เพราะเกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ เราจึงมีประสบการณ์ตรงกับฤดูฝุ่นควันที่แวะเวียนมาทุกปี
จำไม่ได้แล้วว่าครั้งแรกที่คัดจมูกเพราะฝุ่นควันคือเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือทุกครั้งที่ฤดูฝุ่นเวียนมาถึง มันจะรุนแรงขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับอุณหภูมิในเมืองที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ วัดได้จากหน้าหนาวที่ไม่ได้หนาวเท่าเดิม
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นปัญหาที่น่ากลัว และไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเรา เช่นเดียวกับ ‘บุษกร สุริยสาร’ ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาโครงการ Changing Climate, Changing Lives (CCCL) Film Festival
ใครหลายคนอาจรู้จัก CCCL ในชื่อ ‘เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน’ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2563 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี เทศกาลนี้ไม่ได้เป็นเทศกาลฉายหนังสั้นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเวทีที่เปิดให้นักทำหนังอิสระรุ่นใหม่จากภูมิภาคเอเชียได้เสนอโปรเจกต์ขอทุนทำหนังของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็เปิดรับหนังสั้นจากคนทำหนังทั่วโลก
เมื่อพูดถึงหนังสั้นหรือคอนเทนต์ใดๆ เกี่ยวกับโลกร้อน เรามักจะนึกถึงการให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมาหรือสารคดีน่าเบื่อ แต่ CCCL ไม่เชื่อเช่นนั้น พวกเขาเชื่อว่าหนังสั้นที่สื่อสารประเด็นจริงจังก็มีความหลากหลาย ดูสนุก และครีเอทีฟได้เหมือนกัน
เรานัดพบกับบุษกรและ ‘นคร ไชยศรี’ ผู้ออกแบบกิจกรรมและเทศกาล เพื่อพูดคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการสร้างเฟสติวัล Edu-tainment ในบ่ายวันหนึ่งที่เราได้ยินข่าวว่าฤดูฝุ่นของเชียงใหม่กลับมารุนแรงอีกครั้ง ก่อนจะจบบทสนทนาด้วยความหวังเต็มเปี่ยมหัวใจว่าในปีต่อไปเราจะได้ยินข่าวดีบ้าง
ทุกอย่างเริ่มจากการตระหนักรู้ว่าโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราได้เรียนรู้เช่นนั้น
โลกป่วยเราต้องเปลี่ยน
เพราะเคยทำงานให้ UN และติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกมาตลอด บุษกรจึงค่อยๆ อินกับเรื่องโลกร้อนมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้อินได้มากที่สุดคือสัญญาณที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง
“เราเป็นคนเชียงราย ซึ่งเมื่อก่อนในฤดูหนาวเชียงรายจะหนาวมาก แต่ตอนนี้เรากลับไปแล้วมันร้อน ก็สงสัยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้” หญิงสาวสงสัย “ข่าวที่ออกมาในช่วงปีหลัง มีไฟไหม้ป่าหลายล้านไร่ มีสัตว์ตายเป็นพันล้านตัว สิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่คนในเมืองไม่ได้สัมผัส และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งจริงๆ แล้วมันไกลตัวคุณแต่มันไม่ได้ไกลตัวคนอื่น เกษตรกรที่ปลูกพืชประสบกับปัญญาฝนทิ้งช่วง ปลูกพืชมาแล้วไม่ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม
“เราเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ได้มีโอกาสทำงานกับรัฐในการออกนโยบายต่างๆ และเห็นว่าในภาคส่วนสังคม มีหลายคนยังไม่รู้ปัญหาเหล่านี้ บางคนอาจจะรู้แค่ฤดูฝุ่นมาอีกแล้ว ตั้งคำถามว่าทำไมมันร้อนจังวะ แต่ไม่มีใครตื่นตัวกับมัน”
นอกจากการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง เธอยังเชื่อว่า เราสามารถขับเคลื่อนนโยบายเรื่องโลกร้อนและสร้างการตระหนักรู้ของคนในสังคมไปได้พร้อมกัน แต่อย่างหลังต้องใช้รูปแบบการสื่อสารอีกแบบที่เข้าถึงคนได้ง่าย ไม่สื่อสารข้อมูลทางวิชาการแบบโต้งๆ
รู้ตัวอีกที เธอก็เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยนเสียแล้ว
เริ่มจากความเข้าใจ
เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน หรือ CCCL ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 โดยคริสโตเฟอร์ จี. มัวร์ นักเขียนชาวแคนาดาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้เป็นสามีของบุษกร
เป็นไอเดียของคริสโตเฟอร์คนนี้นี่เอง ที่เสนอให้นำภาพยนตร์และศิลปะมาดึงดูดให้ผู้คนสนใจเรื่องโลกร้อน เขารวมตัวกับเพื่อนจากหลายแวดวงที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เหมือนกัน ทั้งนักข่าว นักวิชาการ ศิลปิน และคนที่ทำงานเรื่องสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ ซึ่งล้วนแล้วแต่อยากขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้คนในสังคมเข้าใจมากขึ้น
พ้นไปจากความตั้งใจอยากสื่อสารเรื่องโลกร้อนกับคนในสังคม จุดประสงค์ของ CCCL คือการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนนักทำหนังอิสระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เล่าเรื่องโลกร้อนในสไตล์ของตัวเอง โดยสนับสนุนทุนในการทำหนังให้พวกเขา ซึ่งทีม CCCL บอกว่า สำหรับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องโลกร้อนอย่างถ่องแท้ นี่เป็นการฝึกปรือฝีมือการทำหนังและเรียนรู้เรื่องสภาพอากาศไปพร้อมกัน
“นอกจากนั้น เรายังให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีทุน เช่น กลุ่มนักศึกษานักทำหนังรุ่นใหม่ กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ และกลุ่มที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ส่งเสียง ในการให้ทุนเราดูเรื่องความเท่าเทียมด้วย ไม่ใช่แค่มีนักทำหนังที่เป็นผู้ชายอย่างเดียว เราให้ทุนกับผู้หญิง กลุ่ม LGBTQ+ เราดูตรงนี้เป็นส่วนประกอบ”
หลังจากมอบทุนอย่างน้อย 10 โปรเจกต์ต่อปี พวกเขายังสนับสนุนคนทำหนังในเรื่องการเรียนรู้ เช่น มีการจัดเสวนากับผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่อง หรือหากทีมไหนอยากได้พี่เลี้ยงที่เป็นนักทำหนังมืออาชีพ ทีมงานก็จะจัดหาให้
อย่างไรก็ดี เทศกาลหนังนั้นมีโควตาจำกัด ทำให้หนังที่ได้รับทุนอาจไม่ได้ถูกเลือกให้มาฉายในเทศกาลทุกเรื่อง นั่นเพราะพวกเขาเปิดรับหนังสั้นจากนักทำหนังทั่วโลกด้วยอีกทาง
หนังโลกร้อนก็สนุกได้
383 คือจำนวนหนังสั้นว่าด้วยภาวะโลกร้อนที่ถูกส่งเข้ามาประกวดในเทศกาล CCCL ปีล่าสุด
บุษกรเล่าว่า หนังสั้นที่ส่งเข้ามามีทุกสไตล์ ซึ่งจะเข้าประกวดใน 2 กลุ่มรางวัลคือ กลุ่มหนังสารคดี (Documentary) และกลุ่มหนังที่ไม่ใช่สารคดี (Non-documentary) ทั้งหนังที่เป็นเรื่องแต่ง หนังทดลอง หนังสต็อปโมชัน ฯลฯ
