‘รถรางบางกอก’ อดีตเคยมี…ตอนนี้หายไปไหน - Urban Creature

‘เก๊ง.เก๊ง…เก๊ง.เก๊ง’


คือเสียงของระฆังที่บอกให้เรารู้ถึงการมีอยู่ของรถรางในอดีต ยังจำกันได้หรือไม่ว่าประเทศไทยเองก็เคยใช้รถรางเป็นบริการขนส่งสาธารณะในบางกอกหรือกรุงเทพฯ ณ ปัจจุบัน เป็นระยะเวลาร่วม 80 ปี และนับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีระบบรถรางไฟฟ้าใช้ ก่อนจะสูญหายเหลือไว้เพียงร่องรอยของรางบนพื้นถนนบางสาย และในความทรงจำของประชาชนบางคนเพียงเท่านั้น

รถราง (Tram)

รถราง (Tram) เป็นรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายกับรถไฟ ทว่าต่างกันที่ระยะทางในการวิ่งที่สั้นและช้ากว่า และมีน้ำหนักเบา ซึ่งระบบรถรางเป็นรูปแบบการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเหมือนกับควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ทั้งยังสร้างมลภาวะทางเสียงน้อยกว่า โดยมีแหล่งพลังงานจากการใช้ไฟฟ้าผ่านสายไฟด้านบนตัวรถ (Pantograph) รถรางจึงเหมาะกับการคมนาคมระหว่างย่านต่างๆ ภายในเมืองเป็นหลัก อีกทั้งรถรางยังสามารถเดินทางร่วมกับพาหนะประเภทอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องลงทุนมากเท่ากับขนส่งแบบรถไฟฟ้า เราจึงมักเห็นรถรางตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก เช่น เมืองอัมสเตอร์ดัม โตเกียว ฮ่องกง หรือซานฟรานซิสโก

แตรมเว หรือแทรมเว รถรางของชาวบางกอก

‘แตรมเว’ หรือ ‘แทรมเว’ ตามภาษาของชาวตะวันตก รถรางขบวนแรกของไทยต้องย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2431 ซึ่งเป็นปีแห่งจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์รถรางในสยามประเทศ ตอนนั้นรถรางของไทยใช้ระบบม้าลากในการเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่ถูกวางไว้ ระหว่างพระบรมมหาราชวังถึงบางคอแหลม ตลอดทางจะมีจุดพักม้าสำหรับผลัดเปลี่ยนให้ม้าได้พักผ่อนกินหญ้าและกินน้ำอยู่เป็นระยะ หลังเปิดใช้งานได้ไม่กี่ปีก็ต้องพบปัญหาขาดทุนย่อยยับ จากความไม่คุ้นชินของประชาชนในการเดินทางด้วยรถรางผนวกกับค่าโดยสารแพง ทำให้ประชาชนไม่เลือกใช้งาน บริษัทเองยังต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการซื้อม้าและเลี้ยงม้าเลยเลิกกิจการไปในที่สุด

จากรถรางม้าลาก สู่รถรางไฟฟ้าแห่งแรกของเอเชีย

หลังจากเกิดการโอนสัมปทานมายังบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก จึงเปลี่ยนจากระบบม้าลากที่ล้าสมัยและไม่มีความเสถียรในการใช้งาน มาเป็นรถรางระบบไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตะวันตกใน พ.ศ. 2437 ทำให้บางกอกกลายเป็นประเทศแรกของเอเชีย และนับเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ณ เวลานั้นเลยก็ว่าได้ที่มีรถรางระบบไฟฟ้าใช้ และหลังจากนั้นไม่นานรถรางไฟฟ้าก็ได้กลายเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับความนิยมของชาวบางกอกในอดีต

เพราะค่าโดยสารย่อมเยาและสะดวกสบายกว่าระบบม้าลาก ใช้ระยะเวลาไม่นานรถรางไฟฟ้าได้กลายมาเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักของเมืองหลวง และได้เพิ่มเส้นทางกระจายไปยังจุดสำคัญต่างๆ โดยแบ่งเป็น 11 สายด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1.สายสามเสน 2.สายปทุมวัน 3.สายดุสิต 4.สายสีลม 5.สายบางซื่อ 6.สายกำแพงเมือง 7.สายสุโขทัย 8.สายราชวงศ์ 9.สายอัษฎางค์ 10.สายบางคอแหลม และ 11.สายหัวลำโพง

จากความทันสมัย กลายเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางอย่างฉับพลัน

รถรางในกรุงเทพฯ ที่รับส่งผู้โดยสารมาตลอดระยะเวลากว่า 80 ปี ยุติบทบาทลง เมื่อความทันสมัยอย่างรถยนต์ส่วนตัว รถเมล์ และรถแท็กซี่เข้ามา ซึ่งสะดวกสบายและรวดเร็วกว่า ผนวกกับแผนพัฒนาที่มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถนนให้สอดรับกับความเจริญ มากกว่าการพัฒนาระบบรถรางในช่วงเวลานั้น ทำให้รถรางไม่ตอบสนองการใช้งานของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะความเชื่องช้าในการเดินทางและสายไฟระโยงระยางของตัวรถ กลับกลายเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางของความเจริญ

เก๊ง…เก๊ง…เก๊ง… และเสียงของรถรางก็เงียบหายลงตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2511 ไปตลอดกาล


Sources :
Coke Thai | bit.ly/2M5RIbE
Pantip | bit.ly/3sLjkU7
REALIST | bit.ly/2LOgzAO, bit.ly/3p6f3IK

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.