วัคซีนโควิด-19 ไข่ไก่ฟัก ไม่แพง ผลิตได้เองในไทย - Urban Creature

หลายเดือนมานี้เราตั้งคำถามกับ ‘ความมั่นคง’ ของประเทศ เมื่อนานาชาติสลัดหน้ากากอนามัยและออกมาใช้ชีวิตแบบที่คุ้นเคย ระบบสาธารณสุขที่เคยวิกฤตเริ่มกลับเข้าร่องเข้ารอย ในขณะที่สถานการณ์ของประเทศไทยยังคงต้องหาทางออกกันต่อไป

เมื่อความมั่นคงของประเทศก้าวไปไกลกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ว่ากันด้วยเรื่องเทคโนโลยีและ ‘สาธารณสุข’ Urban Creature จึงพาไปสนทนากับ ศ. พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าโครงการวิจัยศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังวิจัยความปลอดภัยให้ประเทศผ่านการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากไข่ไก่ฟัก ที่ได้ความร่วมมือจากองค์กรนานาชาติในการแบ่งปันเทคโนโลยีเพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤต จนออกมาเป็นวัคซีนที่ราคาไม่แพง กระบวนการไม่ซับซ้อน และผลิตได้เองในประเทศไทย

วัคซีนจากไข่ไก่

การผลิตวัคซีนสามารถนำวัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยหรือผลิตออกมาแล้ว มาปรับปรุงหรือต่อยอดได้หากมีโรคใหม่เกิดขึ้น แต่เดิมศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยวัคซีนหลากชนิดเป็นทุนเดิมทั้งหัด โปลิโอ เอดส์ หรือมะเร็ง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว องค์การเภสัชกรรมได้รับเทคโนโลยีวัคซีนไข่ไก่ฟัก (Egg-based Flu Vaccine) จากประเทศรัสเซีย จนผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาใช้ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

“เมื่อหลายปีก่อนเราไม่มีบุคลากรที่มีความรู้และศักยภาพเพียงพอ เพราะว่าการผลิตวัคซีนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีการลงทุนเยอะมาก ในการคิดค้นปกติแล้วต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสิบปี ต้องใช้ทั้งเวลาและต้นทุนมหาศาล 

“สมมติว่าเราคิดหรือค้น Antigen (สารก่อภูมิต้านทาน) ขึ้นมาตัวหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าสารตัวนี้จะก่อให้เกิดภูมิต้านทานที่จะใช้ป้องกันโรคได้ บางครั้งพบเป็นร้อยตัวก็ยังไม่สำเร็จ”

ต้องบอกว่าที่จริงแล้วการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ฟักไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้คิดค้นขึ้นมาตอนที่ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ระบาด แต่ถือกำเนิดขึ้นมากว่า 70 ปีแล้ว ใช้ผลิตวัคซีนประเภทเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เป็นเทคโนโลยีที่นิยมในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำและกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก กระบวนการผลิตวัคซีนนั้นเริ่มตั้งแต่การนำไข่ไก่ที่เลี้ยงในระบบปิดมาขยายเชื้อไวรัส มีการควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้อยู่ในสภาวะปลอดเชื้อ เมื่ออยู่ในระยะที่เหมาะสมและตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ก็จะทำการฉีดเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสลงไป พอเจริญเติบโตและมีจำนวนที่เหมาะสมแล้วจึงนำขึ้นมาทำความสะอาดเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม

ประเทศไทยเองมีโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักขององค์การเภสัชกรรมอยู่ที่จังหวัดสระบุรีแล้ว หากงานวิจัยเสร็จสิ้นก็ดำเนินการผลิตได้ทันที ศ. พญ.พรรณี มองว่า การนำความรู้เดิมมาต่อยอดเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสถานการณ์วิกฤตที่การระบาดระลอกใหม่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง หรือโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกปี

ไข้หวัดใหญ่ สู่โควิด-19

ศูนย์วัคซีนคณะเวชศาสตร์เขตร้อน องค์การเภสัชกรรมและสถาบัน PATHร่วมพัฒนาวัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก และได้รับหัวเชื้อไวรัสที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์เมาต์ ไซไน และมหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่ใช้วิธีการตัดแต่งพันธุกรรมของไวรัสนิวคาสเซิล (โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสในสัตว์ปีก) มาใส่โปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) ของโควิด-19 ลงไป ซึ่งเป็นวิธีในการนำองค์ความรู้จากวัคซีนที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ เมื่อมีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้น

“ได้ทำการเลือกไวรัสสายพันธุ์อ่อนของสัตว์ปีกที่ไม่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อรุนแรงในสัตว์ปีก แต่กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันมาทำการตัดต่อพันธุกรรม จนออกมาเป็นวัคซีน NDV-HXP-S ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทเชื้อตาย คุณสมบัติจะต่างจากวัคซีนที่ได้รับความนิยมอย่าง Pfizer หรือ Moderna ที่เป็น mRNA ซึ่งทำงานกับโปรตีนส่วนหนามของไวรัส จนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันด้วยความรวดเร็ว”

ศ. พญ.พรรณี มองว่า mRNA เป็นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในเวลานี้ แต่ยังต้องรอผลการศึกษาในระยะยาวด้วย ในขณะที่วัคซีนเชื้อตายนั้นมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย เพราะใช้กันมานานและมีผลการวิจัยรับรองอยู่แล้ว

“การทำงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มคลังความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรื่องวัคซีนต่อโรคติดเชื้อที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากวัคซีนบางชนิดถูกพัฒนามาถึงระยะที่สาม เมื่อนำมาพัฒนาต่อจึงร่นระยะเวลาในการวิจัยลงไปได้ 

