กรุงเทพฯ ติดอันดับ 9 เมืองเสียงดังที่สุดในโลก - Urban Creature

แดดยามสายฉายเข้ามาผ่านหน้าต่างห้องทำงาน กาแฟคั่วอ่อนเพิ่งดริปจบมาหมาดๆ ไออุ่นและกรุ่นคาเฟอีนช่วยออกแรงผลักให้สมองเริ่มประมวลผล แต่แล้วรถบรรทุกขนาดใหญ่ก็ถอยหลังเครื่องกระหึ่มเข้ามาอย่างช้าๆ พร้อมกับเสียงสัญญาณแหลมกวนประสาท ต่อด้วยเสียงเพื่อนพนักงานที่ตะโกนคุยกันระหว่างบุหรี่หลังมื้อเช้า อีกสักพักเสียงเคลื่อนย้ายสิ่งของก็ดังขึ้นต่อเนื่องนานกว่าชั่วโมง ความเงียบสงบเมื่อครู่พาสมาธิเตลิดไปไกลกว่าจะเรียกคืนมาได้ก็เสียเวลาอยู่หลายนาที 

เหตุการณ์เช่นนี้เป็นปัญหามลภาวะทางเสียงรูปแบบหนึ่งในอีกหลายพันปัญหามลภาวะทางเสียงที่เราหลายคนต่างพบเจอ เมื่อต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกันกับผู้คนในสังคม

ปัจจุบันเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ มีประชากรมากเกือบถึงหกล้านคน พูดได้ว่านอกจากเสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติแล้ว เราต่างเป็นแหล่งกำเนิดเสียงภายในเมืองเช่นเดียวกัน ด้วยปัญหามลภาวะทางเสียงส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึก และปัญหาของเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติเรื่อยไปเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองในระยะยาว

ในวันที่เมืองยังมีเสียง คอลัมน์ City by Numbers ขอพาทุกคนไปสำรวจดูว่า ย่านไหนในกรุงเทพมหานครที่มีเสียงดังที่สุด ไปฟังกันว่าเสียงที่ได้ยินอยู่นั้นยังคงเป็นเสียงที่ดังปกติหรือเปล่า

พื้นที่สาธารณะเสียงดังได้แค่ไหน

ข้อมูลระดับเสียงที่อนุญาตจากองค์การอนามัยโลก (WHO) คือ 55 เดซิเบล (dB) สำหรับพื้นที่พักอาศัยกลางแจ้ง และ 70 dB สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่ที่มีการจราจรติดขัด 

หูของมนุษย์นั้นสามารถได้ยินเสียงตั้งแต่ 0 dB ขึ้นไป เพื่อให้นึกระดับความดังของเสียงออกมากยิ่งขึ้น เราขอลองยกตัวอย่างเปรียบเทียบดังนี้ 

– ระดับเบามาก 0 – 20 dB เช่น เสียงกระซิบ เสียงลมหายใจ หรือเสียงในป่า
ระดับเบา 30 – 40 dB เช่น ห้องสมุด ห้องเรียน หรือห้องนอน

– ระดับปานกลาง 50 – 60 dB เช่น ฝนพรำ เสียงพูดคุย หรือการเดิน

– ระดับดัง 70 – 80 dB เช่น เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงนกหวีด หรือเสียงการจราจร 

– ระดับดังมาก 90 – 100 dB เช่น เสียงเครื่องจักรขุดเจาะถนน เสียงไซเรนรถฉุกเฉิน หรือเสียงเครื่องจักรกลในโรงงาน

– ระดับดังสุดๆ 110 – 140 dB เช่น เสียงในคอนเสิร์ต เสียงเครื่องบินไอพ่น หรือเสียงรถไฟ 

เสียงที่พอดีจะดีพอต่อการได้ยินของมนุษย์ เพราะหากเราได้ฟังเสียงที่ดังเกิน 85 dB ขึ้นไปนานติดต่อกันอาจส่งผลให้หูอื้อได้ และองค์การอนามัยโลกยังบอกอีกว่า หากคนที่ต้องทำงานที่มีเสียงดังระดับ 80 – 90 dB จะทำงานนั้นได้ไม่เกินวันละ 7 – 8 ชม. เพราะอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน และหากได้ยินเสียงในระดับดังสุดๆ นานเกิน 1 – 2 ชม. อาจทำให้เกิดอาการปวดหูได้ และนั่นนำไปสู่อันตรายที่อาจทำให้สูญเสียการได้ยินได้เลยทีเดียว

กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนวกหู

คราวนี้เรามาดูรายงานค่าระดับเสียงจากสถานีตรวจวัดระดับเสียงของ ‘กรมควบคุมมลพิษ’ ตามข้อมูลจากระดับเสียงเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมง ใน 7 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 4 – 11 ม.ค. 2566 กรุงเทพฯ มีย่านที่เสียงดังสูงสุดไล่ตามลำดับ 5 ย่านดังนี้

