เทอม 1/2565 มีนักเรียนกทม.หลุดจากการศึกษากี่คน - Urban Creature

ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ ที่ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษากลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พบได้ตามข่าวสารทั่วไป

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก สมัยที่เราศึกษาอยู่ในรั้วโรงเรียน ก็เคยได้ยินว่ามีเพื่อนบางคนต้องหยุดเรียนหรือหลุดออกจากการศึกษากลางคัน เนื่องจากปัญหาทางการเงิน ปัญหาในโรงเรียน หรือปัญหาส่วนตัว แต่ในอดีตปัญหาเด็กไม่ได้เรียนต่อก็ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยเท่ายุคปัจจุบัน

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าสังคมยุคนี้ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตรอบด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึงวิกฤตโรคระบาด ที่ทำให้หลายครอบครัวมีรายได้ลดลงหรือต้องหยุดงานชั่วคราว ขณะเดียวกัน พวกเขายังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในครัวเรือน ซึ่งดูเหมือนจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

โดยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ช่วงที่นักเรียนต้องเปลี่ยนไปเรียนออกไลน์ ครอบครัวที่ไม่ได้มีความพร้อมตั้งแต่แรกต้องเสียเงินเพิ่มกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ส่วนช่วงที่โรงเรียนกลับมาเปิดตามปกติ ก็ยังจะต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์การเรียน และของอื่นๆ ที่จำเป็นต้องซื้อใหม่มีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย 

เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อครอบครัวไม่มีความพร้อมทางการเงิน นักเรียนหลายคนจึงไม่ได้เรียนต่อ และต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลสำรวจข้อมูลนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด 258,124 คน ของภาคเรียนที่ 2/2564 พบว่า มีผู้ที่ไม่ได้รับศึกษาต่อในภาคเรียนถัดมาหรือภาคเรียนที่ 1/2565 มากถึง 2,582 คน จากเดิมที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพียง 434 คนในภาคเรียนที่แล้ว 

หมายความว่า ในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งภาคเรียน มีเด็กกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้เรียนต่อเพิ่มขึ้นถึง 5.8 เท่า หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยจากทั้งหมด 436 โรงเรียนใน 50 เขต กทม. จะพบว่า ภาคเรียนที่ 1/2565 มีเด็กหลุดออกจากการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คนต่อหนึ่งโรงเรียน ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจและน่ากังวลสำหรับบรรดาโรงเรียนในเมืองหลวงเป็นอย่างมาก 

โดยในจำนวนนักเรียน 2,582 คนที่หลุดออกจากการศึกษานี้ มีคนที่อยู่ระหว่างการติดตาม 1,061 คน ติดตามแล้วแต่ไม่กลับมาเรียน 1,024 คน ส่วนที่เหลืออีก 497 คนเป็นนักเรียนที่หลุดออกจากการศึกษาและไม่สามารถติดต่อได้

โดย 5 เขตในกรุงเทพฯ ที่มีนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษา 1/2565 มากที่สุด ได้แก่
1) เขตคลองสามวา 203 คน (7.86%)
2) เขตบางกะปิ 154 คน (5.96%)
3) เขตสายไหม 143 คน (5.54%)
4) เขตบางแค 140 คน (5.42%)
5) เขตบางขุนเทียน 133 คน (5.15%)

มีเพียงเขตเดียวเท่านั้นที่ไม่มีจำนวนนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาเลย นั่นก็คือ เขตสัมพันธวงศ์

เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

สำหรับจำนวนจากทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2564 มีเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษามากกว่า 238,000 คน และตัวเลขนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีการศึกษา 2565 ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ และการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร 

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะงบประมาณของ ‘นโยบายเรียนฟรี 15 ปี’ ถูกแช่แข็งมานานสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งนโยบายนี้เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้เฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมต้นเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงระดับชั้นอนุบาลและมัธยมปลาย อีกทั้งไม่ครอบคลุมนักเรียนยากจนทุกระดับชั้นในโรงเรียนสังกัด กทม. ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้จะมีงบเรียนฟรี แต่หลายครอบครัวก็ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เช่น ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าชุดนักเรียน ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่ดี

