กรุงเทพฯ ยังมีหวัง ในสายตา ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ - Urban Creature

“ประมาณหกโมงเช้าไปวิ่งมา แล้วก็ออกไปดูพื้นที่เขตบางบอน จากนั้นข้ามไปหนองแขมเพื่อดูปัญหาในชุมชนและเดินตลาดต่อ” 

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครบอกกับเรา บริเวณใต้ร่มร้านขายของชำใกล้สวนสาธารณะเขตบางบอน วันเสาร์นั้นแดดจัด ช่วงใกล้เที่ยง พระอาทิตย์ส่องจ้ากลางหัว เขาโดยสารรถสองแถวหลังคาสูงมาพร้อมทีมงานที่สวมเสื้อดำสกรีนคำเขียวเข้มสะท้อนแสง ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ 

ช่วงนี้เขาออกวิ่งทุกวันเสาร์ ตระเวนวิ่งในแต่ละเขตทั่วกรุง เราสะดุดตาที่วันนี้ชัชชาติสวมรองเท้าวิ่งข้างหนึ่งสีขาว อีกข้างสีดำ

เขาเล่าข้อมูลเขตบางบอนที่ศึกษามาว่า “เขตบางบอนเป็นเขตที่พื้นที่มีความยาว แต่เดิมเป็นพื้นที่ทำสวน ปัจจุบันหมู่บ้านจัดสรรเริ่มเข้ามา คนมาอาศัยในเขตนี้มากขึ้น ตอนนี้มีประชากรประมาณหนึ่งแสนคน” 

ตลอดเส้นทางที่สัญจรมาที่นี่ เราขับรถผ่านถนนสองเลนที่ตัดผ่านย่านชุมชน ผ่านเส้นทางรถไฟ และ สถานี ‘รางโพธิ์’ สถานีหลักประจำพื้นที่ซึ่งเป็นสถานีหมุดหมายของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะวิ่งผ่านในอนาคต

ชัชชาติชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการคมนาคมและขนส่งสาธารณะเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของเขตบางบอน เขาเล่าประสบการณ์การเดินทางในช่วงเช้าก่อนมาเจอเราว่า “รถติดมาก เส้นเอกชัย-บางบอน หรือถนนบางบอน 3 หรือ 5 และขนส่งสาธารณะก็ยังไม่ดี รถไฟก็เป็นแบบท้องถิ่นที่มีความถี่น้อย ประชาชนจึงต้องใช้รถส่วนตัว” 

ถ้าลองเปิดแผนที่ดู เขตบางบอนคือพื้นที่ขอบกรุงเทพฯ ที่ติดกับจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมประมง มีแรงงานชาวพม่าที่มาทำงานในพื้นที่อาศัยอยู่เยอะ ทำให้มีอีกโจทย์ตามมาว่าจะพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับแรงงานต่างชาติ และประชากรในพื้นที่อย่างไรไม่ให้อยู่อย่างแออัด

รถสองแถวจากตลาดปิ่นทอง เขตบางบอนไปจังหวัดสมุทรสาคร/ รูป: ทีมงานชัชชาติ

นี่คือความหลากหลายและความซับซ้อนของสิ่งที่ต้องจัดการจากพื้นที่เพียงหนึ่งเขต เพราะความเป็นจริง กรุงเทพฯ มีทั้งหมด 50 เขต เหล่านี้เป็นโจทย์อันท้าทายที่ผู้ชิงตำแหน่ง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ต้องเผชิญ และจำเป็นต้องคิดนโยบายเพื่อเสนอทางออก และแน่นอน นี่คือการแข่งขันเพื่อชิงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง 

จากคนที่เคยนั่งรถไฟ โหนรถเมล์สมัยอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม สู่หนึ่งในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 จนตอนนี้ผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว ที่เขาประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่าจะลงชิงตำแหน่ง ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ตำแหน่งที่หลายคนจับตามอง และตั้งคำถามว่า ทำไมเขาลดสเกลตัวเองมาทำงานระดับเมือง 

