สโมสรนิสิตจุฬาฯ ต่อต้าน Beauty Privilege - Urban Creature

ในยุคที่สังคมไทยให้ความสำคัญและขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนจึงต้องกลับมาพิจารณาและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมขององค์กรที่อาจส่งต่อวัฒนธรรมการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหนึ่งต้นตอของความไม่เท่าเทียมในสังคม

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งเปลี่ยนแปลงกิจกรรมวันแรกพบนิสิตใหม่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำปี 2565 (CU First Date 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 พร้อมระบุว่าในวันงานจะไม่มีกิจกรรมใดๆ จากกลุ่มผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Cheerleader) จุฬาฯ คทากร (The Drum Major of Chulalongkorn University) และกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Coronet)

อบจ. ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากนิสิตจำนวนมากและสาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี’ (Beauty Privilege) ที่เอื้อให้คนหน้าตาดีตรงตาม ‘มาตรฐานความงาม’ (Beauty Standard) มีโอกาสในสังคมมากขึ้น 

ดังนั้น อบจ. จึงต้องการแสดงจุดยืนและหยุดส่งวัฒนธรรมการกดขี่และการเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่นที่เกิดจากอคติทางรูปร่าง หน้าตา สีผิว เชื้อชาติ และเพศ เพื่อทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันตามปฏิญญาการต้อนรับนิสิตใหม่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยข้อที่ 2 ที่ผู้แทนนิสิตและนายกสโมสรนิสิตจากคณะต่างๆ ทั่วจุฬาฯ ได้ลงนามร่วมกันเป็นสักขีพยาน 

ทั้งนี้ หลังจากมีคนแสดงความคิดเห็นเข้าใจผิดว่า อบจ. ยกเลิกกิจกรรมเหล่านี้ ทางเพจได้ยืนยันอีกครั้งว่า ‘ไม่ได้ยกเลิก’ แค่ไม่มีกิจกรรมเหล่านี้ในวันดังกล่าวเท่านั้น ทำให้หลายคนแย้งว่า ทาง อบจ. ควรแก้ปัญหาที่เกณฑ์การคัดเลือกผู้นำเชียร์และกิจกรรมอื่นๆ โดยกำหนดคุณสมบัติอื่นๆ นอกจากเรื่องหน้าตา แทนที่จะปิดกั้นการแสดงออกแบบนี้ ซึ่งทาง อบจ. ยังไม่มีการตอบกลับหรือชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้าน Beauty Privilege ในรั้วจุฬาฯ กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ชมรมผู้นำเชียร์คณะรัฐศาสตร์ (Singhdam Cheerleader) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศยุติบทบาทและการจัดกิจกรรมเชียร์ของชมรมนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากทางชมรมเล็งเห็นว่ารูปแบบกิจกรรมที่ชมรมเคยดำเนินมาตั้งแต่อดีตนั้นเต็มไปด้วยการฟูมฟักความป่วยไข้ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบอบอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ ระบบ SOTUS หรือแม้กระทั่งการผลิตซ้ำค่านิยม Beauty Privilege

ทางชมรมยอมรับว่า ‘กิจกรรมเชียร์’ และ ‘ผู้นำเชียร์’ เป็นส่วนที่แยกไม่ออกจากความป่วยไข้ของระบบอำนาจนิยมเหล่านั้น และต้องการขอโทษสังคมและสมาชิกทุกคนที่เคยได้รับความเจ็บปวดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ไม่ใช่แค่จุฬาฯ เท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหวและรณรงค์ต่อต้าน Beauty Privilege ย้อนไปเมื่อปี 2563 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมดาว-เดือน เนื่องจากการประกวดดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตส่วนมาก แต่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม และยังเป็นการทำให้เกิดค่านิยมในเรื่อง Beauty Privilege 

ส่วนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมประชุมเชียร์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกเลิกกิจกรรมดาว-เดือน รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมสิทธิพิเศษของคนที่มีหน้าตาดีตรงตามมาตรฐานสังคมทุกรูปแบบตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

Urban Creature เชื่อว่าหลังจากนี้ มหาวิทยาลัย รวมไปถึงองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ จะออกมาเคลื่อนไหวและยกเลิกกิจกรรมและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ การผลิตซ้ำค่านิยม Beauty Privilege และหันมารณรงค์กิจกรรมที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น 

Sources : 
Facebook : สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ | t.ly/lyHi
Facebook : สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล l Mahidol University Student Association | t.ly/yhu6
Facebook : องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) | t.ly/ytA1
Facebook : องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน | t.ly/PTqn

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.