City for Moms : เมืองในฝันสำหรับแม่ของพวกเรา - Urban Creature

ในฐานะลูก การได้เห็นแม่อยู่ดีมีความสุข ก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยชราอย่างมีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องน่าเบิกบานใจไม่แพ้การที่แม่คาดหวังได้เห็นลูกเติบโตอย่างแข็งแรง มั่นคงและงดงาม 

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ระดับครัวเรือน ทว่าชีวิตภายใต้โครงสร้างทางสังคมนั้น เมืองถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เข้ามากำหนดชีวิตของแม่และลูกทุกคนในสังคมทั้งในทางตรงและทางอ้อม ทั้งทางเลือกที่เราเลือกได้เพียงน้อยนิดและที่เราไม่เคยได้เลือกเลยก็ตาม

เมืองเชื่อมโยงกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนเราตาย หากลองคิดให้ลึกซึ้งกว่าเดิม เมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายและรัฐสวัสดิการที่ดีพร้อม ย่อมตอบโจทย์ชีวิตของทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะแม่ๆ ของเราที่กำลังก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) 

สำหรับวันแม่ในเมืองฝันสลายแห่งนี้ เราจะพูดถึงแม่แบบโรแมนติไซซ์หรือการบอกรักแม่เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ดังนั้นเราจึงชวนมนุษย์ลูก 6 คนมานั่งพูดคุยกันว่าในเมื่อกรุงเทพฯ ตอบโจทย์ชีวิตแม่ของเราได้ไม่ดีเท่าที่ควรนัก พวกเขาฝันอยากเห็นแม่ที่รักได้มีลมหายใจในเมืองที่มีหน้าตาและจิตวิญญาณแบบไหน เผื่อว่าในระหว่างบรรทัดของถ้อยคำที่ร้อยเรียงจากความรักและความห่วงใยจะสะท้อนวิถีชีวิตของพวกเราในเมืองใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในทุกวันนี้

01 ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา 

อาชีพ : ศิลปิน

เมืองที่อยากให้แม่ไปอยู่ : เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

“เราอยากให้แม่ได้อยู่ในประเทศที่มองเห็นคนเท่าๆ กัน มีชีวิตอย่างมีคุณค่าเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งควรถูกทรีต ให้เขาได้อยู่ในเมืองที่เรามั่นใจได้ว่าเมื่อแม่แก่ตัวหรือเจ็บป่วย จะมีโรงพยาบาลที่ Afford ได้ง่ายดาย มีสวัสดิการพื้นฐานที่ดี เมื่อต้องเดินทางไปไหนก็อยากให้เขาได้มีการคมนาคมและขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ แต่ตอนนี้ประเด็นพวกนี้กลับไม่มีในเมืองที่เราอยู่ 

“เราถูกสอนให้เป็นคนกตัญญูต้องตอบแทนบุญคุณ จนลืมตั้งคำถามกับชีวิตว่าส่วนหนึ่งของการดูแลคน มันคือสิ่งที่รัฐต้องจัดสรรให้ทุกคนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าลูกๆ ต้องลำบากตรากตรำทำงานเพื่อชดใช้บุญคุณพ่อแม่ตัวเอง ไม่ใช่แค่แม่เราหรอกที่ควรได้อยู่ในเมืองที่ดี คนแก่ทุกคนไม่ได้อยากรบกวนลูกหลาน ดังนั้นรัฐที่ดีควรจัดสรรการดูแลให้แม่ๆ ทุกคนได้รับการดูแลเท่าเทียม ไม่ควรมีแม่ใครได้รับผลประโยชน์มากกว่าแม่คนอื่น