ตำแหน่งนี้สำคัญกับ ‘ชัชชาติ’ อย่างไร เขามองข้อจำกัดและความท้าทายที่จะต้องรับมือด้วยกลยุทธ์แบบไหน และเขาเห็นอะไรในเมืองที่มีปัญหาอันสลับซับซ้อนอย่างกรุงเทพฯ จนหลายคนอาจเบือนหน้าหนี 

แต่คำตอบของชัชชาติต่อจากนี้ กำลังแสดงออกว่า เขาอยากวิ่งพุ่งชนปัญหาเพื่อแก้ไขมันสักที และกรุงเทพฯ ยังมีความหวัง…

รูป: ทีมงานชัชชาติ

คุณเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นตำแหน่งระดับประเทศ ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดปี 62 ก็เป็นถึงแคนดิเดตนายกฯ ทำไมครั้งนี้ถึงตัดสินใจเข้ามาลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

เราเคยไปอยู่การเมืองใหญ่ ก็ได้รู้ว่ามีข้อจำกัดเยอะ แต่ตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นตำแหน่งที่เราและทีมงานแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จในกลุ่มเราเอง ไม่ใช่ปัญหาในเชิงปรัชญา เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ หรือการนั่งในคณะรัฐมนตรี ฯลฯ 

ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เป็นคนที่มารับใช้ประชาชน และปัญหาในกรุงเทพฯ มีครบถ้วนคล้ายกับรัฐบาลกลางเลย แต่ยังอยู่ในสเกลที่เชื่อว่า ทีมงานกับเราน่าจะรับมือได้ ผมเชื่อว่าผู้ว่าฯ กทม. เองไม่ได้ยิ่งใหญ่น้อยกว่าตำแหน่งอื่น เพราะความรับผิดชอบคือ คนกรุงเทพฯ ซึ่งรวมประชากรแฝงก็จะมีจำนวนถึง 10 ล้านคน เรามองเห็นโอกาสทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นได้

ความยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งนะ แต่อยู่ที่ความรับผิดชอบ

นิยาม ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ในสายตาคุณเป็นแบบไหน

ผู้ว่าฯ กทม. เป็นตำแหน่งที่มีคนเลือกมากที่สุดในประเทศไทยนะ คนที่ชนะต้องได้ล้านกว่าเสียง นายกฯ ยังไม่ได้เลือกตั้งโดยตรงมากขนาดนี้เลย 

ขอบเขตหน้าที่ของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ไม่ได้กว้างมาก เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่น ในเชิงกฎหมายจริงๆ แล้วเราอยู่ใต้กระทรวงมหาดไทยด้วยซ้ำ แต่ความสำคัญคือ มีเรื่องที่ต้องดูแลเยอะ ไม่แตกต่างกับรัฐบาลเลย ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม อยู่ในพื้นที่ กทม. หมด 

ผู้ว่าฯ กทม. เหมือนกับคนที่มารับใช้คนกรุงเทพฯ และต้องรับใช้ทุกคนแบบเท่าเทียมกัน

แต่ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มีข้อจำกัดเรื่องอำนาจในทางกฎหมาย ถ้าเป็นแบบนี้ จะมีผลต่อการทำงานอย่างไร

อย่าไปเรียกว่าข้อจำกัด แต่เป็นเงื่อนไขที่เราต้องรับและปรับตัวให้ได้ ถ้าเราอยากเป็นผู้ว่าฯ จะเห็นว่าหลายเรื่องที่เรารับผิดชอบโดยตรงยังทำได้ไม่ดีเลย เรามีโรงเรียนภายใต้ กทม. จำนวน 437 แห่ง มีศูนย์สาธารณสุข ทางเท้า หรือระบบการเก็บขยะ เหล่านี้เป็นหน้าที่โดยตรงของ กทม. แต่การจราจรอาจจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาไฟดับอาจจะเป็นเรื่องการไฟฟ้านครหลวง ดังนั้นอย่าบอกว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะจริงๆ แล้วมีหลายอย่างที่เราตัดสินใจทำได้เลย

