จุดหมายปลายทางของคนส่วนใหญ่ที่เดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคเหนือ มักจะหยุดอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย หรือถัดออกมาหน่อยคงเป็นน่าน แต่สำหรับ ‘แพร่’ จังหวัดเล็กๆ ที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาทั้งสี่ทิศ อาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ของใครหลายคน
แต่ถ้าเป็นคนที่ชื่นชอบการเที่ยวชมธรรมชาติ สัมผัสวิถีชุมชน และสนใจเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี เชื่อเถอะว่าถ้าได้มาเยือนจังหวัดแพร่ด้วยตัวเองสักครั้งจะต้องติดใจ อยากกลับมาอีกแน่นอน เพราะที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือที่มีภาคประชาสังคมที่แข็งแรง และพร้อมผลักดันเมืองที่เต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์แห่งนี้ให้ก้าวไปข้างหน้า
คอลัมน์ Neighboroot ขออาสาพาไปทำความรู้จักกับแพร่ในแง่มุมต่างๆ ผ่าน 3 สถานที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘ชุมชนบ้านนาตอง’ แหล่งโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุกว่า 4,500 ปี ‘อาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน (บ้านเขียว)’ พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของชาวแพร่ที่ถูกบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์ และ ‘กาดกองเก่า’ กาดแลงประจำวันเสาร์ที่กลายเป็นจุดนัดพบของคนในท้องถิ่น ว่าสถานที่เหล่านี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไร และเพราะอะไรจึงไม่ควรพลาดหากได้ไปเยือน
เปิด ‘บ้านนาตอง’ โบราณคดีชุมชน แหล่งเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติ
การเดินทางครั้งนี้เราตั้งต้นกันที่ตัวเมืองแพร่ เพื่อนัดเจอ ‘ลุงไกร-วุฒิไกร ผาทอง’ หนึ่งในสมาชิกข่ายลูกหลานเมืองแพร่ เครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัดแพร่ ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนที่มีความรักในท้องถิ่นเมืองแพร่ ผู้จะเป็นคนนำเราไปเรียนรู้เรื่องราวของเมืองแพร่ในแง่มุมประวัติศาสตร์ โดยมี ‘ชุมชนบ้านนาตอง’ เป็นจุดหมายแรกของเราในวันนี้
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ ถัดออกไปจากตำบลช่อแฮ ที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงประจำปีขาลไปไม่ไกลมาก เราจะได้พบกับชุมชนบ้านนาตอง หมู่บ้านเล็กๆ บนที่ราบเชิงเขาที่ถูกโอบล้อมไปด้วยป่าเขียวชอุ่ม บรรยากาศเย็นสบาย เหมาะสำหรับการพักผ่อนร่างกายและจิตใจ หลีกหนีจากความวุ่นวาย แถมยังเป็นสถานที่ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณอีกด้วย
“ตอนแรกลุงก็มาเที่ยวแบบนี้แหละ ตอนประมาณปี 47 มาถึงเด็กๆ เขาพาไปดูถ้ำ โชคดีที่น้องที่มาด้วยเขาเรียนโบราณคดีปริญญาเอก เห็นของในถ้ำมีลักษณะเหมือนเครื่องมือหิน มีโครงกระดูก น่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ เลยปรึกษาอาจารย์และขอทำเรื่องขุดค้น” ลุงไกรย้อนความถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ค้นพบโครงกระดูกโบราณ