“เมืองที่เราไปแล้วประทับใจคือเบอร์ลิน อยากให้แม่ได้อยู่ที่นั่น หรือจะเป็นเมืองไหนก็ได้ในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นเมืองที่ต้องมีสวัสดิการและสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าที่นี่ เราเห็นว่าคนอยู่ที่นั่นแล้วชีวิตเจริญเติบโต คนแก่ไม่ได้อยู่เฉยๆ ในบ้าน เขายังใช้ชีวิตปกติได้เหมือนคนวัยอื่นๆ แม่ป่านเองก็ยังเสพอะไรแบบวัยรุ่น เราเลยอยากให้แม่มีโอกาสได้ไปดูหนังดีๆ ได้เดินแกลเลอรี่ดูงานศิลปะ ตกเย็นแล้วได้ไปพักผ่อนในสวนสาธารณะใกล้บ้าน ได้กินอาหารราคาเหมาะสมกับรายรับ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าเข้าเมืองไปกินข้าวในห้างฯ แล้วกลัวว่ามันจะแพงเหลือเกิน ถ้าเราและแม่ได้อยู่ในประเทศที่โครงสร้างดี เราจะยินดีจ่ายภาษีกว่านี้ เพราะว่าผลลัพธ์มันจับต้องได้ พูดแล้วโมโหนะ ถ้าแม่อยู่ในเบอร์ลินจริงๆ ตอนนี้คงได้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ฉีดเลย เมืองนี้ทำให้เราเป็นห่วงแม่มาก เราแค่อยากอยู่ในเมืองที่ออกแบบมาอย่างใส่ใจคนทุกคน ไม่ใช่แค่ใส่ใจเรื่องสวัสดิการ แต่ต้องคิดถึงเรื่องรายละเอียดความสุขของประชาชนทุกคนอย่างถี่ถ้วนด้วย”

อัด อวัช

02 อัด-อวัช รัตนปิณฑะ

อาชีพ : ศิลปิน นักแสดงและผู้กำกับ

เมืองที่อยากให้แม่ไปอยู่ : เมืองในประเทศเยอรมนีหรือสวีเดน

“ถ้าผมเลือกเมืองในฝันให้แม่ได้ ผมอยากเลือกเมืองที่รัฐสวัสดิการครอบคลุมชีวิตคนไปจนแก่ ถ้าเมืองพร้อม แม่ผมจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น เขาไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกไปรับ-ส่ง และควรมีความสุขเมื่อได้ออกไปข้างนอกคนเดียว มั่นใจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย ไปเจอเพื่อนๆ ของตัวเองได้โดยไม่ต้องเดินบนฟุตพาทที่อาจจะทำให้ล้มลง หรือกังวลว่าจะไปเจอสะพานลอยที่ผุพังหรือเปล่า ถ้ารัฐสวัสดิการดีมันจบเลย เพราะทุกอย่างจะเอื้อให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เรื่องเมืองมันส่งผลต่อจิตใจ ประเทศที่การเมืองดี จะมีเมืองที่อยู่สบาย เพราะประชาชนเป็นใหญ่ เราไม่ต้องคอยเรียกร้องสิทธิ์ ไม่ต้องเครียดเพราะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ โดยไม่มีผู้มีอำนาจมาลิดรอน เมืองแบบนั้นจะทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าเรามีชีวิตที่ดีได้ทุกวัน ถ้าเมืองมันดี ทั้งผังเมืองและการเดินทางต่างๆ ชีวิตผมกับแม่คงได้เจอกันที่อื่นๆ นอกจากในบ้าน บนรถยนต์และในห้างฯ มากขึ้น เราคงได้ไปเที่ยวสวนสาธารณะ หรือได้ไปในที่ที่เป็นธรรมชาติด้วยกันมากกว่านี้ ตอนนี้แค่อยากหาที่นั่งเล่นข้างถนนในกรุงเทพฯ ยังทำไม่ได้เลย ถ้าเมืองที่เราอยู่เอื้อให้แม่กับผมมีเวลาที่ดีด้วยกันได้ มันอาจทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้น จิตใจเราคงปลอดโปร่งและมีความสุขมากขึ้น ตอนนี้กรุงเทพฯ มันเต็มไปด้วยความไม่สะดวก ในประเทศแถบยุโรป คนพาครอบครัวออกไปปิกนิกได้ นั่งอ่านหนังสือในสวนได้ แต่เรามีสิ่งเหล่านี้น้อยมาก พอไม่มีพื้นที่ปลดปล่อยก็เกิดความเครียดวนลูป ไม่มีที่ให้ผ่อนคลายด้วยกัน จะขับรถไปพักผ่อนที่ทะเลหรือต่างจังหวัดก็ไปทุกวันไม่ได้ ถ้าเมืองมันมีโซนให้แม่-ลูกผ่อนคลายด้วยกัน ความสัมพันธ์ก็จะแนบแน่นขึ้นและปะทะกันน้อยลงด้วย

