สะพานลอย แก้ปัญหารถติดได้จริงหรือไม่ - Urban Creature

สะพานสูงทรงแคบๆ ที่สร้างคร่อมขวางถนนให้คนเดินข้ามไปข้ามมา สิ่งก่อสร้างนี้เราเรียกว่า ‘สะพานลอย’ UrbanTales ครั้งนี้จะพาผู้อ่านนั่งไทม์แมชชีนไปดูว่า สะพานลอยเครื่องมือแก้ปัญหาจราจรและความปลอดภัยของไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่กัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2471 กรุงเทพฯ ได้มีการสร้างสะพานข้ามทางสัญจรทางบกแห่งแรกในไทย คือ “สะพานกษัตริย์ศึก” สร้างขึ้นเพื่อให้คนและรถใช้ข้ามทางรถไฟบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งควบคุมการก่อสร้างโดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงตอนนั้น ในขณะที่สะพานลอยข้ามถนนแห่งแรกของประเทศ คือ “สะพานที่ตลาดเฉลิมลาภประตูน้ำ” ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512

และนับตั้งแต่นั้นมาสะพานลอยก็มีบทบาทมากขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาจราจรมาจนถึงปัจจุบัน ดูได้จากจำนวนสะพานลอยในปี พ.ศ. 2560 พบว่า กรุงเทพฯ มีสะพานลอยทั้งหมด 915 แห่ง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. 723 แห่ง และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงอีก 192 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสกายวอล์กเชื่อมสถานีบีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ อีกจำนวน 9 แห่ง

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม้มีจำนวนสะพานลอยมากขนาดนี้ เรากลับพบว่ายังมีข่าวรถยนต์ชนคนข้ามถนนเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

หากแต่มองออกไปข้างนอกจะเห็นว่าในหลายประเทศมีสะพานลอยน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นทางม้าลายหรืออุโมงค์ทางลอดมากกว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะมาจากวัฒนธรรมการใช้ถนนที่คนขับรถยนต์เคารพสิทธิ์ของผู้ใช้ทางเท้า อีกทั้งในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีความเชื่อว่าการสร้างสะพานลอยเป็น “การกีดกัน” การเข้าถึงของคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงวัย ผู้พิการ หรือผู้ปั่นจักรยาน


รู้หรือไม่สะพานลอยที่ได้มาตรฐานต้องเป็นอย่างไร

การสร้างสะพานลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งแล้ว ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร มีความกว้างของทางเดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร ความสูงขั้นบันไดอยู่ที่ 17 – 20 เซนติเมตร อีกทั้งยังต้องมีราวป้องกันตรงสะพานลอยสำหรับคนตาบอด และแผงคอนกรีตหรือแผงกันชนเพื่อป้องกันการพลัดตกถนนด้วย

หากมีโอกาสได้เดินขึ้นสะพานลอย เราอยากชวนคุณลองสำรวจดูว่ามันปลอดภัย น่าเดิน และได้มาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนดไว้หรือไม่ ?

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.