส่วนที่พังๆ นี้ อย่างการเอาแผ่นถาดไม้มาพลิกด้านรวมร่างมัดเชือกไว้กับโครงเหล็กเก้าอี้ที่ตัวพนักพิงพังแบบภาพนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive เมษายน 2567 การออกแบบ เก้าอี้

Seat พลิก + รวมร่าง = แปลงร่าง

ใดๆ แล้วชิ้นส่วนของเก้าอี้พังๆ อย่างที่ผมเล่ามาในรูปก่อนหน้า อาจเกิดการพลิกแพลงรวมร่างแล้วแปลงร่างใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเป็นแค่ที่ไว้นั่ง กลายเป็นฟังก์ชันใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะวางของ หรือพลิกด้านแล้วมัดกับพัดลมติดผนัง กลายเป็นพัดลมตั้งพื้นแบบรูปนี้นั่นเอง

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.