เปลี่ยนสุสานบ้านพรุ หาดใหญ่ เป็นพื้นที่สาธารณะ - Urban Creature

เมษายนคือช่วงเวลาที่ลูกหลานชาวจีนจะได้กลับมาเจอกันอีกครั้งใน ‘วันเช็งเม้ง’ ประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จะต้องไปเคารพและทำความสะอาดหลุมศพของบรรพบุรุษทุกๆ ปี 

แต่เคยคิดกันไหมว่าพื้นที่สุสานที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ นอกจากวันเช็งเม้งแล้ว พื้นที่หลายร้อยไร่ที่เราไปทุกปีได้ถูกใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาอื่นบ้างไหม? โดยเฉพาะสุสานที่อยู่ในย่านชุมชน อยู่ใกล้เมือง มีคนพลุกพล่าน ที่มีทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีศักยภาพในการใช้งานมากกว่าแค่ปีละครั้ง จะดีกว่าไหมถ้าสุสานที่อยู่ใกล้เมืองหลายแห่งถูกพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายโอกาส และเปิดให้คนภายนอกได้เข้าไปใช้งานนอกจากวันเช็งเม้งบ้าง 

เก่ง-ศุภณัฐ อรุโณประโยชน์ บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือลูกหลานชาวจีนในหาดใหญ่ที่ไปเช็งเม้งที่ ‘สุสานบ้านพรุ’ เป็นประจำทุกปี และมองเห็นความเป็นไปได้ของพื้นที่นี้มากกว่าการมาเช็งเม้ง จึงออกมาเป็นธีสิส ‘Ban Phru Cemetery Park’ โครงการพัฒนา ‘สุสานบ้านพรุ’ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของคนในเมือง เพื่อให้คนในหาดใหญ่ได้เข้าถึงพื้นที่สีเขียว มีกิจกรรมนันทนาการ มีพื้นที่เชิงวัฒนธรรม และที่สำคัญคือช่วยเพิ่มยอดขายหลุมฝังศพบนพื้นที่ที่เหลืออยู่ให้กับสุสานบ้านพรุได้อีกด้วย

ธีสิสที่เริ่มจากการไปเช็งเม้ง

เก่งเล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่เลือกสุสานบ้านพรุมาทำธีสิสเพราะที่นี่คือที่ที่เขาและครอบครัวต้องไปเช็งเม้งเป็นประจำทุกปี จึงมีความคุ้นเคยและผูกพันกับสุสานนี้เป็นพิเศษ

“​​แรงบันดาลใจของธีสิสนี้มาจากตอนปี 4 ได้เรียนวิชา Intro to Urban Architecture ซึ่งมีไฟนอลโปรเจกต์ให้ทำ ตอนนั้นสนใจเกี่ยวกับพื้นที่สุสานในเมืองอยู่แล้ว และสนใจเรื่องการนำมาปรับใช้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ จึงได้ไปศึกษาเกี่ยวกับสุสานแต้จิ๋วในสาทร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณแปดสิบห้าไร่ และเปิดเป็นพื้นที่ให้ประชาชนโดยรอบเข้ามาใช้งานในเชิงสันทนาการได้ตั้งแต่ปี 2539 เป็นสุสานแรกๆ ที่เปิดให้คนเข้ามาใช้ทำกิจกรรมอย่างอื่นได้นอกจากพิธีธรรม”

Ban Phru Cemetery Park
Ban Phru Cemetery Park

จากการไปดูงานที่สุสานแต้จิ๋ว ทำให้เก่งนึกถึงสถานที่เช็งเม้งที่ต้องไปกับที่บ้านทุกปี คือสุสานบ้านพรุในหาดใหญ่ ซึ่งเป็นสุสานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นสถานที่ที่เขาคุ้นเคยอยู่แล้ว และเชื่อว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนสุสานแต้จิ๋วได้ จึงเลือกพื้นที่นี้ขึ้นมาทำธีสิส และรีเสิร์ชให้ลึกยิ่งขึ้นเพื่อออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่คนในหาดใหญ่อยากมาใช้งาน และมีความยั่งยืนในแง่การพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ สำหรับเจ้าของที่ดินด้วย

