อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำเอารัฐบาลประเทศญี่ปุ่นปวดหัวไม่แพ้กับปัญหาสังคมผู้สูงอายุเลยคือ การเพิ่มจำนวนของ ‘บ้านร้าง’ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่บนหมู่เกาะ เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีมุมมองเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ต่างไปจากเดิม จนไม่ต้องการเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายในการซื้อและบำรุงรักษาบ้านอีกต่อไป
เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ใครหลายคนพากันทิ้งบ้าน เดินทางเข้าหัวเมืองใหญ่เพื่อเช่าหรือซื้อห้องพักบนตึกสูงประเภทคอนโดฯ แทน เนื่องจากมองว่ามีความสะดวกสบายและดูแลรักษาได้ง่ายกว่าบ้านในรูปแบบเดิมๆ ปัญหาที่ตามมาคือการกระจุกตัวของผู้คนและที่อยู่อาศัยจำนวนมากบริเวณใจกลางเมืองใหญ่
เพราะไม่อยากให้บ้านถูกทิ้งไว้จนเปล่าประโยชน์ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหา และออกมาตรการผลักดันให้บ้านที่ถูกทิ้งร้างเหล่านี้กลับมามีเจ้าของอีกครั้ง ด้วยการเปิดขายบ้านราคาถูกและออกนโยบายช่วยเหลือในส่วนต่างๆ
คอลัมน์ City in Focus ชวนไปดูปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการผุดขึ้นของบ้านร้างในประเทศญี่ปุ่น ไปจนถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ต้องการกระจายคนไปตามบ้านร้างต่างๆ ทั่วประเทศ แทนที่จะกระจุกตัวอยู่แค่ใจกลางเมือง
จำนวนบ้านร้างที่เพิ่มขึ้น
ถ้าจะพูดว่า ในตอนนี้แดนอาทิตย์อุทัยกำลังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัยก็คงไม่ผิดนัก เพราะการเก็บสถิติในปี 2018 พบว่า ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาบ้านร้างที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมเกาะมากถึง 8.49 ล้านหลัง และสถาบันวิจัยโนมูระยังคาดการณ์ว่า ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านหลังภายในปี 2023
แต่เนื่องจากเทรนด์การเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมที่อยู่อาศัยมือหนึ่งในรูปแบบคอนโดมิเนียมกันมากขึ้น และไม่นิยมซื้อบ้านมือสองอีกต่อไป ทำให้จำนวนบ้านร้างมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีคนเข้าไปอยู่อาศัยหรือรับช่วงต่ออย่างที่ควรจะเป็น
ซึ่งความนิยมคอนโดฯ มือหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารที่ระบุว่า เมื่อปี 2018 ญี่ปุ่นมีที่อยู่อาศัยซึ่งรวมทั้งบ้านและคอนโดฯ ทั้งหมด 62.41 ล้านยูนิต และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 65.46 ล้านยูนิตภายในปี 2023 กราฟที่เพิ่มสูงขึ้นชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มือหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น หมายความว่าบ้านร้างมือสองที่รอขายทอดตลาดเป็นบ้านมือสองก็จะเติบโตควบคู่กันไป
ดังนั้นหากรัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถจูงใจให้คนหันมาซื้อบ้านมือสองเยอะขึ้น ผลที่จะตามมาคือ บ้านร้างในญี่ปุ่นอาจเพิ่มขึ้นเป็น 23.03 ล้านหลังภายในปี 2038 จนทำให้เกิดภาวะที่อยู่อาศัยเกินดุล
ปัญหาที่ทำให้บ้านร้างเพิ่มขึ้น
รายงานของ Nikkei Asia พบว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีจำนวนบ้านร้างเพิ่มมากขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายที่อยู่อาศัยของรัฐบาลในยุค 2000 (ค.ศ. 2000 – 2009) ที่เพิกเฉยต่ออุปสงค์ที่ลดลงเนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลง ในขณะที่มีผู้คนอาศัยอยู่ตามลำพังมากขึ้นเนื่องจากอายุที่ยืนยาวขึ้นและจำนวนประชากรคนโสดที่เพิ่มขึ้น
เมื่อต้องอยู่ตัวคนเดียว หลายคนจึงเริ่มมองหาที่อยู่อาศัยขนาดเล็กอย่างคอนโดมิเนียมบริเวณใจกลางเมืองมากขึ้น ซึ่งสะดวกต่อการทำงาน การเดินทาง และการใช้ชีวิต โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบ้าน
เพราะเมื่อคำนวณคร่าวๆ การซื้อบ้านหนึ่งหลังมักมาพร้อมค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ผู้ซื้อจะต้องชำระ ที่อาจรวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการ ตั้งแต่ภาษีการจดทะเบียน ค่าใบอนุญาต ค่านายหน้าตัวแทน และภาษีอื่นๆ แตกต่างไปตามแต่ละสถานที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจมีราคาสูงถึง 400,000 เยน (ราว 100,000 บาท) โดยไม่รวมค่าบ้าน
นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่นตั้งอยู่บริเวณวงแหวนแห่งไฟที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นบ่อยครั้ง ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนเลือกเช่าอยู่แทนการซื้อ เพื่อประหยัดค่าซ่อมแซมกรณีบ้านพังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือสึนามิด้วย
AkiyaBanks แพลตฟอร์มแก้ปัญหาบ้านร้าง
เมื่อปัญหาการเพิ่มขึ้นของบ้านร้างในญี่ปุ่นดูจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ รัฐบาลจึงผลักดันการขายบ้านเหล่านั้นในราคาที่ต่ำกว่าตลาดพร้อมทั้งให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง ผ่านแพลตฟอร์มแก้ปัญหาบ้านร้างอย่าง ‘AkiyaBanks’ ที่มาจากคำว่า ‘Akiya’ (空き家) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นหมายถึงบ้านที่ถูกทิ้งร้างหรือไม่มีคนอยู่
AkiyaBanks เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนประชากรในภูมิภาคต่างๆ ผ่านการใช้บ้านร้างให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้น AkiyaBanks จึงเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลบ้านว่างจากเจ้าของหรือหน่วยงานจัดหาบ้านเอาไว้ด้วยกัน ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ที่ต้องการปล่อยเช่าหรือขายบ้านของตนเองให้กับผู้เช่าซื้อรายอื่นๆ ในราคาถูกกว่าตลาด โดยอาจมีราคาต่ำเพียง 50,000 เยนต่อหลัง (ราว 12,000 บาท)
เมื่อมีการเช่าหรือซื้อบ้านผ่านแพลตฟอร์ม AkiyaBanks ในบางกรณีรัฐบาลท้องถิ่นจะมอบเงินช่วยเหลือให้สูงถึง 200,000 เยน (ราว 50,000 บาท) ต่อหนึ่งการซื้อขาย เพื่อเป็นเงินสำหรับลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม รวมไปถึงการซ่อมแซมบ้านร้างที่อาจเกิดจากการชำรุดไปตามกาลเวลา โดยมีข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงินสนับสนุนในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ การซื้อบ้านร้างจาก AkiyaBanks ไม่ได้จำกัดการซื้ออยู่แค่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติที่สนใจสามารถลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศญี่ปุ่นได้อีกด้วย
Sources :
Architectural Digest | t.ly/qzaZ
GaijinPot | t.ly/k5qzF
Goandup Picks | bit.ly/3N2qEGc
Japan City Tour | t.ly/Stz4
Nikkei Asia | t.ly/qkQZ
Nippon.com | t.ly/GSLU
Question Japan | t.ly/Xo8-
Tokyo Cheapo | t.ly/_6xN