คุยเรื่องเมืองและคนดนตรีกับ ‘บอล Scrubb’ - Urban Creature

เราไม่ได้มองศิลปินและนักดนตรีต่างออกไปจากคนเมืองธรรมดาๆ อย่างตัวเองนัก เราคือคนทำงาน พวกเขาก็คือคนทำงาน ความเป็นไปของเมืองที่เราอยู่อาศัยส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเรา กับศิลปินและนักดนตรีที่อยู่ในเมืองเดียวกันนี้ก็คงไม่ต่างกัน

จากประสบการณ์ส่วนตัว เราจะสนใจอ่าน ฟัง หรือถกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมือง ผ่านบทสนทนากับคนในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเมืองเสียมากกว่า และหลังจากได้ยินความตั้งใจของคนหลายๆ กลุ่มก้อนที่อยากผลักดันให้เมืองกรุงเทพฯ เป็น Music City หรือสนับสนุนให้ T-POP เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เป็นหน้าเป็นตาของเมืองหรือประเทศ คำถามที่ปรากฏขึ้นในหัวเราในเวลาต่อมาคือ แล้วเมืองได้สนับสนุนอะไรกลับไปที่ศิลปินที่กำลังตั้งใจทำงานอยู่หรือเปล่า

กุมความสงสัยไว้กับตัวเองได้ไม่นาน เพราะวันนี้มีโอกาสได้เจอกับ ‘บอล Scrubb’ หรือ ‘ต่อพงศ์ จันทบุบผา’ ศิลปินและผู้บริหารค่ายเพลงอย่าง ‘What The Duck’ และ ‘MILK! Artist Service Platform’ ที่ดูแลและสนับสนุนว่าที่ศิลปินหน้าใหม่ ซึ่งวันนี้ได้ขยับตัวเองมาเป็นค่ายเพลงน้องใหม่อย่าง ‘MILK! BKK Music Label’ แล้วเรียบร้อย ชวนเจ้าตัวคุยแบบลึกๆ ไปเลยว่า ในเลนส์ของคนฟังเพลงและคนที่ทำงานกับอุตสาหกรรมดนตรีมายาวนาน (แถมทำมาแล้วหลายบทบาท) ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับเมืองจะมีเรื่องที่อยากชมหรือเรื่องที่ขอบ่นแตกต่างไปจากเราอย่างไร

บอล Scrubb

ในฐานะศิลปินและคนทำค่ายเพลง นิยามคำว่า ‘เมือง’ ของคุณเป็นอย่างไร

ผมว่ามันเป็นเรื่องของความสะดวกสบายในการเข้าถึงศิลปะและดนตรี แต่ทีนี้ก็ต้องมาดูอีกทีว่า ในความเป็นจริงเมืองเอื้อให้คนเข้าถึงศิลปะและดนตรีได้จริงไหม ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือมีระบบที่ต้องซัพพอร์ต ต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะดนตรีไม่ใช่ปัจจัย 4 ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานของเมืองต้องดีก่อน หรือถ้ายังไม่ดีพอ เมืองก็ต้องเอื้อต่อการเข้าถึงประมาณหนึ่ง เพื่อให้งานศิลปะหรือสิ่งที่ไม่ใช่ทางเลือกแรกในการดำรงชีวิตมีโอกาสเข้าหาผู้คนได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ต้องรอให้คนเดินไปหางานศิลปะอย่างเดียว

พอมีคำว่า ‘กรุงเทพฯ เมืองคอนเสิร์ต’ เกิดขึ้น ถือว่าพิสูจน์แล้วไหมว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เอื้อต่อดนตรีจริงๆ

