หากดูเผินๆ ‘เปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพ’ น่าจะเป็นสิ่งที่บอกว่าวัคซีนตัวไหนมีดีกว่ากัน และตัวเลข 95 เปอร์เซ็นต์ก็ดูน่าเชื่อมั่นกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ เป็นไหนๆ แต่ที่จริงแล้ว ตัวเลขที่ห่างกันเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถระบุว่าวัคซีนตัวไหนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 มากกว่ากัน
เพื่อตอบคำถามว่าทำไมตัวเลขที่สูงจึงไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็ต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่าเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพของวัคซีน มีที่มาจากอะไร
ในการทดสอบว่าวัคซีนจะใช้งานได้จริง นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงๆ โดยจะปล่อยให้กลุ่มตัวอย่างออกไปใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อติดตามผลว่าทั้งสองกลุ่มนี้มีกี่รายที่จะติดเชื้อ
หากเราสมมติจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 10,000 คน สุดท้ายแล้วมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 100 รายจากกลุ่มที่ได้วัคซีนจริงและยาหลอกเป็นจำนวนเท่ากันที่ 50 คน เท่ากับว่าเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้คือ 0 เพราะไม่ว่าคุณจะได้รับวัคซีนหรือไม่ ก็มีโอกาสติดเท่ากัน แปลว่าวัคซีนนี้ไม่มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อแม้แต่น้อย
แต่ถ้าผลออกมาว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 95 คน แต่ผู้ที่ได้วัคซีนมีคนติดเชื้อแค่ 5 คนเท่านั้น นั่นแปลว่าวัคซีนตัวนี้มีเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งการหาเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพของวัคซีนทุกชนิดใช้วิธีเดียวกันนี้ทั้งหมด ทำให้ดูเหมือนว่าวัคซีนที่มีเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพมากกว่าต้องได้ผลมากกว่าตามไปด้วย แต่ที่จริงแล้วมีรายละเอียดในการทดสอบมากกว่านั้น
เปอร์เซ็นต์จะมีผล ถ้าวัดในสถานการณ์เดียวกัน
ในบรรดาวัคซีนหลายตัวจะเห็นว่า Pfizer-BioNTech และ Moderna ที่มีเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ด้วยกันทั้งคู่ มีการวัดผลในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายนของปีที่แล้ว และใช้กลุ่มตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ต่างกับ Johnson & Johnson ที่วัดผลในช่วงเดือนตุลาคมปี 2020 – มกราคม 2021 และใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งในสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และบราซิล ก่อนจะวัดผลเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพออกมาได้ที่ 66 เปอร์เซ็นต์
Amesh Adalja ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์บอกว่า เปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพจะเอามาเทียบกันได้ก็ต่อเมื่อมีการวัดผลในสถานการณ์เดียวกันเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
“ถ้าคุณอยากวัดประสิทธิภาพของวัคซีนแบบตัวต่อตัว ก็จำเป็นต้องมีการทดลองแบบเดียวกัน เกณฑ์การคัดเลือกเหมือนกัน เกิดขึ้นในส่วนเดียวกันของโลกและเวลาเดียวกัน”
ดังนั้น หน้าที่ของตัวเลขประสิทธิภาพเหล่านี้คือการบอกว่าเกิดอะไรขึ้นในการทดลองแต่ละครั้ง ไม่ใช่การบอกว่าวัคซีนแต่ละชนิดมีความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัสได้กี่เปอร์เซ็นต์ หรือทรงพลังกว่าวัคซีนอีกตัวหนึ่งแค่ไหน และผู้สันทัดกรณีหลายคนเห็นตรงกันว่า ตัวเลขนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการตัดสินว่าคุณจะฉีดวัคซีนตัวไหน
ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ใช่ประเด็นหลักของวัคซีน
สำนักข่าว Vox ได้ชี้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องเจอกับเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงดีที่สุดออกมาดังนี้ : เสียชีวิต-เข้ารักษาในโรงพยาบาล-อาการติดเชื้อรุนแรง-อาการติดเชื้อทรงตัว-ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ-ไม่ติดเชื้อ
ซึ่ง Amesh บอกว่า เป้าหมายของวัคซีนไม่ใช่การป้องกันติดเชื้อโควิด-19 ให้เป็น ‘ศูนย์’ แต่เป็นการทำให้ไวรัสตัวนี้มีความรุนแรงลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต
หากได้รับเชื้อวัคซีนจะทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสมากขึ้น และอยู่ในสถานะ ‘อาการติดเชื้อทรงตัว-ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ’ หรือรู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา และในการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมาข้างต้นของวัคซีนทุกชนิด ไม่มีผู้เข้าทดสอบรายไหนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือถึงแก่ชีวิต
เราควรจะเลือกฉีดวัคซีนตัวไหน
คำถามสำคัญจึงไม่ใช่การมองหาว่า วัคซีนตัวไหนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการติดเชื้อโดยสิ้นเชิง แต่เป็นวัคซีนตัวไหนจะทำให้คุณมีชีวิตรอด หรือวัคซีนตัวไหนจะทำให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้จบลง ซึ่ง Vox บอกว่า คำตอบคือวัคซีนทุกตัว
Deborah Fuller ศาสตราจารย์จากคณะจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ยังบอกว่า วัคซีนของทุกบริษัทข้างต้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตด้วยกันทั้งหมด ดังนั้น วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่คุณได้รับข้อเสนอให้ฉีด ไม่ว่าจะเป็นตัวไหนก็ตาม
Source : Vox