ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองคอนเสิร์ตที่สนุกหลากหลาย - Urban Creature

ช่วงนี้บรรยากาศในกรุงเทพฯ กลับมาคึกคักสุดๆ เห็นได้จากผู้คนที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันแบบปกติ บวกกับกิจกรรมและความบันเทิงต่างๆ ที่จัดอย่างเต็มรูปแบบได้แล้ว โดยเฉพาะ ‘คอนเสิร์ต’ ที่มีการแสดงทั้งจากศิลปินไทยและต่างประเทศให้แฟนเพลงเลือกซื้อตั๋วไปดูกันแทบทุกสัปดาห์

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางของคอนเสิร์ตแทบทุกแนว ตั้งแต่การแสดงดนตรีสดขนาดเล็ก จนถึงงานใหญ่ระดับมิวสิกเฟสติวัล แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ทุกครั้งที่มีคอนเสิร์ตจัดขึ้น มักตามมาด้วยข้อถกเถียงถึงปัญหาและ Pain Point ที่แก้ไม่ได้สักที เช่น พื้นที่จัดคอนเสิร์ตที่มีอยู่อย่างจำกัด โลเคชันที่อยู่ไกลจากระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้คนเดินทางลำบาก รวมถึงค่าใช้จ่ายการจัดคอนเสิร์ตที่มีต้นทุนสูง จึงมีเฉพาะวงดนตรีดังๆ เท่านั้นที่เปิดการแสดงได้ กลายเป็นการปิดโอกาสศิลปินตัวเล็กๆ ไปโดยปริยาย

คอลัมน์ Urban Sketch จึงอยากลองเอาข้อจำกัดเหล่านี้มาปรับปรุงใหม่ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งคอนเสิร์ตที่ดีกว่าเดิม ผ่านการใช้ไอเดียสนุกๆ เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะให้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต ตั้งแต่บริเวณใต้ทางด่วน ชั้นดาดฟ้า จนถึงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา คอนเสิร์ตเหล่านี้จะมีหน้าตาแบบไหน ขอเชิญทุกคนไปโยกหัวฟังเพลงพร้อมกัน

เพิ่มสเตจคอนเสิร์ตในตัวเมืองด้วยการปรับพื้นที่ใต้ทางด่วน

ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองคอนเสิร์ต ที่สนุก หลากหลาย และทุกคนเข้าถึงได้

ปัญหาหลักของการจัดคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ คือ ‘พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด’ เพราะส่วนใหญ่การแสดงมักจัดขึ้นที่สเตเดียม ศูนย์จัดแสดงสินค้า และฮอลล์ในศูนย์การค้า ที่นอกจากจะตั้งอยู่ในโลเคชันที่การจราจรติดขัด ผู้คนเดินทางไปลำบากแล้ว สถานที่เหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ขนาดกลางถึงใหญ่ที่ต้องเป็นวงดนตรีแมสๆ หรือมีต้นทุนสูงเท่านั้น ถึงจะจัดการแสดงได้ เราจึงไม่ค่อยได้เห็นวงดนตรีอินดี้หรือศิลปินตัวเล็กๆ มีคอนเสิร์ตของตัวเองในสถานที่เหล่านี้เท่าไหร่นัก

เพราะเหตุนี้ เราจึงอยากเพิ่มจำนวนสเตจคอนเสิร์ตให้เยอะขึ้นและกระจายอยู่ทั่วเมือง โดยการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วนและพื้นที่ริมถนน ให้เป็นลานดนตรีที่ใครๆ ก็มาโชว์ของได้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหน้าใหม่ นักดนตรีอิสระ จนถึงวงดนตรีระดับกลางที่อยากมีพื้นที่จัดคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเอง ไม่ต้องรอไปเล่นเป็นวงเปิดให้ศิลปินดังๆ หรือเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเทศกาลดนตรีเหมือนแต่ก่อน 

ที่สำคัญ การจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ลักษณะนี้ยังช่วยสร้างประโยชน์ให้สถานที่รกร้าง เพิ่มสีสันและความคึกคักให้เมือง ทั้งยังทำให้คนในชุมชนต่างๆ เข้าถึงความบันเทิงแนวนี้ได้มากขึ้นอีกด้วย

เปิดประสบการณ์ใหม่ด้วยการย้ายดนตรีสดไปไว้บนดาดฟ้า

ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองคอนเสิร์ต ที่สนุก หลากหลาย และทุกคนเข้าถึงได้

ใครที่ติดตามวงดนตรีระดับตำนานอย่าง The Beatles คงเคยเห็นคอนเสิร์ตที่สมาชิกวงสี่เต่าทองแสดงดนตรีกันสดๆ บนชั้นดาดฟ้าในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1969 ซึ่งเป็นหนึ่งในการแสดงที่มีชื่อเสียงที่สุดของวง

