มองมุมเมืองผ่าน Bangkok Through Poster - Urban Creature

ท่ามกลางความวุ่นวายบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร บรรยากาศสายฝนที่ร่วงหล่นลงมาแบบไม่รู้เวลา หลายคนคงหลงลืมสัมผัสเรื่องราวระหว่างสองข้างทางไปแล้ว แต่หากมุมมองของเมืองถูกถ่ายทอดกลายมาเป็น “ผลงานออกแบบโปสเตอร์” จะทำให้เราหันกลับมามองกรุงเทพฯ อีกครั้งหรือเปล่า ? 

วันนี้เราจึงพามาจับเข่าคุยกับ คุณเป้-สหวัฒน์ เทพรพ ผู้ก่อตั้งแกลเลอรี ‘Kinjai contemporary’ และเจ้าของโปรเจกต์ ‘Bangkok Through Poster’ เพื่อเปิดมุมมองเมืองให้กว้างเพิ่มความเข้าใจศิลปะและสังคมให้มากขึ้น

มุมเมืองในแผ่นกระดาษ

อากาศยามบ่ายย่านบางพลัดชวนให้เราเห็นมุมเมืองใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราเริ่มนั่งพูดคุยกับ ‘คุณเป้-สหวัฒน์’ กันที่ชั้นบนของแกลเลอรี ‘Kinjai’ ถึงเรื่องราวจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ‘Bangkok Through Poster’

photo : Bangkok Through Poster

จริงๆ มันเริ่มจากความชอบในงานออกแบบสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งโปสเตอร์ หนังสืองานคราฟต์ปริ๊นต์ทั้งหลายมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เลยเก็บข้อมูลงานเหล่านี้มาเรื่อยๆ พอถึงช่วงเวลาหนึ่งก็รู้สึกว่า อยากจะทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการออกแบบสิ่งพิมพ์ที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างกับสังคมขึ้นมา ซึ่งปกติในชีวิตประจำวันเรามักจะเห็นสิ่งพิมพ์ต่างๆ ถูกใช้เป็นแค่อาร์ตเวิร์กโฆษณาเชิงพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงๆ มีเรื่องราวเกิดขึ้นรอบตัวมากมาย ทั้งประเด็นสังคม สถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง แต่ทั้งหมดส่วนใหญ่ล้วนเคลื่อนไหวอยู่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น  เราเลยมีความตั้งใจที่อยากจะนำเสนอมุมมองและมิติในการสื่อสารจากโซเชียลมิเดีย สู่งานสิ่งพิมพ์ เลยกลายเป็น

‘Bangkok Through Poster’
โปรเจกต์ที่ถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับ สถานการณ์
เหตุการณ์ความเป็นไปของสังคม บุคคล
และพื้นที่ผ่านผลงานออกแบบโปสเตอร์ 

photo : Bangkok Through Poster

ในปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เราเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ ซึ่งถือเป็นการลองเชิง เราเลือกดีไซเนอร์หลากหลายมาก โดยส่วนใหญ่เราเลือกเพราะเราชอบวิธีการคิด ชอบแนวทางของผลงาน ชอบวิสัยทัศน์ของเขาหลายๆ อย่างที่มันหลอมรวมเป็นดีไซน์เนอร์คนนั้น พอคลิกแล้วเราบรีฟโจทย์ให้กับดีไซเนอร์ไป ซึ่งพอเราได้ผลงานมาแล้ว โจทย์ต่อไปมันขึ้นอยู่กับเราแล้วว่า เราจะทำอย่างไรให้วัตถุประสงค์ของความเป็นโปสเตอร์มันถูกต้องที่สุด หลังจบนิทรรศการเราจึงให้นำโปสเตอร์ออกมาติดตามโลเคชันที่ดีไซเนอร์เป็นคนเลือก เพราะถ้าสมมุติว่าโปสเตอร์มันถูกจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่เฉพาะ รูปแบบของมันก็จะเปลี่ยน เรื่องมันจะเปลี่ยน แถมมันยังเป็นการจำกัดผู้ชมด้วย เช่น ดีไซเนอร์บางคนทำเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ ภาษา ผู้คน พยายามสื่อสารถึงคนเหล่านั้น แต่ถ้าโปสเตอร์มันอยู่แค่ในแกลเลอรีมันก็จะไม่ตอบโจทย์

