City Lab พื้นที่สาธารณะกรุงเทพฯ - Urban Creature

พื้นที่สาธารณะแบบไหนที่ถูกจริตคนไทย ?

แน่นอนว่าการมีพื้นที่สาธารณะที่ใครๆ ก็สามารถใช้งานได้เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่น่าคิดต่อคือ กิจกรรมแบบไหนที่คนบ้านเราใช้งานกันจริงๆ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเมืองอื่นที่พัฒนาแล้ว อย่างแถบประเทศในยุโรปที่มีการดีไซน์พื้นที่สาธารณะหลากหลายรูปแบบตามการใช้งาน อย่างสนามเด็กเล่นในสวนละแวกหมู่บ้าน พื้นที่สีเขียวตามริมแม่น้ำที่เรียงรายด้วยต้นไม้ให้ความร่มรื่น หรือแม้กระทั่งตามฟุตพาทมีทางเท้ากว้างน่าเดิน มีที่นั่งพักเหนื่อยตามทาง บางพื้นที่มีเพนต์สีบนทางเท้าเป็นเกมกระโดดแสนสนุก เพื่อเชิญชวนให้คนอยากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น แล้วถ้าสิ่งพวกนี้มาอยู่ในบริบทไทยบ้านเราล่ะ คิดว่ามันจะเวิร์กไหม ?

คำตอบของการจะบอกว่าเหมาะสมหรือไม่ คงต้องเกิดจากการลองผิดลองถูก ว่าการดีไซน์แบบไหนถูกใจคนไทย เราจึงได้มาพูดคุยกับ ‘City Lab’ ทีมทดลองเมืองที่เสนอไอเดียบนพื้นที่สาธารณะจริง โดยเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันใช้งานจริงอย่างสนุกสนาน โดยเริ่มต้นพื้นที่แรกใน ‘ย่านสีลม’ เพื่อร่วมกันหาสไตล์ที่ใช่สำหรับคนกรุงเทพฯ จะเป็นแบบไหน ลองไปติดตามกัน !

| เริ่มต้น ‘CITY LAB’ เพื่อหาคำตอบ ‘การดีไซน์เมืองแบบไทย’

หากพูดถึงโครงการพัฒนาเมืองสักชิ้นหนึ่ง ดูเป็นเรื่องต้องใช้เวลานานในบ้านเรา ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีผลต่อคนรอบข้าง และมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว จึงไม่แปลกใจหากผู้ลงทุนจะรู้สึกไม่เห็นภาพถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด ‘City Lab’ ทีมงานออกแบบทดลองเมืองเพื่อหาคำตอบว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่คนไทยใช้ประโยชน์จริงเป็นอย่างไร ? แล้วนำผลวิจัยไปเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่ง City Lab เป็นโปรเจกต์ทดลองจากองค์กร ‘Healthy Space Forum’ ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การผลักดันเมืองให้คนอยู่อาศัยมีความสุขในการใช้ชีวิต ทั้งสุขภาพและจิตใจ

โดยโปรเจกต์ของ City Lab เริ่มต้นพื้นที่แรกในย่าน ‘สีลม’ สาเหตุเพราะผู้ประกอบการในพื้นที่มีความต้องการจะพัฒนาเมืองไปด้วยกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งสำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมาหานคร (กทม.) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มคนรักสีลม และกลุ่มเอกชนที่พร้อมใจกันให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

ก่อนหน้าจะเจอทีมงานจาก City Lab เราคิดว่าคนทำโปรเจกต์ต้องเป็นผู้ใหญ่เลยกลางวัยไปแล้วแน่ๆ แต่ไม่เป็นอย่างที่คาด เพราะทีมจัดทำโครงการเป็นคนรุ่นใหม่กันทั้งนั้น ซึ่งมีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาอยู่เคียงข้าง โดยเราได้พูดคุยกับ ‘พี่ดี๊ สุรางคณา ชำนาญกิจโกศล’ ผู้รับผิดชอบโครงการหลัก และทีมงาน ‘อ๋อ ศิรดา ดาริการ์นนท์’ น้องเพลง นภัสวรรณ สังข์ทิพย์’ และ ‘น้องอ๋อง วชิรกร อาษาสุจริต’ เกี่ยวกับการทดลองย่านสีลมครั้งนี้

อ๋อเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำโครงการ ‘Less is More’ ออกแบบพื้นที่สาธารณะ อย่างลานกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และเพนต์ทางม้าลายเพื่อความปลอดภัยในสยามแสควร์ จากนั้นจึงต่อยอดมาทำโครงการ ‘City Lab’ ออกแบบพื้นที่สาธารณะในเมือง จากที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์บนฟุตพาท อย่างพื้นที่ใต้บันไดบีทีเอส และพื้นที่ระหว่างต้นไม้ที่คนมักไม่ค่อยเดิน เพื่อส่งเสริมให้คนได้มีชีวิตคุณภาพที่ดีมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ กระจายตามทางเท้าที่คนสัญจรบ่อยๆ เช่น ป้ายรถเมล์ ทางม้าลาย และที่นั่งพักผ่อน

“สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการที่เราอยากนำเสนอวิธีใหม่ๆ ที่ทุกคนก็มีส่วนร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งทุกอันอาจจะไม่ได้ตรงใจทุกคน แต่อยากชวนทุกคนมาเวิร์กชอปกัน และบอกเราหน่อยว่าชอบหรือไม่ชอบแบบไหน เพื่อที่จะได้นำไปเป็นแนวทางพัฒนาต่อในระยะยาว”

| เบื้องหลังงานออกแบบ คืออยากให้คนออกมา ‘เดิน’

เราถามถึงมุมมองเกี่ยวกับการดีไซน์พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ว่าเป็นอย่างไร ? ต้องบอกว่าในกรุงเทพฯ แทบจะไม่เห็นการออกแบบที่ชัดเจนเลย ตราบใดที่ปัญหารถติดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง มันคือสิ่งที่บ่งบอกว่าคนไม่คิดอยากจะเดินตั้งแต่แรก รวมถึงการออกแบบเมืองให้รถติดน้อยลง มันมีเปอร์เซนต์น้อยมากที่จะยอมออกแบบอย่างไรให้คนเดินได้มากขึ้น

อ๋อเล่าถึงความสำคัญของการเดินให้เราฟังว่า ทุกคนควรขยับตัวหรือเดินแกว่งแขนอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงไม่เสี่ยงเป็นโรคอ้วน เพราะทุกวันนี้คนทำงานติดอยู่กับที่โดยตลอด พอถึงเวลาเลิกงานก็นั่งรถกลับบ้านแล้วก็นอน ซึ่งแทบจะไม่มีช่วงเวลาได้ยืดเส้นยืดสาย หรือหากอยากจะออกกำลังกายก็ต้องเสียเงิน

“คนออกมาเดิน ก็สุขภาพดีแล้ว”

ประโยคด้านบนนี้คือความตั้งใจของ City Lab ที่อยากผลักดันให้คนออกมาเดินในเมือง ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ เมื่อมีโอกาสได้ทดลองจึงเริ่มต้นจาก ‘พื้นที่สาธารณะ’ โดยตามหลักการออกแบบกล่าวว่า ปกติคนเราเดินบนทางเท้าเป็นเส้นตรงได้สบายในระยะทาง 400 เมตร แต่ถ้ามีร่มเงาตามทางเท้าจะเดินได้ถึง 800 เมตร

แต่ถ้ามีสภาพแวดล้อมอำนวยความสะดวก เช่น มีม้านั่ง พื้นที่กิจกรรม และร้านค้าข้างทางจะสามารถจูงใจคนเดินได้เป็นกิโลเมตรทีเดียว แต่ทั้งหมดก็เป็นทฤษฎีตะวันตก ไม่ใช่ทุกอันจะดีไปเสียหมด จึงต้องนำมาทดลองในบ้านเราว่ามันเข้ากันไหม เพราะบางเคสก็ไม่เหมาะกับบริบทไทย เช่น ต่างประเทศมักชอบทำลานโล่งไว้ทำกิจกรรม ถ้ามาทำที่ไทยคืออากาศร้อน รวมทั้งไม่มีคนมาใช้บ่อยๆ แน่นอน

ทีมงาน City Lab พาพวกเราเดินแวะแต่ละพื้นที่ทดลอง เราเลยถามน้องเพลงว่าชอบงานออกแบบไหนมากที่สุด ? เขาคิดสักพักก่อนจะตอบว่า ‘เกมหมากฮอส’ หน้าอาคารธนิยะ ซึ่งเป็นเก้าอี้ถัง นอกจากได้นั่งพักแล้ว ยังได้เล่นคลายเครียดและเป็นการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย “อย่างตอนนั้นนั่งเล่นกันก็มีพี่วินมาจอยด้วย เราก็บอกพี่วินว่าช่วยออมมือด้วยนะ หนูเล่นไม่เป็นจริงๆ ปรากฎว่าโดนกินเรียบ แถมโดนแซวว่าคนนี้ไม่ไหวจริงๆ ทุกคนหัวเราะ และทำให้รู้ว่าพี่วินเค้าเซียนเกมหมากฮอสมาก”

นอกจากนี้ยังมีเกมกระโดดบริเวณหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ให้คนทุกวัยมาขยับร่างกายอย่างสนุกสนานตามสัญลักษณ์บนฟุตพาท น้องเล่าให้ฟังว่าเวลาเห็นเด็กและผู้ใหญ่เล่นกัน นอกจากสร้างรอยยิ้มแล้วยังสร้างกำลังใจให้กับทีมงานอีกด้วย

สำหรับอ๋อบอกว่าชอบ ‘ป้ายรถเมล์’ หน้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งเป็นผลงานดีไซน์จาก ‘Cloud-Floor’ บริษัทสถาปนิกช่วยกันออกแบบป้ายรถเมล์ นอกจากนั่งรอแล้วยังยืดเส้นยืดสายได้อีกด้วย “อ๋อเคยสงสัยว่าถ้าสร้างจริงจะมีคนเล่นไหม พอเราลงไปดูพื้นที่ปรากฎว่าแขนที่ออกกำลังกายมันเบี้ยวเลย แสดงว่ามีคนใช้จริงแต่อาจจะผิดวิธี ซึ่งจริงๆ มันต้องดันเข้าหาตัว แต่ดูจากสภาพแล้วเค้าน่าจะดันขึ้นข้างบน (หัวเราะ) คือเห็นอะไรแบบนี้รู้สึกดีนะ และก็ตอนนี้ซ่อมเรียบร้อยพร้อมเล่นได้แล้วนะ” (ยิ้ม)

