Bangkok Sewer : ท่อ (รอ) ระบายน้ำ - Urban Creature

“สถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร ท่วมขัง รอการระบาย” ประโยคที่เรามักได้ยินจากรายงานข่าวทางสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์แทบจะทุกปี ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มีพายุฝนตกกระหน่ำ กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ สร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ต้องเผชิญกับการจราจรที่ติดขัด นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการระบายน้ำ ซึ่งกลายเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นประจำจนคนเมืองเคยชินไปแล้ว

จากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำท่วมกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ และการระบายน้ำก็เป็นไปอย่างล่าช้า คนไทยต้องตกอยู่ในความลำบาก ทั้งเรื่องอาหารการกิน, ที่อยู่อาศัย, การเกษตร, อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ได้รับความเสียหาย หลายครั้งถึงขั้นเกิดอุทกภัยที่รุนแรง หนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ‘ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ’ นั่นเอง

Bangkok’s Flood ! | น้ำท่วมรอการระบาย

ระดับน้ำทะเลรอบกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นราวปีละ 4 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับน้ำทั่วโลก ทำให้กรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และอาจจะจมหายไปในอนาคต เมื่อมองย้อนกลับไป กรุงเทพฯ เคยมีสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาการระบายน้ำครั้งใหญ่ที่คนเมืองยังคงจำขึ้นใจ

หากใครยังจำได้ ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 หลังจากที่ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ อาทิ ถนนสุขุมวิท ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 6 ถนนรัชดาภิเษก ถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า ช่วงแยกสุทธิสารถึงดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิตขาออก ตั้งแต่ดินแดงถึงห้าแยกลาดพร้าว มีน้ำท่วมขังเป็นระยะ และมีระดับน้ำสูงกว่าฟุตพาท

ซึ่งหลังจากที่ปริมาณน้ำค่อยๆ ลดระดับลงไปแล้ว บริเวณปากซอยสุขุมวิท 42 ยังมีน้ำพุ่งออกมาจากท่อระบายน้ำ ส่งผลให้เศษขยะเกลื่อนกลาดเป็นจำนวนมากอยู่บนท้องถนน ทั้งถุงพลาสติกและขวดน้ำ ซึ่งเจ้าขยะเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในกรุงเทพฯ ระบายได้อย่างล่าช้า จนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง

ย้อนกลับไปช่วง พ.ศ. 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา และพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเกิดความเสียหายอย่างหนัก และยังรวมไปถึงพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ เช่น อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, นนทบุรี และสมุทรปราการ

จากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำท่วมกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ และการระบายน้ำก็เป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้คนไทยตกอยู่ในความลำบาก ทั้งอาหารการกิน, ที่อยู่อาศัย, การเกษตร, อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ทำให้มีความเสียหายอย่างแสนสาหัส และอุทกภัยดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไปราว 500 ชีวิต หนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็คือ ‘ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ’ เรามาดูกันว่า ‘ท่อระบายน้ำ’ ของประเทศไทยมีระบบการทำงานอย่างไร

Standard Sewer in Thailand | ท่อระบายน้ำของไทย

ประเทศไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองเรื่องการระบายน้ำอย่างจริงจัง ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีข้อกำหนดว่า 

1. ห้ามเท หรือ ทิ้ง กรวด หิน ดิน เลน ทราย หรือเศษวัสดุก่อสร้างลงในทางระบายน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการตื้นเขิน หรืออุดตัน หากมีการฝ่าฝืน จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

2. ห้ามไม่ให้จูง ไล่ หรือต้อนสัตว์ลงไปในทางน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น เพราะอาจได้รับการปนเปื้อนความสกปรก ซึ่งอาจมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง สระน้ำในหมู่บ้าน หรือในส่วนที่ประชาชนต้องใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค เป็นต้น หากผู้ใดฝ่าฝืน ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

3. ห้ามปล่อย หรือระบายอุจจาระ หรือปัสสาวะจากอาคาร หรือยานพาหนะลงทางน้ำ และทิ้งสิ่งปฏิกูลมูลฝอย น้ำโสโครก หรือสิ่งอื่นใด ลงในทางน้ำ (แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น) ซึ่งหากฝ่าฝืนบทบัญญัติข้างต้น มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ขนาดท่อระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร ตามมาตรฐานมีตั้งแต่ขนาด 30 เซนติเมตร ถึง 1.50 เมตร ซึ่งในย่านเมืองเก่าขนาดท่อจะเล็กกว่าเขตพื้นที่เมืองใหม่ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีคลองระบายน้ำทั้งหมดรวม 1,682 คลอง ส่วนท่อระบายน้ำ มีระยะทางยาวรวมทั้งหมดกว่า 6,442 กิโลเมตร แต่ละคลองมีการกำหนดให้ขุดลอกทุก 2 – 3 ปีต่อครั้ง ซึ่งการดูแลและขุดลอกท่อนั้น จะควบคุมโดยสำนักการระบายน้ำในกลุ่มงานพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 

