ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี - Urban Creature

‘สระบุรี’ คือจังหวัดเมืองรองในภาคกลางที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก มีพื้นที่ราบสลับกับพื้นที่ภูเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมผสมผสานกับพื้นที่การเกษตร ทว่านอกจากเป็นเมืองทางผ่านที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของประเทศแล้ว สระบุรียังเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์กระจายตัวอยู่มากมาย

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะชุมชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำป่าสักของสระบุรี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพย้ายถิ่นมาไม่น้อยกว่า 150 ปี ที่นี่จึงเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ไทยวน ลาวเวียง พวน มอญ และจีน ทำให้สระบุรีมีมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ที่กำลังรอให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ สระบุรีและอีก 3 จังหวัดในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา กลับต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการท่องเที่ยวชุมชนในมิติต่างๆ เช่น ชุมชนไม่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว เพราะส่วนใหญ่จะตกอยู่ในมือภาคธุรกิจขนาดใหญ่ รวมไปถึงการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การเปลี่ยนกรอบความคิดของคนในชุมชน การสร้างผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนามาตรฐานของสินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น

เพื่อยกระดับและพัฒนา ‘การท่องเที่ยวชุมชน’ ของสระบุรีให้กลายเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทาง Thailand Policy Lab และ UNDP Accelerator Lab Thailand จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดกิจกรรม ‘Policy Innovation Journey’ หรือ ‘เส้นทางสานฝันสร้างนโยบายครั้งที่ 3’ โดยยกห้องปฏิบัติการไปที่อำเภอเมืองสระบุรี เพื่อแนะนำ ‘นวัตกรรมนโยบาย’ ให้แก่นักวางแผนนโยบายระดับท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่เกิดจากการระดมสมองของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

คอลัมน์ Report พาไปเจาะลึกหัวใจของการออกแบบนโยบายการท่องเที่ยวชุมชนด้วยนวัตกรรมนโยบายและกระบวนการคิดใหม่ๆ ผ่าน 3 กระบวนการสำคัญ ได้แก่ การฟัง การหวัง และการทำ ที่จะนำมาสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวตามอัตลักษณ์ของชุมชน และความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของสระบุรี

‘การฟัง’ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

กระบวนการแรกของการจัดทำเส้นทางสานฝันสร้างนโยบายครั้งนี้คือ ‘การฟัง’ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันคิดว่า การท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดสระบุรีมี ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ (Stakeholders) อยู่ในภาคส่วนไหนบ้าง และคนกลุ่มนี้ทำงานร่วมกันในวงแคบหรือวงกว้างขนาดไหน เพื่อทำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ว่า ถ้าเขาต้องการทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เขาไม่สามารถทำคนเดียวได้ เพราะเขาจำเป็นต้องฟังเสียงของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลายครั้งที่การพูดถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจเป็นการพูดกว้างๆ และไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อทลายกรอบการทำงานแบบเดิมๆ ทาง TPLab จึงใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า ‘แผนผังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ (Stakeholders Mapping) ให้ผู้ร่วมกิจกรรมช่วยกันระบุข้อมูลอย่างเจาะจงและเห็นภาพใหญ่มากขึ้น โดยแผนผังนี้จะแบ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมาก เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี, บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, ชมรมไทยวน, กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP, สมาคมผู้ประกอบการ, นักท่องเที่ยว ฯลฯ

2) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องปานกลาง เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอเสาไห้, สภาเด็กและเยาวชน, Airbnb, หอการค้าจังหวัดสระบุรี, สมาคมลาวเวียงแห่งประเทศไทย, วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร, นักวิจัยด้านผังเมือง ฯลฯ

3) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องน้อย เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, UNDP, สำนักงบประมาณ, ธนาคารออมสิน ฯลฯ

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

หลังจากเห็นภาพแล้วว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวชุมชนบ้าง ผู้เข้าร่วมจะได้เจาะลึกและทำความเข้าใจเกี่ยวกับคนแต่ละกลุ่มผ่าน ‘การสัมภาษณ์เชิงลึก’ หรือเรียกอีกอย่างว่าการทำ ‘Persona’

Persona คือเครื่องมือสำคัญของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือ การฟังอารมณ์ ความรู้สึก ความหวัง ความกลัว หรือแม้แต่ฟังในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูด เช่น สีหน้า ท่าทาง ปฏิกิริยา เป็นต้น โดยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่ไปไกลกว่าการเอาสถิติกว้างๆ มาคิดวิเคราะห์ หรืออ้างอิงจากมุมมองของผู้นำ นักคิดวิเคราะห์นโยบาย หรือภาครัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