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีเกิดได้จากความร่วมมือระหว่างชุมชนบ้านนาตอง, ข่ายลูกหลานเมืองแพร่, ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SPAFA : SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts) และกรมศิลปากร ที่ร่วมด้วยช่วยกันขุดค้น ‘ถ้ำปู่ปันตาหมี’ จนพบชิ้นส่วนเครื่องมือที่ทำจากหิน โบราณวัตถุ และโครงกระดูกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งหมด 9 โครง โดยมีโครงหนึ่งที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้ทางทีมตัดสินใจส่งตรวจที่อเมริกา พบว่าโครงกระดูกนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 4,500 ปี เท่ากับเป็นการเปิดประวัติหน้าใหม่ของเมืองแพร่
“พอเจอแบบนี้เราเลยต้องการชูประเด็นเรื่องโบราณคดีชุมชนขึ้นมา โดยเชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์เมืองแพร่” ทำให้ในที่สุดลุงไกรตัดสินใจสานต่อความตั้งใจ ผลักดันจนเกิดเป็น ‘พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง’ เพื่อเป็นสถานที่ในการดูแลรักษาโครงกระดูกและโบราณวัตถุอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
“ปัญหาต่อมาคือเราพบว่ามันไม่มีคนดูแลรักษาต่อ เพราะชาวบ้านเขาต้องทำมาหากิน ส่วนเด็กๆ ที่เราหวังว่าน่าจะมาช่วยได้ พอขุดค้นเสร็จโรงเรียนก็ร้างไปแล้ว” ลุงไกรเล่าถึงปัญหาหลังจากขุดค้นพบ ทำให้ในช่วงแรกตัวพิพิธภัณฑ์มีความลุ่มๆ ดอนๆ ต้องย้ายสถานที่ไปมา จากศาลาของวัดธรรมานุภาพ ไปที่โรงเรียนร้างแห่งเดียวของบ้านนาตอง ก่อนจะย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่วัดอีกครั้งหลังเจ้าอาวาสสละกุฏิของท่านให้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์
ลุงไกรบอกกับเราว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นรูปเป็นร่างได้มาจากการรับไม้ต่อของ British Council Thailand ในโครงการ ‘มรดกวัฒนธรรมเพื่อการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Cultural Heritage for Inclusive Growth)’ ที่ก่อนหน้านี้ Urban Creature เคยพาไปแหล่งกระจายเครื่องเทศสู่แหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมอาหารอย่าง ‘ชุมชนริมน้ำจันทบูร’ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ภายใต้โครงการนี้เช่นกัน
การเข้าร่วมโครงการนี้มาเป็นเวลา 2 ปีทำให้ลุงไกรและชาวเครือข่ายมีงบในการสานต่องานออกมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบปัจจุบันได้ในที่สุด โดยมี ‘พระมหาสิงห์ชัย มหามงฺคโล’ เจ้าอาวาสวัดธรรมานุภาพ ‘เสริฐ เข็มเมือง’ ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาตอง และชาวบ้านในพื้นที่เป็นแรงสำคัญ
“อาตมาเพียงแค่มาสานต่อให้สำเร็จจนเกิดขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ เพราะพื้นที่วัดมีโฉนดที่ดิน ทำให้การนำพิพิธภัณฑ์มาตั้งในวัดนั้นง่ายต่อการดูแล” พระมหาสิงห์ชัยเล่าถึงการมีส่วนร่วมของตน
ขณะเดียวกัน วัดแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ทำให้เมื่อมีกิจกรรมทางศาสนาอะไร ถ้าไม่รบกวนเวลาทำมาหากิน ชาวบ้านก็ยินดีเข้ามาช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านเสริฐยังบอกกับเราว่า หลายๆ ครั้งที่มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเยี่ยมชมที่นี่ ก็ได้ชาวบ้านบางส่วนเคยเข้าร่วมการขุดค้นด้วยนี่แหละที่เป็นคนคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวพิพิธภัณฑ์ และบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วยรอยยิ้ม