จาก 383 เรื่องจากนักทำหนังทั่วโลก พวกเขาคัดเหลือเพียง 38 เรื่องที่จะฉายในเทศกาลที่จัดฉายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกหนัง นครออกปากว่า พวกเขาอยากเน้นความหลากหลาย ทั้งในแง่เนื้อหา วิธีการเล่าเรื่อง และความหลากหลายของทีมงานเบื้องหลัง มากกว่านั้นคือสะท้อนปัญหาจริงๆ
“ภาพจำของหนังสิ่งแวดล้อมคือมันน่าเบื่อ ต้องเป็นสารคดีอย่างเดียว เราก็พยายามชาเลนจ์ว่าเราไม่ได้อยากหาหนังแนวนี้อย่างเดียว เราอยากเห็นการเล่าที่น่าสนใจมากขึ้น พยายามเล่นกับประเด็น Climate Change ในวิธีคิดของเหล่าคนทำหนังเพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น”
นครยกตัวอย่าง Avocado on Pancakes หนังรางวัล Grand Jury Prize สาขา Non-documentary ประจำปีนี้ให้เราฟัง หนังว่าด้วยชู้รักคู่หนึ่งที่กำลังนั่งทานอาหารอิซากายะ และมีปากเสียงกันเพราะเมนูอะโวคาโด ที่ฝ่ายหนึ่งไม่รู้ว่ากว่าจะปลูกอะโวคาโดได้สักลูกต้องใช้น้ำไปมากเท่าไหร่ ลามไปถึงการถกกันเรื่องฟาสต์แฟชั่นและคาร์บอนฟุตพรินต์
เรื่องการนำเสนอให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ทีม CCCL จัดทำโครงการ School & University Tour ไปฉายหนังในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย มากกว่านั้นยังมีการจัดฉายออนไลน์อีกด้วย
“เรารู้ว่าทุกวันนี้มีกิจกรรมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเยอะมาก เรารอให้เขามาหาเราอย่างเดียวมันไม่พอหรอก เราเลยอยากไปหาเขาด้วย มากกว่าการจัดฉายหนัง เราชวนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคนในท้องที่มานั่งคุยกันหลังหนังจบ เพื่อหวังว่ามันจะสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนในพื้นที่ได้” บุษกรย้ำ
“สิ่งที่เราคาดหวังจากเทศกาลนี้มีอยู่สองอย่าง หรือจะเรียกว่าเป้าหมายก็ได้ เป้าหมายแรกคือ การเป็นเทศกาลที่คนทำหนังเกี่ยวกับ Climate Change ในภูมิภาคเอเชียจะส่งหนังมาที่เรา เป้าหมายที่สองคือ การสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเยาวชน เราอยากให้เขามาดู ตั้งคำถาม และคุยกันต่อ หลายคนเข้ามาหาเราเพื่อดูหนังของประเทศอื่น พอดูจบเขาบอกว่านี่เป็นประเด็นที่มีอยู่ในประเทศเขาเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อคนในทุกที่ เราอยากเห็นอะไรแบบนั้น
“สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การสร้างพื้นที่ที่คนทำหนังและคนเข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกว่าตัวเขามีพื้นที่ที่เข้ามาแล้วได้เห็นอะไรหลายอย่าง เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่ากับสังคม เป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้และมีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง เป็นพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนศิลปะ”
อนาคตของเทศกาล คือไม่มีเทศกาล
แม้จะทำงานมาแล้ว 3 ปี ทีมงาน CCCL ยังมองว่าเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยนยังไม่ได้สร้างอิมแพกต์ยิ่งใหญ่ให้กับสังคม แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็ช่วยสร้างความตระหนักรู้และแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในหมู่เยาวชนคนทำหนังรุ่นใหม่
