คนหูหนวกกับเมืองไร้เสียงชื่อกรุงเทพฯ - Urban Creature

‘…………..’


หากวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเสียงที่ได้ยินกลายเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด กลายเป็นเสียงแห่งความเงียบงัน ที่ดังก้องกังวานจนคุณไม่ได้ยินเสียงของผู้อื่นหรือแม้กระทั่งเสียงของตัวเอง คุณหันไปหยิบโทรศัพท์ที่เคยตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตอน 7 โมงเช้า แต่เช้าวันนี้กลับไม่ได้ยินเสียงปลุกชวนรำคาญหูอีกต่อไป สัมผัสได้เพียงแรงสั่นไหวจากโทรศัพท์เท่านั้น และภาพที่คุณเห็นจากตาดวงเดิมกลายเป็นเหมือนโลกใบใหม่ ที่มือไปถูกปุ่ม Mute ไว้ตลอดกาล คุณจะทำอย่างไรต่อในเช้าวันนี้ 


แค่เรื่องสมมุติ ‘หากวันหนึ่งกลายเป็นคนหูหนวก’ ยังทำให้เราเป็นกังวลไม่น้อย เพราะการได้ยินเป็นสัมผัสสำคัญของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อสาร Urban Creature จึงอยากจะชวนทุกคนไปรู้จักโลกของคนหูหนวกผ่านการพูดคุยกับ ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล หรือนุ้ย และล่ามภาษามือ เต็มศิริณ ชลธารสีหวัฒน์ หรือไข่มุก ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตภายในเมืองของคนหูหนวก เพื่อให้คนหูดีและคนหูหนวกได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น

ชื่อ | ภาษามือ | สัญลักษณ์แทนตัวเอง


หากวันหนึ่งคุณหูหนวก จะพบกับอะไรบ้าง


การสื่อสารที่ใช้ภาษามือและภาษากายแทนภาษาพูด – ปัญหาพื้นฐานในชีวิตประจำวันของคนหูหนวกคือเรื่องการสื่อสาร เนื่องจากคนหูหนวกใช้ภาษามือสื่อสารเป็นภาษาแรก และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ทำให้การใช้ภาษาไทยของคนหูหนวกอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร อาจไม่เข้าใจความหมายของคำทุกคำ เวลาเขียนรูปประโยคภาษาไทยก็มักจะเขียนตามไวยากรณ์ภาษามือของคนหูหนวก อย่างประโยคที่ว่า ‘ฉันกินข้าว’ แต่คนหูหนวกจะเขียนประโยคดังกล่าวเป็น ‘ข้าวฉันกิน’ สลับตำแหน่งคำ เหมือนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้คนอ่านอาจจะเกิดความฉงนสงสัยและไม่เข้าใจสิ่งที่คนหูหนวกจะสื่อสาร


และเมื่อคนหูหนวกเจอรูปประโยคยาวๆ เขาจะอ่านและแปลความหมายทีละคำ ทำให้ไม่เข้าใจรูปประโยคยาวนั้นเท่าไหร่ แต่เขาจะเข้าใจรูปประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ที่ใช้สื่อสารบ่อย รูปประโยคที่ใช้ในการสื่อสารกับคนหูหนวกจึงควรเป็นประโยคคำพูดสั้นๆ ไม่อ้อมค้อมพรรณนาโวหาร


นอกจากปัญหาการสื่อสารกับคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน เธอยังขยายความถึงความลำบากของการสื่อสารในยุคเชื้อโควิด-19 ระบาดที่ยากกว่าเก่าว่า


“คนหูหนวกบางคนยังใช้วิธีการอ่านปากคนอื่นได้ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้คนหูหนวกสื่อสารลำบากขึ้น เพราะทุกคนต่างต้องใส่หน้ากากอนามัยปกปิดใบหน้า”

ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้คิดเผื่อคนหูหนวก – ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญ คนหูหนวกกลับได้รับข่าวสารช้ากว่าใครเพื่อน ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ช่องทางเดียวที่คนหูหนวกจะรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองได้นั้น มีเพียงช่องล่ามเล็กๆ ในรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง


ทว่าด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ย่อโลกทั้งใบให้เล็กลง ทำให้ข้อมูลข่าวสารย้ายมาอยู่ใน Platform ใหม่อย่างโทรศัพท์มือถือมากขึ้น คนหูหนวกจึงต้องติดตามข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป


แต่รูปแบบโซเชียลมีเดียในลักษณะข้อความทั้งหมดกลายเป็นปัญหาสำหรับคนหูหนวกไม่น้อย เพราะไม่ใช่คนหูหนวกทุกคนที่อ่านภาษาไทยได้อย่างลื่นไหล เนื่องจากรูปแบบภาษาที่ใช้แตกต่างกันระหว่างภาษาเขียนบนโลกออนไลน์ กับภาษาพูด ทำให้เขาอาจจะได้รับข้อมูลข่าวสารสำคัญอย่างข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ครบถ้วนและล่าช้า ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิต


รูปแบบการเสพข่าวสารของคนหูหนวกจึงเป็นลักษณะ Community เฉพาะ แชร์ข้อมูลข่าวสารภายในกลุ่ม พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลเนื้อข่าวด้วยการบอกต่อกันระหว่างคนหูหนวกด้วยกันเอง และคนหูดีที่มาเป็นล่ามอาสาช่วยแปลภาษา ผ่านการใช้ FaceTime เพื่อให้คนหูหนวกได้รับข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว


แต่ด้วยจำนวนล่ามภาษามือที่ไม่ได้มีเพียงพอ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรอยู่ที่การทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ คอนเทนต์วิดีโอบนโซเชียลมีเดียก็อาจต้องมีล่ามภาษามือแปลข้อความ เพื่อให้คนหูหนวกได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองด้วย


“สิ่งที่คนหูหนวกเสียผลประโยชน์มากที่สุดจากการไม่ได้ยินเสียงคือ ทำให้ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสถานการณ์นั้น”

การเดินทางที่ไม่มีเสียงเป็นตัวช่วยบอกทาง – ปัญหาต่อมาของคนหูหนวกคือเรื่องการเดินทางในชีวิตประจำวัน


“บ้านอยู่พระราม 2 แต่ที่ทำงานอยู่พัฒนาการ ทำให้ต้องใช้รถสาธารณะในการเดินทาง ทั้งนาน หลายต่อ และการขึ้นรถเมล์นั้นลำบากตั้งแต่การสื่อสารกับกระเป๋ารถเมล์ว่าจะไปที่ไหน”


การใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินมีปัญหาเดียวกันคือ ป้ายบอกชื่อสถานีที่มีน้อย เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ในบางครั้งมันเร็วขนาดที่ว่าเธออ่านป้ายไม่ทันว่าสถานีอะไร ในตัวขบวนรถไฟฟ้าบางขบวนเองก็มีแต่ไฟกะพริบกับตัวอักษรเล็กๆ บอกสถานี ซึ่งไม่ชัดและลายตาต่อการมองระยะไกล อีกทั้งรูปแบบการสื่อสารสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างการประกาศผ่านเสียงเพียงเท่านั้น ไม่เอื้อต่อผู้พิการโดยเฉพาะคนหูหนวก


และเรื่องน่าเจ็บปวดใจอีกหนึ่งอย่างคือ เวลาขึ้นแท็กซี่ แล้วคุณพูดไม่ได้ แท็กซี่บางคันก็จะคิดว่าคุณเป็นชาวต่างชาติและฉวยโอกาสคิดราคาเหมาแทนการกดมิเตอร์ หรือในบางครั้งคนขับรถแท็กซี่เองไม่รู้เส้นทางก็ยากที่จะสื่อสารกัน เพราะไม่เข้าใจภาษามือ จนต้องใช้รูปแบบการสื่อสารอื่นอย่างการเขียนใส่กระดาษ หรือโทรศัพท์ให้ผู้อื่นช่วยบอกทางแทน แต่ในบางครั้งก็เกิดการสื่อสารผิดบ้าง ทำให้คนขับขับเลยจุดหมาย จนเสียเวลาในการเดินทางกว่าที่ควรจะเป็น