แต่ส่วนที่ทำเองไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องเป็นเจ้าภาพที่เข้มแข็งให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น ปัญหาการจราจร เราต้องตั้งศูนย์ Single Command Center มีตำรวจ การทางพิเศษ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และเราต้องเป็นเจ้าภาพ แต่ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับเรา ควบคุมไม่ได้ มันคือการปัดปัญหาไง ผมว่าเราต้องมองปัญหาอีกมิติหนึ่งว่า ถ้ามารับหน้าที่ก็ต้องดูแลคนในบ้าน เพราะเราเป็นคนรับใช้ 

หน่วยจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร/ รูป: Athawit Ketsak (Shutterstock)

คุณลงพื้นที่ทำงานมา 2 ปีกว่า จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอ มองว่าอะไรคือปัญหาใหญ่ของเมืองนี้

ปัญหาภาพรวมกรุงเทพฯ คือระบบเส้นเลือดฝอยยังอ่อนแอ ทั้งสวนสาธารณะ คลองหน้าบ้าน ระบบระบายน้ำ ซอยเข้าบ้าน หรือรถเมล์หน้าบ้าน ฯลฯ ประเทศเราชอบทำ ‘เส้นเลือดใหญ่’ คือโครงการเมกะโปรเจกต์ทั้งหลาย แต่จริงๆ แล้วชีวิตคนอยู่ที่เส้นเลือดฝอย และการปรับเส้นเลือดฝอยจริงๆ แล้วไม่ได้ยากมาก ถ้าเกิดคุณมีต้นแบบที่ดี มันขยายผลได้เยอะ เช่น ทำโรงเรียน กทม.ให้ดีสักโรงเรียนหนึ่ง คุณขยายผลต่อไปได้ถึง 437 โรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ เลย หรือในแง่สาธารณสุข ถ้าทำศูนย์สาธารณสุขให้ดี คุณก็ขยายผลต่อได้ถึง 69 ศูนย์

เส้นเลือดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ยังจำเป็นอยู่ แต่ที่มีในปัจจุบัน เหมือนกับเราทำงานเยอะ แต่ได้ผลน้อย ยกตัวอย่างอุโมงค์ระบายน้ำ ลงทุนไป 3 – 4 หมื่นล้าน มีความยาว 19 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เรามีคลอง ระบายน้ำได้ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถ้าเราทำคลองให้ดี อาจจะเป็นการทำน้อย ใช้เงินไม่เยอะ แต่ได้ผลเยอะ หรือรถโดยสาร BRT ที่อยู่กลางเมือง ลงทุนเยอะนะ แต่มีคนนั่งวันละหมื่นคน ขณะที่รถเมล์มีคนนั่งเป็นล้าน

ถ้าคุณได้รับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่จะเริ่มทำคืออะไร

การเดินเท้าในกรุงเทพฯ ผมเริ่มจากโจทย์ที่ว่าจะทำยังไงให้กรุงเทพฯ เดินได้ โจทย์นี้ไม่ง่ายเลย มันเริ่มตั้งแต่ฟุตพาทที่มีคุณภาพดี ทางเดินต้องปลอดภัย ทางม้าลายต้องปลอดภัย แสงสว่างบนทางเดินต้องเพียงพอ มีร่มเงาจากการปลูกต้นไม้ปกคลุม ไปจนถึงเรื่องอากาศที่ยังมีฝุ่น PM 2.5 ถ้าเราตั้งโจทย์แค่กรุงเทพฯ เดินได้ดี ต้องเดินได้สะดวก หมายถึงโจทย์อื่นๆ ที่จะส่งผลถึงชีวิตคนด้วย

ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตเมืองมีแนวโน้มจะจมน้ำจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถ้าคุณเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะรับมือแบบไหน

ถามว่า กรุงเทพฯ จมน้ำจากอะไร หนึ่ง กรุงเทพฯ ทรุดตัวลง สอง น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น 

เรื่องกรุงเทพฯ ทรุดตัวลง จริงๆ แล้วเราหยุดใช้น้ำบาดาลมาตั้งแต่ปี 2530 กรุงเทพฯ ปัจจุบันไม่ได้ทรุดเยอะ อาจจะในระดับเซนติเมตรต่อปี แต่ปัญหาใหญ่คือน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ตรงนี้ต้องเป็นส่วนรัฐบาลกลางเข้ามารับผิดชอบด้วย เพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่ติดทะเลอยู่แค่ 4 กิโลเมตรคือบางขุนเทียน 

