หลายๆ ประเทศเปิดให้ประชาชนมีส่วนกับการตัดสินใจด้านการใช้งบประมาณ (Participatory Budgeting) ผู้คนจึงได้มีทางเลือกและได้ร่วมกำหนดทิศทางสังคมไปพร้อมกับภาครัฐ
แล้วจะดีมากแค่ไหนกัน ถ้ากรุงเทพฯ มีแพลตฟอร์มให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนจัดการกับงบประมาณต่างๆ ที่นำมาพัฒนาเมืองของเรา เพื่อสร้างสรรค์ให้คนและพื้นที่กรุงเทพมหานครดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
ข่าวดีคือในปีนี้ Good Society Summit 2021 จะเปิดเว็บไซต์ Bangkok Budgeting ส่วนหนึ่งของ Human Rights & Anti-Corruption Pavilion เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยคลิกเข้าไปที่ projects.punchup.world/bangkokbudgeting ซึ่งพัฒนาโดยทีม PunchUp, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), Hand Enterprise, Siam Lab ร่วมกับ Good Society (ติดตามข้อมูลอื่นๆ ได้ที่ www.facebook.com/goodsocietythailand)
และการโยนคำถามสำคัญว่าตอนนี้กรุงเทพฯ มีภาพใกล้เคียงเมืองที่เราฝันหรือแผนที่เคยได้เห็นหรือยัง โดยมีการแสดงตัวเลขของงบประมาณในเมืองที่ถูกใช้ไป ซึ่งทุกคนสามารถโหวต 3 หัวข้อเร่งด่วนที่ควรต้องพัฒนาที่สุด เว็บไซต์จะคำนวณคำตอบเพื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นยังไง แถมผู้ใช้แพลตฟอร์มยังแชร์ความคิดเห็นได้ถึง 2 รูปแบบ หนึ่ง เลือกเขตและเลือกเรื่องที่อยากแชร์ และ สอง คนที่มาจากจังหวัดอื่น แต่อยากให้มี Participatory Budgeting มาใช้ในจังหวัดอื่นก็เลือกได้เหมือนกัน
เมื่อปัญหาเมืองกรุงมีมากล้นหลายด้าน พลเมืองจึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพื่อป้องกัน รักษา แก้ไข และพัฒนาเมืองที่เราอาศัยอยู่ให้ดีมากขึ้นได้เรื่อยๆ การมีแชร์ความคิดเห็นจึงเป็นหัวใจสำคัญของ Bangkok Budgeting อยู่เมืองนี้ ต้องรู้เยอะ ร่วมสร้างสรรค์ ชวนจับตาให้งบกรุงเทพฯ ถูกใช้อย่างตรงจุด เพราะงบประมาณเหล่านี้คือเงินจากภาษีของพวกเรา
และเจ้าเว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยตัวนี้แหละ ที่จะเอื้อให้ทุกคนได้เป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ผ่านการเสนอความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะนำร่องให้ทุกคนช่วยกันผลักประเด็นปัญหาในกรุงเทพฯ ด้วยการเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจต่อการพัฒนาเมืองในแต่ละด้าน โดยมีปลายทางเดียวกัน คือการผลักดันให้เกิดสังคมดีขึ้นทุกวัน
สิ่งที่น่าสนใจของ Bangkok Budgeting คือการนำเสนอข้อมูลซีเรียสๆ ออกมาได้อย่างน่าสนุกและน่าสนใจ เช่น การพูดถึงข้อมูลเมือง และการอัปเดตแผนของกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาให้เป็นมหานครแห่งเอเชียในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ซึ่งทำให้เราเห็นว่าภาครัฐขับเคลื่อนให้นโยบายเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
คำตอบและการแสดงความคิดเห็นทั้งหมดของประชาชนจะนำไปสู่การส่งข้อมูลให้ภาครัฐได้ตระหนักรู้ว่าสิ่งไหนดีหรือแย่ สิ่งไหนควรปรับใช้ และควรแก้ไข เพื่อใช้ในการพัฒนาหรือทำนโยบายให้เกิดสังคมดีได้อย่างยั่งยืน
นอกจากเว็บไซต์ที่ชวนทุกๆ คนมาระดมไอเดียและสะท้อนความคิดเห็น ยังมีงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. ให้ทุกคนเข้าร่วมได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือคิดความเห็นจากผู้คนที่เข้ามาโยนไอเดียทั้งหมด ยังจะถูกรวบรวมส่งตรงถึงมือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมาร่วมเสวนาอีกด้วย
สำหรับคนที่สนใจเข้าไปร่วมตามไปได้ที่ลิงก์นี้เลย https://projects.punchup.world/bangkokbudgeting