‘คลองสุเอซ’ คลองขุดเชื่อมทะเลกับทะเลฝีมือมนุษย์ - Urban Creature

ท่ามกลางเส้นทางการเดินเรือที่ปรากฏทั่วโลก ณ ปัจจุบัน รู้กันหรือไม่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติทั้งหมด แต่ยังมีเส้นทางการเดินเรือที่เกิดจากผลงานการรังสรรค์ของมนุษย์ เพื่อเอาชนะข้อจำกัดทางธรรมชาติ มนุษย์ได้ทำการขุดคลองเพื่อเชื่อมโยงโลกของเราให้ใกล้ขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหนึ่งในความยิ่งใหญ่นั้นคือเหตุการณ์ขุด ‘คลองสุเอซ’

ต้นคลอง

หากนับความยิ่งใหญ่ของการสร้างเส้นทางเดินเรือแล้ว การขุดคลองสุเอซคือหนึ่งในเหตุการณ์ที่แสดงให้เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ในฐานะคลองขุดขนาดใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้นที่อียิปต์ เพื่อเชื่อมระหว่างท่าเรือซาอิด ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสุเอซ ฝั่งทะเลแดง เข้าด้วยกัน เพื่อเปิดช่องทางในการเดินทางข้ามทวีประหว่างยุโรปและเอเชีย

ภาพ : www.pinterest.com/Zerokilleroppel

แต่คลองสุเอซไม่ใช่คลองสายแรกที่เชื่อมทะเลเข้าด้วยกัน มีบันทึกว่าในปี 1804 นโปเลียนที่ 1 ของฝรั่งเศสมีความคิดที่จะขุดคลองเพื่อเชื่อมเส้นทางดังกล่าว เพราะค้นพบร่องรอยการสัญจรทางน้ำในยุคอียิปต์โบราณ


เส้นทางดังกล่าวทอดจากอ่าวสุเอซบริเวณทะเลแดงสู่ทะเลสาบน้ำเค็มทางตอนเหนือ และเบี่ยงไปยังบริเวณปากแม่น้ำไนล์ เส้นทางดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ราว 1850 ปีก่อนคริสตกาล และมีชื่อว่า Canal of the Pharaohs หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Ancient Suez Canel


ทว่าโครงการขุดคลองของนโปเลียนก็ต้องยกเลิกไปเมื่อมีการคำนวณว่าน้ำทะเลทั้งสองฝั่งต่างระดับกัน จนทีมผู้สร้างต้องพับโครงการลง เพราะคิดว่าจะไม่คุ้มทุนการลงทุน


จนกระทั่ง แฟร์ดีน็อง เดอ เลสเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการขุดคลองสุเอซ หยิบโครงการดังกล่าวมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยใช้คนงานชาวอียิปต์กว่า 30,000 คนในการก่อสร้าง นับเป็นการผสมผสานระหว่างแรงงานท้องถิ่นและเทคโนโลยีล้ำสมัยในช่วงเวลานั้น และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างกว่า 10 ปีตั้งแต่ ค.ศ​. 1859 จนแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1869


ในวันเปิดคลองสุเอซอย่างเป็นทางการ มีผู้มาร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 6,000 คน ทั้งผู้นำประเทศและจักรพรรดินานาประเทศ และเฉลิมฉลองคลองสายนี้ด้วยการปาร์ตี้กันยาวเป็นสัปดาห์ๆ จึงเห็นได้ว่าคลองสายนี้มีความสำคัญตั้งแต่วันแรก จนทุกวันนี้


เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า คลองฝีมือมนุษย์อายุร้อยกว่าปีนี้มีระยะทางยาวถึง 193 กิโลเมตร กว้าง 300 – 350 เมตร และลึกประมาณ 19.5 – 20.1 เมตร คลองสุเอซจึงนับเป็นคลองไร้ประตูน้ำที่ยาวที่สุดในโลก และเจ้าคลองขุดนี้เองที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์การคมนาคมของโลกไปตลอดกาล ในฐานะที่เชื่อมเส้นทางการค้าสำคัญ รวมถึงเป็นเส้นทางลัดบนแผนที่โลก ระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย โดยไม่จำเป็นต้องอ้อมทวีปแอฟริกาเหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อนอีกต่อไป

คลองเชื่อมโลก

ความสำคัญของคลองเชื่อมโลกนี้ คือช่วยร่นระยะการเดินทางได้ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ จากเส้นทางเดินเรือเดิมซึ่งต้องแล่นอ้อมทวีปแอฟริกาทั้งทวีป กินระยะเวลาในการเดินทางกว่า 24 วัน มีระยะการเดินทางทั้งหมด 20,900 กิโลเมตร แต่คลองสุเอซทำให้ระยะการเดินทางลดเหลือเพียง 12,000 กิโลเมตร ช่วยให้ลดระยะทางในการเดินเรือไปกว่า 8,900 กิโลเมตร และลดระยะเวลาเดินทางให้เหลือเพียง 14 วัน 


ความสำคัญประการต่อมา คลองสุเอซเป็นคลองที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลก และยังเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสายสำคัญของโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่แหล่งผลิตน้ำมันของโลกอย่างประเทศแถบตะวันออกกลางใช้ขนส่งน้ำมันไปยังภูมิภาคยุโรปและอเมริกา


นอกจากคลองสุเอซแล้ว แฟร์ดีน็อง เดอ เลสเซปส์ ยังมีส่วนในการริเริ่มโครงการขุดคลองปานามา อีกคลองขุดสายสำคัญของโลกที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกัน ซึ่งร่นระยะการเดินเรือได้ถึง 22,500 กิโลเมตร


แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การขุดคลองสุเอซยังเชื่อมโยงกับ ‘โครงการขุดคอคอดกระ’ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องการเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ โดยใช้ทีมผู้ขุดคลองสุเอซ เพื่อลากจุดต่อเส้นทางการค้ารอบโลกเข้าหากัน แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้โครงการถูกพับไปอย่างมีปริศนา

ภาพ : Bangkokpost

คลองตัน

เช้าวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ‘Ever Given’ เรือสินค้าขนาดใหญ่ที่มีความยาวเกือบ 400 เมตร กว้าง 59 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 224,000 ตัน ได้สูญเสียทัศนวิสัยและการควบคุมเพราะพายุทรายที่โหมกระหน่ำ ด้วยความเร็วลม 74 กม./ชม. จนเข้าไปเกยตื้นตรงคลองส่วนที่มีความกว้างเพียง 250 เมตร ทำให้คลองที่เคยคับคั่ง หยุดชะงักอย่างที่ชาวอียิปต์ยุคนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน


แต่จริงๆ แล้วคลองสุเอซเคยเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันทว่าต่างสถานการณ์จนต้องปิดคลองมาก่อน อย่าง Six-Day War ในปี 1967 ระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล ทำให้รัฐบาลอียิปต์ต้องปิดกั้นทางเข้าออกคลองสุเอซด้วยทุ่นระเบิดและการจมเรือขวาง ซึ่งยาวนานกว่า 8 ปี โดยที่มีเรือขนส่งสินค้ากว่า 14 ลำพร้อมลูกเรือยังคงติดอยู่ในนั้น ไอ้จะทิ้งเรือแล้วเดินทางด้วยวิธีอื่นก็ไม่ได้ เนื่องจากเรือแต่ละลำมีสินค้าที่มีมูลค่าจำนวนมาก ทำให้ลูกเรือต้องจัดกะเพื่อเฝ้าดูแลสินค้าตลอด 8 ปี


ถึงแม้สงครามจะจบลง แต่ความตึงเครียดยังคงเหลืออยู่ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้จากการคานอำนาจของอียิปต์ที่ไม่ยอมนำเอาทุ่นระเบิดและซากเรือออกจากหน้าปากทางเข้าออก นำไปสู่การสร้างชุมชนนานาชาติ ซึ่งมีชื่อว่า ‘Great Bitter Lake Association’ ในที่สุด


เรือแต่ละลำจะมีหน้าที่ในการดูแลชุมชนเหนือน่านน้ำแห่งนี้เป็นของตัวเอง อาทิ เรือจากโปแลนด์ทำหน้าที่ให้บริการไปรษณีย์ เรือจากอังกฤษทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฟุตบอล เรือจากเยอรมนีทำหน้าที่เป็นโบสถ์ เป็นต้น

ภาพ : Amusingplanet

ความสนุกไม่ได้หยุดอยู่ที่การหมุนวนไปทำกิจกรรมต่างๆ บนเรือลำอื่น แต่ยังรวมไปถึงการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นของตัวเอง ณ คลองสุเอซ ภายใต้ชื่อ ‘Bitter Lake Olympic’ 


จนกระทั่งปี 1975 เข้าปีที่ 8 ในที่สุดคอมมูนิตี้แห่งนี้ก็ได้ยุติลง เมื่อแรงกดดันจากประเทศทั่วโลกส่งผลให้อียิปต์ยอมเปิดคลองสุเอซอีกครั้งหนึ่ง เรือและลูกเรือเหล่านั้นจึงได้กลับบ้าน


แต่หากไม่นับเหตุการณ์ปิดคลอง 8 ปี การที่เรือ Ever Given ขวางคลอง ก็เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจโลก เพราะปัจจุบันคลองสุเอซถือเป็นเส้นทางสัญจรที่มีความพลุกพล่าน ในแต่ละวันจะมีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของโลกแล่นผ่านเส้นทางนี้ มีสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่พลังงาน อาทิ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะฉะนั้น เมื่อเรือสินค้าที่เคยมีไม่สามารถแล่นผ่านได้ มันจะค่อยๆ ส่งผลกระเทือนเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึงวันละกว่า 2.98 แสนล้านบาท


แม้ Meme ย้ายเรือ Ever Given บนโลกอินเทอร์เน็ตจะง่ายดายเพียงใด ในโลกความเป็นจริง ไม่ว่าทุกภาคส่วนจะร่วมแรงแข็งขันเร่งแก้ไขขนาดไหน ด้วยข้อจำกัดที่มี กว่า Ever Given จะเป็นอิสระอีกครั้ง ก็ยังต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์


เรือขนส่งสินค้าบางส่วนจึงเลือกจะกลับลำไปแล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ที่ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่าเดิม 10 วัน และเสียค่าน้ำมันเพิ่มนับสิบล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นอกจากความวุ่นวายของคลองสุเอซ ตลาดการค้าโลกยังเต็มไปด้วยความปั่นป่วน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา 2 วันให้หลังที่ Ever Given ขวางคลอง ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นมากกว่า 3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


ชีวิตคนบนเรือเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร เส้นทางคลองสุเอซจะเป็นอย่างไร และเศรษฐกิจโลกระหว่างรอปลดพันธนาการเรือ Ever Given จะเป็นอย่างไร God only knows.


Sources :
AMUSING PLANET | https://bit.ly/3vZGJD0
Facebook | The People, Thon Thamrongnawasawat
SCA | https://bit.ly/2Pe1zht
Silpa-Mag | https://bit.ly/31EhYyx
VICE | https://bit.ly/3fmaOGY
99% Invisible | https://bit.ly/2P4NSBz

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.