เรียนรู้ประวัติศาสตร์กาแฟไทย ผ่านคาเฟ่ชื่อดังในแต่ละยุคสมัย - Urban Creature

จริง ๆ แล้วการเติมคาเฟอีนในกาแฟเข้าร่างกายได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นวันของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนยุคล่าอาณานิคมเสียด้วยซ้ำ ก่อนที่เราจะสามารถดื่มกาแฟคั่วสดชงสดได้แทบจะทุกหัวมุมถนนในกรุงเทพมหานคร ประวัติศาสตร์ของกาแฟนั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายจนถึงขั้นที่ว่าเคยถูกห้ามและกล่าวหาว่าเป็นเครื่องดื่มของซาตานก็มี กาแฟได้เดินทางจากจุดนั้นจนมาเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของคนทั่วโลกถึงขั้นที่ว่าเพียงจินตนาการถึงยามเช้าที่ไม่มีกาแฟสดให้ดื่มก็แทบอยากจะพุ่งตัวกลับไปตายคาเตียงแล้ว

สำหรับในประเทศไทย กาแฟเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมในสังคมไทยเมื่อใดนั้นก็ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ แต่ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เครื่องดื่มนี้เคยถูกเรียกกึ่งทับศัพท์แบบไทย ๆ ว่า “ข้าวแฟ่” ( มาจากคำว่า Coffee ) อาจเนื่องด้วยมีลักษณะเป็นเมล็ดคล้ายข้าว จึงใช้คำว่าข้าวไปเลย ดังหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสัพพะวัจนะภาษาไทย ฉบับพิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช 2397 ซึ่งจริง ๆ แล้วมีปรากฏหลักฐานกันว่าพวกเราปลูกกาแฟกันตั้งแต่สมัยอยุทธยาแล้ว จากการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ แต่เหตุผลที่ทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลายนักก็มีหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากเพราะรสชาติที่แสนขม จนบางคนเรียกว่าเป็นยามากกว่าเครื่องดื่มประจำวัน หรืออาจจะมาจากพันธุ์ของกาแฟที่ไม่ได้โอชารสถูกคอคนสมัยนั้นมากนัก แต่หากย้อนไปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปี 2367 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จะพบหลักฐานของการทดลองนำเมล็ดกาแฟมาเพาะปลูกในสวนของพระบรมมหาราชวัง และแจกจ่ายให้เสนาบดีนำไปปลูกต่อด้วย จึงสามารถกล่าวได้ว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายในสังคมของชนชั้นนำมาก่อน หลังจากปฏิวัติการปกครองปี 2475 จึงค่อย ๆ เป็นที่นิยมแพร่หลายลงมาให้กับประชาชนทั่วไป

ลำดับเหล่านี้เป็นการจัดอันดับ “คาเฟ่” หรือร้านกาแฟชื่อดังในแต่ละยุคสมัย ที่เป็นที่นิยมสำหรับคอกาแฟในช่วงนั้น บางร้านก็ปิดตัวลงถาวร แต่ก็ยังมีอยู่ไม่น้อยที่เปิดต่อเนื่องติดต่อกันมาจนกลายเป็นตำนานร้านกาแฟที่เรายังสามารถแวะเวียนไปชิมได้

