ลานยิ้มการละคร คณะละครชื่อชวนยิ้ม - Urban Creature

หากศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร คุณคิดว่าศิลปะเป็นอะไรกันแน่


ถ้าคุณสงสัยในประโยคข้างต้นว่าจริงๆ แล้วศิลปะมีความสำคัญอย่างไรต่อสังคม เราชวนมาคุย กับ ‘กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย’ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ลานยิ้มการละคร’ คณะละครจัดแสดง Performance Art ริมถนนซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อน ที่ถึงแม้จะมีชื่อชวนยิ้ม แต่กลับบอกเล่าเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น ชวนผู้ชมตั้งคำถาม พร้อมตีแผ่ประเด็นทางสังคมอย่างจิกกัดและเจ็บแสบ อย่างชุดการแสดง ณ บางกลอย ที่ทำให้หลายคนต่างหันกลับมามองประเด็นความขัดแย้ง ความอยุติธรรม และข้อเรียกร้องของชาวบ้านบางกลอยได้อย่างน่าสนใจ

ปฐมบทลานยิ้มการละคร

ก่อนจะมาเป็นลานยิ้มการละคร (Lanyim Theatre Group) พวกเขาเคยเป็นกลุ่มลานยิ้ม Lanyim Creative Group ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของแก๊งเพื่อนที่เรียนสื่อสารมวลชนด้วยกันแต่หลากแขนง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การแสดง ไปจนถึงการละคร ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในฐานะสื่อ ประกอบกับการแสดงละคร เพื่อสื่อสารประเด็นการเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน


แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ การแสดงละครกลับกลายเป็นตัวตนที่ชัดเจนที่สุด พวกเขาต่างรู้ว่าถนัดอะไร อยากจะพูดอะไร ด้วยน้ำเสียงแบบไหน จนกลายมาเป็นกลุ่มลานยิ้มการละครที่เน้นการทำงานประเภทการแสดงละครเป็นหลัก

สิ่งที่น่าสนใจของการเกิดกลุ่มลานยิ้มการละครคือการรวมตัวของกลุ่มเพื่อน เราเอ่ยปากถามไปว่า จากกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนที่ทำกันสนุกๆ เปลี่ยนเป็นอาชีพได้อย่างไร


“ตอนนั้นเราเกาะพ่อแม่กิน” หลังจบประโยคที่กอล์ฟพูด เสียงหัวเราะก็ดังขึ้นให้ความตลกร้าย


“เพราะเป็นนักศึกษา เราก็เลยอยู่รอดไปได้ในแต่ละเดือนโดยที่ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะเอาอะไรกิน มันก็มีความยืดหยุ่นตามสไตล์การเป็นนักศึกษา เรามีภาระเดียวคือการเรียนหนังสือ โดยที่เราไม่ต้องมาเลี้ยงชีพอะไร แต่ระหว่างทำไปหลายปีมันก็เกิดคำถามช่วงที่ใกล้จะเรียนจบว่า เราเรียนจบแล้วจะเอาอะไรกินวะ มันกลับไปสู่คำถามพื้นฐานก็คือ พรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน เลยรู้สึกว่า ทำไมถึงไม่ทำให้ละครเป็นอาชีพ ก็เลยพยายามหาโมเดลที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้เราได้ทำอาชีพที่อยากทำ”

บริบทสังคมสร้างผลงาน

กอล์ฟบอกเราว่า หลายคนมักคิดว่าลานยิ้มการละครเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ปัจจุบัน บทบาทของลานยิ้มการละคร คือคณะละครที่ศึกษาประเด็นทางสังคมร่วมสมัยและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบฉบับของละครเป็นหลัก แสดงทั้งในและนอกโรงละคร


“เราไม่ได้ทำตัวเป็นพระเจ้าที่มองภาวะทางสังคมปัจจุบันในสายตาของศิลปินแบบเก่าที่ต้องอยู่เหนือปัญหา เพื่อคอยสังเกตการณ์แล้วก็เอาไปสร้างงานศิลปะ แต่เราเข้าไปปะทะกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงๆ ไปเรียนรู้อย่างตรงไปตรงมา แล้วเผชิญหน้ากับมัน