ถ้าตอบในเชิงวิศวกรรม จริงๆ ไม่ได้ยาก เรายกถนนริมทะเลให้เป็นเขื่อนกั้นน้ำ (Dike) เลียบทะเลตั้งแต่บางปะกง เจ้าพระยา ถึงท่าจีน พื้นที่นอกถนนจะโดนท่วมเหมือนชายทะเลที่บางขุนเทียน แต่ปัญหาอย่างเดียวคือเรื่องประตูน้ำ คุณต้องทำประตูน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือที่แม่น้ำท่าจีน ตรงอำเภอบางปะกง เหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์หรืออังกฤษ เวลาน้ำขึ้น ให้ประตูน้ำปิด อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องลงทุน

แต่ถ้าจะทำ ต้องคิดแล้วว่าท่าเรือคลองเตยจะจัดการอย่างไร ปัจจุบัน เรามีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้ามีเรือใหญ่เข้ามาจะต้องออกแบบว่าจะให้ไปทางไหน ผมคิดว่าปัญหาพวกนี้เราคิดได้ แต่มันเชื่อมโยงกับอีกหลายจังหวัด เป็นเรื่องที่รัฐบาลกลางต้องบริหารร่วมด้วย

อุโมงค์ระบายน้ำใกล้คลองแสนแสบขณะก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2560/ รูป: Guztsustudio (Shutterstock)

ขอถามเล่นๆ สมมติว่ากรุงเทพฯ มีเชื้อไวรัสซอมบี้ระบาดอย่างรวดเร็วเหมือนอย่างในหนัง ในฐานะผู้บริหาร คุณจะรับมือยังไงดี

ผมว่าเราอยู่ในบ้านเฉยๆ ซอมบี้คงตาย เพราะตกท่อตายหมด คนธรรมดายังเจอปัญหาเดินตกท่อเลย ซอมบี้ไปไม่รอดหรอก อันนี้พูดเล่นนะ (หัวเราะ)

จริงๆ กรุงเทพฯ มีจุดที่มีความอ่อนแอเยอะ โดยเฉพาะในระบบเส้นเลือดฝอย ชาวชุมชนอยู่กันอย่างแออัด ถ้าเกิดขึ้นจริงคงอันตราย หัวใจของการแก้ปัญหาคือต้องทำชุมชน ทำระบบเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง ถ้าหวังให้หน่วยงานกลาง หรือหน่วยทหารเข้ามาช่วย ไม่มีทาง เพราะมีระบบเส้นเลือดฝอยเยอะมาก ซอมบี้จะลุยเข้ามาได้ ดังนั้นชุมชนต้องดูแลกันเองระดับหนึ่ง 

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีถึงสองพันชุมชน และมีชุมชนแออัดกว่า 900 ชุมชน และสถานการณ์โควิดตอนนี้ก็น่ากลัวเพราะโอไมครอนมีอัตราการติดเยอะ แต่จะให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ถ้ามีบ้านเดี่ยว มีห้องของตัวเอง คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าอยู่ในชุมชนแออัด ห้องหนึ่งอยู่กันห้าหรือสิบคน ให้เขาไป Home Isolation โดยไม่มีสถานพยาบาลก็อาจจะทำได้ไม่ง่าย เชื้ออาจจะแพร่เร็วขึ้น

ท้ายที่สุด ถ้าคุณไม่ได้ตำแหน่ง จะทำอะไรต่อ

ผมก็คงเลิกทำงานการเมืองแล้วล่ะ หาอาชีพอื่นทำ แต่เราก็ยังอยากทำงานเพื่อสังคมต่อไป 

คนมักจะพูดกันเล่นๆ ว่า คุณเป็น ‘บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ แต่เอาเข้าจริงๆ คุณคิดว่าตัวเองมีจุดเด่นอะไรอีกบ้าง ที่ผู้ลงสมัครคนอื่นไม่มี