สรุปได้ว่า Persona คือวิธีการคิดที่มุ่งสู่การทำความเข้าใจเรื่องราวและ Pain Point ของคนอื่น โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลกระทบของนโยบายและผู้เสียเปรียบในสังคม โดยจะพิจารณาจากทั้งข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ แรงจูงใจในการใช้ชีวิต ตลอดจนเสียงสะท้อนต่างๆ

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ในกิจกรรมนี้ แต่ละกลุ่มจะได้ลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์เชิงลึกภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวชุมชนในสระบุรี ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น นักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งการพูดคุยอย่างใกล้ชิดจะทำให้ผู้เข้าร่วมได้ฟังเสียงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับอุปสรรค ความกังวล ความคาดหวัง เป้าหมาย ไปจนถึงข้อเสนอแนะและการแก้ปัญหาที่พวกเขาอยากเห็นในอนาคต

‘การหวัง’ เพื่อสร้างภาพฝันของสระบุรีในอนาคต

เมื่อรวบรวมชุดข้อมูลจากการฟังได้เพียงพอแล้ว ถัดมาจะเข้าสู่ช่วงของ ‘การหวัง’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ร่วมกันออกแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่พวกเขาอยากเห็นในอนาคต

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

นวัตกรรมเชิงนโยบายสำหรับขั้นตอนนี้คือ ‘การวิเคราะห์ความหวังและความกลัว’ (Hopes and Fears Analysis) เป็นเครื่องมือที่ผู้เข้าร่วมสามารถช่วยกันถอดรหัสปัญหาสาธารณะที่ลึกไปกว่าการวิเคราะห์ปัญหาเชิงเทคนิคที่วัดจากมุมเดียว และเปลี่ยนมาใช้หลักคิด ‘ผู้คนเป็นศูนย์กลาง’ ในการทำความเข้าใจประเด็นที่ควรจะได้รับการพัฒนา

โดยแบ่งความหวังที่ได้รับออกเป็น 3 ลำดับขั้น ได้แก่

1) ความหวังระยะสั้น เช่น เยาวชนมีส่วนร่วม มีสินค้าและงานหัตถกรรมเพิ่มมากขึ้น มีเรือล่องข้ามระหว่างชุมชน ฯลฯ

2) ความหวังในอีก 10 ปี เช่น ชุมชนมีความสุข มีรายได้อย่างมั่นคง สระบุรีไม่ใช่แค่ทางผ่าน สร้างสรรค์การแสดงของแต่ละชาติพันธุ์ มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกรวดเร็วกว่านี้ ฯลฯ

3) ความหวังหลุดโลก เช่น สระบุรีกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ตลาดกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ทุกคนในประเทศไทยใช้ย่าม ฯลฯ

ส่วนความกลัวแบ่งเป็น 3 ลำดับขั้นเช่นกัน ได้แก่

1) ความกลัวในปัจจุบัน เช่น ชุมชนจะไม่ให้ความร่วมมือ ผลกระทบจากอุทกภัย ปัญหาการจราจร มิจฉาชีพในแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ

2) ความกลัวเกี่ยวกับอนาคต เช่น ชุมชนมองการท่องเที่ยวเพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียว เยาวชนไม่เห็นคุณค่าของชุมชนตัวเอง ถูกกลืนกินโดยวัฒนธรรมกระแสหลัก ฯลฯ

3) สิ่งที่กลัวที่สุดในชีวิต เช่น เกิดโรคระบาด เกิดสงครามจนไม่มีนักท่องเที่ยว ลูกจ้างไม่มีรายได้ ไม่มีคนสืบทอดกิจการ ความขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่างๆ ฯลฯ