1) พาหุรัด เขตพระนคร 73.4 – 74.0 dB 

2) เคหะชุมชน เขตดินแดง 72.0 – 72.9 dB 

3) สถานีไฟฟ้าย่อยธนบุรี เขตธนบุรี 70.2 – 71.6 dB 

4) สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เขตวังทองหลาง 69.7 – 70.0 dB 

5) โรงเรียนนนทรีวิทยา เขตยานนาวา 63.0 – 67.0 dB 

และในช่วง Rush Hour หรือชั่วโมงเร่งด่วนในช่วงเช้ากับเย็น ทั้ง 5 ย่านอาจมีเสียงที่ดังกว่าปกติ เฉลี่ยระดับความดังสูงสุดที่ 89.6 – 98.7 dB 

ซึ่งครั้งหนึ่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2540 เคยกำหนดค่ามาตรฐานระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 70 dB และกำหนดค่าระดับเสียงสูงสุดไว้ไม่เกิน 115 dB เมื่อเทียบกับข้อมูลการตรวจวัดระดับคุณภาพเสียงของกรมควบคุมมลพิษแสดงให้เห็นว่า ระดับเสียงในกรุงเทพฯ มีความดังที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย 

รายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ Frontiers ประจำปี 2022 ชื่อว่า 15 เมืองที่เสียงดังที่สุดในโลก ผลการจัดอันดับคือ

1) ธากา ประเทศบังกลาเทศ 119 dB 

2) โมราดาบัด ประเทศอินเดีย 114 dB 

3) อิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน 105 dB

4) ราชชาฮี ประเทศบังกลาเทศ 103 dB

5) โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม 103 dB

6) อีบาดัน ประเทศไนจีเรีย 101 dB

7) คูปอนโดเล ประเทศเนปาล 100 dB

8) แอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย 100 dB

9) กรุงเทพฯ ประเทศไทย 99 dB

10) นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 95 dB

11) ดามัสกัส ประเทศซีเรีย 94 dB

12) มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ 92 dB

13) ฮ่องกง ประเทศจีน 89 dB

14) โกลกาตา ประเทศอินเดีย 89 dB

15) อาซันซอล ประเทศอินเดีย 89 dB

ซึ่งการจราจรบนท้องถนนนั่นคือต้นตอหลักของปัญหามลภาวะทางเสียงในทุกเมืองข้างต้น เช่น นครนิวยอร์กพบข้อมูลว่าผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชน 9 ใน 10 คนต้องเผชิญกับระดับเสียงที่เกินขีดจำกัดมาตรฐานในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตรายจากความเสียหายทางการได้ยินที่อาจแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ส่วนที่ฮ่องกงยังพบว่า 2 ใน 5 ของประชาชนต้องเผชิญกับระดับเสียงรบกวนจากการจราจรบนท้องถนนที่สูงกว่าค่ากำหนด

ส่วนกรุงเทพฯ ชีวิตดีดีที่ลงตัว ผังจราจรยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก รวมถึงขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุม ทำให้ผู้คนต้องเก็บเงินเพื่อถอยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาใช้ขับขี่มากขึ้นทุกปี นี่คือเหตุผลที่ทำให้เสียงบนท้องถนนยังคงดังอยู่เสมอ สอดคล้องกับข้อมูลขององค์กรผู้ให้บริการข้อมูลทางสัญจรทั่วโลก (TOMTOM) ที่เปิดเผยว่า ในปี 2564 คนในกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาเดินทางบนท้องถนนเฉลี่ย 71 ชั่วโมง/ปี หรือประมาณ 3 วัน 

นอกจากเสียงจากการจราจรแล้ว ก็ยังมีเสียงจากการก่อสร้าง เสียงขุด เจาะ เคาะถนน ต่อเติมตึก ซ่อมหลังคา ฯลฯ เรียกได้ว่ากรุงเทพฯ มีเสียงดังอยู่ตลอดปี และแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ผู้คนจึงต้องใช้ชีวิตและทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังอย่างเลี่ยงไม่ได้

เมืองเสียงดัง เราเสียงดัง
กรุงเทพฯ ติดอันดับ 9 เมืองเสียงดังที่สุดในโลก

เมืองอาจทำให้หูหนวกก่อนแก่

รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ปี 2564 พบว่า มีผู้พิการทั้งหมด 2,095,205 คน โดยจำนวน 393,027 หรือ 18.69 เปอร์เซ็นต์คือ ‘ผู้พิการทางการได้ยิน’ ซึ่งเป็นปัญหาลำดับที่สองรองลงมาจากผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายที่มีอยู่ 1,054,786 คน หรือ 50.17 เปอร์เซ็นต์

โดยสาเหตุของความบกพร่องทางการได้ยินมี 2 ลักษณะ ได้แก่ 

1) ความบกพร่องทางการได้ยินแต่กำเนิด เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรมและกรรมพันธุ์ 