“ที่หลายคนรู้จักบ้านนาตองก็เพราะมีพิพิธภัณฑ์ คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ก็ดีขึ้น จากเดิมที่ไปทำไร่เลื่อนลอย หลังๆ มีอะไรก็ทำมาขายนักท่องเที่ยว ไม่ต้องไปล้มไม้ในป่า บ้างก็เปิดร้านกาแฟ บ้างก็เปิดเป็นโฮมสเตย์” ผู้ใหญ่บ้านเสริฐเล่าถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวบ้านหลังมีพิพิธภัณฑ์
แต่ถึงอย่างนั้นลุงไกรก็ยังบอกกับเราว่า ถ้าไม่ได้ ‘ครูนุ้ย-อารยา จันทร์ตา’ ครูวิชาสังคมฯ จากโรงเรียนบ้านหาดรั่วมาช่วยสานต่อ พิพิธภัณฑ์ก็คงไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างในทุกวันนี้
“ความโชคดีคืองบที่เราได้มาจาก British Council Thailand ที่สนับสนุนงานด้านมรดกวัฒนธรรมอย่างเปิดกว้าง บวกกับการทำงานของข่ายลูกหลานเมืองแพร่คือการหนุนให้คนทำในสิ่งที่เขาสนใจ ทำให้พอเจอคนแบบครูนุ้ย มันจึงเปิดโอกาสให้เราได้ทดลองกับครูว่าจะทำอะไรต่อไปกับตัวพิพิธภัณฑ์” ลุงไกรกล่าว
“เราเป็นครูสังคมฯ มีความรู้เชิงการเรียนการสอน เลยมีโอกาสมาช่วยในส่วนของตัวพิพิธภัณฑ์ ทั้งทำชาร์ตบอร์ด ออกแบบข้อมูล จัดไฟ และดีไซน์การนำเสนอใหม่ให้น่าสนใจขึ้น” ครูนุ้ยอธิบายเสริมถึงส่วนที่ตัวเองทำ
และถึงแม้ปัจจุบันตัวพิพิธภัณฑ์จะดำเนินงานมาได้ระยะหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่บ้านนาตองจะต้องไปต่อคือการสร้างระบบนิเวศชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นสเต็ปถัดไปของทางโครงการ
“ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง แต่หมายรวมถึงชุมชนบ้านนาตอง เพราะคนที่อยู่ตรงนี้เขาจะเป็นคนสานต่องานให้เรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโฮมสเตย์ ร้านค้า และการดูแลความสะอาดของสถานที่ด้วย
“มันต้องปรับให้ที่นี่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน เพราะต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้สถานที่สวยงามมีผลต่อการเข้ามาเรียนรู้มากจริงๆ” ครูนุ้ยกล่าวทิ้งท้าย ก่อนที่เราและลุงไกรจะขอตัวลา เดินทางลงจากบ้านนาตองเพื่อไปยังสถานที่ต่อไปที่เรานัดกับอีกหนึ่งสมาชิกของข่ายลูกหลานเมืองแพร่เอาไว้
อนุรักษ์ ‘บ้านเขียว’ พื้นที่สาธารณะริมน้ำแห่งใหม่ของชาวแพร่
“เรามักได้ยินคนในเมืองแพร่บอกว่า แพร่ไม่มีอะไรให้ทำ เวลาไปเรียนข้างนอก สุดท้ายเขาก็ไม่กลับมากัน”
นี่คือประโยคแรกที่ ‘พี่บี-ธีรวุธ กล่อมแล้ว’ เจ้าของ ‘Gingerbread House Gallery’ ร้านคาเฟ่และแกลเลอรีที่เปิดให้บริการที่พักบริเวณชั้นบน และผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ABO+ Phrae Creative Wisdom Space’ บอกกับเรา
เพราะสำหรับพี่บีแล้ว แม้แพร่จะเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ค่อยคึกคัก แต่เขากลับมองว่าแพร่เป็นเมืองที่ไม่เคยร้าง อีกทั้งตัวเมืองไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทำให้เมื่อถึงเวลาหนึ่ง พี่บีตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจที่แพร่ โดยเริ่มต้นจากก่อตั้ง Gingerbread House Gallery แห่งนี้ขึ้น
และเมื่อมีโอกาสได้รู้จักลุงไกร จนกระทั่งเข้าร่วมข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ด้วยความสนใจเรื่องเมืองเก่า การพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้เขาก่อตั้ง ‘สมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่’ ที่ส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าแพร่ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน จากการต่อยอดออกมาจากข่ายลูกหลานเมืองแพร่อีกต่อหนึ่ง