สำนักการระบายน้ำ มีหน้าที่รับผิดชอบในการสำรวจ ออกแบบโครงการบำบัดน้ำเสีย ประกอบด้วยระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดตะกอนต่างๆ ที่มาจากน้ำที่ถูกระบายมารวมกัน และยังมีหน้าที่ในส่วนของการดูแลและซ่อมแซมระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย ประกอบด้วยสภาพของท่อระบายน้ำ บ่อพักน้ำเสีย บ่อผันน้ำเสีย สถานีสูบน้ำเสีย และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

Blocked Sewer : ปัญหาพาท่อน้ำตัน

หลากหลายเหตุการณ์น้ำรอการระบายที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาที่สะสมจนขมวดเป็นปมใหญ่ เกิดภาวะท่อระบายน้ำอุดตันในกรุงเทพมหานคร สาเหตุหลักของน้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่เลี่ยงไม่ได้ เกิดจากเม็ดฝนมหาศาลที่ตกลงมา เนื่องจากสภาวะโลกร้อน จากการจัดอันดับดัชนีความเสี่ยงจากสภาพอากาศโลกระหว่างปี 1997 – 2016 ในรายงาน ‘Global Climate Risk Index 2018’ พบว่าประเทศไทยขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 9 จากอันดับ 10 ของโลกแล้ว พบอุทกภัยปีล่าสุดสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไทย รวมมูลค่าถึง 14,198 ล้านบาทเลยทีเดียว

ประกอบกับการวางผังเมืองที่ไม่เหมาะสม ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำเหมือนในอดีตซึ่งเป็นทุ่งนา ป่ากก ร่องสวน ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงเป็นอาคารบ้านพัก สิ่งก่อสร้างต่างๆ จากมนุษย์ที่รุกล้ำพื้นที่รองรับน้ำและเส้นทางระบายน้ำอย่างแม่น้ำ ลำคลอง ทำให้เมื่อฝนตกลงมา ระบบการระบายน้ำจึงไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ปริมาณขยะและเศษอาหารจากร้านค้าต่างๆ ที่ทิ้งโดยไม่ได้ผ่านเครื่องดักไขมัน ทำให้เกิดการสะสมจนอุดตันท่อระบายน้ำ จนท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้เลย

Giant Tunnel | ระบายน้ำ ใจกลางกรุง

“กรุงเทพฯ มีขีดความสามารถในการระบายปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ สูงสุด 60 มม./ชม.”

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตร.กม. ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มน้ำตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้อ่าวไทย ระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ 0+0.00 ม. ถึง +1.50 ม. เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง บางพื้นที่มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ทั้งการระบายน้ำออกจากพื้นที่ของสถานีสูบน้ำและคลองระบายน้ำหลักยังมีขีดจำกัด ส่งผลให้การใช้ระบบระบายน้ำแบบการไหลตามธรรมชาติ (Gravity Flow) ออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ทำได้ยาก กรุงเทพฯ จึงใช้ ‘ระบบพื้นที่ปิดล้อม’ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมล้อมรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำจากพื้นที่ภายนอกไหลเข้ามา และรอการระบายน้ำท่วมขังลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งระบบการป้องกันเป็น 2 ระบบ คือ ‘ระบบป้องกันน้ำท่วม’ และ ‘ระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากฝนตก’

‘ระบบป้องกันน้ำท่วม’ คือการก่อสร้างคันกันน้ำท่วมปิดล้อมรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง รวมไปถึงป้องกันปัญหาน้ำท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำบ่าจากทุ่ง เช่น คันกันน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา, คันกั้นน้ำฝั่งตะวันออก

‘ระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากฝนตก’ คือ ระบบการเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย โดยขีดความสามารถในการระบายจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่สูงสุด 60 มม./ชม.

รู้ไหมว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีระบบระบายน้ำอุโมงค์ยักษ์อย่าง ‘อุโมงค์ยักษ์พระราม 9 – รามคำแหง’ ซึ่งเป็นอุโมงค์ระบายน้ำแห่งแรกของโครงการระบบอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่งรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร และระยะทางยาว 5 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ลาดพร้าว, วังทองหลาง, บางกะปิ, ห้วยขวาง และสะพานสูง โดยสามารถระบายน้ำได้ปริมาณ 60 ลบ.ม./วินาที

‘แนวทางการแก้ไขระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ’ จากปัญหาท่อระบายอุดตันในกรุงเทพฯ ที่ทำให้หลายๆ พื้นที่เกิดน้ำท่วม เราสามารถแก้ไขได้ เริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวเรา โดยการช่วยกันลดทิ้งเศษขยะพลาสติกหรือเศษอาหารลงตามท่อระบายน้ำ ส่วนอาคารบ้านเรือนทั่วไปควรก่อสร้างบ่อดักเศษขยะ ตะกอน และไขมัน อันเป็นสาเหตุทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน ส่งผลให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ นอกจากนี้ ทาง กทม. ควรทำความสะอาดลอกท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ให้บ่อยขึ้นจาก 2 – 3 ครั้งต่อปี เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก รวมถึงมีการวางแผน ควบคุม และดำเนินการเกี่ยวกับการบำรุงรักษาท่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

