ผู้เยาว์ในวงการบันเทิง เสนอความสามารถหรือละเมิดสิทธิ - Urban Creature

‘ลีโอนาร์ด วิตติง’ และ ‘โอลิเวีย ฮัซซีย์’ คู่พระนางจากภาพยนตร์ Romeo and Juliet (1968) ถูกบังคับให้ถ่ายฉากเปลือย ‘จูดี การ์แลนด์’ ผู้รับบทโดโรธี เกล ในเรื่อง The Wizard of Oz ถูกบังคับให้กินยานอนหลับเพื่อควบคุมเวลานอน ควบคุมอาหาร และทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด ‘ฮเยอิน วง NewJeans’ ร้องเพลง Cookie ในบริบทที่มีความหมายสองแง่สองง่าม

เหล่านี้ล้วนเป็นความไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือ ‘ไมเนอร์’ ที่โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งไทยและเทศมาอย่างยาวนาน ซึ่งถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่อาจนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

แม้การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ ‘แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิง’ บนโลกออนไลน์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจถึงต้นตอของปัญหาและมองว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติ

คอลัมน์ Curiocity จึงอยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วการใช้แรงงานเด็กในวงการบันเทิงนั้นเป็นปัญหาขนาดไหน ความไม่เหมาะสมและผลกระทบต่อตัวเด็กมีอะไรบ้าง และกฎหมายที่มีอยู่จะช่วยคุ้มครองเด็กกลุ่มนี้ได้จริงไหม

เมื่อความเยาว์วัยกลายเป็นสินค้า

สำหรับประเทศในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่ไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ดาราหรือไอดอลจะได้เดบิวต์ตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ปีเท่านั้น ซึ่งการมีผลงานชิ้นแรกในช่วงวัยรุ่นหมายความว่า พวกเขาต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ ตั้งแต่อายุประมาณ 11 ปี หรืออาจน้อยกว่านั้น ทำให้แฟนคลับจำนวนไม่น้อยรู้สึกกังวลเกี่ยวกับกระบวนการปลุกปั้นศิลปิน เพราะการเข้าสู่วงการตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมักก่อให้เกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก

เมื่อต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกซ้อมอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเยาวชนเหล่านี้อาจได้พบเจอหรือสัมผัสโลกภายนอกน้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งการใช้ชีวิตอย่างไม่เหมาะสมกับช่วงวัยอาจทำให้ศิลปินหลายคนมีปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังอาจถูกต้นสังกัดเอาเปรียบ ฉกฉวยผลประโยชน์ และทำให้กลายเป็นวัตถุทางเพศโดยไม่รู้ตัว

ภาพจาก allkpop

มากไปกว่านั้น ‘ความเยาว์วัย’ ยังเป็นเสมือนจุดขายที่สร้างมูลค่าให้แก่วงการบันเทิงได้มหาศาล เพราะมีหลายกรณีที่ศิลปินและไอดอลถูกบังคับให้แต่งกายและแสดงออกให้เด็กกว่าความเป็นจริง เพื่อดึงความต้องการด้านมืดของคนบางกลุ่มที่ชื่นชอบเด็กในลักษณะ ‘โลลิตา’ และ ‘โชตะ’ ออกมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรายการเซอร์ไวเวิลชื่อดังของเกาหลีใต้อย่าง Produce 101 หรือ Girls Planet 999 ที่นำเอาเครื่องแบบนักเรียนมาใช้เป็นจุดเด่นของการแข่งขัน แม้ว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 20 ปีก็ตาม

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสังคมเกาหลีใต้มองว่าเครื่องแบบนักเรียนสะท้อนความมีชีวิตชีวาของวัยรุ่นที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยความหมายทางเพศ คล้ายกับการใช้เครื่องแบบนักเรียนเพื่อตอบสนองให้กับกลุ่มคนที่มีความใคร่เด็ก (Pedophilia) ในสื่อลามกอนาจาร

เมื่อความไร้เดียงสาถูกใช้เป็นวัตถุทางเพศ

นอกจากเรื่องการแสวงผลประโยชน์จากเด็กแล้ว การทำงานของเยาวชนในวงการบันเทิงยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างการละเมิดสิทธิเด็กตามมาด้วย

เพราะขนาดประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมเพลงอันดับ 1 ในเอเชีย ที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก ยังถูกโจมตีเรื่องการใช้แรงงานเด็กอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ หลังจากค่ายเพลงบางแห่งเริ่มหาผลประโยชน์จากการสร้าง ‘จูเนียร์ไอดอล’ ที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี และสามารถต่ำสุดถึงวัยประถมต้นหรืออายุประมาณ 8 ปี จนเกณฑ์นี้เริ่มเป็นเรื่องปกติในวงการบันเทิงของญี่ปุ่นไปแล้ว

ไมเนอร์ในวงการบันเทิง

งานของเด็กเหล่านี้จะเน้นไปที่การถ่ายแบบและขายดีวีดีที่รวมคลิปเด็กในชุดวาบหวิวเอาไว้ โดยใช้มุมกล้องและการถ่ายทอดออกมาในมุมมอง ‘Male Gaze’ ที่ผู้ชายมองผู้หญิงเป็นหนึ่งในวัตถุทางเพศเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ รวมไปถึงการใช้สิ่งของที่มีสัญญะทางเพศ เช่น ไอศกรีมและอมยิ้ม อยู่ในสื่อเหล่านี้เสมอ นี่ยังไม่รวมถึงการจัดกิจกรรมพบปะแฟนคลับซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยกลางคน โดยแฟนคลับยังสามารถอุ้มหรือเล่นเกมที่มีการแตะเนื้อต้องตัวจูเนียร์ไอดอลได้ด้วย