ความเป็นมาของสุสานบ้านพรุ 

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการไปสุสานในต่างจังหวัด เพราะต้องใช้พื้นที่โล่งขนาดใหญ่ ที่จริงแล้วสุสานในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ จากการศึกษาเก่งพบว่า มีอยู่ประมาณ 3 รูปแบบ คือ 1. สุสานจีนที่อยู่ในที่โล่งขนาดใหญ่ในชนบท 2. สุสานในเมือง (เหมือนสุสานแต้จิ๋ว) 3. สุสานที่เป็นธุรกิจในเชิงอสังหาริมทรัพย์

สุสานจีนในประเทศไทยมีหลายร้อยแห่ง แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และดูสัดส่วนจริงๆ ทำให้เก่งพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า สุสานในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลางรวมกันมีสัดส่วนที่มากที่สุด ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของทั่วประเทศ เพราะทั้ง 3 ภาคนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาจากทางจีนตอนใต้ มาปักหลักตั้งรกรากกันที่แถวๆ อ่าวไทยเป็นหลัก เมื่อมีประชากรชาวจีนเยอะก็มีสุสานชาวจีนเกิดขึ้นจำนวนมาก

ในสงขลามีชาวจีนอาศัยอยู่เยอะ และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อพยพมาขึ้นฝั่งทางอ่าวไทย ส่วนชาวจีนในหาดใหญ่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ปี 2460 เพื่อมาสร้างรางรถไฟสายใต้ และเนื่องจากชุมทางรถไฟหาดใหญ่คือชุมทางสุดท้ายจึงตั้งรกรากอยู่ที่นี่กันต่อ การตั้งรกรากของชาวจีนในหาดใหญ่และพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ จึงทำให้เกิดมูลนิธิชาวจีนขึ้นหลายแห่ง และมีการสร้างสุสานเพื่อฝังศพชาวจีนที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต 

หลังจากนั้น 22 ปีต่อมา ปี 2482 ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิจงฮั่วได้บริจาคพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อทำสุสานบ้านพรุ จึงกล่าวได้ว่าสุสานแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับแรงงานชาวจีนที่เข้ามาทำงานในหาดใหญ่ จึงเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ต่อชุมชนโดยรอบ

ความสำคัญของสุสานบ้านพรุ

สุสานบ้านพรุมีขนาดพื้นที่ 346 ไร่ มีหลุมฝังศพ 6,300 หลุม มีเจ้าของอยู่ 2 ส่วน คือ มูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา เป็นเจ้าของพื้นที่ 222 ไร่ และมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) เป็นเจ้าของพื้นที่ 122 ไร่ ซึ่งทั้งสองมูลนิธินี้เป็นมูลนิธิที่มีความสำคัญมากต่อชาวจีนในภาคใต้ โดยเฉพาะมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) ซึ่งเป็นมูลนิธิชาวจีนแห่งแรกในภาคใต้

เมื่อเวลาผ่านไป สุสานบ้านพรุมีความสำคัญกับชุมชนมากขึ้น เพราะอยู่ร่วมกับชุมชนบ้านพรุมาอย่างยาวนาน การขยายตัวของเมืองทำให้เทศบาลบ้านพรุ ถูกยกระดับเป็นเทศบาลเมืองบ้านพรุ และการขยายตัวของเทศบาลหาดใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สุสานบ้านพรุมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ในชุมชน เพราะปัจจุบันนี้ได้มีการนำเครื่องออกกำลังกายมาตั้ง และมีประชาชนเข้าวิ่งออกกำลังกายอยู่ตลอด

