ทำไมตึกส่วนใหญ่มักมีหน้าตาเหมือนขั้นบันได - Urban Creature

ทำไมบางตึกชอบดีไซน์ปาดเฉียง ?

ทำไมบางตึกต้องหั่นยอดตึกเป็นขั้นบันได ?

เวลานั่งรถไฟฟ้าวิ่งผ่านใจกลางเมือง เรามักจะพบกับทัศนียภาพของตึกสูงอยู่รายรอบ แต่เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าตึกสูงในประเทศไทยอย่างออฟฟิศ หรือคอนโดมิเนียมในเมืองส่วนใหญ่ ทำไมถึงต้องมีรูปร่างหน้าตาเป็นขั้นบันได บางตึกเฉียงไปเฉียงมา เหล่าสถาปนิกเขามีแนวคิดอย่างไร จะด้วยเหตุผลเรื่องความสวยงาม หรือแค่เรื่องบังเอิญ เรามาร่วมไขคำตอบไปด้วยกัน !

| รูปร่างของตึกนั้นมีที่มา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้ยอดอาคารสูงมีลักษณะเป็นขั้นบันไดหรือปาดเฉียง สาเหตุมาจากกฎหมายบ้านเราที่ควบคุมความสูงของอาคารเพื่อสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัยของคนในเมือง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543 จากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีใจความว่า “ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด ความสูงของอาคารให้วัดแนวดิ่งจากระดับถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนของอาคารที่สูงที่สุด สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด”

หมายความว่า ถ้าเราต้องการรู้ว่า อาคารมีความสูงเกินที่กฎหมายกำหนดหรือเปล่า หรือตึกนั้นสามารถสร้างได้สูงสุดกี่เมตร ต้องเริ่มจากวัดความยาวแนวราบจากจุดที่จะสร้างตึกถึงหน้าเขตที่ดินฝั่งตรงข้ามนำมาคูณสอง จะเท่ากับความสูงของตึกที่สามารถสร้างได้

จากตัวอย่างในรูป เช่น

  • ความสูงของตึก ณ จุด A ที่สามารถสร้างได้ คำนวณจาก ระยะทาง X นำไปคูณสอง เท่ากับ 30 X 2 = 60 เมตร
  • ความสูงของตึก ณ จุด B ที่สามารถสร้างได้ คำนวณจาก ระยะทาง Y นำไปคูณสอง เท่ากับ 20 X 2 = 40 เมตร
  • ความสูงของตึก ณ จุด C ที่สามารถสร้างได้ คำนวณจาก ระยะทาง Z นำไปคูณสอง เท่ากับ 10 X 2 = 20 เมตร

| ตึกรูปทรงขั้นบันได กับ ปาดเอียง ต่างกันอย่างไร ?

เรามักจะเห็นรูปร่างอาคารในเมือง มีทั้งแบบขั้นบันไดและปาดเฉียง ทั้งสองแบบแตกต่างกันอย่างไร ?

จริงๆ แล้วอาคารทั้ง 2 รูปแบบมาจากหลักการดังกล่าวเหมือนกัน แต่มีฟังก์ชันการใช้งานพื้นที่ต่างกัน อาคารที่มีรูปร่างแบบปาดเฉียงคือ ทรงสโลป ส่วนมากพบในตึกออฟฟิศ เนื่องจากก่อสร้างได้เร็ว ได้ปริมาณพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น และการจัดการดูแลทำความสะอาดง่าย เทียบกับอาคารแบบขั้นบันได จะได้พื้นที่กลางแจ้งเยอะ สามารถสร้างความหลากหลายของพื้นที่ได้มาก อย่างพื้นที่สวนบนดาดฟ้า หรือร้านรูฟท็อปนั่งเล่นชมวิวเมือง ส่วนใหญ่มักเจอในรูปแบบตึกคอนโดฯ แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือการดูแลรักษา เช่น การระบายน้ำเมื่อฝนตก หรือระบบถ่ายเทอากาศในอาคาร

| เบื้องหลังการควบคุมความสูง คือความห่วงใยสุขอนามัยคนในเมือง

การควบคุมความสูงเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยคนในเมืองอย่างไร ?

