วิสาหกิจชุมชนหอมเหาะ คนทำกาแฟ แม่ฮ่องสอน - Urban Creature

คงไม่บ่อยนัก ที่เราจะรู้จักแหล่งที่มาของ ‘กาแฟ’ ที่เราดื่ม และจะมีสักกี่ครั้งในชีวิตที่ได้สูดกลิ่นพร้อมจิบกาแฟจากแหล่งจริงๆ เหล่านี้ดึงดูดให้เราขับรถผ่านโค้งนับพัน และฝ่าสายหมอกไปยังตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อไปเข้าใจศาสตร์กาแฟกับ ‘วิสาหกิจชุมชนหอมเหาะ’ ที่เป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นดี และน่าสนใจตรงที่เป็นจังหวัดที่เพิ่งมาจริงจังเรื่องกาแฟไม่นานนัก

ซึ่งการไปแม่ฮ่องสอนครั้งนี้ นอกเหนือจากการเอาร่างกายไปปะทะลมหนาว และคลุกคลีตีโมงกับกาแฟกันจนหนำใจ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายิ้มตาม คือการที่คนทำกาแฟทุกชีวิตตั้งใจให้ชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดในประเทศ สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง


‘แม่ฮ่องสอน’ เป็นจังหวัดที่ต้องใช้ความตั้งใจในการไปเยือน เพราะกว่าจะถึงเมืองแห่งสายหมอกแห่งนี้ต้องขับรถผ่านโค้งนับพัน ใครที่ใจสู้ไม่ไหวก็คงคิดหนักแน่นอน แต่ดูเหมือนว่าความอุดมสมบูรณ์ อากาศดีแบบที่หาไม่ได้ในกรุงเทพฯ และความอยากดื่มด่ำกาแฟแม่ฮ่องสอนของเราจะเอาชนะอาการเมารถได้เป็นปลิดทิ้ง

ทำไมต้องมาถึงวิสาหกิจชุมชนหอมเหาะ

คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย นั่นเพราะที่นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปลูกกาแฟหลักของแม่ฮ่องสอน ซึ่งจากที่เราได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นมาของชาวแม่เหาะ ก็ต้องยอมรับเลยว่า กาแฟกับคนแม่ฮ่องสอนถือเป็นความผูกพันที่ไม่อาจแยกจากกันได้ เพราะแม้แต่หน้าบ้านยังมีต้นกาแฟน้อยใหญ่แย่งกันขึ้นหลังละสองสามต้น

แม้การปลูกกาแฟจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของที่นี่ แต่ถ้าเป็นระดับอุตสาหกรรมแล้วล่ะก็ แม่ฮ่องสอนยังถือเป็นน้องใหม่หากเทียบกับเชียงใหม่หรือเชียงราย

ปลูกกาแฟ เขาว่ายิ่งสูงยิ่งดี! แม่ฮ่องสอนเลยได้เปรียบตรงจุดนี้ไป ซึ่งที่นี่สูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,200 เมตร และไม่ต้องถามถึงคุณภาพของเมล็ดกาแฟเลย เพราะการปลูกแบบผสมจนกลมกลืนกับป่าธรรมชาติ บวกกับสภาพอากาศที่เย็นฉ่ำตลอดทั้งปี ต้นกาแฟเลยได้รับสารอาหารจนอิ่ม และเป็นกาแฟที่มีคุณภาพไม่แพ้ใคร

โดยความน่าทึ่งของผลไม้สุดเท่อย่าง ‘กาแฟ’ ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแหล่งปลูกนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี กลายเป็นเสน่ห์ของกลิ่น รส และสัมผัสที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งที่ ‘แม่เหาะ’ ก็เป็นอาราบิกาที่คนไทยคุ้นเคย พร้อมความอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้ป่าส่งตรงจากไร่กาแฟ

มานพ เพียรชอบไพร ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะ

ชุมชนจะเดินหน้าได้ต้องมีตัวตั้งตัวตี การมาเยือนแม่เหาะครั้งนี้เราได้พูดคุยกับ พี่มานพ เพียรชอบไพร ผู้มีเชื้อสายปกาเกอะญอที่เห็นชาวดอยอยู่กับกาแฟมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก ซึ่งเขาบอกกับเราว่า แต่ก่อนคนแม่เหาะปลูกกาแฟกันแบบซื้อมาขายไป ใช้สารเคมีทำไร่จนคุณภาพชีวิตแย่ลง และไม่ได้ต่อยอดอะไรจากกาแฟ