ทว่าปัจจุบันปัญหาในการขึ้นแท็กซี่ของคนหูหนวกก็ลดน้อยลงเพราะมี GPS ที่เข้ามาช่วยเรื่องการบอกเส้นทางและจุดหมาย ไปจนถึงบริการรูปแบบอื่นๆ ที่ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น

ป้ายบอกทางที่ถูกบดบังด้วยสรรพสิ่ง – สิ่งนี้เป็นปัญหาสำหรับคนทั่วไปเช่นเดียวกัน แต่เป็นปัญหาใหญ่ สำหรับคนหูหนวก อย่างเรื่องของป้ายบอกทาง ป้ายรถเมล์ ที่ถูกบดบังไปด้วยสายไฟ ต้นไม้ ป้ายโฆษณาต่างๆ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นจากระยะไกล เมื่อขึ้นรถขนส่งสาธารณะจึงยากที่จะมองเห็นว่าถึงที่หมายหรือยัง ซึ่งทางแก้ไขปัญหาที่ว่าจึงอยู่ที่การจัดเก็บสายไฟ ไปจนถึงการตัดแต่งต้นไม้ให้เรียบร้อยเพื่อง่ายต่อการมองเห็น และในอนาคตหากจะมีการติดตั้งเสาไฟฟ้าหรือป้ายบอกทาง ควรคำนึงเผื่อถึงมนุษย์ทุกคน มากไปกว่าความมักง่ายในการติดตั้ง

สวนสาธารณะที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกคน – เรื่องใกล้ตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สาธารณะเองก็เป็นปัญหาสำหรับคนหูหนวกเช่นกัน ยกตัวอย่างหากคุณเดินไปที่สวนสาธารณะเพื่อไปพักผ่อนหย่อนใจ นั่งลงบนม้านั่งตัวน้อย เพื่อเอนกายพูดคุยกับเพื่อนคนข้างๆ ก็คงจะสบายไม่น้อย


แต่สำหรับคนหูหนวกม้านั่งดังกล่าวอาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานเท่าที่ควร เนื่องจากรูปแบบการสื่อสารด้วยภาษามือที่ต้องหันหน้าเข้าหากันตลอดเวลา ทำให้เขาต้องเอนตัวเข้าหาคู่สนทนาเพื่อสื่อสาร ซึ่งใช้พื้นที่มากกว่าปกติ จนเกิดความคับแคบไม่สะดวกในการนั่ง และหากมีจำนวนผู้สนทนามากกว่า 2 คน ม้านั่งอาจกลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ไปโดยปริยาย


การออกแบบพื้นที่สาธารณะจึงควรนำหลัก Universal Design ที่ครอบคลุมไปถึงคนทุกกลุ่มมากขึ้น อาทิการออกแบบม้านั่งให้มีพื้นที่กว้างขึ้น หรือเก้าอี้ที่จัดวางเป็นรูปตัวยู

นอกจากเรื่องการออกแบบพื้นที่สาธารณะแล้ว อีกหนึ่งปัญหาในการใช้พื้นที่สาธารณะของคนหูหนวกคือเรื่อง แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากรูปแบบภาษามือซึ่งต้องใช้สายตา แสงไฟจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของคนหูหนวกได้ดียิ่งขึ้น

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับคนหูหนวก


เนื่องจากคนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงเหมือนคนปกติ แต่สิ่งที่ยังคงปกติคือสายตา ภาพต่างๆ ที่เห็นจึงเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้คนหูหนวกเรียนรู้ความหมายในการสื่อสาร ภาษากายและสีหน้าจึงเป็นเครื่องมือในการแสดงความรู้สึกภายในของคนหูหนวกให้ผู้อื่นเข้าใจได้มากที่สุด