“ถ้าให้เลือก ผมอยากพาแม่ไปอยู่เยอรมนีหรือสวีเดน ผมรู้สึกว่าโครงสร้างพื้นฐานเขาแข็งแรง การเดินทางทุกอย่างสะดวก ให้สิทธิ์ทุกคนโดยไม่ได้เอื้อคนกลุ่มเดียว ไม่ว่าอายุเท่าไหร่คุณก็ใช้บริการส่วนกลางของประเทศได้เลย ความเป็นอยู่มันเอื้อให้ประชาชนใช้ชีวิตง่าย ในขณะที่ตอนนี้เรากับแม่ต้องมาคิดเรื่องค่าเดินทางยิบย่อย ต้องวางแผนตื่นเช้า เผื่อเวลารถติดเพื่อออกไปถึงที่หมายให้ทัน ผมว่ารัฐในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่ผลักภาระมาให้ประชาชนแบบนี้” 

Best Nathasit

03 เบสท์-ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์

อาชีพ : ศิลปินและนักแสดง

เมืองที่อยากให้แม่ไปอยู่ : เมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา

“เมืองที่อยากให้แม่อยู่ ต้องเป็นเมืองที่มีสวัสดิการรองรับเขาได้ เพื่อให้รัฐช่วยลดความเป็นห่วงของเราลงไปส่วนหนึ่ง ผมเคยคิดว่าตั้งแต่แม่เกิดมา เขาได้ทำตามความฝันของตัวเองตอนวัยรุ่นแล้วหรือยัง ทุกวันนี้ความฝันแม่เปลี่ยนไปแค่ไหน เลยอยากให้เขามีชีวิตที่ตัวเองสนุกกับฝันได้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงลูก แม่ผมใช้ชีวิตแบบรับใช้อำนาจมากๆ ไม่ว่าจะการถูกกดทับจากโครงสร้างทางสังคม หรือจากความเชื่อของคนอื่นจนไม่มีความเชื่อของตัวเองหลงเหลืออยู่เลย

“ในทางกลับกันเมืองที่พวกเราอยู่มันเต็มไปด้วยปัญหา ทำให้แม่ต้องมาคอยมาห่วงกังวลความปลอดภัยของชีวิตเรามากเกินไป ผมอยากให้เขาได้อยู่ในเมืองที่ชีวิตเป็นของเขาจริงๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลถึงความลำบากที่ลูกต้องเจอในประเทศนี้ด้วยซ้ำไป 

“ตอนนี้ผมมองว่าสวัสดิการไทยไม่ได้กระจายไปสู่ทุกคนจริงๆ สิ่งที่เราควรได้รับ เรากลับไม่ได้ จนเคยชินว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าแม่ผมได้อยู่เมืองอื่นๆ ที่หล่อหลอมคนดีกว่านี้ เฉลี่ยอำนาจคนให้เท่ากันกว่านี้ ได้ไปในพื้นที่ที่มีโอกาสอย่างแท้จริงก็คงดี เพราะกรุงเทพฯ มันคือเมืองแห่งโอกาสหลอกๆ คนอาจคิดว่าเข้ามาหาโอกาสในกรุงเทพฯ แล้วจะได้ทำงานและได้เงิน มันก็มีโอกาสให้คุณทำงานแหละ แต่มันเป็นแค่การทำงานอย่างเดียว เงินที่ได้มาไม่พอที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยซ้ำ

“ผมอยากให้แม่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา เพราะพี่สาวผมอยู่กับแฟนคนไทยที่นั่น การไปอยู่และเป็นพลเมืองของเขา มันได้สวัสดิการที่เพียงพอต่อชีวิต พ่อแม่ของพี่เขยผมได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเป็นเงินเดือนละประมาณสองถึงสามหมื่นบาท สมมติพ่อแม่เราทำงานจนอายุหกสิบปีแล้วเกษียณ หลังจากนั้นมันควรเป็นเวลาที่เขาได้ออกท่องเที่ยวก่อนจากโลกนี้ไป หรือควรได้พบเจอสิ่งน่าตื่นเต้นที่ในชีวิตนี้ไม่เคยเจอ เมืองในอเมริกาเลยน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด”