หลังจากนั้นพี่บีก็กลายเป็นแกนนำขับเคลื่อนบ้านเขียว แหล่งเรียนรู้สวนรุกขชาติเชตวัน ในปี 2563 เพื่อทวงคืน ‘อาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน’ หรือ ‘บ้านเขียว’ หลังจากเรือนขนมปังขิงสีเขียวริมแม่น้ำยมอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้ถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรื้อเหลือแต่ซาก
“ความจริงก่อนโดนรื้อ บ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของรูตการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เป็นสถานที่ที่เราไปจัดกิจกรรมอยู่บ้าง แต่รู้ตัวอีกทีบ้านก็หายไปแล้ว” พี่บีเล่าให้เราฟัง
ความจริงบ้านไม้เก่าลักษณะนี้ในเมืองแพร่ถูกรื้อทิ้งเป็นประจำ แต่สิ่งที่ทำให้ประเด็นการรื้อบ้านเขียวถูกพูดถึงในวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาคารหลังนี้เป็นพื้นที่เก่าแก่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านการทำไม้ โดยเป็นจุดสำคัญในการล่องน้ำตามแม่น้ำยม
แม้บ้านเขียวจะมีชื่อในหลายสื่อ และชื่อที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ คือ ‘อาคารบอมเบย์เบอร์มา’ บริษัทค้าไม้สัญชาติอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ในแพร่ แต่ความจริงแล้วอาคารหลังนี้คือ ‘อาคารสำนักงานป่าไม้ภาคสยาม’ หรือ ‘อาคารสยามฟอเรสทรี’ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2444
“กระบวนการมีส่วนร่วมเมื่อก่อนมันเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมแบบจัดตั้ง ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ พอเขาบอกว่าเรารื้อแล้วทำใหม่ให้แข็งแรง ใช้งานได้ดี คนทั่วไปก็มองว่าดี เพราะเขาไม่รู้ว่ามันมีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ของมัน
“เราไม่ได้ห้ามให้รื้อ ส่วนตัวเราสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอยู่แล้ว แต่เราแค่อยากรู้ว่าการรื้อถอนตรงนี้มีกระบวนการศึกษาที่ถูกต้องตามวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้วหรือยัง มีกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนไหม ทำแล้วมีแนวทางในการอนุรักษ์พัฒนายังไง” พี่บีบอกถึงสิ่งที่ต้องการ
โชคดีที่ช่วงนั้นพี่บีมีข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านหลังนี้อยู่ในมือ ทำให้เขาตัดสินใจตั้งเป็นภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำจดหมายปิดผนึกส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐ รวมไปถึงใช้สื่อ เครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ และนักวิชาการข้างนอกช่วยส่งเสียง เกิดเป็นการก่อสร้างโครงการอนุรักษ์และพัฒนาศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารใหม่มาทดแทนอาคารหลังเดิมที่ถูกรื้อไปในที่สุด
ผ่านไป 4 ปีหลังจากดำเนินการก่อสร้าง โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ในที่สุดอาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวันก็กลับมาเปิดใช้งานเรียบร้อยแล้ว โดยใช้วัสดุแบบดั้งเดิม คงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบเก่าให้อาคารกลับมามีสภาพสมบูรณ์และคงคุณค่าดั้งเดิมมากที่สุด เพื่ออนุรักษ์และดำรงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมทางโบราณคดี เป็นสถานที่ศึกษาประวัติการทำไม้ในอดีตของจังหวัดแพร่ รวมถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการป่าไม้