คนหูหนวกจึงมีวิธีการแสดงสีหน้าท่าทางที่ชัดเจน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดได้ เช่น คนหูหนวกทำหน้านิ่วคิ้วขมวด คนทั่วไปอาจจะคิดว่าคนหูหนวกโกรธ แต่ในความเป็นจริงคนหูหนวกอาจกำลังสงสัย หรือกำลังกังวลในสิ่งที่คู่สนทนากำลังสื่อสารอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าคนหูหนวกจะโกรธไม่เป็นนะ การแสดงออกทางสีหน้ายังบ่งบอกถึงอารมณ์ และความรู้สึกที่แท้จริงด้วยเหมือนกัน


อีกทั้งคนหูหนวกใช้สายตาเพื่อรับข้อมูลแทนการฟัง ทำให้เขาต้องมองทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นในขณะที่สื่อสารกับคนทั่วไป เช่น การอ่านปาก ดูสีหน้าแววตา ประกอบการสื่อความหมาย ซึ่งการมองอย่างตั้งใจในบางครั้งอาจทำให้คนทั่วไปคิดว่าคนหูหนวกหาเรื่อง หรือกำลังจับผิดอีกฝ่ายอยู่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขาแค่พยายามต้องการที่จะเก็บข้อมูลและสื่อสารด้วยเท่านั้นเอง


หลังจากพูดคุยกับนุ้ยอย่างลื่นไหลผ่านล่ามภาษามือ เรากลับไม่เห็นถึงความลำบากในการสื่อสารของเขา เหมือนกับที่เราตั้งคำถามในหัวก่อนที่จะมาสัมภาษณ์เธอ ไม่ว่าจะเป็นภาษามือ ท่วงท่า รอยยิ้มและแววตาของเธอ ช่างเป็นภาษากายที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี และเธอเองก็พูดคุยกับเราอย่างสนุกสนาน


เราพบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดสำหรับคนหูหนวกคือ ‘ความเข้าใจผิดๆ’ ของคนภายนอกที่มองพวกเขาแปลกแยกออกจากสังคม โดยขาดความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและวัฒนธรรมของคนหูหนวก

“คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงรอบทิศ มีแค่สองตาที่มองไปข้างหน้าและด้านข้างที่ไม่สามารถมองด้านหลัง ถ้าคุณเรียกหรือบีบแตรหลายครั้งแล้วไม่หัน คุณควรเอะใจว่าเขาเป็นคนหูหนวกหรือเปล่า


“บางคนเห็นเราเป็นคนหูหนวกก็ไม่อยากที่จะสื่อสารด้วย แต่จริงๆ แล้วใช้การเขียนสื่อสารกันได้ เราก็เป็นคนเหมือนกัน และอยากได้รับการสื่อสารเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งอยากให้เข้าใจวัฒนธรรมของคนหูหนวกมากขึ้น เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้”


ประโยคสุดท้ายเราถามนุ้ยว่า อยากฝากอะไรถึงคนอ่านบ้างไหม ซึ่งเธอใช้เวลาคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะสะกิดบอกเราว่า….

“ฉันอยากเห็นเมืองไทยดีขึ้น”

ถึงแม้การได้ยินจะเป็นผัสสะสำคัญของมนุษย์ แต่คนหูหนวกทำให้เราเห็นแล้วว่าเขาก็มีศักยภาพทัดเทียมคนหูดี เหตุที่เขาไม่ได้ยินเสียงอาจจะเกิดจากโชคชะตา แต่การอยู่ในเมืองที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน คือการเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างสร้างสรรค์ การออกแบบเมืองที่เล็งเห็นถึงกลุ่มคนต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนต่างต้องการอย่างเท่าเทียม

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.