1. ตุงฮู ตำนานมีชีวิตของกาแฟไทยที่มีอายุกว่า 140 ปี

เมื่อปี 2413 นายหยิบ หย่นฟู่ ชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้ร่วมหุ้นกับสหายรักของเขาและเปิดร้านโชห่วย เพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายคนท้องถิ่น ชื่อร้าน “ตุงฮู” ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง เชิงสะพานสีลม ในเวลาดังกล่าว ร้านตุงฮูถือเป็นร้านที่มีชื่อเสียงและขายดี เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และคนระดับเจ้านาย คุณหลวง และบรรดาเอกอัคราชทูต รวมไปถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ เช่น ผู้จัดการบริษัทเชลล์ ก็เป็นลูกค้าของร้าน โดยในสมัยนั้น ร้านตุงฮูได้สั่งเมล็ดกาแฟจากบราซิลเข้ามาจำหน่าย โดยส่งมาทางเรือ ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายดีมาก ร้านกาแฟนรสิงห์ที่กล่าวได้ว่าเป็นคาเฟ่ไทยแท้แห่งแรกในประเทศไทยก็เคยใช้เมล็ดกาแฟของตุงฮู รวมไปถึงโรงแรม และร้านกาแฟชั้นนำก็ใช้เมล็ดกาแฟจากร้านโชว์ห่วยตุงฮูเช่นกัน

ปัจจุบัน ร้านตุงฮูได้ย้ายมาอยู่ที่ซอยสีลม 17 และเปลี่ยนจากร้านโชว์ห่วยมาเป็นสำนักงาน ขายเมล็ดกาแฟทั้งปลีกและส่ง และยังเป็นที่นั่งดื่มกาแฟเล็ก ๆ ไปในตัว

2.Red Cross Tea Room ดื่มกาแฟช่วยชาติ

เมื่อปี 2460 ระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังดำเนินอยู่ นายมีสโคล์ ชาวอเมริกันที่มาตั้งถิ่นฐานในผืนแผ่นดินไทย ได้เช่าพื้นที่เล็ก ๆ บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี เพื่อเปิดคาเฟ่เล็ก ๆ ชื่อว่า Red Cross Tea Room โดยชื่อ Red Cross มีความหมายโดยตรงว่า กาชาด ซึ่งแม้จะใช้ชื่อว่า Tea Room แต่ก็ยังมีให้บริการเครื่องดื่มประเภทกาแฟด้วย โดยลูกค้าประจำจะเป็นเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และชาวต่างชาติที่นิยมและหลงไหลในกลิ่นและรสชาติของกาแฟและชา โดยผลกำไรจากการขายกาแฟ นายมีสโคลได้ส่งต่อให้สภากาชาดฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งสามารถมองได้ง่าย ๆ ว่าเป็นการดื่มกาแฟช่วยชาติ (สัมพันธมิตร) นับจากนั้นมา ความนิยมของเครื่องดื่มประเภทกาแฟก็ค่อย ๆ แพร่หลายมากขึ้นทั้งจาก Red Cross Tea Room และจากนักเรียนต่างประเทศที่กลับมาพร้อมกับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ

ปัจจุบัน Red Cross Tea Room ได้ถูกหยิบยืมเอาชื่อ และจำลองบรรยากาศโดยร้านเพลินวานพานิชณ์ ตั้งอยู่ที่ซอยทองหล่อ 13 ยังคงให้บริการเครื่องดื่มประเภทกาแฟและอาหารเช่นเคย

3. คาเฟ่ เดอ นรสิงห์

คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นร้านกาแฟอย่างฝรั่งสัญชาติไทยร้านแรกของประเทศ เดิมตั้งอยู่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของกลุ่มคนชั้นสูงในสมัยนั้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกเสือป่าม้าหลวงและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เปิดให้บริการเวลาดี แดดร่มลมตก ขายเครื่องดื่มทุกชนิดตั้งแต่กาแฟจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีอาหารว่างแบบฝรั่งจากยุโรปที่ไม่ใช่อาหารจานหลักอย่างไส้กรอก แฮม ซึ่งส่งตรงจากบ้านนรสิงห์ของเจ้าพระยารามราฆพ (ผู้บัญชาการกรมมหรสพ ผู้มีตราประจำตำแหน่งเป็นรูปนรสิงห์) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ก่อตั้งคาเฟ่ เดอ นรสิงห์นี้ ซึ่งเมล็ดกาแฟที่ใช้ในการทำเครื่องดื่ม ก็ย่อมต้องใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์ดีที่สุดในสมัยนั้น ซึ่งก็ไม่ใช่จากใครที่ไหน แต่สั่งตรงจากร้าน ตุงฮู ณ ย่านเจริญกรุงนั่นเอง