ถ้าเอาในแง่รสนิยมของผู้ฟัง คนไทยเป็นคนรักสนุก อย่างที่มหา’ลัยผม (มหาวิทยาลัยศิลปากร) คนชอบพูดว่าอยากไปเรียนเพราะมีคอนเสิร์ตเยอะ พอไปจริงๆ ไม่ได้มีคอนเสิร์ตเยอะหรอก แต่เวลามีงานรื่นเริงอะไร แค่โยนกลองเข้าไปสองใบก็อยู่กันได้ทั้งคืน ดังนั้นพอดนตรีเป็นความบันเทิงหนึ่งที่เข้าถึงง่ายและส่งผลในระดับจิตใจ ความรู้สึก ความสุข ดนตรีก็เลยดูแข็งแรงกว่าอย่างอื่นนิดหนึ่ง รวมถึงเป็นสิ่งจับต้องได้ง่าย เราฟังเพลงบนออนไลน์ก็ได้ หรือเวลาที่อยากจะออนกราวนด์ก็สามารถหาวงดนตรีดูได้เต็มไปหมด บางทีเดินไปก็เจอแล้ว ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่หากคุณชอบงานภาพวาดหรือชอบภาพยนตร์ เวลาปฏิบัติจริงๆ คุณจะต้องเข้าโรงหนังหรือต้องไปสถานที่ที่แสดงงานศิลปะ

แต่อย่างที่บอกเกี่ยวกับการส่งเสริมการเข้าถึง ผมไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่ว่ามันเป็นคำถามที่ยังต้องช่วยกันหาคำตอบให้อีกหลายๆ เรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขมูลฐาน ค่าครองชีพส่วนบุคคล หรือการเข้าถึงการเดินทาง ถ้าสิ่งนี้ดีพอหรือตอบโจทย์ในเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น ผมว่าคนไทยสามารถหาความสุขเพิ่มเองได้ ในปัจจุบันผมเชื่อว่าเราไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น แต่เราก็ยังกระเสือกกระสนจะไปหามัน เพราะคนไทยมีค่านิยมความสุขเป็นพื้นฐาน ชอบงานรื่นเริง ชอบพบปะกัน ถึงอย่างนั้น ปัจจัยหลายๆ อย่างต้องพัฒนากันอีกเยอะ

ที่คนถกกันว่าทำไม Taylor Swift ไม่มาไทยเลย ถ้าไม่นับเรื่องความเอ็กซ์คลูซีฟ อย่างผมไปราชมังฯ ทุกวันนี้ ถ้าไม่ใช่ศิลปินคนที่เรารักจริงๆ แค่คิดถึงตอนเดินทางกลับก็ไม่อยากไปแล้ว เพราะไม่รู้เลยว่าต้องไปรบกับอะไรบ้าง สถานที่ที่เหมาะต่อการจัดงานรื่นเริงระดับชาติยังมีปัญหาเรื่องระบบขนส่ง แค่นี้ก็เป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจแล้ว ไม่นับเรื่องค่าบัตร ค่าเดินทาง หรือสิ่งที่จะต้องไปเจอระหว่างทาง เหมือนซื้อบัตรแล้วไม่จบ ต้องจอดรถที่ไหน ต้องเผื่อค่าวินฯ กี่บาท แล้วขาออกต้องออกก่อนเพลงที่เท่าไหร่ถ้าไม่อยากเจอรถติด การไปดูคอนเสิร์ตใหญ่ในบ้านเราต้องทำการบ้านเยอะมาก ในแง่ของความเป็นเมือง ถ้ามันดีขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย หรือคิดง่ายๆ ถ้ามีที่ที่ดีมากๆ อยู่บนแนวรถไฟฟ้า เท่านี้ผมว่าสะดวกขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว

พวกเราที่เป็นนักฟังเพลง ศิลปิน หรือค่ายเพลงก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องของบ้านเมือง เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องมองเห็นว่าสิ่งนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ มันเป็นมวลรวม แล้วมันก็ได้ถูกพิสูจน์ในหลายประเทศแล้วว่าดนตรีหรืออุตสาหกรรมบันเทิง ถ้าเติบโตอย่างถูกต้องก็สามารถเป็นธุรกิจส่งออกของประเทศได้ ในขณะที่พวกเราโตกันประมาณนี้ ช่วยๆ กันเองมันยังดีขึ้นเลย ศิลปินไทยเก่งขึ้นเยอะ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็พยายามผลักดัน เพราะเราเชื่อว่ามันมีโอกาสประสบความสำเร็จ เราทำตัวอย่างให้ดูได้ ดังนั้นถ้าช่วยกันโดยรวมทั้งก้อน ผมเชื่อว่าไทยเป็นแลนด์มาร์กที่ดีเลย