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ถัดมาคือการใช้เครื่องมือ ‘การวาดภาพฝันอนาคตชุมชน’ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมแต่ละกลุ่มได้ฝึกจินตนาการภาพฝันของการท่องเที่ยวชุมชนผ่านการวาดรูปและปั้นดินน้ำมันลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ ซึ่งการออกแบบหรือไอเดียที่ผู้เข้าร่วมนำเสนอจะสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งนำไปสู่การชี้ปัญหาและอุปสรรคที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ตัวอย่างภาพฝันของการท่องเที่ยวชุมชนที่ผู้ร่วมกิจกรรมนำเสนอคือ ชุมชนที่มีระบบจัดการขยะ ชุมชนที่มีรถไฟฟ้าขนส่งนักท่องเที่ยว ชุมชนที่เน้นการประชาสัมพันธ์ ชุมชนที่อนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ชุมชนที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสายมูฯ เป็นต้น โดยการวาดภาพอนาคตจะช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมเห็นเป้าหมายหรือความฝันของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การคิดต่อว่า ถ้าพวกเขาอยากให้ภาพฝันเหล่านี้เกิดขึ้นจริง พวกเขาต้องดำเนินการอย่างไร หรือดำเนินการร่วมกับคนกลุ่มไหนบ้าง

‘การทำ’ เพื่อฉีกกรอบการท่องเที่ยวชุมชนแบบเดิมๆ

กระบวนการสุดท้ายคือ ‘การทำ’ โดยทาง TPLab ขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมระดมสมองและคิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยการโยนคำถามต่างๆ เช่น ถ้าคุณมีเงิน 10 ล้านบาท คุณจะเอาไปทำอะไร หรือถ้ามีอาสาสมัคร 100 คนมาทำงานให้ฟรี คุณจะทำอะไรบ้าง เป็นต้น

คำถามที่มาพร้อมเงื่อนไขแบบนี้จะช่วยฉีกกรอบความคิดของผู้ร่วมงาน และนำไปสู่ไอเดียที่พวกเขาอาจมีในใจอยู่แล้วแต่ไม่เคยคิดลงมือทำอย่างจริงจัง เนื่องจากมีกรอบของความเป็นไปไม่ได้ครอบอยู่ หัวใจของการทำเวิร์กช็อปนี้จึงเป็นการพาพวกเขาก้าวออกจากสิ่งเดิมๆ และนำมาซึ่งไอเดียที่พวกเขาอาจไม่เคยนึกถึง

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

หลังจากได้ไอเดียใหม่ๆ มากมาย จะเข้าสู่กระบวนการ ‘ระดมสมองคิดไอเดียเชิงนโยบาย’ ที่ผู้ร่วมกิจกรรมต้องลิสต์ข้อมูลเพื่ออธิบายว่า พวกเขามีแผนการอย่างไร ต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายหรือผู้สนับสนุนกลุ่มไหน และต้องการที่จะแก้ปัญหาอะไรบ้าง เพื่อทำให้ไอเดียเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นทั้งภาพใหญ่และรายละเอียดของการทำงาน ทั้งยังช่วยให้พวกเขามีการคิดแบบเป็นลำดับขั้นและแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

ร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับ ‘การท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรี’ ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

กิจกรรมเส้นทางสานฝันสร้างนโยบายที่ทาง Thailand Policy Lab จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นการใช้นวัตกรรมนโยบายต่างๆ เพื่อฝึกให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฟัง หวัง และทำ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนการทำงานและกระบวนการคิดของผู้ร่วมงาน ช่วยให้พวกเขาเข้าใจและซึมซับว่า การออกแบบนโยบายหรือแนวทางการแก้ปัญหาสักอย่างนั้นต้องเริ่มจากการฟัง ซึ่งรวมถึงการฟังข้อมูลที่ไม่เคยใส่ใจหรือถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด จากนั้นคือการถอดความหวังออกมา ซึ่งจะนำไปสู่การคิดอย่างสร้างสรรค์และการลงมือทำในที่สุด 

โดยไอเดียเชิงนโยบายที่เกิดขึ้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี หน่วยงานระดับท้องถิ่น และชุมชน จะนำไปผลักดันในพื้นที่จริงเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสระบุรีให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และเกิดเป็นโมเดลส่งต่อให้ชุมชนลุ่มแม่น้ำป่าสักในจังหวัดใกล้เคียง

ใครที่อยากเข้าใจมากขึ้นว่า นวัตกรรมนโยบายจะช่วยเปลี่ยนกระบวนการคิด และนำไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนของสระบุรีได้อย่างไร ชมวิดีโอสรุปกิจกรรมได้ที่ [Link Video]

Sources : 
Thailand Policy Lab | thailandpolicylab.com
บทสัมภาษณ์ของ ดร.วิลาศ เทพทา อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
รายงานกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากฐานทุนทางวัฒนธรรม ไทยวนและลาวเวียง ลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี โดย สยามล เทพทา และคณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.