2) ความบกพร่องทางการได้ยินหลังกำเนิด เช่น การติดเชื้อเรื้อรังในหู การได้รับบาดเจ็บต่อศีรษะหรือหู และการฟังเสียงที่ดังเกินไปอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ผู้พิการทางการได้ยินในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตรงตามเสียงเตือนจาก WHO เผยผลการศึกษาผ่านการเก็บข้อมูลนานกว่า 20 ปี บอกว่าประชากรโลกวัย 12 – 34 ปี ราว 670,000 คน – 1,350 ล้านคนเสี่ยงหูหนวก และประสาทสัมผัสทางการได้ยินเสื่อมลง เพราะใช้หูฟังในระดับเสียงที่ดังและนานเกินไป รวมถึงกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ล้วนเป็นเหตุผลความเสี่ยงหูหนวกทั้งสิ้น 

เพราะเสียงที่ดังขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว ในรายงาน Frontiers 2022 : Noise, Blazes and Mismatches โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า มีชาวยุโรป 12,000 คนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากต้องสัมผัสกับมลภาวะทางเสียงที่ดังมากขึ้น และยังมี 48,000 คนที่เป็นโรคหัวใจซึ่งเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นผลพวงจากมลภาวะทางเสียงเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการประมาณว่าผู้คน 22 ล้านคนกำลังทุกข์ทรมานจาก ‘ความรำคาญเรื้อรัง’ และมีอีก 6.5 ล้านคนประสบปัญหาการนอนหลับ และเสียงรบกวนยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางความคิดในเด็กอีก 12,500 คนทั่วยุโรปอีกด้วย 

หนุ่มสาวในยุคนี้จึงต้องเป็นผู้ฟังที่ดีมากยิ่งขึ้นและรู้จักเลือกฟังเสียงที่ปลอดภัย เลี่ยงความเสี่ยงจากระดับเสียงที่ดังเกินไป และทุกวงการเกี่ยวกับเสียงต่างๆ เช่น อีเวนต์ คอนเสิร์ต หรือการจัดงาน ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องระดับเสียงที่เป็นไปตามข้อกำหนด รวมถึงพยายามใช้เสียงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อช่วยกันรักษาสมดุลการได้ยินของผู้คนทุกช่วงวัยให้มีอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด

เมืองเสียงดัง เราเสียงดัง
กรุงเทพฯ ติดอันดับ 9 เมืองเสียงดังที่สุดในโลก

เสียงในเมืองเบาลงเมื่อเราเบาลง

ความคุ้นเคยกับระดับความดังที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันยาวนานย่อมทำให้เกิดความเคยชินตามมา เราจึงได้เห็นบางคนพูดดังขึ้น หรือบางคนถึงขั้นต้องตะเบ็งเสียงมากขึ้น ไม่แน่นะ เวลานี้เราเองก็อาจกำลังพูดคุยกับคนตรงหน้าด้วยเสียงที่ดังกว่าเดิมอย่างไม่รู้ตัวเช่นกัน

เนื่องจากเสียงส่งผลกระทบต่อภาวะทางร่างกายและจิตใจเป็นอย่างดี การลดเสียงรบกวนเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักวางผังเมือง

ที่อาจต้องสร้างและต้องรักษาพื้นที่เงียบสงบให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ 

โดยในรายงาน Frontiers 2022 ได้แนะแนวทางการแก้ปัญหามลภาวะทางเสียงในเมืองว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การปลูกต้นไม้หรือไม้พุ่มในเมืองให้มากขึ้นจะช่วยกั้นเสียงให้เบาลงได้ รวมถึงการเพิ่มเส้นทางจักรยาน ลดการขยายถนน ลดช่องทางเดินรถ และการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็จะช่วยให้เมืองเงียบขึ้นได้เช่นกัน 

อีกวิธีคือการเพิ่ม Quiet Space หรือพื้นที่เงียบสงบจากเสียงธรรมชาติ สวนสาธารณะ สวนหย่อม หรือพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ซึ่งอาจช่วยสร้างเสียงแบบธรรมชาติให้ผลบวกกับสุขภาพจิต ทำให้ผู้คนหายเครียดได้

แต่ถึงอย่างไรเมื่อย้อนกลับมามองเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่มีการเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา ผู้คนยังเดินทางมายังศูนย์กลางเพื่อทำงาน เรียนหนังสือ และท่องเที่ยว การเกิดขึ้นของเสียงย่อมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เสียงในเมืองจึงเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างดี 

เพราะหากต้องอยู่กับเสียงในเมืองที่ดังขึ้นเรื่อยๆ กันต่อไป เราอาจไม่ได้ยินปัญหาอีกมากมายที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็เป็นได้ 


Sources :
Jagran Josh | bit.ly/3iADUqi
Unep.org | bit.ly/3IMylj8
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ | bit.ly/3XwzMGJ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.