บอล Scrubb

ซึ่งการทำ MILK! ที่วันนี้ขยับจาก Artist Service Platform เป็นค่ายเพลง คือสิ่งที่คุณพยายามจะทำเป็นตัวอย่างหรือเปล่า

ถ้าเทียบเป็นเมือง เราเหมือนทำหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นมาหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างอิสระ ชวนคนที่มีความเชื่อ มีความรู้สึกว่าฉันกำลังสร้างงานอยู่ และฉันไม่แน่ใจว่าฉันจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพในเมืองนี้ดีไหม มาทดลองในหมู่บ้านเล็กๆ นี้ที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการเป็นศิลปินแบบชุดเล็กๆ ก่อน คุณสามารถทำมาหากินด้วยต้นทุนของคุณเองได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ค่าแรง ค่าอะไรเยอะ และก็มีเงินสนับสนุนจากหมู่บ้านนี้ด้วย

โจทย์ของ MILK! เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่ให้ทุกคนได้ทดลองเรียนรู้ก่อนว่า สิ่งที่สนใจอยู่นั้น เมื่อมันกลายเป็นหน้าที่ที่ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น คุณจะได้คำตอบว่าอยากทำอาชีพนี้จริงๆ ไหม คุณพร้อมที่จะเอาตัวเองไปอยู่ที่เมืองใหญ่หรือเปล่า ซึ่งเราใช้งบประมาณของ What The Duck ที่นับเป็นเมืองใหญ่ที่เราทำธุรกิจอยู่มาพัฒนาบุคลากรตรงนี้ เพื่อให้เราได้บุคลากรที่ดี มีคุณภาพ มีทัศนคติในการทำงานที่ดี ที่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจส่งต่อให้คนอื่น วันนี้ก็ทำมา 4 ปีแล้ว ผลลัพธ์ก็ตอบโจทย์ในแบบที่ต้องการ เรามีวงดนตรีที่ดีและเติบโตเร็วมากๆ บางคนโตขึ้นมาอยู่ใน What The Duck หรือบางคนก็ย้ายไปโตต่อที่เมืองอื่น ค่ายอื่น

บอล Scrubb

เมือง What The Duck กับเมือง MILK! Music Label มีความแตกต่างกันอย่างไร

ต้องบอกว่ามีศิลปินบางคนที่รู้สึกว่าอยากทำงานนี้เป็นอาชีพนะ แต่ก็อาจจะไม่ได้เก่งหรือแข็งแรงพอ หรือไม่อยากเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่นั้น หรืออยากให้ดนตรีเป็น Second Job เป็นงานพาร์ตไทม์ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น จริงจังขึ้น เราก็เลยอยากยกระดับ MILK! ขึ้นมาให้เป็นค่ายเพลงอีกค่ายหนึ่ง ซึ่งในส่วนของ Artist Service Platform ก็ยังอยู่นะ มีที่ให้ทดลองเหมือนเดิม

สำหรับ What The Duck ที่เป็นเมืองที่โตมา 10 ปีแล้ว พันธกิจบางอย่าง หน้าที่บางอย่าง มันก็เป็นเป้าของคนที่อยู่ในเมืองนั้นมา 10 ปี อย่าง ‘คุณ Bowkylion’ ‘คุณ The TOYS’ จากเด็กที่ทุกคนตื่นตาตื่นใจ ทุกวันนี้เขาเป็นพี่ใหญ่ในบ้านนั้นแล้ว คนหนึ่งอยากเป็นโปรดิวเซอร์​ อีกคนอยากมีค่ายเพลง ทำงานของตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง ในการเติบโตอย่างแข็งแรง เมืองใหญ่ก็มีโจทย์ของเมืองใหญ่ แม้แต่คนที่ทำเมืองร่วมกันมายังรู้สึกเลยว่านี่คือโจทย์ใหม่ของเราเหมือนกัน

