‘พื้นที่สาธารณะ’ เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ของเมืองที่มาเติมเต็มคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น เพราะคนในเมืองควรมีพื้นที่อิสระในการใช้ชีวิต และจะดีขึ้นไปอีกหากพื้นที่เหล่านี้มาจากความต้องการของคนในพื้นที่ ให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง และคนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้
โครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน เป็นโปรเจกต์ของ ‘สถาบันอาศรมศิลป์’ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ตั้งใจเป็นพื้นที่ต้นแบบโดยมีรูปแบบที่หลากหลายเปลี่ยนไปตามบริบทของพื้นที่ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ไม่เพียงแค่คนในชุมชนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ หากยังสามารถส่งต่อแนวคิดสร้างสรรค์เหล่านี้สู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
จากวันแรกที่ได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์อันมีเสน่ห์ พูดคุยกับคนในชุมชน พร้อมเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ก่อนจะพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะชุมชนที่หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันจัดกิจกรรมและดูแลรักษาพื้นที่
เราจะพาไปดูต้นแบบลานกีฬาวัฒนธรรมจาก 8 ชุมชน ใน 4 จังหวัด ซึ่งแต่ละแห่งบ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นชุมชนผ่านการออกแบบ และการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชน ให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง
1. ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน เทศบาลตำบลบ้านแหลม
อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
‘เทศบาลตำบลบ้านแหลม’ เดิมพื้นที่บริเวณด้านหน้าประมาณ 5 ไร่ ใช้ในการออกกำลังกายโดยคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเดิน วิ่ง เปตอง แอโรบิค และฟุตบอล เนรมิตให้กลายเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของชาวบ้านแหลมขนาด 45 ไร่ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและเจ้าหน้าที่เทศบาล เพื่อเป็นพื้นที่ของคนในครอบครัว และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ภายใต้แนวคิด “ภูมิทัศน์ วัฒนธรรม”
“ภูมิทัศน์ วัฒนธรรม”
ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ โดยมีพื้นที่สำคัญ 4 ส่วน
1) สุขภาวะ : พื้นที่ด้านหน้าโครงการ สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ มีพิพิธภัณฑ์ และตลาดชุมชน
2) นันทนาการ : พื้นที่สำหรับเล่นกีฬาหลากหลายชนิด
3) ประเพณี : พื้นที่จัดงานและกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน เช่น วัวลาน เป็นต้น
4) ความรู้-ภูมิปัญญา : พื้นที่ทางเดินศึกษาธรรมชาติ และระบบนิเวศ
2. ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน เทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ
อ.เมือง จ.เพชรบุรี
‘หาดเจ้าสำราญ’ พื้นที่พักผ่อนริมทะเลที่อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ในความดูแลของเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ เปรียบเสมือนหัวใจของชุมชนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ชุมชนโดยรอบเป็นชาวประมงและทำอาชีพค้าขายบริเวณริมหาด เดิมพื้นที่นี้เต็มไปด้วยที่จอดรถเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้พื้นที่หน้าหาดถูกบดบังทัศนียภาพที่สวยงามและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างจำกัด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของตัวแทนชุมชน กลุ่มแม่ค้า กลุ่มกิจกรรมต่างๆ หน่วยงานท้องถิ่น และความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยว จึงเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็น “พื้นที่นันทนาการริมหาด เพื่อเศรษฐกิจชุมชนหาดเจ้าสำราญ”
“พื้นที่นันทนาการริมหาด เพื่อเศรษฐกิจชุมชนหาดเจ้าสำราญ”
ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ ภายใต้ 3 แนวทางการออกแบบ ดังนี้
1) เชื่อมพื้นที่ชายหาด เพื่อความต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ตั้งแต่ทะเล ชายหาด ชานพักผ่อน ไปจนถึงสวนสุขภาพใต้ต้นไม้
2) เป็นพื้นที่ที่แสดงอัตลักษณ์ของชุมชน และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม สังคม และประเพณี
3) เปลี่ยนที่จอดรถให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ เชื่อมทะเลและลานชุมชน เปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชนและนักท่องเที่ยว
3. ลานสุขภาวะท่าฉลอม
ศูนย์บริการสาธารณสุข ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