Ban Phru Cemetery Park

ข้อมูลอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้ชุมชนชาวจีนจะขยายใหญ่ขึ้น แต่ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ความนิยมในการฝังศพตามพิธีจีนก็ค่อยๆ ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจและข้อจำกัดด้านที่ดิน ทำให้คนจีนรุ่นใหม่ต้องการตัวเลือกในการฝังศพที่เรียบง่ายและประหยัดมากขึ้น เพราะการฌาปนกิจแบบดั้งเดิมมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าฮวงซุ้ยที่ต้องซื้อขาดเท่านั้น ทำให้ลูกหลานชาวจีนรุ่นใหม่เองก็หันไปเผาแบบพุทธมากขึ้น และสุสานมีลูกค้าลดลงไปตามยุคสมัย 

นี่จึงเป็นอีกชาเลนจ์หนึ่งของธีสิสนี้ที่นอกจากจะต้องปรับภูมิทัศน์ให้คนในพื้นที่กล้าเข้ามาใช้งาน และยังต้องทำให้สุสานมีรายได้จากการขายที่ดิน (ฮวงซุ้ย) ได้อีกด้วย

วัตถุประสงค์ของการทำธีสิสครั้งนี้ จึงอยากให้สุสานบ้านพรุเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์มรดกเชิงวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ และการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษชาวจีนที่สร้างหาดใหญ่

รวมถึงพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในเทศบาลบ้านพรุและหาดใหญ่ ซึ่งสามารถเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมนันทนาการได้หลากหลาย อีกทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั้งเมืองหาดใหญ่และตัวสุสานเองด้วย 

Ban Phru Cemetery Park

วัตถุประสงค์สุดท้ายคือปรับภาพลักษณ์ของสุสาน เปลี่ยนความเชื่อของคนในชุมชนที่มีต่อสุสานให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพื่อให้รองรับคนที่เข้ามาใช้งานทั้งในแง่พิธีกรรมและการเป็นพื้นที่สาธารณะ

เพิ่มพื้นที่สาธารณะในหาดใหญ่

ปกติคนหาดใหญ่ไปใช้พื้นที่สาธารณะที่ไหนกัน? 
นี่คือคำถามที่เราสงสัยเมื่อเห็นเก่งบอกว่าต้องการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับเมืองนี้ 

เก่งเล่าว่า อันที่จริงแล้วในเมืองหาดใหญ่เองมีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่อยู่แล้ว คือสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ มีพื้นที่ 974 ไร่ อยู่ห่างจากเทศบาลเมืองหาดใหญ่ไป 13 กม. ซึ่งสำหรับคนที่จะไปใช้งาน แม้จะอยู่ในตัวเมืองเองระยะทางนี้ก็ไม่ได้ถือว่าใกล้เลย ยิ่งถ้ามาจากตำบลอื่นยิ่งไกลและเข้าถึงยากเข้าไปใหญ่ แม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีกิจกรรมหลากหลาย แต่ด้วยระยะทางและการเดินทางเข้าถึงได้ยาก ทำให้คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะมาที่สวนนี้แค่ช่วงวันหยุดเท่านั้น 

จากการรีเสิร์ชเก่งพบว่า ในหาดใหญ่มีพื้นที่สาธารณะค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็น Pocket Park หรือสวนสาธารณะเล็กๆ พื้นที่ขนาดไม่ถึง 1 ไร่ อยู่บริเวณคลองเตย ซึ่งเป็นคลองทางทิศตะวันออกของหาดใหญ่ 

ในขณะที่ระยะทางระหว่างเทศบาลเมืองหาดใหญ่กับเทศบาลบ้านพรุยังขาดพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่อยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนสุสานบ้านพรุให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในหาดใหญ่ก็เป็นการเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้ เพราะสวนนี้จะเชื่อมโยงระหว่างเทศบาลเมืองหาดใหญ่และเทศบาลบ้านพรุได้ 