ยิ่งแม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ เลยทำให้เขาตั้งใจเรียนจนจบ และนำความรู้จากการที่ได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ มาพัฒนาบ้านเกิด โดยใช้ ‘กาแฟ’ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ผูกพันกับชาวแม่เหาะเป็นทุนเดิม มาสร้างคุณค่าและมูลค่าจนชาวบ้านสามารถลืมตาอ้าปากได้จนถึงทุกวันนี้ 

เมื่อเก็บเกี่ยวกาแฟจากต้นเรียบร้อย ก็เข้าสู่การผลิตและแปรรูป ปัญหาคือของคนทำกาแฟแม่เหาะคือองค์ความรู้และงบที่มีจำกัด การผลิตกาแฟวิถีพื้นบ้านที่ใช้อากาศธรรมชาติ กระด้ง หรือใดๆ ก็ตามอาจไม่ตอบโจทย์ เพราะบางทีเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้เอง จนทำให้ราขึ้นบ้างล่ะ เมล็ดเสียบ้างล่ะ ซึ่งหากมีเมล็ดใดเมล็ดหนึ่งเสีย ก็ต้องโละทิ้งทั้งหมด

สิ่งเหล่านี้ทำให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA : National Innovation Agency, Thailand เข้ามาคิดค้นของเล่นใหม่ที่ช่วยให้ชาวแม่เหาะบ่มเพาะกาแฟได้ดีและรวดเร็วขึ้น อย่างการตากแห้งผ่าน ‘ห้องควบคุมความชื้น’ ที่ทำให้กาแฟได้ความชื้นที่เหมาะสม มีกลิ่นหอม และรสชาติเข้มข้น หรือเทคโนโลยี FIR (Far Infrared Radiation) ที่ช่วยรักษา สี กลิ่น รสชาติให้คงเดิม 

คนแม่เหาะใช้กาแฟ 1 ต้นอย่างคุ้มค่า อย่างดอกและเปลือกกาแฟก็นำมาทำชา หรือไฮไลท์อย่างเมล็ดก็นำมาบดๆ คั่วๆ จนเป็นสินค้าที่เราต้องซื้อกลับมาฝากคนที่บ้าน ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ผ่านชื่อสุดคิวท์ว่า ‘กาแฟหอมเหาะ’ ที่ฟินจนเราต้องเหาะไปเลย

ยิ่งได้รู้ว่ากาแฟที่เราจิบเข้าเส้นเลือดแต่ละอึก คราฟต์ด้วยเกษตรกรผู้ทำกาแฟ ทั้งยังผลิตโดยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่า และไม่กอบโกยด้วยการเร่งการผลิต ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกดีเป็นเท่าตัว 

นอกจากผลิตภัณฑ์จากกาแฟระดับพรีเมียม ที่แม่เหาะยังเปิดให้ทุกคนมาท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่นการปลูกกาแฟอินทรีย์บนดอยสูง เราลองจินตนาการดูคงดีไม่น้อย หากได้เรียนรู้ศาสตร์กรีนๆ จากตัวจริง พร้อมสูดอากาศธรรมชาติสุดฟินบนดอย หรือทดลองเป็นผู้จัดเจนทางด้านกาแฟ ที่เข้าใจทั้งการผลิตและแปรรูปกาแฟแบบครบวงจร ชนิดที่เรียกว่าคัดกันเมล็ดต่อเมล็ด 

ก่อนจากกัน พี่มานพดริปกาแฟให้แขกผู้มาเยือน ซึ่งอากาศก็เหมือนเป็นใจ เพราะเย็นกำลังดีแบบที่ไม่ต้องใส่เสื้อกันหนาว การดริปทิ้งเวลาอยู่ครู่หนึ่ง พี่มานพก็เทกาแฟอุ่นๆ ลงแก้วใบเล็กให้เรา กาแฟหอมเหาะจากคนแม่เหาะเมื่อคั่วออกมาและบดใส่ในถุงดริป รสและกลิ่นของมันไม่เข้มจนขม แต่เข้มแบบหอม กลมกล่อม และกรุ่นด้วยกลิ่นดอกไม้ป่าหลากพันธุ์ รสชาติสมดุลละมุนลิ้นติดใจเรามาก

หากมีโอกาสหน้า เราอยากชวนคนรู้ใจขับรถไปเยือนคนทำกาแฟ และนั่งเพลินใจกับกาแฟแก้วใหญ่ที่แม่เหาะอีกสักครั้ง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปเก็บเมล็ดกาแฟกับชาวบ้าน และสวมบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟดู มันคงจะสนุกไม่น้อยเลย


ตามติดคนทำกาแฟแม่เหาะ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Website : homhoh.com
Facebook : กาแฟหอมเหาะ

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.