เราจึงอยากเอาไอเดีย ‘Rooftop Concert’ แบบนี้มาปรับใช้กับการจัดคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ ผ่านการพัฒนาชั้นดาดฟ้าตามอาคารต่างๆ ที่รกร้าง ไม่มีคนใช้งาน ให้เป็นเวทีแสดงดนตรีสดสำหรับศิลปินทุกกลุ่ม แนวคิดนี้จะช่วยเปลี่ยนให้ตึกรามบ้านช่องที่เริ่มซบเซากลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่วนผู้คนก็มีโอกาสดูคอนเสิร์ตในบรรยากาศที่ต่างจากฮอลล์คอนเสิร์ตทั่วไป ถ้าได้ยืนฟังเพลงรับลมเย็นๆ โดยมีวิวกรุงเทพฯ เป็นฉากหลังคงจะฟินน่าดู

อย่างไรก็ตาม การจัดคอนเสิร์ตบนดาดฟ้าก็มีข้อจำกัดเยอะเหมือนกัน ทั้งเรื่องการเคลื่อนย้ายและติดตั้งอุปกรณ์ คุณภาพเสียงที่กระจายไม่รอบทิศ รวมถึงพื้นที่ที่อาจรองรับผู้ชมได้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าจัด Rooftop Concert ในโลเคชันดีๆ ที่มีอาคารหรือคอนโดมิเนียมล้อมรอบ ข้อดีที่อาจตามมาคือผู้คนที่อาศัยอยู่ตึกรอบข้างจะได้ชมการแสดงจากห้องหรือระเบียงของตัวเอง เหมือนเป็นการมาเสิร์ฟดนตรีให้ถึงที่ 

ทั้งนี้ หากจะจัดคอนเสิร์ตในแหล่งที่อยู่อาศัย ผู้จัดจำเป็นต้องแจ้งให้ชุมชนรู้ล่วงหน้า เพื่อให้คนในพื้นที่เตรียมตัวรับมือและป้องกันการร้องเรียนเรื่องเสียงดังรบกวน รวมถึงดูแลความปลอดภัยของการจัดงานบนดาดฟ้าอย่างรอบด้านด้วย

ซัปพอร์ตวงนอกกระแสด้วยการเปิดไลฟ์เฮาส์ทั่วกรุง

ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองคอนเสิร์ต ที่สนุก หลากหลาย และทุกคนเข้าถึงได้

นอกจากการปรับพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่รกร้างให้เป็นเวทีคอนเสิร์ตสำหรับศิลปินทุกกลุ่มแล้ว เราอยากเพิ่มพื้นที่สำหรับการแสดงดนตรีสดอย่าง ‘ไลฟ์เฮาส์ (Live House)’ ให้กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ด้วย

ไลฟ์เฮาส์คือห้องจัดแสดงคอนเสิร์ตขนาดเล็กที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการเสพดนตรีใต้ดิน มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นช่วงยุค 60 – 70 ในอดีตญี่ปุ่นมีไลฟ์เฮาส์กระจายอยู่ทั่วเมือง แต่วงการนี้เริ่มซบเซาในช่วงสองปีที่ผ่านมาหลังเจอวิกฤตโควิด-19

เรามองว่าคอนเซปต์ของไลฟ์เฮาส์ที่อยากผลักดันศิลปินอินดี้ยังเป็นสิ่งจำเป็น จึงอยากทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายในประเทศไทย รวมถึงอยากให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่จัดคอนเสิร์ตแบบนี้กระจายอยู่ในย่านต่างๆ เพื่อให้ศิลปินและวงดนตรีนอกกระแสมีเวทีจัดคอนเสิร์ตของตัวเองที่เปิดขายบัตรได้แบบจริงจัง ไม่ต้องหวังพึ่งรายได้จากการเล่นดนตรีตามผับ บาร์ หรือร้านเหล้าอย่างเดียวเท่านั้น

ไม่แน่นะ หากไลฟ์เฮาส์ได้รับความนิยมในบ้านเรา ศิลปินหลายคนคงเข้าตาแมวมองจนได้แจ้งเกิดจากที่นี่ ส่วนคนฟังเพลงก็จะได้สัมผัสแนวดนตรีที่หลากหลาย ไม่จำเจ ถึงตอนนั้นซีนดนตรีในไทยคงสนุกขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

เล่นใหญ่ด้วยการยกคอนเสิร์ตไปจัดกลางแม่น้ำเจ้าพระยา

ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองคอนเสิร์ต ที่สนุก หลากหลาย และทุกคนเข้าถึงได้