ปัจจุบัน คาเฟ่ เดอ นรสิงห์ ย้ายมาเปิดบริการที่ ณ อาคารเทียบรถพระที่นั่ง พระราชวังพญาไท ก็คือในโรงพยาบาลพระมงกุฏนั่นเอง ซึ่งรสชาติของกาแฟก็ยังคงคัดสรรวัตถุดิบชั้นดีตามตำรับชาววังมาให้บริการเช่นเคย แถมที่สำคัญยังบรรยากาศดีมาก ๆ และราคาไม่แพง

4. เอี๊ยะแซ ตำนานกาแฟเยาวราช

ภายหลังปีในช่วงที่รสชาติของกาฟเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนกรุง ร้านกาแฟและคาเฟ่ต่าง ๆ ก็ได้ค่อย ๆ ทยอยเกิดขึ้นมากมาย ผู้คนในช่วงนั้นจะยังติดใจกับรสชาติกาแฟแบบเข้มข้นหวานมันตามแบบฉบับของกาแฟไทย ซึ่งเราสามารถพบได้ตามร้านอาหารเช้าสไตล์ไทยจีนทั้งหลาย ที่เสิร์ฟชาร้อน กาแฟร้อน ทานคู่กับไข่ดาว แฮมไส้กรอก และขนมปังปิ้ง หรือขนมปังนมเนยสังขยา

หนึ่งในร้านที่โด่งดังในยุคนั้น ข้ามเวลากลายมาเป็นตำนานสภากาแฟเก่าแก่ในยุคนี้คือเอี๊ยะแซ ร้านดังย่านเยาวราช เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 และยังคงเป็นที่โปรดปรานของคุณปู่คุณย่าชาวไทยและชาวจีนจนถึงทุกวันนี้ เอี๊ยะแซได้ขยายกิจการในรูปแบบสาขาแฟรนไชส์ ไปเป็นร้านเล็ก ๆ ในห้างและตามพื้นที่ยอดนิยมต่าง ๆ อย่างมาบุญครอง แฟชั่นไอส์แลนด์ พาต้าปิ่นเกล้า และ Teminal21 ส่วนสาขาดั้งเดิมจะตั้งอยู่ที่ถนนพาดสาย เยาวราช

5. สตาร์บัคส์ เซนทรัลชิดลม แฟรนไชส์กาแฟระดับโลก แห่งแรกในเมืองไทย

อันดับสุดท้าย ซึ่งอาจสามารถพูดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟคนเมืองในประเทศไทย เป็นเวลากว่า 19 ปีแล้วที่สตาร์บัคส์ได้เข้ามามอบประสบการณ์การดื่มกาแฟให้กับคนไทย เริ่มจากสาขาแรกที่เซนทรัลชิดลมเมื่อปี พ.ศ. 2541 จนปัจจุบันได้ขยายสาขามากกว่า 300 สาขาทั่วประเทศ จากวาทะของ Howard Schultz CEO ของ สตาร์บัคส์ คอร์ปส์ ที่ได้กล่าวไว่ว่า Starbucks ไม่ได้อยู่ในธุรกิจของกาแฟ แต่อยู่ในธุรกิจของคนเสิร์ฟกาแฟ ที่พยายามที่จะเฟ้นหาประสบการณ์สดใหม่ที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปเพื่อเสิร์ฟลูกค้า จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครหลาย ๆ คนมักจะนึกถึงชื่อ Starbucks เป็นอันดับแรกเมื่อนึกอยากจะดื่มกาแฟในเมือง

Photo Credit

SME Leader
Chanhoi85.blogspot.com
SOUTH EAST ASIA GOING ASTRAY
http://www.eiahsaecoffee.com/

Homepage


http://amthinkin.thaimultiply.com

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.