ขยะกล่องนมเป็นขยะที่มีปริมาณมหาศาลมากในแต่ละวัน ซึ่งการจัดการขยะประเภทนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ‘บรรจุภัณฑ์กระดาษ’ จริงๆ แล้วมีทั้งพลาสติกและอะลูมิเนียมเคลือบอยู่ข้างใน ซึ่งไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลง่ายอย่างที่คิดเลย
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยพยายามจะแยกขยะกล่องนมด้วยตัวเอง คงรู้ว่าจะถึงขั้นตอนสุดท้ายไม่ใช่ง่ายๆ ถ้าจะให้กล่องนมรีไซเคิลได้หลังจากดื่มแล้วต้องนำไปล้าง ตาก และลอกพลาสติกออก ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้นี่เองที่ทำให้คนไม่อยากแยกขยะ และทำให้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไม่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างที่เคลมไว้
Pushan Panda ดีไซเนอร์จากซานฟรานซิสโกผู้เป็นเจ้าของดีไซน์เจ้ากล่อง Bruk มองเห็นปัญหานี้ จึงอยากหาวิธีในการช่วยลดขั้นตอนการแยกขยะก่อนนำไปรีไซเคิล ด้วยการออกแบบกล่องนมขึ้นมาใหม่ ที่ใช้แค่นิ้วฉีกตรงกลางกล่องก็แยกกระดาษและพลาสติกออกจากกันได้ง่ายๆ แค่นำพลาสติกข้างในไปล้าง แล้วทิ้งลงถังแยกขยะก็นำไปรีไซเคิลต่อได้ง่ายขึ้น
หลายคนอาจจะคิดว่ากล่องบรรจุภัณฑ์อาหารเหล่านี้ยังไงก็เป็นกระดาษอยู่แล้ว ต้องรีไซเคิลได้สิ แต่จริงๆ แล้วกล่องนม น้ำผลไม้ ซอสมะเขือเทศ แม้จะทำจากกระดาษเป็นหลักแต่ภายในกล่องจะมีชั้นบางๆ ของพลาสติกหรืออะลูมิเนียมอยู่ ต่างจากบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้ว โลหะ หรือพลาสติกที่รีไซเคิลง่ายกว่ามาก เพราะไม่ต้องแยกส่วนประกอบหลายชั้น
Panda เล่าว่า “กระบวนการรีไซเคิลที่แยกกระดาษและพลาสติกออกจากกัน เป็นกระบวนการพิเศษที่ทั้งแพงและหายาก ทำให้กล่องเครื่องดื่มในสหรัฐอเมริกาถูกรีไซเคิลไปแค่ 16% เท่านั้น ส่วนในยุโรปมีเพียง 49% ดีไซน์กล่อง Bruk จึงออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาต้องรีไซเคิล ผู้บริโภคเพียงแค่ฉีกรอยประระหว่างฝาขวดนม HDPE ออกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้แยกกระดาษแข็งออกจากพลาสติกได้”
นอกจากจะรีไซเคิลง่ายแล้ว Panda ยังคำนึงถึงวิธีการใช้งานที่ต้องสะดวกสบายด้วย เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการรีไซเคิลเป็นเรื่องง่ายจริงๆ การใช้งานกล่อง Bruk จึงออกมาเร็ว ง่าย และสนุก เพราะมีต้นแบบมาจากศิลปะการพับกระดาษ
“เราออกแบบ Bruk ให้ใช้งานง่ายและครอบคลุมสำหรับคนทุกคน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสามารถทางกายภาพ Bruk จึงออกมาสะดวกและใช้งานง่ายเหมือนกล่องทั่วไป แต่ใช้พลาสติกน้อยกว่ากล่องนมพลาสติกแบบเดิม และสามารถรีไซเคิลได้ 100% ด้วยอุปกรณ์ทั่วไป” Panda กล่าว
ตอนนี้ Bruk ยังเป็นแค่ดีไซน์ต้นแบบเท่านั้น ยังไม่ได้มีการไปใช้งานจริงกับแบรนด์ใด แต่สิ่งที่ Panda ทำอาจเป็นการกระตุ้นให้แบรนด์และบริษัทต่างๆ คิดค้นบรรจุภัณฑ์เพื่อวัตถุประสงค์ในการรีไซเคิลได้จริงมากขึ้นในอนาคต
Sources :
Designboom | t.ly/MgmW
www.pushanpanda.me