Case Study | G-Cans Project, Japan
อุโมงค์ยักษ์ วิหารเทพเจ้าใต้กรุงโตเกียว

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติอย่างพายุไต้ฝุ่น จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่หลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยระบบการระบายน้ำที่ดีก็ช่วยประชาชนให้รอดพ้นจากอุทกภัยอันน่ากลัว ด้วยอุโมงค์ระบายน้ำที่เป็นฮีโร่กอบกู้เมืองซ่อนตัวอยู่ใต้กรุงโตเกียว ‘Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘G-Cans’ เป็นอุโมงค์ระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ชึ่งเชื่อมกรุงโตเกียวเข้ากับเมืองคาสุคาเบะ จังหวัดไซตามะ อุโมงค์ยักษ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1992 แล้วเสร็จปี 2006 ด้วยงบประมาณการก่อสร้างกว่า 3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
.
ความโดดเด่นของอุโมงค์นี้คือ โครงสร้างที่อลังการราวกับมหาวิหาร เรียกว่า ‘The Temple’ มีความยาว 177 เมตร กว้าง 78 เมตร สูง 25 เมตร พื้นที่จุน้ำโดยประมาณ 500 ตัน หรือ 500,000 ลิตร พร้อมเสาขนาดมหึมาสำหรับรองรับน้ำหนักของอุโมงค์ทั้งหมด 59 ต้น เชื่อมต่อเครื่องสูบน้ำ 78 ตัว ขนาด 10 MW มีกำลังสูบรวม 14,000 แรงม้า ซึ่งสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพถึง 200 ตันต่อวินาที ส่งต่อผ่านอุโมงค์ยักษ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10.6 เมตร ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 50 เมตร ความยาวกว่า 6.4 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเอโดะ

โดยกระบวนการระบายน้ำ เริ่มต้นจากมวลน้ำที่เอ่อล้นจากเมืองจะถูกเติมลงในไซโลคอนกรีต หรือถังเก็บน้ำขนาดยักษ์ 5 ถัง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 เมตร สูง 65 เมตร หรือจุน้ำได้ประมาณ 209 ตัน/ไซโลคอนกรีต รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,045 ตัน หรือประมาณ 1,045,000 ลิตร เมื่อถังน้ำถูกเติมเต็มก็จะไหลไปที่ The Temple และสูบน้ำออกสู่แม่น้ำเอโดะ

‘G-Cans’ เป็นอุโมงค์ระบายน้ำต้นแบบทั่วโลก ในยามสถานการณ์น้ำปกติ ที่นี่จะเปิดให้คณะทัวร์สามารถเข้าชมภายในอุโมงค์ยักษ์อันน่าทึ่ง แต่นอกจาก G-Cans จะเป็นยักษ์ใหญ่ที่คอยระบายน้ำในกรุงโตเกียว สิ่งสำคัญที่ทำให้โตเกียวไม่จมอยู่ใต้น้ำ ก็คือการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ และการจัดระเบียบผังเมืองที่มีการควบคุมสิ่งก่อสร้างไม่ให้กีดขวางเส้นทางระบายน้ำ รวมถึงการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่เป็นระบบระเบียบ ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย

Case Study | SMART Tunnel, Malaysia 
อุโมงค์สุดล้ำในกัวลาลัมเปอร์ ‘วิ่งรถได้ ระบายน้ำดี’

ตามมาดูระบบการระบายน้ำแสนฉลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘มาเลเซีย’ กันบ้าง กับ ‘Stormwater Management and Road Tunnel’ หรือ ‘SMART’ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นอุโมงค์ระบายน้ำและทางด่วนที่มีความยาวถึง 9.7 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 13.2 เมตร เริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2003 แล้วเสร็จปี 2007

อุโมงค์ SMART มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนบนถนนสุไหงเบซี และทางยกระดับ Loke Yew ในเขตปูดู ความพิเศษของอุโมงค์แห่งนี้ นอกจากจะสามารถระบายน้ำได้คล่องตัวในช่วงหน้าน้ำแล้ว ยังเป็นทางด่วนสำหรับรถยนต์ในหน้าแล้งได้อีกด้วย โดยแบ่งการใช้งานออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ 2 ชั้นแรก ใช้สำหรับเส้นทางจราจร และชั้นล่างสุดสำหรับระบายน้ำ ซึ่งในกรณีเกิดพายุมรสุมก็สามารถปรับเปลี่ยนเป็นอุโมงค์ระบายน้ำได้พร้อมกันทั้ง 3 ชั้น สามารถรองรับการระบายน้ำได้ถึง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร

ใน ค.ศ. 2011 อุโมงค์ SMART ได้รับรางวัล ‘UN Habitat Scroll of Honour Award’ สำหรับการบริหารจัดการทั้งน้ำท่วมและการจราจรที่มีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบอุโมงค์ที่มีการใช้งาน 2 in 1 ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้

Sources :
ไทยรัฐ | shorturl.asia/CrBNS
สำนักการระบายน้ำ | shorturl.asia/82Nst
TCIJ | shorturl.asia/8Zuvj

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.