“ถ้าเกิดว่าสภาพสังคมไทยไม่ได้เป็นแบบปัจจุบัน เราเชื่อว่าลานยิ้มการละครคงจะไม่ได้สร้างงานที่ดูรุนแรงแบบนี้ และถ้าเกิดสังคมไทยย่ำแย่กว่านี้ งานของลานยิ้มการละครก็อาจจะเกรี้ยวกราดกว่านี้ หรือชัดเจนกว่านี้อีก เพราะฉะนั้น เราคิดว่าถ้าจะบอกว่างานของลานยิ้มการละครเป็นแบบไหน นิยามง่ายๆ ก็คือ สังคมเป็นแบบไหน แล้วพวกเราลงไปปะทะ และเราเรียนรู้อะไรจากภาวะทางสังคมนั้นๆ นั่นแหละคือสิ่งที่จะทำให้เกิดงานของลานยิ้มการละคร”


รูปแบบการแสดงของลานยิ้มการละครจึงมีความเผ็ดร้อนต่อประเด็นทางสังคม เนื่องจากเกิดการปะทะสังสรรค์ทางสังคมเข้ากับประเด็นปัญหาต่างๆ จนกลายมาเป็น Performance Art กลายมาเป็นงานละครที่ไม่ได้อยู่ในโรงละครแต่กลับไปอยู่ที่ริมถนนในที่สุด

 หาเรื่อง สร้างเรื่อง เล่าเรื่อง

เมื่อดูผลงานของลานยิ้มการละคร เลยอยากรู้ถึงวิธีการคิดและสร้างสรรค์ละครของพวกเขา ซึ่งกอล์ฟสรุปให้ฟังว่า กว่าจะเป็นชุดการแสดงสักเรื่องต้องใช้ 3 วิธีดังนี้


หาเรื่อง-เพราะละครทำงานกับเรื่องเล่า จึงต้องเริ่มต้นจากการหาเรื่อง ซึ่งต้องไปปะทะ ไปดูว่าตอนนี้มีประเด็นอะไรบ้างในสังคม และปล่อยให้คณะละครทำงานกับปรากฏการณ์สังคม เช่น หมอกควันที่เชียงใหม่เป็นอย่างไร ตอนนี้มีม็อบอะไร คนในสังคมคิดอย่างไร เพื่อหาว่าข้อถกเถียงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเป็นแบบไหน ซึ่งต้องเข้าไปฝักใฝ่แต่ละฝ่าย ไปสำรวจว่าเขาคิดเห็นอย่างไร เขายืนอยู่บนวิธีคิดอะไร เพื่อยืมสายตาเขามองสิ่งที่เกิด


สร้างเรื่อง-นำสิ่งที่ค้นคว้ามาเรียบเรียงเป็นเรื่องราว ผ่านการฝึกฝนและทำงานกับองค์ความรู้ทางศิลปะการละคร พร้อมทั้งคิดต่อว่าจะเล่าเรื่องอย่างไร


เล่าเรื่อง-หยิบสิ่งที่ทำในสองกระบวนการแรกมาจัดแสดง เพื่อทำงานกับสังคม ทำงานกับคนในโรงละคร ไปจนถึงคนริมถนน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากกระบวนการกลุ่มที่เรียกว่า Devising Theatre


“ทั้งสามกระบวนการเป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานของลานยิ้มการละคร แต่ในบางครั้งลานยิ้มก็ใช้กระบวนการแบบเก่าคือ มีผู้กำกับ มีคนเขียนบท แต่บางครั้งเราก็ไม่มีอะไรเลย เราลงไปปะทะปรากฏการณ์ทางสังคมแล้วมาร่วมกันออกแบบงานชิ้นหนึ่งก็กลายเป็นละคร คือมันมีหลายกระบวนการมาก ซึ่งลานยิ้มเราไม่ยึดติดกับกระบวนการไหนนะ เราก็พยายามทำงานอย่างหลากหลาย”