ไมเนอร์ในวงการบันเทิง

เช่นเดียวกับประเทศไทย ผู้เยาว์ที่เป็นนักแสดงหรือไอดอลหลายคนมักแต่งตัวในชุดวาบหวิว แสดงออกด้วยท่าทางที่โตกว่าวัย และยึดติดกับภาพลักษณ์ที่ทางค่ายเพลงหรือบทละครกำหนดเอาไว้ การกระทำเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ชมทั่วไปลืมไปว่าศิลปินเหล่านั้นเป็นเพียงหนุ่มสาวที่อายุเลยหลักสิบมาได้ไม่กี่ปี จนมักมีการพูดถึงเยาวชนในเชิงเพศบนโลกออนไลน์ จับคู่ให้มีความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับอีกคนที่เห็นว่ามีเคมีเข้าคู่กัน รวมถึงใช้ถ้อยคำรุนแรงในการวิจารณ์รูปลักษณ์หน้าตาของพวกเขาด้วย

มากไปกว่านั้น ผู้เยาว์ในอุตสาหกรรมบันเทิงจำนวนไม่น้อยยังต้องเผชิญกับการกดขี่จากต้นสังกัดหรือผู้มีอำนาจ ตั้งแต่สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ชั่วโมงการทำงานที่มากกว่ากฎหมายกำหนด การล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ช่วยผู้กำกับซีรีส์วายชื่อดังในประเทศไทยอย่าง ‘นิทานพันดาว’ และ ‘แค่เพื่อนครับเพื่อน’ ทำอนาจารเด็กชายอายุ 15 ปี โดยอ้างว่าเป็นการแคสติงบทซีรีส์วาย จนเกิดแฮชแท็ก #ไมเนอร์ในวงการบันเทิง ขึ้นบนโลกทวิตเตอร์ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในวงการบันเทิงกันมากขึ้น

เมื่อกฎหมายมีช่องโหว่จนยากจะควบคุม

แม้บางประเทศจะออกกฎหมายควบคุมการทำงานของเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิง ส่วนประชาชนก็พูดถึงปัญหานี้บนโลกออนไลน์มากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเรายังคงเห็นเหตุการณ์ที่ผู้เยาว์ถูกเอาเปรียบ กดขี่ และกระทำลามกอนาจารจนเกิดความเสียหายและกระทบกระเทือนต่อจิตใจอยู่เรื่อยๆ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายในหลายประเทศยังมีช่องโหว่ที่เอื้อผลประโยชน์ต่อค่ายเพลงและนายจ้าง ยกตัวอย่างเช่น ‘กฎหมาย JYJ’ ของประเทศเกาหลีใต้ที่ผ่านร่างกฎหมายเมื่อปี 2015 จากกรณีฟ้องร้องของนักร้องวง JYJ ต่อต้นสังกัดเดิม ทำให้ข้อบังคับด้านสิทธิแรงงานในวงการบันเทิงถูกเปลี่ยนจากสัญญาระยะ 13 ปี ให้ลดลงเหลือเพียง 7 ปี แม้จะลดลงมามากและให้ความคุ้มครองศิลปินมากขึ้นพอสมควร แต่ในทางปฏิบัติก็ยังค่อนข้างคลุมเครือ เพราะการเซ็นสัญญาส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในขณะที่เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ

อีกตัวอย่างคือ การออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณีและภาพอนาจารเด็กต่ำกว่า 18 ปีของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1999 ที่บังคับใช้มาถึงปัจจุบัน แต่ยังพบว่ามีภาพถ่ายและดีวีดีที่ล่อแหลมจำนวนมากถูกวางขายในร้านทั่วไปแบบโจ่งแจ้งโดยไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากผู้เผยแพร่หลายรายเลี่ยงบาลีด้วยการจัดให้ ‘ภาพอนาจาร’ อยู่ในหมวดหมู่ ‘อีโรติก’ ผ่านการใช้เยาวชนสวมเสื้อผ้าวาบหวิวหรือชุดว่ายน้ำที่แทบปิดส่วนสงวนไว้ไม่มิด รวมถึงทำท่าทางล่อแหลม เพราะสามารถตอบสนองความคลั่งไคล้ของเหล่าผู้ชายที่หลงใหลและรักใคร่เด็กสาวอย่างชาวโลลิคอนได้เป็นอย่างดี แถมยังทำเงินให้กับผู้ผลิตได้อย่างง่ายดาย

ไมเนอร์ในวงการบันเทิง
Kyoto, Japan – November 9, 2014; Magazines on a news stand in Kyoto that features popular cartoons and youngster magazines. November 9, 2014 Kyoto, Japan

นี่ยังไม่รวมถึงประเทศไทยที่แม้จะมีมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดเวลาทำงานของแรงงานเด็กไว้ว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

แต่ในมาตรา 47 วรรคที่สอง กลับอนุญาตให้นักแสดงเด็กทำงานในเวลาดังกล่าวได้ และกำหนดแค่เพียงว่านายจ้างต้องให้เด็กได้รับการพักผ่อนตามสมควร ซึ่งคำว่า ‘สมควร’ ในเรื่องของชั่วโมงการทำงานและเวลาพักผ่อนก็ไม่ได้มีการนิยามไว้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด ทำให้นักแสดงเด็กต้องเข้าฉากเป็นระยะเวลานานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่เสมอ


Sources :
Koreaboo | t.ly/P1LD
Koreajoongangdaily | t.ly/4zuj
Kpopstarz | t.ly/nw56
Lawgrad | t.ly/5Dq6
MGR Online | t.ly/oaxP
Spectrum | t.ly/2YYd
The Matter | t.ly/wgaw
ประชาไท | t.ly/dY2_

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.