ย้อนไปในยุคอุตสาหกรรมฝั่งยุโรป ในเมืองหลวงต่างมีโรงงานจำนวนมาก ทำให้เกิดมลพิษฝุ่นควันในเมืองเยอะ ด้วยภูมิอากาศหนาวเย็น ไม่ค่อยมีแสงแดดส่องถึง จึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ที่ทำให้ผู้คนในเมืองมีปัญหาสุขภาพและสุขอนามัยที่แย่ลง

หนึ่งในการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมนี้คือ การออกมาตราการควบคุมความสูงอาคาร เพื่อให้แสงแดดส่องเข้าถึงถนนหรือทางเดินอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อโรค สร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว และทำให้ผู้คนได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ที่จำเป็นในการซ่อมแซมเซลล์ผิวหนังที่สึกหรอ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคกระดูกพรุน และยังมีผลการวิจัยพบอีกว่า วิตามินดีกระตุ้นเอนไซม์ที่ใช้สังเคราะห์สารสื่อประสาทมีผลช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้

| Please don’t take my sunshine away

 “You are my sunshine

My only sunshine

You make me happy when skies are grey.”

ประโยคบางส่วนจากเพลงรักสุดคลาสสิก You are my Sunshine. ของนักร้อง Jimmie Davis ที่มีใจความว่า
“คุณคือแสงสว่างของฉัน และเป็นคนเดียวที่ทำให้ฉันมีความสุขท่ามกลางฟ้าอันมืดหมน” เพราะในฝั่งยุโรปมีสภาพอากาศหนาวเย็นมากและมีแสงแดดส่องเข้ามาถึงน้อย ทำให้บรรยากาศค่อนข้างอึมครึมเป็นส่วนใหญ่ การที่ได้ไปสัมผัสแดด จึงเหมือนได้รับความอบอุ่นจากธรรมชาติ ที่ทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากความหนาวเหน็บ กฎหมายการควบคุมอาคารในยุโรปจึงสร้างมาตอบรับกับบริบทของเมือง

กฎหมายการควบคุมอาคาร นอกจากจะช่วยให้แสงสว่างส่องอย่างทั่วถึงแล้ว ยังช่วยในเรื่องการไหลเวียนอากาศให้ถ่ายเทสะดวก ลองนึกภาพตามง่ายๆ ถ้าเราไม่มีกฎหมายควบคุมอาคาร ตึกอาคารต่างๆ ก็จะสามารถสร้างได้สูงเท่าที่จะสร้างได้ คงไม่ต่างกับกำแพงสูงที่ล้อมรอบคนทั้งสองฝั่งถนน แน่นอนว่ามลพิษจากถนนหรือจากกิจกรรมอื่นๆ จะถูกสะสมอยู่ในพื้นที่ เพราะไม่มีลมพัดผ่านเข้ามาไล่ฝุ่นควันออกไปได้ เท่ากับว่า คนที่ใช้ชีวิตในนั้นต้องถูกรมควันพิษอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นการควบคุมอาคารจึงมีความสำคัญในการจัดระเบียบเมือง เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่คนเมืองควรจะได้รับ ด้วยมาตราฐานตะวันตกเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมอาคาร ประเทศไทยจึงนำมาปรับใช้ในบ้านเราจนถึงปัจจุบัน


SOURCE :

http:// download.asa.or.th/03media/04law/cba/mr/mr43-55r-bm.pdf
https:// www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/441/วิตามินดีแสงแดดและอาการซึมเศร้า/
http://download.asa.or.th/03media/04law/cba/cba22.pdf

 

Graphic Designer

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.