การแสดง ณ บางกลอย

หากให้ยกตัวอย่างการแสดงที่เป็นรูปธรรม เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน และผู้คนต่างจำกลุ่มลานยิ้มการละครได้อย่างขึ้นใจ คงไม่มีเหตุการณ์ไหนเป็นตัวอย่างได้ดีไปกว่า ชุดการแสดงละครที่ม็อบบางกลอย


“งานวันนั้นเกิดจากการรวมตัวกันภายในวันนั้นเลย ศิลปินทั้งสี่คนนั่งคุยกันว่า เราปะทะกับปรากฏการณ์บางกลอยมายาวนานเป็นปีๆ แล้ว จะสื่อสารออกมาอย่างไร รูปแบบไหนดี แล้วก็ออกไปสื่อสารเลย ซึ่งถ้าเราไม่มีกระบวนการทำงานมาเลยก่อนหน้านี้ คงไม่สามารถทำงานภายในหนึ่งวันได้แน่ๆ เพราะกระบวนการที่เล่ามาเมื่อตอนต้นทั้งหมด ทำให้เราสามารถสื่อสารเป็นภาษาเดียวกันกับเพื่อนร่วมงาน กับศิลปินในกลุ่ม จนมองตากันก็รู้ใจกันว่า เฮ้ย เราว่ามันเป็นอย่างนี้ เสนอ ดีเบตกัน ก็ออกมาเป็นงาน อันนี้เป็นงานที่รีบมากๆ ซึ่งมันก็เป็นสภาวะอย่างนั้น”


“ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง”


“ด้วยความที่คนที่อยู่ตรงนั้น เขาอินกับเรื่องบางกลอยอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่อินคงไม่ไปตรงนั้นหรอกครับ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นคนดูค่อนข้างโอเคกับงาน


“แต่เราไม่ได้ทำงานให้คนชอบนะ เราทำงานให้เกิดบทสนทนาต่อมากกว่า เพราะฉะนั้น มันมีคนที่ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจแล้วอย่างไร เขาก็หันไปถามเพื่อนข้างๆ เฮ้ย มึง กูดูแล้วกูไม่รู้เรื่อง มึงดูเป็นอย่างไรบ้าง มึงรู้สึกอะไรบ้าง ไอ้กระบวนการที่เขาไปคุยต่อกันนั่นแหละคือกระบวนการที่ละครมันทำงานกับสังคม ถ้าดูเสร็จปุ๊บ อิ่มเอม มันสวยงาม ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับกระบวนการละครที่ทำเพื่อความจงรักภักดีเลย เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราทำงานแล้วคนดูพูดแค่ว่าชอบ อ้าว ฉิบหายละ มึงชอบแล้วชอบอย่างไร ไม่ชอบแล้วไม่ชอบอย่างไร”

ข้อสังเกตหนึ่งที่เราเห็นในงาน Performance Art ของลานยิ้มการละครคือรูปแบบการแสดงที่ปะทะเข้ากับสถานการณ์จริง ท่ามกลางสายตาผู้ชมที่คอยจับจ้องอยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่าศิลปะการละคร แตกต่างจากศิลปะแขนงอื่นอย่างไร


“ต่างตรงที่เราต้องเล่นให้คนดูตรงนั้น เห็นหน้าค่าตากัน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ ต่อให้เราซ้อมมาหนักมาก แต่การแสดงแต่ละรอบจะไม่เหมือนกัน เล่นครั้งหนึ่งก็ไม่เหมือนกัน เพราะการแสดงมันเกิดขึ้นตรงนั้นแล้วก็หายไปตรงนั้น แต่เรื่องราวและความรู้สึกยังดำรงอยู่ในความทรงจำและในความคิดของผู้คนที่ได้ดูงาน


“มันไม่เหมือนภาพจิตรกรรมที่วาดหนึ่งครั้งเติมจนสมบูรณ์แบบแล้วจัดแสดง คนดูหลายๆ ครั้งก็เห็นภาพเดิม แต่ความรู้สึกอาจจะเปลี่ยนไป หรืองานหนัง ก็ทำอย่างนั้น หนึ่งเรื่องเดินทางไปได้ไกลก็จริง แต่ก็เป็นแบบนั้นเหมือนเดิมทุกครั้ง แม้กระทั่งความรู้สึกคนทำก็เดินทางไปพร้อมกับมัน