10 ปีที่แล้วคนมองว่า What The Duck เป็นค่ายเล็กๆ อินดี้ แต่สำหรับเด็กในวันนี้มันอาจจะไม่ใช่ เพราะว่าศิลปินที่อยู่ในนั้นก็เป็นที่รู้จักเต็มไปหมด ถึงแม้ว่าเขาเป็นศิลปินอิสระมาก่อน ไม่มีใครรู้จักคุณ Bowkylion คุณ The TOYS ในวันเก่าๆ เลย ซึ่งถ้ามองเป็นประเทศ เราก็จะมีเมืองใหญ่เป็น What The Duck แล้วก็มีเมืองเล็กๆ เป็น MILK! ที่ให้เด็กที่กำลังจะเติบโตหรือศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานเล็กๆ ของตัวเอง ถ้ามองเป็นเมือง มันคือการขยับขยายพื้นที่ การเคลื่อนย้ายคน แล้วก็ให้องค์รวมพัฒนาไปด้วยกัน และในท้ายที่สุดเมืองนี้จะเป็นเมืองที่เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้

บอล Scrubb

แล้วคนเมืองที่เป็นคนฟังเพลงล่ะ คุณมองว่าเขาจะได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้

ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเราพ้นจากเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ผมว่าศิลปะที่ดีช่วยผ่อนคลายความเครียดระหว่างวัน ช่วยสร้างความสุขให้เพิ่มขึ้นในชีวิต แล้วก็ช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือคิดที่จะทำอะไรบางอย่าง แรงบันดาลใจนั้นส่งต่อได้ พอส่งต่อได้ บรรยากาศถูกต้อง มันก็จะขับเคลื่อนย้อนไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเป็นการสร้างงาน ทำบางอย่างที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมโดยรวมดีขึ้น ก็อาจจะเป็นคำพูดที่ดูสวยงาม แต่อย่างที่บอกว่ามันต้องช่วยกันโดยรวม ก่อนที่จะส่งความสุขหรือแรงบันดาลใจเหล่านี้ได้ ความสุขพื้นฐานหรือปัจจัยพื้นฐานก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะเป็น

คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องพื้นฐานในบางอย่างก็ต้องช่วยกันส่งเสริม ช่วยกันพัฒนาไป แล้ววันหนึ่งที่มันดีขึ้นมาจริงๆ ศิลปินก็พร้อมจะเดลิเวอร์สิ่งเหล่านี้ให้เมืองอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเวลาที่ผมไปเที่ยวญี่ปุ่น ช่วงแรกๆ ที่ผมไปยืนริมถนน กำลังจะข้ามทางม้าลายแล้วเป็นไฟแดงไม่ให้ข้าม แม้ว่าถนนไม่มีรถเลย แต่คนที่ยืนอยู่ข้างๆ เขายืนรอ ผมก็ไม่กล้าข้าม แล้วก็เกิดการตั้งคำถาม บางสิ่งข้างในตัวเราเปลี่ยนไปเองโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว คือเวลาเห็นไฟแดงผมจะรู้สึกว่าเราต้องเบรก ต่อให้ไม่มีคนก็ตาม อันนี้คือหัวใจเรื่องเดียวกับศิลปะที่ทำงานในระดับจิตใจ การที่คุณตั้งคำถามกับอะไรบางอย่างที่คุณได้เห็นและรู้สึกกับมัน ระยะยาวมันจะเปลี่ยนพฤติกรรมคุณเอง นี่แค่ 1 ยูนิตต่อ 1 คนนะ แล้วสมมติว่าคนทั้งเมืองมีการตั้งคำถามและคิดแบบนั้นเหมือนกัน แน่นอนว่าพฤติกรรมโดยรวมของเมืองก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย

บอล Scrubb

ธุรกิจดนตรีในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ผมขอเจาะจงในเรื่องของรายได้แล้วกัน มันดีขึ้นจาก 10 ปีก่อน ตั้งแต่วันที่มีการฟังเพลงผ่านระบบดิจิทัล ผ่านสตรีมมิงต่างๆ ต่อให้คนฟังเขาไม่ได้จ่ายเงินเข้ามาฟัง ในภาคธุรกิจจะมีสปอนเซอร์เข้ามาซัพพอร์ตตรงนี้ให้ จากเมื่อก่อนที่พึ่งพาจากการขายซีดี ขายตั๋วคอนเสิร์ต วันนี้ก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ผมถือว่าพื้นฐานเรามีความรู้ความเข้าใจวิธีการหารายได้หลายๆ อย่างจากโลกดิจิทัลแล้ว ดังนั้นสำหรับศิลปินทุกวันนี้ ทุกคนสามารถสร้างรายได้ในแบบที่บอกกับครอบครัวได้ว่า เรามีอาชีพเป็นนักดนตรี เป็นศิลปินได้ ไม่ไส้แห้งแล้ว เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ดูแลคนรอบตัวได้ดีขึ้น แล้วเชื่อว่ามันน่าจะดีขึ้นกว่านี้อีกเรื่อยๆ

บอล Scrubb

สิ่งหนึ่งที่ต้องจับตาเลยคือ T-POP คุณคิดว่าอะไรทำให้ศิลปินกลุ่มนี้เติบโตเร็วมากๆ

เรื่องเดิมเลย คนไทยรักความสนุก คนไทยรักความสวยงาม ผมว่า T-POP ในหมวดบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ป ถ้าตีเป็นไทยเลยนะ มันคืองานรำวง งานรถแห่ งานรื่นเริงหมู่บ้านที่อยู่ในรูปแบบที่ซิงก์กับรสนิยมหรือเทสต์ของคนในยุคปัจจุบัน เป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความพร้อมเพรียง มีการแต่งกายที่สวยงาม มีเพลงที่ไพเราะ เนื้อเพลงติดหู ซึ่งจิตวิญญาณพื้นฐานคนไทยชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว

พอเรามีโลกโซเชียลที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ ความรู้พื้นฐานขั้นต่ำหรือการรับรู้ต่อศิลปะ ต่อดนตรีเลยพัฒนาขึ้นทั้งฝั่งของผู้สร้างและผู้ฟัง เมื่อก่อนผู้สร้างอาจจะสร้างล้ำหน้าไปกว่า 10 ปี แต่ผู้ฟังเขาโตไม่ทันเพราะชุดข้อมูลหรือสื่อที่ยังเข้าไม่ถึง เกิดเป็นช่องว่างที่ทำให้งานบางงานอาจจะดูเร็วไปหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ผู้สร้างและผู้ฟังใกล้กันมากขึ้น ฉะนั้นการที่ศิลปินทดลองทำอะไรบางอย่างที่ล้ำไป 4 – 5 ปี เขาอาจจะมีแฟนคลับแล้วก็ได้ การมีกลุ่มผู้ฟังที่รู้สึกเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ผู้สร้างกำลังพยายามทำอยู่ ผมว่าคือหัวใจของการเติบโตของ T-POP

บอล Scrubb

บางคนอาจจะมองว่ามี K-POP เป็นแรงบันดาลใจ ผมคิดว่ายุคแรกๆ ก็เห็นชัดเจน แต่ปัจจุบันกล้าพูดได้ว่า T-POP พัฒนาเข้ามาสู่คัลเจอร์ของคนเมือง หรือเป็นไลฟ์สไตล์อะไรบางอย่างที่มีความเป็น T มากขึ้น เอาใกล้ตัวเลย ดูอย่าง ‘4EVE’ ‘PiXXiE’ ก็ได้ แนวเพลงกับสไตล์เรารู้เลยว่ามีจริต มีอะไรบางอย่างที่ดูสากล แต่ในขณะเดียวกัน เมโลดี้ การร้อง เนื้อหาเรื่องราว เด็กๆ คุณลุงคุณป้าทุกคนฟังได้ เพราะมันคือรากเหง้าของคนไทย แล้วมันพัฒนาไปถึงในยุคที่ว่า วง T-POP เหล่านี้ เวลาไปโชว์เขาไม่ค่อยเล่นกับ Backing Track แล้ว ไปเล่นกับวงดนตรี เรียบเรียงดนตรีใหม่ ทำซาวนด์สำหรับโชว์ใหม่ พอดนตรีดี เพลงร้องง่าย จำง่าย แถมเพอร์ฟอร์มดีด้วย พลังมันมหาศาลเลย