“ผลการทดลองวัคซีนชนิดนี้ในสัตว์เบื้องต้นพบว่า กระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ตอบสนองกับเชื้อโรค และแอนติบอดี้มีการตอบสนองของเซลล์ในลักษณะที่ดี 

“ตอนนี้ผลการทดลองอยู่ในระยะที่หนึ่ง จากอาสาสมัครทั้งหมดสองร้อยสิบคน แบ่งออกเป็นทั้งหมดหกกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงและกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในปริมาตรต่างกัน และมีเงื่อนไขบางอย่างต่างกันตามไปด้วย” 

แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤตและต้องเร่งดำเนินงานในทุกกระบวนการ แต่ความรอบคอบและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ศูนย์วัคซีนฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยตอนนี้การวิจัยจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะเริ่มระยะที่ 3 ได้ในเดือนตุลาคม

“การทดลองในมนุษย์ต้องดูความปลอดภัยเป็นหลัก ต้องมีข้อมูลและเกณฑ์ที่ชัดเจนในการทดสอบระยะที่หนึ่งก่อนได้โดยเริ่มทดสอบในกลุ่มเล็กอย่างใกล้ชิด ถ้าผ่านไปได้ก็จะขยายกลุ่มให้ใหญ่ขึ้นและดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันว่าเป็นอย่างไร ป้องกันไวรัสได้จริงหรือเปล่า ระยะที่สามก็จะกว้างขึ้นเป็นหลักพัน-หมื่น ทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ได้จำนวนอาสาสมัครที่เพียงพอและครอบคลุมงานวิจัย”

ก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่และเป็นตัวแปรสำคัญไม่แพ้การวิจัยวัคซีนให้สำเร็จ คือความสามารถในการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำมาแก้ไขวิกฤตของประเทศได้อย่างเพียงพอ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งแต่เดิมก็เดินเครื่องผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักอยู่แล้ว จึงปรับมาผลิตวัคซีน NDV-HXP-S ได้ทันที โดยคาดว่าจะผลิตได้ 20 – 30 ล้านโดสต่อปี

“มีหลายประเทศทั่วโลกที่สามารถผลิตวัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เพราะฉะนั้นถ้า NDV-HXP-S สำเร็จผล ก็จะทำให้ประเทศอีกมากที่มีเทคโนโลยีตัวนี้ผลิตวัคซีนมาใช้ได้ในราคาที่ไม่แพง”

ความมั่นคงทางสาธารณสุข

ปกติแล้ววัคซีน 1 ตัวใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีในการผลิต เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุน อย่างวัคซีนต้านโรคเอดส์ก็คิดค้นกันมาเกือบ 40 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จ ทว่าสิ่งที่ตามมาสำหรับการคิดค้นและวิจัยวัคซีนแต่ละตัวคือความรู้ที่ก่อตัวขึ้น 

“ความรู้จากวัคซีน HIV ถูกนำมาใช้กับวัคซีนอีกหลายชนิด มาลาเรียก็เป็นหนึ่งในนั้น พอโควิด-19 ระบาดขึ้นมา เราก็เอาเทคโนโลยีที่เคยมีอยู่มาประยุกต์ พูดให้เข้าใจง่ายคือเป็นการพัฒนาจากวัคซีนโรคติดเชื้อหลายตัว นำเทคโนโลยีและองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้อย่างก้าวกระโดด”

ในระยะยาวหัวหน้าศูนย์วัคซีนมองว่า เป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นความมั่นคงของประเทศ หากประเทศผลิตวัคซีนได้เองตามมาตรฐานสากล 

“ประเทศไหนก็ตามที่มีโรงงานผลิตวัคซีนของตัวเอง กิจการทางสาธารณสุขก็จะถือว่ามีความมั่นคงในระดับหนึ่ง เหมือนกับเหตุการณ์ช่วงไข้หวัดใหญ่ H1N1 ทำไมประเทศไทยต้องลงมือผลิตเอง เพราะตอนนั้นไม่มีประเทศไหนส่งออกวัคซีนให้คนอื่น ต้องดูแลประชาชนตัวเองก่อน และในขณะนี้ศักยภาพของการผลิตวัคซีนทั่วโลกก็ไม่เพียงพอต่อประชากรโลก”

ศูนย์วัคซีนคณะเวชศาสตร์เขตร้อนตั้งเป้าหมายหลังจากการทดลองเสร็จสิ้นไว้ด้วยกัน 2 ข้อ 

  1. ประเทศไทยจะมีวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศและลดภาระในการนำเข้าวัคซีนได้
  2. เทคโนโลยีและการเรียนรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะพัฒนาความรู้ให้บุคลากร ในอนาคตหากมีเชื้อไวรัสตัวอื่นก็ใช้บทเรียนนี้ในการพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

“เราต้องมี National Security ทำให้ประเทศผลิตวัคซีนเองได้ และมีเทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่ว่าจะมีการระบาดของไวรัสตัวอื่นก็พัฒนาวัคซีนขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต

“วัคซีนคือความมั่นคงทางด้านสุขภาพ เพราะเราอาจจะเจอการระบาดแบบนี้อีกครั้งในอนาคต จากโควิด-19 ก็เคยพูดว่าต้องใช้วัคซีนในการปูพรมเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ ซึ่งวันนี้อาจจะไม่พอแล้วเพราะมีการกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้น ยิ่งเน้นย้ำต่อไปว่า เงินเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ”

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.