“กลับกันงานศิลปะการแสดงสดอย่างเรา ศิลปินไม่ได้ต่างอะไรกับคนดู ก็คือไม่ได้รู้ว่ารอบนี้จะเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้มีความสมบูรณ์ ในเมื่อมันไม่สมบูรณ์แบบแล้ว เพราะฉะนั้น ศิลปินก็ไม่ใช่คนอื่นไกล ไม่ใช่คนที่เฝ้ามองคนดูด้วยสายตาเหนือกว่าหรือต่ำกว่า แต่ว่าเราอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แล้วมีมหรสพชิ้นนี้ร่วมกัน เพราะจริงๆ แล้วคนดูก็เป็นผู้แสดงหนึ่งในพื้นที่การแสดงอยู่แล้ว มันคือบทสนทนาที่เห็นหน้าค่าตากัน”

คำตอบของเขาทำให้เราใคร่รู้ต่อว่า ลานยิ้มการละครเคยวางกลุ่มคนดูไว้หรือเปล่า กอล์ฟบอกว่า ถ้าก่อนโควิด-19 ระบาด คนดูของพวกเขามักจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ตอนนี้เขาหันมาสื่อสารกับนักศึกษา และสาธารณชนมากขึ้น


“ถ้าเป็นนักศึกษามาดู เราคิดราคาแค่หนึ่งร้อยบาทถึงร้อยห้าสิบบาท ถ้าเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปหรือชาวต่างชาติถึงจะเก็บอีกราคา อีกส่วนหนึ่งคือเราแสดงสาธารณะ เปิดฟรี ไปเล่นตามถนน เพราะฉะนั้นคนดูของเราค่อนข้างจะหลากหลาย แล้วแต่ว่างานชิ้นนั้นอยากให้ใครดู เราจะเป็นคนกำหนด”


เราเกิดคำถามต่อว่า แล้วคนไทยกับชาวต่างชาติให้คุณค่างานศิลปะต่างกันอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับนั้นช่างเจ็บปวด


“โห ต่างกันมหาศาล ลานยิ้มการละครทำงานมาสองสามปี ไม่เคยถูกพูดถึงในฐานะกลุ่มละครเลย จนเราไปเล่นที่สิงคโปร์แล้วสื่อในญี่ปุ่นเชียร์เรา คือเราไปดังจากข้างนอกถึงได้รับการยอมรับว่า เด็กกลุ่มนี้มันก็ทำงานแหละ ก่อนหน้านั้นเขามองเราว่าเป็นกลุ่มนักศึกษา สมาชิกในกลุ่มเรียนไม่จบ บางคนจบแค่มัธยมฯ จะเป็นศิลปินได้อย่างไร มันต้องมีวุฒิการศึกษา มันต้องเรียนศิลปะมาสิ จนวันหนึ่งที่เราทำงานอย่างหนักแล้วพิสูจน์ตัวเองกับสังคมทั้งในและนอกประเทศ แต่สังคมไทยพึ่งมาให้ค่ากับพวกเราเมื่อวันที่เราประสบความสำเร็จจากข้างนอกแล้วฉกฉวยมันไป


“มันเจ็บใจนะอันนี้ มันเป็นสิ่งที่ค**เถอะ”

ศิลปะไม่มีเจ้าของ

จากประเด็น ‘ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใครและไม่เป็นขี้ข้าใคร’ ที่ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มหันกลับมามองคุณค่าของงานศิลปะกันมากขึ้น ส่งให้เราอยากรู้นิยาม ‘ศิลปะ’ ในแบบฉบับลานยิ้มการละคร


“เราคิดว่าศิลปะเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ทุกอย่างเป็นศิลปะได้ เราสามารถเอาทุกอย่างบนโลกใบนี้มาทำเป็นงานศิลปะ กระบวนการในการสร้างงานศิลปะมันทรงพลัง มันมีคุณค่า มีการเรียนรู้ มีการคิดจินตนาการใฝ่ฝัน แล้วงานศิลปะก็พาสังคมไปข้างหน้ามาเสมอ สร้างอารยธรรม สร้างโลกใบนี้ขึ้นมา