“ในทุกปี มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ พยายามผลักดันนักศึกษาให้ส่งหนังเข้าร่วมเทศกาล อิมแพกต์ในอีกระดับหนึ่งคือ หนังหลายเรื่องถูกส่งไปฉายเทศกาลอื่นๆ และได้รางวัลกลับมา ส่วนอิมแพกต์ต่อชุมชน มีหลายชุมชนขอหนังเราไปฉาย เราไม่รู้หรอกว่าจะสร้างอิมแพกต์ได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยมันก็ถูกมองเห็น”
ย้อนกลับมามองในมุมของคนเมือง บุษกรเชื่อว่าการมีอยู่ของเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยนตอบโจทย์เพนพอยต์ที่เธอมองเห็นในจุดเริ่มต้น
นั่นคือการตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว
“ถ้ามีเทศกาลนี้ เขาจะได้เห็นชีวิตของคนที่ถูกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจริงๆ ทั้งคนต่างประเทศและคนไทย คนที่ต้องต่อสู้กับไฟป่าเขาต้องเจออะไร คนที่เจอ PM 2.5 หนักๆ ในภาคเหนือเขามีชีวิตแบบไหน มันไม่ใช่แค่ปัญหาฝุ่นแต่ร้ายแรงกว่านั้นมาก
“ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่คุณอาจไม่เคยสนใจเลย แต่รู้ตัวอีกทีมันก็มาถึงตัวแล้ว แล้วคุณอาจตระหนักว่าจริงๆ แล้วมันมีคนอื่นที่เขาตื่นตัว พยายามเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คุณฟังมาตลอด แต่คุณเข้าหามันหรือเปล่า”
เมื่อเราถามว่ามองอนาคตของเทศกาลไว้แบบไหน นครยิ้มแล้วบอก “อนาคตที่มองไว้ของเทศกาลนี้คือไม่มีเทศกาลนี้อีกต่อไป เมื่อไหร่ที่ทุกคนเข้าใจประเด็น เราคิดว่าหน้าที่ของเราจบลงแล้ว ไปทำอย่างอื่นดีกว่า”
“ตอนนั้นอาจจะไม่อยู่ในเมืองแล้ว หนีขึ้นไปอยู่บนดอยสักแห่ง” บุษกรเสริมอย่างติดตลก แล้วหันมาตอบอย่างจริงจัง
“แต่ระหว่างนั้น เราอยากให้เทศกาลนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ และเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนของคนจากหลากหลายพื้นที่ได้มาเล่าเรื่อง เราจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนพวกเขา โดยเฉพาะคนที่เขาอาจไม่ได้มีโอกาสได้เล่าเรื่องสักเท่าไหร่” เธอปิดประโยคด้วยรอยยิ้ม
3 หนังแนะนำจากเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน
หนังรางวัลชนะเลิศฝั่งสารคดี ว่าด้วย ‘มิวาตาริ’ (แปลว่า ทางข้ามของพระเจ้า) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ที่ทะเลสาบสุวะในจังหวัดนากาโนะ ซึ่งน้ำแข็งในทะเลสาบจะก่อตัวขึ้นเป็นแท่งเหมือนทางเดินยาว
หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับนักบวชในวัดแห่งหนึ่งที่จดบันทึกเกี่ยวกับมิวาตาริมาหลายร้อยปี แต่ช่วงหลังๆ เมื่อโลกเริ่มร้อน ปรากฏการณ์นี้ก็เริ่มหายไป
หนังสั้นว่าด้วย ‘แจ๊ค’ กับ ‘โรส’ ชู้รักคู่หนึ่งที่กำลังนั่งทานอาหารอิซากายะ และมีปากเสียงกันเพราะเมนูอะโวคาโด ที่ฝ่ายหนึ่งไม่รู้ว่ากว่าจะปลูกอะโวคาโดได้สักลูกต้องใช้น้ำไปมากเท่าไหร่ ลามไปถึงการถกกันเรื่องฟาสต์แฟชั่นและคาร์บอนฟุตพรินต์
คนหลังเขา
สารคดีแนว Observational Documentary ที่ไม่มีบทพูด แต่แสดงให้เห็นว่าชีวิตของคนบนเขาที่ต้องต่อสู้กับไฟป่าเป็นอย่างไร และหาคำตอบเบื้องหลังการเผาไร่เผานาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของพวกเขามาเป็นร้อยเป็นพันปี