ทำไมมอเตอร์ไซค์ห้ามขึ้นสะพาน - Urban Creature

ภาพอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำบนสะพานถูกกั้นด้วยกระจกรถยนต์หนาไม่กี่มิลลิเมตรที่ขับผ่านไปคันแล้วคันเล่า ถ้ามองจากวิวบนพาหนะ 4 ล้อ บ้างอาจคิดว่าเจ้าของมอเตอร์ไซค์เหล่านั้นน่าสงสาร บ้างอาจคิดว่าขับมอเตอร์ไซค์อันตรายจนรีบบอกลูกที่นั่งเบาะข้างๆ ว่าอย่าไปขับเชียวนะ บ้างอาจคิดว่าทำผิดกฎหมาย ‘ห้ามขึ้นสะพาน’ เองนี่ หรืออาจคิดว่าคนขับมอเตอร์ไซค์ผิดตั้งแต่เลือกขับแล้ว เพราะกฎหมายเข้มงวดสารพัดสิ่งถูกบังคับใช้กับคนขับมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนใหญ่ แม้อุบัติเหตุบางส่วนเกิดขึ้นเพราะคนขับรถยนต์ และลักษณะการออกแบบของสะพานก็ตาม

นั่นน่ะสิ ทำไมคนขับมอเตอร์ไซค์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ (มีจำนวน 21,452,050 คัน มากกว่ารถยนต์กว่า 10 ล้านคันเลยนะ) ถึงห้ามขึ้นสะพานฝ่ายเดียว

ตามมาตรา 139 (1) ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 3 กล่าวว่า ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิดเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ และสะพานข้ามแม่น้ำ รวม 39 สาย 

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความเห็นเกี่ยวกับการอนุญาตให้มอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานจากกลุ่มประชาชนตัวอย่างในเขต กทม. 1,254 คน พบว่า ร้อยละ 51.12 ไม่เห็นด้วย เพราะสะพานข้ามแยกค่อนข้างลาดชัน ไม่เหมาะกับมอเตอร์ไซค์ เนื่องจาก ‘รถยนต์’ ที่ใช้สะพานข้ามแยกขับอัตราความเร็วสูง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และร้อยละ 40.75 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะจะช่วยลดการจราจรติดขัด สามารถระบายรถได้ดีขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมระบุว่าควรมีช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะกับสะพานข้ามแยกหรืออุโมงค์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ

ช่องทางที่ทำให้มอเตอร์ไซค์ขับขี่บนสะพานได้อย่างปลอดภัยยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากลักษณะของสะพานและกฎข้อบังคับที่ผลักคนขับมอเตอร์ไซค์ออก ดวงพร เพชรคง วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานกฎหมาย 2 สำนักกฎหมาย กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายห้ามขึ้นสะพานของมอเตอร์ไซค์เอาไว้ว่า สะพานข้ามแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับแก้ปัญหาจราจรคับคั่ง ซึ่งลักษณะทางกายภาพของสะพานไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สำหรับรถขนาดเล็กที่มีความเร็วต่ำ เช่น รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่รถยนต์ใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วที่ต่างกันทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยกายภาพของสะพานข้ามแยกบางแห่งไม่มีพื้นที่ข้างทาง เป็นเลนแคบๆ ขณะที่บางแห่งเป็นสะพานที่มีระยะทางยาว หรือลักษณะโค้งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้น หากเป็นทางโค้งจะทำให้ระยะการมองเห็นมีปัญหา มีโอกาสพุ่งชนได้ โดยหากรถประเภทดังกล่าววิ่งบนสะพานจะทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบและเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ ‘ประชาชน’ ผู้ใช้ ‘รถ’ ใช้ ‘ถนน’ ได้รับความเดือดร้อน

คนขับมอเตอร์ไซค์มิใช่ผู้ใช้รถ ใช้ถนน?

สถิติของกรมการขนส่งปีงบประมาณ 2561 ระบุว่า มอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุถึง 37,859 ครั้ง เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด และมีสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าสนใจคือจากผลวิจัย ‘โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ’ ชี้ให้เห็นต้นตอของอุบัติเหตุมาจาก ‘รถยนต์’ ที่ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดพุ่งชนมอเตอร์ไซค์ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อุบัติเหตุซึ่งมีสาเหตุจากผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดเองคือ 49 เปอร์เซ็นต์ 

ชุดข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมภาครัฐออกมาตรการเข้มงวดมอเตอร์ไซค์เพียงฝ่ายเดียว?

จากที่เขียนมาตั้งแต่ต้น เราพบว่าปัญหาหลักๆ คือประเทศไทยไม่มีเลนสำหรับมอเตอร์ไซค์ เพื่อแก้ปัญหาห้ามมอเตอร์ไซค์วิ่งข้ามสะพาน ครั้งหนึ่ง ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเคยยื่นข้อเสนอแก่ผู้การจังหวัดสมุทรปราการ ขอให้สะพานภูมิพลมีเลนสำหรับรถจักรยานยนต์แต่ก็ถูกปัดตกจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับกลุ่มปลดแอกชาวสองล้อที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายห้ามขึ้นสะพานนี้มาตั้งแต่ปี 2559 เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ และยืนยันว่ากฎหมายไทยควรเข้มงวดเรื่องวินัยจราจรของทุกยานพาหนะ โดยเฉพาะการขับขี่ที่เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดมากกว่าการจำกัดสิทธิของคนขับมอเตอร์ไซค์ แต่ปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไข 

หรือท้ายที่สุด เลนจักรยานยนต์จะเป็นคำตอบ เพื่อให้การสัญจรบนท้องถนนของทุกยานพาหนะไม่ได้รับอุบัติเหตุ คนขับมอเตอร์ไซค์สามารถไปถึงที่หมายโดยไม่ต้องขับอ้อมไกลๆ ยกตัวอย่าง รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่มีการแยกเลนบนทางด่วน และทางหลวงสำหรับมอเตอร์ไซค์ โดยกฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อลดการจราจรติดขัด ป้องกันอันตรายเนื่องจากรถจักรยานยนต์ไม่มีถุงลมอาการบาดเจ็บมักมากกว่า และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะมองเห็นผู้ขับขี่รายอื่นได้น้อยลงเมื่อเดินทางผ่านความแออัดของจราจร เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการขับขี่แบบแยกเลนมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และบาดเจ็บน้อยกว่า 

หากรถยนต์อยากขับให้ถึงที่หมายเร็วๆ ฉันใด มอเตอร์ไซค์ก็อยากถึงที่หมายเร็วๆ ฉันนั้น เวลาเป็นเงินเป็นทองและควรเป็นของทุกคน


Sources :
Bangkokbiznews | https://bit.ly/3bxEgal, https://bit.ly/2SMkX6y 
Dr. Bill Quirk | https://bit.ly/2Rt0q6R 
NIDA Poll | https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=82 
PostToday | https://bit.ly/3fgf6Oo 
Prachachat | https://bit.ly/2RWYxiP 
Thairath | https://bit.ly/3flWhcW 
ราชกิจจานุเบกษา | https://bit.ly/3tMumba 
สำนักกฎหมาย | https://bit.ly/3bxCi9X 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.