สุสานบ้านพรุสามารถพัฒนาไปเป็น District Park ได้ เพราะมีขนาดอยู่ที่ 125 – 500 ไร่ และมีรัศมีให้บริการมากกว่า 4 กิโลเมตร ซึ่งหากพัฒนาสุสานบ้านพรุให้เป็นพื้นที่สาธารณะได้จริง จะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมถึง 17,532 หลังคาเรือน 

ออกแบบให้ใช้งานอย่างยั่งยืน

คอนเซปต์ในการออกแบบคือ ‘เปรวจีน เปลวไลฟ์’ คำว่า ‘เปรว’ ในภาษาใต้แปลว่า สุสาน ส่วน ‘เปลว’ ในความหมายทั่วไปหมายถึงไฟ ซึ่งการออกแบบนอกจากความสวยงามแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ย ใส่แนวคิดของความเป็นหาดใหญ่ และทำให้สุสานมีความยั่งยืนในแง่ธุรกิจด้วยเช่นกัน

Ban Phru Cemetery Park

การออกแบบแบ่งออกเป็น 3 โซน 

โซนที่ 1 บริเวณทางเข้า (​​Entrance & Approach)

ทางเข้าออกแบบให้มีส่วนผสมของทั้งจีนสมัยเก่าและสมัยใหม่ ด้านหน้าจะมีพื้นที่ให้ขายของ พื้นที่พักผ่อนริมน้ำ และสนามเด็กเล่น เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามาใช้งานได้หลากหลายกิจกรรม โดยเฉพาะช่วงเช็งเม้งที่คนจะเยอะเป็นพิเศษ หากมีพื้นที่รองรับทั้งคนที่มาเช็งเม้งและพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของ ก็จะทำให้เศรษฐกิจบริเวณนี้คึกคักมากกว่าเดิม 

Ban Phru Cemetery Park
Ban Phru Cemetery Park
Ban Phru Cemetery Park

โซนที่ 2 ริมทะเลสาบ (The Lake)

โซนนี้จะมีทะเลสาบ ซึ่งเป็นจุดฮวงจุ้ยสำคัญ ออกแบบเป็นสไตล์จีนดั้งเดิม โดยบริการที่เพิ่มมาคือพื้นที่สำหรับแซกีเสริมดวงชะตา และหลุมฝังศพสำหรับสัตว์เลี้ยง ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่เลี้ยงสัตว์เป็นลูก มีลานจอดรถ และอาคารบรรจุอัฐิหลังใหญ่ เหมาะกับคนที่อยากทำพิธีแบบเรียบง่าย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ต่างจากสุสานแบบเดิมที่ต้องเปิดโล่ง ไม่มีร่มเงาจากต้นไม้

Ban Phru Cemetery Park
Ban Phru Cemetery Park

โซนที่ 3 ส่วนที่ราบเนินเขา (Hill Cemetery)

โซนนี้เน้นความเป็น Modernism โดยนำสถาปัตยกรรมจีนเก่าๆ อย่างสุสานจิ๋นซีมาตีความใหม่ให้ออกมาทันสมัยมากขึ้น โดยทำหลังคาเป็น Roof Garden เพื่อให้คนที่มาสุสานสามารถเดินเล่น พักผ่อน ใช้เวลาในพื้นที่นี้กันต่อได้ ส่วนด้านล่างจะเป็นส่วนบรรจุอัฐิ ซึ่งเป็นการฝังศพแบบสมัยใหม่ที่นิยมในประเทศที่ที่ดินมีจำกัด และมักจะเก็บอัฐิได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น หลังจากหมดสัญญาทางสุสานสามารถปล่อยพื้นที่ให้กับผู้เช่ารายใหม่ได้

Ban Phru Cemetery Park
Ban Phru Cemetery Park

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สูงที่สุดของสุสาน ไฮไลต์ที่สำคัญของโซนนี้คือจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน ที่อาจจะเป็นจุดหมายใหม่ให้คนอยากออกจากบ้านมาใช้พื้นที่สาธารณะกันมากขึ้น

Ban Phru Cemetery Park
Ban Phru Cemetery Park

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.