อีกหนึ่งจุดที่แปลกตาคือ ‘ทางม้าลาย’ จากการดีไซน์ของ Cloud-Floor เช่นกัน เพื่อสร้างพื้นที่แยกชัดเจนระหว่างคนเดินกับรถยนต์ให้รู้สึกต้องชะลอความเร็ว โดยสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เพนต์บนถนนอย่าง คนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการเพื่อต้องการสะท้อนว่า ย่านสีลมมีคนใช้งานหลากหลายรูปแบบ หลายวัย เพราะทุกวันนี้ขนาดทางข้ามม้าลายแบบกดให้ไฟแดงหยุดรถ ยังต้องรีบเดินภายใน 15 วินาทีข้ามเลนถนน 6 เลนแถมต้องผ่านเกาะกลางด้วย ซึ่งถ้าจะให้ทันคือต้องวิ่ง ยังไม่นับรวมผู้สูงอายุจะลำบากขนาดไหน ข้ามจากโรงพยาบาลเดินไปสักนิดจะเจอกับโซนที่นั่งหน้าธนาคารกรุงเทพฯ หากอยากนั่งพักแบบส่วนตัว

ส่วนพี่ดิ๊เมื่อถามว่าชอบกิจกรรมไหนมากที่สุด เขาตอบว่า ‘บอร์ดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกับย่านสีลม’ เพราะเป็นแหล่งรวมให้คนออกมาแชร์ไอเดีย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับ ‘Palette Me’ มาช่วยทำแบบสอบถามให้มีความสนุกสนานมากขึ้น ทำให้คนออกมาเจอกันและได้รู้ความคิดของทุกคนที่แท้จริง ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะนำไปพัฒนาต่อถึงการหาคาแรคเตอร์ของสีลม ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม มู้ดและโทนสีว่าจะไปทิศทางไหน

| การทดลองกับผลลัพธ์ที่ไม่ได้คาดหมาย

พี่ดิ๊และอ๋อเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกคิดว่าย่านสีลมเป็นแหล่งออฟฟิศ แต่ความจริงนั้นมันมีความหลากหลายที่ซับซ้อนมาก ตั้งแต่ประเภทของผู้ใช้งานไปจนถึงเวลาของเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง นอกจากคนทำงานกลางวัน และกลางคืน นักเรียน รวมไปถึงนักท่องเที่ยว แต่โปรเจกต์นี้เราโฟกัสที่คนทำงานกลางวัน เพราะเป็นคนที่ใช้งานเยอะที่สุด แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่สามารถตัดสินได้ เพราะระหว่างทำโครงการก็ค้นพบอะไรบางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน

“อย่างพอเราวางเก้าอี้ในเกมหมากฮอสเข้าไปทำให้รู้ว่า พี่วินเป็นคนที่ผูกพันกับย่านมากที่สุด เพราะเขาอยู่แถวนั้นตลอดเวลา บางทีเราก็ถามพี่เขาว่ามีคนเล่นไหม เขาก็จะมาเล่าให้ฟังอยู่ตลอด เป็นเหมือนคนเก็บข้อมูลให้เราเลย รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากพี่วินก็มีแม่บ้าน คนทำงานมานั่งคุยกัน ซึ่งโมเมนต์เหล่านี้มันแทบจะหายไปแล้วในเมือง

อีกความประทับใจคือความร่วมมือของทุกคนในสีลม ไม่ว่าจะเป็นระดับใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมไปจนถึงระดับชุมชนที่ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา แถมยังดูแลอุปกรณ์ทุกอย่างของเราเป็นอย่างดี อย่างเมื่อถึงตอนดึกพี่จากตึกธนิยะก็มาช่วยเก็บเก้าอี้ไว้ในอาคารเพื่อรักษาสิ่งของไม่ให้เสื่อมโทรม และสูญหายไป รวมถึงพี่วินที่ช่วยดูเก้าอี้หมากฮอสให้อยู่ตลอด เหมือนกับว่าทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของช่วยดูแลรักษาสมบัติของพื้นที่ให้คนใช้”

ระหว่างการเดินทางเราได้เห็นถึงความตั้งใจของทุกคนในทีม City Lab ที่ต้องการผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะในเมืองอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเป็นโปรเจกต์เล็กๆ แต่ก็เป็นก้าวสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่เมืองระดับใหญ่ในอนาคต อีกหนึ่งสำคัญที่โครงการนี้เกิดขึ้นมาได้คือ การมีส่วนร่วมของคนในเมืองอย่างการออกความคิดเห็น ไปจนถึงการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต


Content Writer : Jarujan L.
Photographer : Napat P.
Graphic Designer : Sasicha H.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.