ผมมีทีมงานที่ดี มีความหลากหลาย ทั้งคนรุ่นใหม่ ข้าราชการเกษียณ และนักธุรกิจ 

ผมตัวคนเดียวไม่ได้มีความรู้ทุกด้านหรอก เพราะผมเป็นวิศวกร ผมก็รู้แค่วิศวะ พอเราเป็นแคนดิเดตแบบผู้สมัครอิสระ สองปีที่ผ่านมา ก็ได้มีทีมงานมาร่วมงานเยอะมาก ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่พาผมมาถึงปัจจุบันนี้ได้ และพวกเขามาด้วยความหวัง และความสนุกในการทำงาน

รูป: ทีมงานชัชชาติ

คุณมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญอย่างไรกับประชาชนและตัวคุณเอง

สำหรับคนกรุงเทพฯ การเลือกตั้งมันอั้นมานานแล้วเนอะ เราห่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาเกือบ 9 ปี สภากรุงเทพฯ 13 ปี มันก็ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจได้แล้วว่า เราจะไปทิศทางไหนต่อ หรือเดินไปทางไหนดี สำหรับผมการลงสมัครเป็นแคนดิเดตไม่มีความสำคัญอะไรหรอก ก็เป็นสเต็ปหนึ่งในชีวิต เป็นทางที่เราเลือกเดิน

จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ มีเรื่องดีๆ อีกเยอะเลยครับ เราลงพื้นที่ก็จะเห็นจุดที่น่ารัก และจุดที่มีศักยภาพ อย่าไปคิดว่าไม่มีความหวังแล้ว เราทำให้ดีขึ้นได้ อย่างวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าเราเห็นพลังของชุมชน และภาคเอกชนที่ร่วมมือกันนะ นี่คือความหวังที่ทำให้มีกำลังใจขึ้นเยอะเลย

บอกว่ากรุงเทพฯ ยังมีความหวังอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า มีอีกหลายคนที่อยากย้ายหนีเมืองนี้

น่ากลัวนะ หัวใจของเมืองคือคน เมืองต้องสร้างคนเก่งและดึงคนเก่งไว้ให้ได้ เมืองคือคน ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง เพราะฉะนั้นเมืองที่ตายคือเมืองที่ดึงคนเก่งเอาไว้ไม่ได้ เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา หลายคนเลยอยากจะไปอยู่เชียงใหม่ หรือจังหวัดอื่น 

ถามว่า ทำอย่างไรให้คนอยู่กับเมือง เมืองก็ต้องน่าอยู่ด้วย แนวคิดง่ายๆ เลยคืออยากจะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน มีที่เดิน มีต้นไม้ มีคลองสะอาด เด็กๆ เกิดมามีที่เรียน มี Safety Net ที่ดี และมีโรงเรียนที่มีคุณภาพ 

ผมคิดว่า กรุงเทพฯ อย่าเป็นเมืองน่าเที่ยวมากเลย คือมาอยู่สัก 4 – 5 วันก็พอโอเคนะ ลั้นลา สนุก แต่อยู่ทั้งชีวิตมันเหนื่อยไง

ถ้าอย่างนั้น คุณอยากจะบอกอะไรกับคนที่ยอมแพ้กับกรุงเทพฯ เพราะมีหลายคนอยากหนีออกไปจากเมืองนี้แล้ว

ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวมาแก้ปัญหากรุงเทพฯ แต่ลองดูสักตั้ง ลองมาช่วยกัน คุณอาจจะสนุกกับความท้าทายของเมืองด้วยซ้ำ น้องๆ ที่มาร่วมงานกับผม เชื่อว่าเขาก็มาเข้าร่วมด้วยความหวัง แล้วพอคุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา คุณจะมีความหวัง อาจจะไม่ได้ทำเพื่อตัวเราตอนนี้ แต่อาจจะทำเพื่อคนที่เรารักในอนาคต การไปที่อื่นอาจจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด ขู่ไว้ก่อนนะ (หัวเราะ) อย่าเพิ่ง Give up ลองดูสักตั้งก่อน ถ้าไม่ไหวจริงๆ ค่อยไป

รูป: ทีมงานชัชชาติ

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ Bangkok Hope จาก Urban Creature ที่จะชวนทุกคนมองหา ‘ความหวัง’ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ดังนั้นความหวังสู่การเปลี่ยนแปลงนี้จึงควรมีทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ ขีดเขียน และเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวไปพร้อมๆ กัน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.