photo : Bangkok Through Poster

ในการตั้งโจทย์ตอนแรกเรากลัวหลายอย่างเลย เพราะสมมุติถ้าเราเจาะจงมากเกินไป มันจะทำให้คนไม่กล้าเข้าร่วมด้วย ความจริงเรามีเรื่องที่เราชอบนะ แต่บางเรื่องบางคนมันก็ต้องระวังตัว เพราะในประเทศตอนนี้นั้นเปราะบาง ยกตัวอย่าง ผลงานในโปรเจกต์เป็นของเพื่อนเราคนหนึ่ง ที่ดึงสัญลักษณ์ของวง BNK แล้วก็เอามาทำเป็น ม.44 อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) อันนั้นก็จะออกแนวจิกกัดปั่นๆ หน่อย บางอันเป็นรูปคล้ายนายกฯ ซึ่งตอนไปติดนี่ก็ค่อนข้างลำบากอยู่ เช่น เราเอาชิ้นงานที่เป็นหน้านายกและมีข้อความเชิงวิพากย์ ไปติดตรงข้าวสารแล้วตรงนั้นอยู่ใกล้กับสถานนีตำรวจพอดี ก็แอบเสียวนิดนึงนะ (หัวเราะ)

ก้าวต่อไปที่ไม่หยุด

เราตั้งใจไว้ว่าในปีต่อๆ ไปจะพัฒนาโปรเจกต์ให้ดียิ่งขึ้น ถ้าสามารถเอาผลงานไปติดได้ทั่วประเทศเลยมันคงจะดีนะ (หัวเราะ) ส่วนประเด็นเรื่องศิลปะกับพื้นที่ เราว่าศิลปะมันคือสื่อชนิดหนึ่งที่ใช้ในการนำเสนอความคิด วิพากษ์ หรือสื่อสารประเด็นบางอย่าง ทั้งกับตัวเองและสังคม แต่สำหรับศิลปะกับพื้นที่ ส่วนตัวอยากให้ศิลปะสร้างบางอย่างกับชุมชน เช่น การใช้ศิลปะเชื่อมโยงผู้คนและชุมชนเข้าด้วยกัน โดยไม่สร้างความแปลกแยก เดือดร้อน หรือละเมิดสิทธ์ของผู้อื่น

แล้วในส่วนของการคัดเลือกดีไซเนอร์ในปีนี้ เราพยายามเลือกคนให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จริงๆ ไม่อยากให้มีข้อจำกัดอะไรเลย อยากได้คนทั่วไปด้วยซ้ำที่มาทำตรงนี้ อย่างปีนี้เรามีนักเขียนมาทำร่วมกับดีไซเนอร์  เพราะบางคนเขาไม่สันทัดเรื่องการทำอาร์ตเวิร์ก แต่อยากมาแจมเราก็ยินดีมากๆ ซึ่งมันตรงกับความตั้งใจของเราที่อยากให้มันกระจายการสื่อสารเป็นวงกว้าง และสร้างเอฟเฟกต์บางอย่างกับสังคมให้มากที่สุด

หวังว่ามันจะเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงเล็กๆ
ของกลุ่มคนสร้างสรรค์ที่มันจะสามารถสื่อสาร
หรือเปลี่ยนแปลงอะไรกับสังคมได้เพียงแค่เล็กน้อยก็ยังดี

