ค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว เกิน 100 บาท - Urban Creature

“รถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศแจ้งจะยกเลิกการใช้บัตรโดยสารรายเดือนสำหรับการบริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส” คือพาดหัวที่ทำให้ผู้โดยสารชาวกรุงหัวร้อนในช่วงนี้ ซึ่งกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รถไฟฟ้า BTS ก็เก็บค่าโดยสารสายสีเขียวเพิ่มขึ้นสูงสุด 104 บาท จากสถานีคูคต-เคหะฯ ทั้งหมด 48 สถานี เทียบจากปี 2542 ที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวเปิดตัวครั้งแรกในราคา 10 – 40 บาท จากสถานีหมอชิต-อ่อนนุช ทั้งหมด 23 สถานี และราคาปัจจุบันอยู่ที่ 16 – 59 บาท

ตัดภาพมาที่ MRT ขึ้นค่าโดยสารเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปี 2564 อัปเดตราคา 17 – 42 บาท จากทั้งหมด 38 สถานี โดยนับจากจำนวน 4 สถานีจะเพิ่มอัตราละ 1 บาท เช่น นั่ง 4 สถานีแรก เดิมราคา 23 บาทขึ้นเป็น 24 บาท และนั่ง 7 สถานี เดิมราคา 30 บาทขึ้นเป็น 31 บาท ต่างจากปี 2547 สตาร์ทอยู่ที่ 12 – 31 บาท จำนวน 18 สถานี เชื่อว่าการปรับตัวค่าโดยสารรถไฟฟ้าแต่ละปีสร้างความปวดใจให้ชาวเมืองไม่ใช่น้อย เมื่อครั้งนี้ราคา BTS พุ่งไปแตะหลักร้อย เรียกว่าเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพฯ 300 บาท/วัน หรือค่าข้าว 2 มื้อเลยทีเดียว

ด้วยระบบขนส่งรางมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง ทำให้ค่าโดยสารทั้งหมดตกเป็นภาระของผู้ใช้งานเป็นหลัก จากงานวิจัยการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ปี 2561 เผยว่า คนกรุงเสียเงินนั่งรถไฟฟ้าเฉลี่ย 2,500 บาท/เดือน/คน ทั้งยังมีแนวโน้มว่าทุกปีจะปรับราคาขึ้นไปเรื่อยๆ และไม่มีทางจะลดลงง่ายๆ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จะมีแนวทางไหนที่ช่วยลดค่ารถไฟฟ้าได้บ้าง

เมื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าไม่ได้ จึงต้องหารายได้ทางอื่นมาช่วยแบ่งเบาภาระ อ้างอิงข้อมูลจาก รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าวิธีแก้ปัญหาคือการเก็บ ‘ภาษีลาภลอย’ (Windfall Tax) หรือภาษีที่สามารถเก็บจากคนที่ได้รับผลประโยชน์ของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาล เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน หรือโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เพราะมันเป็นตัวกระตุ้นให้มูลค่าที่ดินขึ้นสูงลิ่ว และคนที่อยู่พื้นที่รอบข้างก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย

เช่นเจ้าของที่ดินมีพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าตามหลัก TOD (Transit-oriented Development) หรือการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้า ก็ถือว่าได้รับความสะดวกของขนส่งสาธารณะ รัฐบาลจึงสามารถเรียกเก็บภาษีลาภลอยจากเจ้าของที่ดิน เพื่อนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างการคมนาคม และยังสามารถนำไปลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ถูกลงกว่าเดิม

หากอยากจูงใจให้คนใช้รถไฟฟ้า ถึงแม้ว่าต้องเดินทางไกลก็ยังจ่ายไหว อีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจของ ดร.สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยกตัวอย่างการควบคุมค่าโดยสารในประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบายยกเว้นค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้า หรือใช้บัตรตั๋วร่วมก็ลดค่าเดินทางชนิดอื่นได้ เช่น ขึ้นรถไฟฟ้าแล้วนำมาลดค่ารถเมล์ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสนับสนุนให้คนใช้ขนส่งสาธารณะและเดินทางไกลได้ในราคาไม่แพง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อเสนอของการนำบัตรรถไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีได้ เพราะจากผลการศึกษาพบว่า อัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าของคนกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาท/เดือน/คน หากลดหย่อนภาษีปีละ 10,000 บาทก็เป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้

สุดท้ายนี้ รัฐบาลอาจต้องมีกลไกในการควบคุมราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ประชาชนทุกกลุ่มใช้ขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลดีในระยะยาว ไม่เพียงแค่การเดินทางแสนสะดวกสบาย แต่ยังแก้ไขปัญหารถติดเรื้อรังและลดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ทำให้สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพอย่างยั่งยืน


Sources :
Dot Property | https://1th.me/7jAvh
Living Sneak Peek | https://1th.me/pzjBf
MGR Online | https://1th.me/YlEHj
Post Today | https://1th.me/Sc5A3
Prachachat | https://1th.me/s6L3K
Smart SME | https://1th.me/SkNlJ
The Bangkok Insight | https://1th.me/iTu3g
The 101 World | https://1th.me/w5xhf
Voice Online | https://1th.me/H91Di




Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.