จัดคอนเสิร์ตในสถานที่ปิดอย่างไลฟ์เฮาส์กันไปแล้ว คราวนี้ลองย้ายเวทีมาไว้เหนือผืนน้ำดูบ้าง แต่ไม่ใช่แม่น้ำลำคลองทั่วไปนะ เพราะเราจะขอเล่นใหญ่ยกคอนเสิร์ตไปไว้กลาง ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ ซะเลย 

ไอเดียนี้ได้แรงบันดาลใจจากไลฟ์คอนเสิร์ตกลางทะเลของวง COCKTAIL เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจัดเต็มทั้งแสง สี เสียง แถมยังมีซีจีสุดอลังการเป็นแบ็กกราวนด์อีก แนวคิดนี้น่าจะเอามาปรับใช้กับเวทีคอนเสิร์ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เพราะเป็นแม่น้ำสายหลักของไทย มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เพียงพอสำหรับตัวเรือบาร์จขนาดใหญ่ที่จะใช้เป็นเวทีจัดแสดง

ความเก๋ของคอนเสิร์ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาคือ ผู้คนสามารถชมการแสดงได้จากรอบทิศเกือบ 360 องศา ทั้งยังรองรับผู้ชมได้เยอะ เพราะแม่น้ำสายนี้ขนาบด้วยฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี แฟนเพลงสามารถยืนชมการแสดงจากพื้นที่ริมน้ำได้แบบสบายๆ แถมยังมีตึกระฟ้าและวัดสวยๆ ของกรุงเทพฯ เป็นฉากหลังด้วย ถ้าคอนเสิร์ตแบบนี้เกิดขึ้นได้จริง คงจะเป็นบรรยากาศและประสบการณ์ที่น่าประทับใจไม่น้อย

ผลักดันเรื่องความยั่งยืนด้วยคอนเสิร์ตแบบ Virtual

ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองคอนเสิร์ต ที่สนุก หลากหลาย และทุกคนเข้าถึงได้

ปิดท้ายด้วยไอเดียจัดคอนเสิร์ตที่ไม่ต้องรองรับผู้คนจำนวนมากหรือติดตั้งอุปกรณ์ในพื้นที่ให้ยุ่งยาก เพราะเราจะจัด ‘คอนเสิร์ตเสมือนจริง (Virtual Concert)’ หรือ ‘คอนเสิร์ตออนไลน์ (Online Concert)’ แบบล้ำๆ กันไปเลย

อย่างที่รู้กันว่าการแสดงดนตรีผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นรูปแบบที่ปลอดภัย ลดการรวมตัวของผู้คน และเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างแบบไร้พรมแดน แค่สวมแว่นเสมือนจริงหรือเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเอาตัวเองไปอยู่ในโลกของคอนเสิร์ตได้ทันที

ถ้าวงการดนตรีไทยหันมาจัดคอนเสิร์ตแบบเวอร์ชวลกันมากขึ้น ผู้ชมคงมีทางเลือกใหม่ในการเสพดนตรีมากกว่าเดิม โดยอีกข้อดีของนวัตกรรมนี้คือ ศิลปินและวงดนตรีสามารถแสดงคอนเสิร์ตในรูปแบบ ‘ศิลปินตัวจริง’ หรือปรากฏตัวในรูปแบบ ‘อวตาร (Avatar)’ ก็ได้ แถมยังใส่กราฟิกเจ๋งๆ ใช้เทคโนโลยีล้ำๆ เข้าไปเพิ่มลูกเล่นได้ด้วย เช่น การตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Capture) และช่องทางแชตแบบเรียลไทม์ (Live Chat) เพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับการแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ

นอกจากการมอบความบันเทิงที่สนุกและแปลกใหม่ คอนเสิร์ตออนไลน์ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน เพราะเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยต่อหัวพบว่า คนที่ดูคอนเสิร์ตออนไลน์ปล่อย Carbon Footprint น้อยกว่าคนที่ดูคอนเสิร์ตในพื้นที่ คอนเสิร์ตออนไลน์จึงเป็นแนวทางที่ลดก๊าซเรือนกระจกได้ยั่งยืนมากกว่า

แม้การทำให้คอนเสิร์ตเสมือนจริงมีบรรยากาศเทียบเท่ากับคอนเสิร์ตในพื้นที่จะเป็นไปได้ยาก แต่ต้องยอมรับว่าในยุคที่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงวงการดนตรี ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การแสดงดนตรีออนไลน์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้จัดงานและบรรดาศิลปิน ซึ่งในอนาคตเราคงได้เห็นคอนเสิร์ตสำหรับยุค New Normal เกิดขึ้นเยอะกว่าเดิมแน่ๆ

Sources :
Broadcast Management Group | t.ly/WbgY
Wikipedia | t.ly/8GG-
YouTube : Universal Music Thailand | t.ly/ZMr6

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.