“ศิลปะคือสิ่งที่ทำให้คนทำงานได้เรียนรู้โลกใบนี้ โลกอันกว้างใหญ่ โลกที่มองเห็นและมองไม่เห็น จินตนาการหรืออะไรต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น ถ้าจะนิยามศิลปะก็นิยามได้อย่างเดียวว่าศิลปะมันไม่มีเจ้าของ ศิลปะไม่ใช่ของศิลปินคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สถาบันใดสถาบันหนึ่ง หรือใครก็ตาม


“ศิลปะมีอิสระในตัวเอง และควรมีเสรีภาพที่จะออกโบยบินได้อย่างอิสระ”

ศิลปะ ปะทะ สังคม

คุยเรื่องศิลปะคงไม่มีคำถามไหนถูกถามถึงมากไปกว่าคำถามที่ว่า ‘ศิลปะมีหน้าที่อย่างไรต่อสังคม’ และเราเองก็เลี่ยงที่จะถามคำถามโลกแตกนี้ไม่ได้เช่นกัน


“ถ้าจะถามว่าศิลปะมันทำงานอย่างไรกับสังคม เราคิดว่าคุณสมบัติและความดีงามของศิลปะที่ทำงานกับสังคม คือมันทำให้เกิดบทสนทนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาจากการตั้งคำถาม บทสนทนาจากการพยายามหาคำตอบ หรือบทสนทนาที่เกิดจากการคิดถึงอนาคตและทบทวนถึงอดีต


“เพราะเมื่อเกิดคำถาม แล้วเกิดการพยายามหาคำตอบ นั่นแหละคือสิ่งที่ศิลปะและศิลปินทำได้ดี ทั้งในแง่ของคำถาม ข้อเท็จจริง ลามไปถึงความรู้สึก จินตนาการ และความใฝ่ฝัน เพ้อฝันต่างๆ จึงเกิดกระบวนการพยายามที่จะสร้างสุนทรียะของศิลปะ หลังจากนั้นเมื่อพยายามที่จะหาคำตอบบางอย่าง กระบวนการเหล่านั้นเราเรียกว่า กระบวนการเรียนรู้


คำตอบของกอล์ฟทำให้เรานึกย้อนไปถึงวิชาศิลปะในวัยเด็ก ซึ่งต่างถูกสอนมาว่าศิลปะเป็นศาสตร์แห่งความสร้างสรรค์ สุนทรียะ ที่ช่วยสร้างความงามภายในจิตใจ แต่คำตอบของเขากลับลึกลงไปกว่าคำอธิบายแบบตีคลุมว่าเป็นเพียงแค่เรื่องสวยงามได้อย่างน่าสนใจ

“เราคิดว่าการทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคมไม่ได้ต่างอะไรกับการทำงานวิชาการที่สื่อสารประเด็นเรื่องนั้น ไม่ได้ต่างอะไรกับการเป็นนักสื่อสารมวลชนที่ใช้เครื่องมือของตัวเองสื่อสาร หรือคนทำงานการเมืองที่ทำงานเรื่องนั้นแล้วก็ไปขับเคลื่อนทางนโยบาย ศิลปินก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ใช้เครื่องมือที่ตัวเองถนัดสร้างงานที่ตัวเองถนัดออกมา


“เพราะฉะนั้น ศิลปินไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่อะไรขนาดที่จะใช้เครื่องมือศิลปะสื่อสารประเด็นทางการเมืองหรือสังคมต่างๆ แล้วมันจะเปลี่ยนแปลง หรือนำไปสู่อะไรได้ขนาดใหญ่ แต่เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของการที่ทุกคนใช้เครื่องมือของตัวเองทำงานหรือสื่อสารประเด็นที่ตัวเองสนใจ แล้วผลของมันก็มีคุณูปการกับสังคม”


ภาพ : ลานยิ้มการละคร

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.