ปัญหาเรื่องการศึกษาจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่กรุงเทพมหานครและประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขและหาทางออก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเด็กไทยให้ดีขึ้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ Urban Creature เองก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ รองผู้ว่าฯ กทม. ที่รับผิดชอบดูแลด้านการพัฒนาสังคมและการศึกษา ศานนท์ได้อธิบายถึง 30 นโยบายเรียนดีของผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่มีเป้าหมายเพิ่มหลักสูตร เพิ่มคุณภาพการดูแลนักเรียน ลดภาระของคุณครูและผู้ปกครอง ส่วนประเด็นเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในกรุงเทพฯ ทาง กทม. ก็ได้วางแผนที่จะเพิ่มเป็นนโยบายข้อที่ 31 ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘การศึกษานอกระบบ’

“เด็กที่หลุดออกจากการศึกษาในระบบ ก็เพราะระบบมันไม่เข้ากับเขา ถ้ายังพยายามพาเด็กกลับเข้าไปในระบบ การเรียนรู้ของเด็กก็จะไม่ดี ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือต้องสร้าง ‘การศึกษาคู่ขนาน’ ที่รองรับและมีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียน” ศานนท์กล่าว 

ใครอยากทำความรู้จักนโยบายของ กทม. และแนวคิดของรองผู้ว่า ศานนท์ หวังสร้างบุญ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ urbancreature.co/sanon-wangsrangboon-interview/

แม้ว่านโยบายของทางกรุงเทพฯ จะยังเป็นแผนงานในอนาคต ที่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม แต่ในปัจจุบันก็มีผู้คนและหน่วยงานจำนวนมากที่สนใจเรื่องการศึกษา และออกมาขับเคลื่อนในประเด็นนี้กันมากขึ้น อย่างล่าสุด สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (สดย​.​กทม.) และเครือข่ายอื่นๆ ได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ insKru สร้างแคมเปญรณรงค์บน Change.org ภายใต้หัวข้อ ‘เรียนฟรีต้องฟรีจริง ฟรีอย่างเสมอภาค นักเรียนต้องไม่ถูกพรากจากการศึกษาเพราะไม่มีเงิน’ 

เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

แคมเปญนี้มีเป้าหมายรวบรวม 100,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและนายกรัฐมนตรี ปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับบริบทยุคปัจจุบันมากขึ้น โดยหวังว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนเด็กนักเรียนที่หลุดออกจากการศึกษาลดจำนวนลง และศึกษาต่อได้จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่รัฐระบุไว้ได้

มี 2 ข้อเรียกร้องหลัก ได้แก่

1) ขยายกลุ่มเป้าหมายการให้เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในโครงการเรียนฟรี 15 ปี จากเดิมที่จัดสรรเป็นรายบุคคล เฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมต้น ให้เพิ่มระดับชั้นอนุบาล และมัธยมปลาย (เฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษ ม.4) ด้วย

2) ปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา จากเดิมที่ให้เฉพาะชั้นประถมศึกษา คนละ 1,000 บาทต่อปี และมัธยมต้น คนละ 3,000 บาทต่อปี เปลี่ยนเป็นให้ชั้นอนุบาล คนละ 1,000 บาทต่อปี เด็กประถม คนละ 2,000 บาทต่อปี มัธยมต้น คนละ 4,000 บาทต่อปี และมัธยมปลาย (เฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษ ม.4) คนละ 6,000 บาทต่อปี

ใครเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรปรับปรุงนโยบายด้านการศึกษา และทำให้จำนวนเด็กหลุดระบบการศึกษาลดลง สามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ ‘เรียนฟรีต้องฟรีจริง’ ได้ที่ www.change.org/FreeEducationForAllThaiStudents

เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

Source : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.