นาทีนี้คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธความฮอตทั้งความเผ็ดชาและความนิยมของหมาล่าได้ แต่นอกจากความจัดจ้านจากพริกหมาล่าแล้ว เมืองผู้เป็นต้นกำเนิดหม้อไฟแสนอร่อยจากมณฑลเสฉวนอย่าง ‘ฉงชิ่ง’ เองก็กำลังร้อนแรงไม่แพ้กัน
ฉงชิ่ง เป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน จากการปลุกปั้นโดยรัฐบาลในช่วงปลายยุค 90 ให้กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่ด้วยภูมิทัศน์ประเทศที่เป็นภูเขาและเนินสูงต่ำมากมายจนเรียกได้ว่าเป็น ‘เมืองแห่งภูเขา’ จึงเป็นเหมือนข้อจำกัดหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงเมือง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคเหล่านี้กลับกลายเป็นข้อดีในการสร้างเอกลักษณ์ด้านการวางผังเมือง ที่สามารถเชื่อมต่อระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น
ทำไมรัฐบาลจึงเลือกเปลี่ยนเมืองชนบทกลางภูเขาให้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในจีน รวมถึงแนวคิดการสร้าง ‘เมืองซ้อนเมือง’ เพื่อทลายข้อจำกัดด้านพื้นที่ และจุดยืนในการเป็นเมืองไฮเทคด้วยสถาปัตยกรรมล้ำสมัย ตามคอลัมน์ City in Focus ไปดูกัน
เมืองซ้อนเมืองซ้อนภูเขาซ้อนถนน
หากจะนิยามเมืองที่ ‘ซับซ้อน’ ฉงชิ่งคือตัวอย่างของเมืองที่มีผังเมือง ‘ซ้อน’ กันอย่างแท้จริง
ด้วยภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาล้อมรอบและเนินเขาลาดชัน อีกทั้งยังมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำสองสายสำคัญทั้งแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเจียหลิง จุดโดดเด่นแรกคงหนีไม่พ้นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันสวยงาม แต่เมื่อรัฐเลือกให้เป็นพื้นที่หลักทางเศรษฐกิจ การพัฒนาผังเมืองจำเป็นต้องยืดหยุ่นไปตามพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้ แนวคิดเมืองซ้อนเมืองจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับปัญหานี้
ตึกระฟ้า อาคารสูง และถนน ถูกสร้างขึ้นแตกต่างหลายระดับเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน อีกทั้งสะพานยกระดับข้ามแม่น้ำหรือบันไดวนสูงรอบภูเขาก็สามารถพบได้ทั่วไป จนทำให้มองเผินๆ ดูคล้ายกับว่ามีเมืองอีกเมืองหนึ่งซ้อนทับอยู่ด้านบน
ด้วยความเป็นเอกลักษณ์เกินปกติของผังเมือง การสัญจรภายในเมืองจึงซับซ้อนคดเคี้ยวราวกับเดินเขาอยู่ตลอดเวลา แต่ฉงชิ่งก็แก้เกมการเดินทางด้วยเทคโนโลยีด้านคมนาคมที่ราวกับหลุดออกมาจากหนังไซไฟอย่าง ‘รถไฟลอยฟ้าทะลุตึก’
เมื่อเศรษฐกิจเติบโต เทคโนโลยีจึงเติบใหญ่
เมื่อได้รับเลือกให้เป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของประเทศ ฉงชิ่งกลายเป็นที่ตั้งของบริษัทขนาดใหญ่กว่า 500 แห่งของจีน เช่น Jingke Holdings ผู้ให้บริการด้านวัสดุ หรือ Longfor Properties บริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุน เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีสำนักงานของบริษัทที่มีชื่อเสียงจากสหรัฐอเมริกา เช่น Deloitte และ Apple อยู่ในเมืองนี้เช่นเดียวกัน
ฉงชิ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเจริญจึงเป็นตัวเลือกแรก เริ่มจากระบบคมนาคมที่ขยายตัวไปสู่ชนบทอย่างต่อเนื่อง จนทำให้แทบทุกหมู่บ้านสามารถเดินทางไปทำงานในเมืองได้อย่างสะดวกสบายด้วยถนนลาดยาง ส่วนในตัวเมืองได้มีการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบามาตั้งแต่ปี 1992 โดยบริษัทฉงชิ่งเรลทรานซิต (CRT) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น และในหลายทศวรรษถัดมา เครือข่าย CRT ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเชื่อมต่อทั้งเมือง และมีการพัฒนาเทคโนโลยีรางเดี่ยวที่ปรับแต่งขึ้นเอง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบที่ส่งออกไปใช้ในต่างประเทศ เช่น บราซิลและอินเดีย