‘ศูนย์บริการสาธารณสุขใจกลางชุมชนท่าฉลอม’ ล้อมรอบไปด้วยชุมชนชาวจีนที่ประกอบอาชีพชาวประมงและค้าขายมาอย่างยาวนาน เดิมเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายของชาวท่าฉลอม แต่มีสภาพค่อนข้างทรุดโทรมและไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของชุมชน พัฒนามาเป็นลายสุขภาวะที่เกิดจากความต้องการและกระบวนการมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “ลานบ้านท่าฉลอม เพื่อคนทุกวัย”
“ลานบ้านท่าฉลอม เพื่อคนทุกวัย”
ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2 ไร่ ภายใต้ 4 แนวทางการออกแบบ ดังนี้
1) เป็นพื้นที่ของครอบครัวสำหรับทำกิจกรรม พักผ่อนหย่อนใจ
2) พื้นที่สุขภาวะของคนทุกวัย ทั้งทางกายและทางใจ
3) พื้นที่แห่งความภาคภูมิใจที่สะท้อนความเป็นตัวตนของชาวท่าฉลอม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
4) จุดเปลี่ยนผ่านการเดินทาง รองรับนักท่องเที่ยวและผู้สัญจรผ่านไปมา เนื่องจากพื้นที่อยู่ใกล้กับท่าเรือข้ามฟากจากฝั่งมหาชัยและสถานีรถไฟบ้านแหลม เส้นทางกรุงเทพฯ-แม่กลอง
4. ลานสุขภาวะในพื้นที่ลานประวัติศาสตร์ป้อมวิเชียรโชฎก
ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
‘สวนสาธารณะมหาชัย’ ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดขายส่งอาหารทะเล พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของชาวมหาชัย โดยมีพื้นที่ด้านหน้าของสวนติดแม่น้ำท่าจีนสามารถมองเห็นฝั่งของท่าฉลอมได้ โดยมีป้อมวิเชียรโชฎกซึ่งเป็นโบราณสถานที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เพื่อป้องกันเมืองในช่วงสงครามหาเอเชียบูรภาล้อมรอบพื้นที่สวนแห่งนี้ไว้ และติดกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวมหาชัยกันมาช้านาน แต่ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นที่จอดรถ และบางพื้นที่ของสวนถูกปล่อยรกร้าง จึงมีการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งานภายใต้แนวคิด “พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต พื้นที่มีชีวิตที่มีประวัติศาสตร์”
“พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต พื้นที่มีชีวิตที่มีประวัติศาสตร์”
ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ภายใต้แนวทางการออกแบบ ดังนี้
1) พื้นที่สีเขียวแห่งเดียวที่เปรียบเสมือน “ปอดของชาวมหาชัย”
2) สืบทอดประวัติศาสตร์ ป้อมวิเชียรโชฎกที่คงเอกลักษณ์และวิถีชีวิต เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้
3) พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ รวมถึงเป็นลานคนเมืองสำหรับทำกิจกรรมที่หลากหลาย
4) รองรับการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงกับย่านเศรษฐกิจของเมือง
5. ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน วัดบางสะแก
อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
‘วัดบางสะแก’ เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นแหล่งรวมประวัติศาสตร์ มีหลวงพ่อใหญ่อายุกว่า 200 ปี ที่เป็นที่รู้จักของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน อนามัย กศน. และที่ทำการ อบต.บางสะแก จึงถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยแท้จริง วัดบางสะแกมีพื้นที่รายรอบไปด้วยชุมชนชาวสวน ทั้งสวนส้มโอและสวนลิ้นจี่ ด้านหลังติดคลอง มีบ้านเก่าริมน้ำที่สวยงาม ชาวชุมชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความผูกพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีภูมิปัญญาการแปรรูปสินค้าเกษตร จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะกับคนทุกกลุ่มวัย และสอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “พื้นที่ที่เป็นหัวใจด้านวิถีชุมชน”
“พื้นที่ที่เป็นหัวใจด้านวิถีชุมชน”
ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ ภายใต้ 3 แนวทางการออกแบบ ดังนี้
1) ศูนย์กลางของชาวบางสะแก พื้นที่ที่มีส่วนร่วม ระหว่างวัด ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น
2) เป็นพื้นที่สุขภาวะที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และบริบทชุมชนชาวสวนส้มโอที่ลือชื่อ
3) รองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว
6. ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน ที่ทำการ อบต.หนองตาแต้ม
อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