แล้วเทศกาลดนตรีในปัจจุบัน เราสามารถเจอวงดนตรีอย่าง ‘Safeplanet’ ‘Uncle Ben’ แล้วโชว์ต่อด้วย ‘PROXIE’ ‘PiXXiE’ ได้ ซึ่งเมื่อก่อนตลาดที่เป็นเมนสตรีม เพลงป็อปทั่วไปก็อยู่ที่หนึ่ง อินดี้ซีนก็อยู่อีกที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้งานดนตรีหลายๆ งานเอาซีนดนตรีหลักกับซีนดนตรีทางเลือกมาอยู่ด้วยกัน แล้วโชว์ต่อกันได้อย่างสนุกสนาน เพราะว่ามาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น แล้วคนฟังก็มีความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งนี้มากขึ้น ผมรู้สึกวงการพัฒนาขึ้นในแนวทางที่ดีมากๆ

สมมติว่ามีน้องๆ วง T-POP หรือวงดนตรีไทยอยากจะไปโตที่ตลาดต่างประเทศ คุณอยากจะแนะนำอะไรให้พวกเขา

เสริมจากประสบการณ์ส่วนตัวเลย เพราะว่า Scrubb ก็มีโอกาสได้ออกไปเล่นดนตรีในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นจะต้องมีเพลงสากลนะ ถ้าคุณไม่ได้มีความสามารถหรือทักษะทางภาษาที่จะแต่งเพลงสากลได้ขนาดนั้น คุณทำเพลงแบบที่คุณเป็นนั่นแหละ แล้วก็ออกไปเล่นด้วยภาษาของเรา เล่นด้วยเพลงไทยของเรา คนที่มาดูคุณ เขาอยากมาเอนจอยไวบ์บางอย่าง

บอล Scrubb

ผมเคยถามกับผู้จัด ค่ายเพลง คนที่มาดูเราที่นู่นว่าเขาอยากดูอะไร เขาบอกอยากดูคุณพูดไทย อยากดูคุณร้องเพลงไทยนี่แหละ เวลาเราเล่น เขามีความสุขกับการที่ได้เห็นบรรยากาศของการที่เราแสดงดนตรีในแบบคนไทย พูดหรือร้องในแบบคนไทย เพราะฉะนั้นการรู้ภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องดี แต่การที่คุณไม่ได้มีพื้นฐานหรือเก่งที่จะเอาภาษาอังกฤษไปสื่อสารได้ขนาดนั้น คุณก็สร้างผลงานในแบบตัวคุณเอง ทุกวันนี้เทศกาลดนตรีต่างๆ ไม่ว่าจะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง วงดนตรีไทยก็มักจะเป็นตัวเลือกที่ได้รับเชิญไปเล่นด้วยเพลงไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และผมเชื่อว่าในอีก 5 ปี 10 ปี ไวบ์แบบนี้จะไปไกลกว่านี้อีก ถ้ามันถูกที่ถูกทางและได้รับการซัพพอร์ตที่ดี