แต่สถานีรถไฟที่โดดเด่นที่สุดคงไม่พ้นสถานี ‘หลีจื่อป้า’ (Liziba) ที่สร้างความแตกต่างทางวิศวกรรม ด้วยการเป็นสถานีที่รถไฟแล่นทะลุตึกสูงได้โดยไม่ต้องรื้อถอนตึกดังกล่าว และใช้พื้นที่เพียง 2 ชั้นของตัวอาคารเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเสียงรบกวน เพราะได้มีการออกแบบที่ช่วยลดเสียงการทำงานของรถไฟด้วยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ ทำให้รถไฟฟ้าสายดังกล่าวมีเสียงดังเทียบเท่ากับเครื่องล้างจานประมาณ 75.8 เดซิเบลเท่านั้น
นอกเหนือจากระบบคมนาคมที่ทันสมัยแล้ว ‘สถาปัตยกรรม’ คืออีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานโดดเด่นที่สำคัญไม่แพ้กัน ถึงขนาดเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมืองจากการเป็น ‘Mountain City’ สู่ ‘Modern City’ ได้
สถาปัตยกรรมโดดเด่นทะลุภูเขา
สถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในสิ่งเชิดหน้าชูตาของเมืองฉงชิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และแสดงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและการออกแบบ โดยสถานที่แรกที่เราจะพาไปดูคือ ‘หงหยาต้ง’ (Hongyadong) สถาปัตยกรรมที่สร้างบนเนินเขาและยื่นออกไปยังแม่น้ำแยงซี ด้วยความฉลาดในการผสานภูมิประเทศเข้ากับตึกสไตล์จีนโบราณ ทำให้บรรยากาศโดยรอบนั้นเสมือนหลุดไปในนิทานโบราณของจีน โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่แสงสีตามตึกโบราณจะยิ่งสวยเด่นออกมา
สถานที่ถัดไปคือความมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม ‘Raffles City Chongqing’ โครงการคอมเพลกซ์ขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นตึกระฟ้าแนวนอนที่ยาวที่สุดในโลก ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเจียหลิง ประกอบด้วยอาคารสูง 8 หลัง ซึ่งรวมถึงอะพาร์ตเมนต์ โรงแรม และสำนักงาน โดยจุดเด่นคือ ‘The Crystal’ สะพานแนวนอนความยาวกว่า 300 เมตรที่ยื่นออกไปเชื่อมอาคารต่างๆ โดยภายในสะพานมีทั้งร้านอาหารหรู สวนลอยฟ้า และจุดชมวิวบนทัศนียภาพอันงดงามของแม่น้ำและเมืองฉงชิ่ง
สถานที่สุดท้ายที่พาไปดูคือความสร้างสรรค์ด้านการออกแบบภายในที่สวยงามราวกับหลุดออกมาจากโลกแฟนตาซี ‘ร้านหนังสือจงซูเก๋อ สาขาฉงชิ่ง’ (Chongqing Zhongshuge Bookstore) เขาวงกตแห่งหนังสือคือคำนิยามที่ชัดเจนที่สุดของร้านหนังสือแห่งนี้ ด้วยการออกแบบภายในที่เต็มไปด้วยกระจกและการเล่นแสงเงา ทำให้ดูเหมือนมีชั้นหนังสือเรียงรายสูงขึ้นไปในอากาศ สร้างมิติที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในเขาวงกตแห่งหนังสือจริงๆ ภายในร้านยังมีบันไดและชั้นหนังสือทรงโค้งและทางเดินลาดเอียง ซึ่งทั้งหมดได้รับการจัดเรียงให้ดึงดูดสายตา คล้ายการเข้าไปในอุโมงค์หรืออาคารที่ไม่มีที่สิ้นสุด
เมืองฉงชิ่งคือตัวอย่างของการพัฒนาเมืองภายใต้ข้อจำกัดของภูมิประเทศ แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดเสาเข็มของ ‘เศรษฐกิจ’ ที่เติบโต จนส่งผลไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นเมืองสมัยใหม่ ความพยายามในการทลายข้อจำกัดด้วยนวัตกรรม และเปลี่ยนข้อด้อยทางพื้นที่ให้เป็นข้อเด่น คือสองหลักคิดที่ได้เปลี่ยนแปลง ‘เมืองแห่งภูเขา’ ไปตลอดกาล
Sources :
CGTN | bit.ly/4epFJgA
iChongqing | bit.ly/3O7eJrq
Salika | bit.ly/3Cu5ZJu
The KOMMON | bit.ly/3Crc4Gp