photo : Bangkok Through Poster

Bangkok Through Poster 2019

ในปีนี้โปรเจกต์จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนโดย ‘Bangkok Through Poster’ จะมาในโจทย์ ‘The Keyword’ คำสำคัญที่ดีไซเนอร์ต้องการสื่อสารผ่านเหตุการณ์ สถานการณ์ และความเป็นไป เพราะปีนี้มันเป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงทุกระบบในประเทศไทย ซึ่งโปรเจกต์ครั้งนี้มันจะขยายตัวขึ้น มีผู้เข้าร่วมที่เป็นองค์กรเยอะมาก เช่น สำนักพิมพ์ สตูดิโอต่างๆ รวมถึงศิลปิน ดีไซเนอร์ และสตูดิโอจากต่างประเทศด้วย แต่ปรับโจทย์ให้นำเสนอประเด็นในประเทศของเขาแทน เพราะจากปีที่แล้วมีดีไซเนอร์จากต่างประเทศที่สนใจโปรเจกต์อยู่พอสมควร ปีนี้เราเก็บข้อมูลและส่งเทียบเชิญที่น่าสนใจให้เขามาจอยด้วย ทั้งจากอังกฤษ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ซึ่งปีนี้เราก็จะคัดละเอียดมากขึ้น จำนวนชิ้นน้อยลง แต่เรายังเว้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้กับศิลปินและดีไซเนอร์หน้าใหม่ด้วยเหมือนเดิม 

โลกกว้างกับการแสดงออกทางศิลปะในประเทศไทย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวของความสัมพันธ์ของเมือง ผู้คน ที่ถูกเชื่อมต่อกันด้วยศิลปะ ความสวยงามที่ไร้กรอบและขีดจำกัดใดๆ 

ความจริงผมว่าศิลปะมันสอดแทรกอยู่ในทุกอย่างในเมือง ทุกอย่างในการใช้ชีวิตอยู่แล้ว ปกติอย่างโปรเจกต์นี้มันทำให้เรารู้สึกว่า อยากให้ศิลปะพูดคุยกับคนเยอะๆ ซึ่งนิทรรศการส่วนใหญ่ที่ผมคัดเลือกเข้ามาก็จะเน้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม หรือพูดคุยบางอย่างกับสังคมบ้าง เช่น นิทรรศการ Post rape ;The power of the muted voice ที่ผ่านมาเราคิดว่ามันอาจจุดประเด็นอะไรบางอย่างได้ ผมว่าศิลปะมันอาจจะช่วยตรงนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งมันอาจเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่บอกอะไรสักอย่างกับสังคมก็ได้ 

ถ้าให้ย้อนกลับไปเมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว ยกตัวอย่างในแกลเลอรีละกัน เทียบกับตอนนี้มีแกลเลอรีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก อาจจะเล็ก หรือใหญ่ และมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อก่อนพื้นที่ในการแสดงออกมันน้อย การจะได้โอกาสแสดงผลงานศิลปะมันถูกจำกัดอยู่แค่พื้นที่หลักไม่กี่พื้นที่

ถามว่าการแสดงออกทางศิลปะในไทยกว้างไหม ?
ก็คงตอบว่าไม่ เหมือนเดิม มันก็คงติดอยู่ที่เดิม มันมีกรอบของมันอยู่

ยิ่งในสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันด้วย แต่ที่ดีคือมันมีพื้นที่มากขึ้น มีคนที่พยายามแสดงตัวตนมากขึ้น กล้าแสดงออกมาขึ้น ความจริงศิลปินที่มีคุณภาพในประเทศไทยมีอยู่มาก แต่กลับขาดโอกาสและการสนับสนุนที่มากพอจากรัฐ อาจจะลองนึกถึง BACC ก็ได้

photo : Bangkok Through Poster

เพราะจริงๆ การให้ความสำคัญกับเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมในประเทศไทย มันก็ยังคงเป็นส่วนที่น้อยในสังคมอยู่ดี ทุกวันนี้มีหลายคนสมควรเป็นศิลปินอาชีพก็เลิกเป็นศิลปินกันไปเยอะแล้ว ด้วยภาระหน้าที่ต่างๆ ในชีวิต ถ้าต้นทุนไม่มากพอ มันก็ไม่ได้จริงๆ บางคนเขาไม่ควรจะเลิกด้วยซ้ำ เขาเก่ง มีความสามารถ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก ทั้งนี้หวังว่าวันหนึ่งมันจะได้รับการเปลี่ยนแปลงและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ดีขึ้นครับ

และนี่คือหนึ่งในพลังเล็กๆ ที่จะช่วยผลักดันให้วงการศิลปะมีพื้นที่ให้หายใจกันมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าศิลปะคือกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนความเป็นไปของเมือง สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ความงามของงานศิลปะในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อการชื่นชมความงาม แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคต

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.