คุณคิดว่าเมืองที่น่ารักกับนักดนตรี ควรเป็นเมืองแบบไหน

เมืองที่น่ารักกับนักดนตรี เอาแบบในฝันเลยก็อาจจะมี ‘Free Stage’ เวทีที่ไม่ต้องมีเรื่องของค่าใช้จ่ายสำหรับศิลปินหน้าใหม่ ให้ลงทะเบียน จองคิวไปทำการแสดงได้ ถ้าตอนนี้ใกล้เคียงสุดก็น่าจะที่สยามสแควร์ ผมว่าอันนี้ดี แล้วก็ผมว่าไม่ต้องให้เงินสนับสนุนกับนักดนตรีก็ได้ แต่ลดค่าใช้จ่ายพื้นฐานบางอย่างลงเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นสำหรับเยาวชน หรือสำหรับคนที่สนใจในงานศิลปะ หรืออยากพัฒนาเรื่องนี้ให้กับตนเอง มีห้องซ้อมขนาดกลาง มีศูนย์การเรียนรู้ หรือซัพพอร์ตสถาบันอุดมศึกษาที่เขามีการเรียนการสอนเรื่องดนตรีให้เข้าถึงง่ายขึ้นในราคาที่ประหยัดขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่าย ต้นทุนของการเป็นนักดนตรีไม่ได้ถูกเลย

แต่ 3 ปีมานี้ ผมกล้าพูดว่าเรามีบุคลากรทางด้านดนตรีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่เก่งมาก และพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยว่ามันสู้ได้ในระดับภูมิภาค อันนี้ผมพิสูจน์ได้จากคนรอบข้างว่าศิลปินไทยเก่งมาก ทั้งๆ ที่เรารู้อยู่แล้วว่าโอกาสในบ้านเราแคบมากๆ ไม่ใช่ไม่มีนะ แต่ค่อนข้างลำบากนิดหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้น เรายังผลิตบุคลากรได้ขนาดนี้เลย ถ้าคุณสามารถลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง หรือทำให้มันเอื้อต่อการเรียนรู้และการเข้าถึง ผมเชื่อว่าประเทศที่มีจิตวิญญาณที่รักศิลปะแบบนี้ เราจะพัฒนาบุคลากรเก่งๆ ได้อีกเยอะมากๆ

บอล Scrubb

กลับกัน ในฐานะคนเสพดนตรี มีอะไรบ้างในเมืองเมืองนี้ที่คุณคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้

มันคงดีกว่านี้มากๆ เลยถ้าขนส่งพื้นฐานของเมืองดี ผมมองว่าประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญของทุกๆ คน ในแง่คนชอบฟังดนตรี อยากสนับสนุนให้มีไลฟ์เฮาส์ในช่วงเวลากลางวันมากขึ้น เพราะว่าเด็กๆ เข้าสถานบันเทิงตอนกลางคืนไม่ได้ หรือเรื่องเวลาของการเดินทางไปชมคอนเสิร์ต ขอยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่น คอนเสิร์ตส่วนใหญ่เริ่ม 6 โมง 1 ทุ่ม แล้วการขนส่งทำให้ทุกคนมาได้ตรงเวลา เริ่มงานตรงเวลา แล้วทุกคนก็กลับถึงบ้านก่อนเที่ยงคืนได้ เพราะรถไฟฟ้ามีสถานีทั่วถึง พอขนส่งพื้นฐานเข้าถึง คุณก็สามารถจัดการเวลาได้

หรืออย่างไลฟ์เฮาส์บางที่ที่อยากจะพัฒนาให้เติบโต บางครั้งก็ตั้งโลเคชันอยู่ไกลมากไม่ได้ เพราะว่าถ้าการเดินทางไม่สะดวกคนก็ไม่ไป หรือถ้าเข้ามาอยู่ในเมืองก็สร้างไม่ได้เพราะค่าใช้จ่ายแพงมาก ทั้งจากค่าเช่าและค่าลงทุน สมมติไลฟ์เฮาส์ไปอยู่ย่านชานเมืองหน่อย แต่มีรถไฟฟ้าที่ไปถึงในราคาประหยัด ทุกคนก็ไปดูได้ เด็กๆ ก็ขออนุญาตพ่อแม่ได้ แล้วกลับบ้านได้ทันเวลา ผมรู้สึกว่าขนส่งมวลชนพื้นฐานกับราคาที่เหมาะสม มันช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของดนตรีในบ้านเราได้ และไม่ใช่แค่คนฟังหรือนักดนตรีเท่านั้นที่ได้นะ คุณภาพชีวิตของคนเมือง ความสุขในมิติอื่นๆ ก็จะพัฒนาไปด้วย

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.