‘หนองตาแต้ม’ เป็นหนึ่งตำบลในพื้นที่ของอำเภอปราณบุรี มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา อาชีพของชาวชุมชนคือ อาชีพเกษตรกรรม เช่น สับปะรด ว่านหางจระเข้ รวมทั้งชุมชนนี้ยังได้รางวัลชนะเลิศจากองค์การสหประชาชาติ จากผลงานพลังงานแสงอาทิตย์ (Self-reliant Solar Energy Community) ที่บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้กับครัวเรือนที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง พื้นที่เดิมแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่มีการปรับที่ถมดินและส่วนที่ยังไม่ได้ถมดิน โดยบริเวณด้านหน้า อบต. เป็นลานคอนกรีตโล่งสำหรับจอดรถพนักงาน และผู้ที่มาติดต่อราชการ และมีพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ได้แก่ สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สนามวอลเลย์บอล แต่เนื่องด้วยชนิดกิจกรรมยังไม่รองรับทุกช่วงวัย ทำให้ชุมชนมาใช้งานค่อนข้างน้อย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด “ห้องนั่งเล่นของชุมชน ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ”
“ห้องนั่งเล่นของชุมชน ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ”
ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่ ภายใต้ 4 ภายใต้แนวทางการออกแบบ ดังนี้
1) เป็นพื้นที่สำหรับการนันทนาการ พักผ่อน และส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน
2) แบ่งปันพื้นที่กับธรรมชาติ ใช้ศักยภาพและต้นทุนที่มีอยู่เดิม ให้เกิดประโยชน์และเข้ากับบริบทพื้นที่
3) เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนด้านพลังงานสะอาด รองรับการศึกษาดูงาน
4) ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สำหรับขายสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน
7. ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน สวนหลวงราชินี 19 ไร่
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
‘หัวหิน’ เป็นตำบลที่ตั้งของพระราชวังไกลกังวล และเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวตากอากาศที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยและระดับโลก พื้นที่โครงการสวนหลวงราชินี 19 ไร่ เป็นพื้นที่ในการดูแลของเทศบาลเมืองหัวหิน เดิมเป็นพื้นที่สวนธารณะและพื้นที่สำหรับจัดเทศกาลสำคัญๆ แต่พื้นที่บางส่วนถูกปล่อยร้าง ยังไม่มีการพัฒนา และใช้งานไม่เต็มศักยภาพ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการเพื่อให้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมและเครือข่ายหัวหินสร้างสุข โดยการขยายพื้นที่โครงการอีก 6 ไร่ เพื่อเชื่อมกับพื้นที่สาธารณะเดิม และออกแบบปรับปรุงโดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาคมและหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ส่งเสริมสุขภาวะของทั้งคนหัวหินและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “สวนสร้างสุข”
“สวนสร้างสุข”
พื้นที่โครงการประมาณ 25 ไร่ ภายใต้แนวทางการออกแบบ ดังนี้
1) สวนที่ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และปรับปรุงสภาพเเวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เเละพัฒนาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
2) เชื่อมต่อพื้นที่ 3 ส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อมกิจกรรมและการปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน
3) สวนที่ปลอดภัย สำหรับการเดิน วิ่ง สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนเมืองหัวหิน
8. ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน อนุสรณ์สถานแฝดสยาม อิน-จัน
อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
‘ลานอนุสรณ์สถานแฝดสยาม อิน-จัน’ ตั้งอยู่ในตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จ.สมุทรสงคราม บริเวณอนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน ซึ่งเป็นบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และเป็นแฝดสยามคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต ทางเทศบาลตำบลลาดใหญ่จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานนี้ขึ้นมา อีกทั้งยังเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม แต่การใช้งานในพื้นที่เดิมยังไม่เต็มศักยภาพมากนัก เนื่องจากพื้นที่อนุสรณ์สถานค่อนข้างไกลจากชุมชน พื้นที่บางส่วนที่เป็นอาคารศูนย์เรียนรู้ถูกปล่อยให้รถร้าง เครื่องเล่นบริเวณสนามเด็กเล่นส่วนใหญ่ทรุดโทรม อีกทั้งเวลากลางคืนแสงสว่างในพื้นที่ค่อนข้างน้อย ทำให้พื้นที่มืดและอันตราย รวมถึงมีน้ำขังทำให้มีปัญหายุงเยอะ จึงได้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ภายใต้แนวคิด “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต”
“เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต”
พื้นที่โครงการขนาด 17 ไร่ ภายใต้แนวทางการออกแบบ ดังนี้
1) เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจผ่านอนุสรณ์สถานแฝดสยาม อิน-จัน
2) เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงนิเวศแห่งใหม่ของชาวแม่กลอง
3) เป็นพื้นที่ใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกันของชาวแม่กลอง
4) เป็นพื้นที่เรียนรู้วิถีชีวิต เรียนรู้ตนเอง และผู้อื่น
5) เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นปอดให้กับเมือง