“เราทำขั้นตอนอนุรักษ์สำเร็จแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำต่อคือเราจะพัฒนายังไงให้ยั่งยืน” พี่บีกล่าว
เขาบอกกับเราว่า ตอนนี้เราได้บ้านเปล่าๆ กลับมาแล้ว กระบวนการต่อไปคือจะทำอย่างไรไม่ให้บ้านนี้กลายเป็นพื้นที่แห้งๆ ไม่มีคนมาใช้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น สุดท้ายคงไม่พ้นตกอยู่ในอีหรอบเดิม
“คนที่จะดูแลบ้านหลังนี้ได้ดีที่สุดคือชุมชน ถ้าเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ได้ใช้ประโยชน์จากมัน เขาจะดูแลรักษาในระยะยาว ตอนนี้เราเลยพยายามทำให้มันเกิดฟังก์ชันในการใช้งานด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้คนในชุมชนรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ทำอะไรก็ได้ตามที่คุณต้องการ” พี่บีทิ้งท้ายถึงจุดมุ่งหมายของการดำเนินงาน
ปัจจุบันบ้านเขียวกลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ของชาวเมืองแพร่ ที่ภายในตัวอาคารมีการจัดแสดงสิ่งของและประวัติความเป็นมาของพื้นที่ สำหรับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตัวอาคารสำนักงานป่าไม้ภาคสยาม ในขณะที่สนามหญ้าด้านหน้ายังเปิดให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนา ตลาดนัด หรือปิกนิกชมวิวธรรมชาติของแม่น้ำยมยามเย็น
‘กาดกองเก่า’ กาดแลงที่กำลังบอกเล่าความเป็นแพร่ผ่านวิถีชีวิต
นอกจากแหล่งโบราณคดีชุมชนบนบ้านนาตองและบ้านเขียวที่กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของจังหวัดแพร่ อีกหนึ่งสถานที่ที่พลาดไม่ได้เลยคือ ‘กาดกองเก่า’ กาดแลงหรือตลาดเย็นประจำวันเสาร์ของชาวแพร่ ที่ทำให้เราเห็นวิถีชีวิตและความเป็นแพร่ได้ดียิ่งขึ้น
ถัดจากบ้านเขียวไม่ไกลก็เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายของวันนี้กับบ้านของ ‘พี่ชิน-ชินวร ชมภูพันธ์’ อีกหนึ่งสมาชิกของข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ผู้ก่อตั้งกาดกองเก่าที่ลุงไกรแนะนำให้เรารู้จัก
แรกเริ่มหลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พี่ชินเข้าทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก่อนชีวิตจะพบกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง จึงได้ผันตัวไปทำบริษัทโฆษณา และรับเป็นออร์แกไนเซอร์จัดอีเวนต์ กระทั่งปลายปี 2548 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เขาตัดสินใจกลับมาที่จังหวัดแพร่เพื่อดูแลแม่ที่ป่วย
“ช่วงที่กลับมาอยู่บ้าน ทำให้พบว่าแพร่มีคุ้มเจ้านายอยู่หลายหลัง รวมไปถึงเรามีย่านเก่าชุมชนเก่าที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก ผมเลยชวนคนที่มีความสนใจเรื่องบ้านเก่ามาทำอะไรก็ได้เพื่อรักษาบ้านไม้เก่าในเมืองแพร่ไว้” พี่ชินเล่า
ด้วยเหตุนี้ จากข่ายลูกหลานเมืองแพร่จึงแตกแยกย่อยออกมาเป็น ‘ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่’ ที่พยายามทำกิจกรรมกับชุมชน โดยมีเป้าหมายคือการรักษามรดกวัฒนธรรมที่เป็นเรือนพื้นถิ่นสร้างด้วยไม้เอาไว้
ในช่วงนั้นพี่ชินพบว่า จากเดิมที่มีบ้านไม้อยู่เป็นจำนวนมากกลับถูกซื้อขายไปอย่างรวดเร็วเพราะไม้เก่ามีมูลค่าสูง หากปล่อยไว้ไม่นานคงหมดไปจากเมืองแพร่ ซึ่งเรือนไม้เหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาความรู้รูปแบบการก่อสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ และมีความโดดเด่นเป็นลักษณะเฉพาะจากคุณค่าที่สร้างโดยคนพื้นถิ่น
เขาอาศัยการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนในชุมชน เช่น กิจกรรมผ่อบ้านแอ่วเมือง ที่ชวนคนในเมืองมาปั่นรถถีบ (จักรยาน) นั่งสามล้อ เพื่อพูดคุยถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และนิทรรศการภาพเก่าเมืองแพร่ ก่อนจะต่อยอดมาเป็นกาดกองเก่าในปัจจุบัน
“พอทำกิจกรรมผ่อบ้านแอ่วเมือง เราก็เริ่มรู้ว่าความจริงคนแพร่ชอบออกจากบ้านมาเจอกัน แต่มันไม่มีโอกาสมาเจอกันนอกจากงานขาวดำ เราเลยไปคุยกับพี่ไกรว่างั้นเราทำถนนคนเดินดีไหม” พี่ชินเล่าถึงจุดเริ่มต้นของสถานที่แห่งนี้
กาดกองเก่าเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 ซึ่งในตอนนั้นยังถือเป็นโครงการทดลองถนนวัฒนธรรมที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน และจัดต่อเนื่องมาจนกระทั่งจบโครงการในเดือนเมษายน ปี 2554
“ตอนแรกเราจะทำแค่นั้นแล้วเลิก เป็นเหมือนการทดลองให้ดูเฉยๆ ว่ามันมีความสามารถที่จะไปต่อได้ ถ้าใครอยากทำต่อก็ทำ” โครงการทดลองคือความตั้งใจแรกที่พี่ชินบอกกับเรา
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะหลังจากจบโครงการ ชาวชุมชนพระนอนและชุมชนใกล้เคียงที่เห็นว่าสามารถสร้างรายได้ได้จากการจัดกาด ก็อยากให้มีการดำเนินการต่อ ทำให้ประธานชุมชนในขณะนั้น ร่วมกับข่ายลูกหลานเมืองแพร่, ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่, ชุมชนพระนอนและชุมชนใกล้เคียง ได้ขออนุญาตจัดกาดกองเก่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเปลี่ยนจากเดือนละ 2 ครั้ง มาเป็นจัดตั้งทุกวันเสาร์แทน
“กาดกองเก่าเป็นส่วนหนึ่งที่เล่าเรื่องความเป็นชุมชน โดยไม่ได้เล่าถึงตรงๆ แต่เล่าเรื่องความเป็นแพร่หลายๆ เรื่องผ่านวิถีชีวิตของคน อย่างช่วงที่เราจัดใหม่ๆ สักสามสี่โมง แดดร่มลมตก คนเฒ่าคนแก่เขาก็จะออกมาเจอกัน กาดเลยทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดนัดพบ สร้างความผูกพัน สร้างสังคมขึ้นมาใหม่” พี่ชินเล่าด้วยรอยยิ้ม
และด้วยสาเหตุเช่นนี้ ทำให้ปัจจุบันถนนสายนี้มีกาดเชื่อมต่อกันทั้งหมด 3 กาด ได้แก่ กาดพระนอน ตั้งแต่บริเวณห้าแยกประตูมารไปจนถึงสี่แยกสันกลาง ซอย 3, กาดกองเก่า ตั้งแต่บริเวณสี่แยกสันกลาง ซอย 3 ถึงแยกบ้านวงศ์บุรี และกาดพงษ์สุนันท์ที่อยู่บริเวณหน้าบ้านวงศ์บุรีถึงสี่แยกวัดพงษ์สุนันท์
สุดท้ายนี้ ในสายตาของคนที่เพิ่งเคยมาเยือนเมืองแพร่แบบเรา ไม่เพียงแต่กาดกองเก่าที่กำลังเล่าเรื่องความเป็นชุมชน แต่อีกสองสถานที่ที่เราไปมาตั้งแต่เช้า ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง หรืออาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน ล้วนแล้วแต่กำลังบอกเล่าความเป็นชุมชนและจังหวัดแพร่ในแบบของตัวเอง ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของข่ายลูกหลานเมืองแพร่ที่มีลุงไกร พี่บี พี่ชิน รวมไปถึงคนอื่นๆ
การได้มาเยือนที่นี่ทำให้เราตระหนักว่า การดูแลพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นด้วยการก่อร่างสร้างอาคารสถานที่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้แรงกายแรงใจของคนในพื้นที่โอบอุ้มรักษา เสริมสร้างจิตวิญญาณให้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วย มิฉะนั้นต่อให้เรือนไม้จะทรงคุณค่าแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนเห็นความสำคัญ ไม้ย่อมผุพังไปตามกาลเวลาหรืออาจถูกรื้อถอนอย่างไม่มีใครเหลียวแล