Gunn Junhavat

04 กันต์ ชุณหวัตร

อาชีพ : ศิลปิน นักแสดงและนักเขียน

เมืองที่อยากให้แม่ไปอยู่ : เมืองต่างจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น

“ถ้าเลือกได้อยากให้แม่อยู่ในเมืองที่ปลอดภัย ที่คาดหวังที่สุดคือเรื่องฟุตพาท ไฟถนนที่สว่างและทางข้ามถนนที่ปลอดภัย บ้านผมอยู่กลางกรุงก็จริง แต่ว่าไฟในซอยไม่ติดหลายดวง ทำให้บางทีซอยมืด ถ้าผมไปทำงานต่างประเทศหรือต่างจังหวัดนานๆ แล้วแม่อยากไปร้านสะดวกซื้อตอนมืด เราก็จะรู้สึกกังวลแล้ว 

“แถวบ้านผมรื้อฟุตพาทมาสองปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังทำไม่เสร็จสักที บางครั้งผมเดินเหม่อๆ ยังสะดุดเลย เรื่องโครงสร้างพื้นฐานพวกนี้ อยากให้มันปลอดภัย สะดวกที่สุด และเข้าถึงได้ง่ายที่สุด พอแม่ผมอายุมากขึ้น การใช้ขนส่งมวลชนก็ไม่ได้คล่องตัวเหมือนช่วงสาวๆ เราอยากให้มันมีคุณภาพ แต่ตอนนี้กลับไม่สะดวกและที่มีอยู่ก็ไม่ทั่วถึง มีหลายที่ที่เขาต้องไป ถ้าเราไม่ว่างไปส่ง เขาจะเดินทางไปยากทันที บางทีแม่มีธุระต้องไปหาหมอบ่อย ตัวโรงพยาบาลที่ไปไม่มีขนส่งไหนเข้าถึงเลยนอกจากรถเมล์และแท็กซี่ ถ้าเราเลือกได้ก็อยากไปส่งเอง เพราะบางครั้งหมอนัดตอนเย็น ตรวจเสร็จตอนกลางคืน ก็กังวลไม่อยากให้แม่นั่งแท็กซี่กลับมาคนเดียว ถ้ารถไฟฟ้าเข้าถึงทุกเส้นทางแล้วมันไม่อันตราย เราอาจจะลดความกังวลตรงนี้ได้ 

“ทุกวันนี้แม่ต้องไปต่อแถวหาหมอตั้งแต่เช้าเพื่อจะได้ตรวจช่วงบ่าย มันทำให้คนแก่เหนื่อย บางครั้งเราต้องไปโรงพยาบาลเอกชนแทน แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก กลายเป็นว่าต้องกลับมารับผิดชอบกันเองทั้งหมด ทั้งที่สาธารณสุขควรเข้าถึงง่าย และมีคุณภาพเท่าๆ กันในทุกที่ อย่างถ้าเราคิดจะพาพ่อแม่ไปอยู่สงบๆ ที่ต่างจังหวัด ก็ต้องกลับมาคิดอีกว่าแล้วโรงพยาบาลที่ไหนล่ะจะพร้อมเท่าที่กรุงเทพฯ มันยากจังเลย 

“ถ้ามีประเทศไหนที่อยากให้เรากับแม่ไปอยู่ด้วยกัน ผมอยากให้เขาอยู่ในที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยหน่อย ความเครียดจะได้ไม่สูง ถ้าให้เลือก ผมมองว่าควรไปอยู่เมืองต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองในญี่ปุ่น ซึ่งมีโรงพยาบาลบริการพร้อม มีการคมนาคมที่ดี และหาของยังชีพทั้งหมดได้อย่างสะดวกสบาย มีรถไฟไปไหนมาไหนทั่วถึง แต่ความจริงแล้วคุณแม่ เขาอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดจนอายุหกสิบเจ็ดสิบ เขาไม่ได้อยากย้ายเมืองหรอก จริงๆ เราควรทำเมืองนี้ให้ดี เราเป็นประเทศที่ทรัพยากรพร้อมมาก มีบุคลากรที่เก่งมากด้วย แต่ติดที่การบริหารจัดการไม่ดี โห ถ้าจัดการดีๆ มันน่าอยู่มากนะ แต่การที่ภาครัฐมองว่าปัญหาไม่เป็นปัญหา มันทำให้ไม่เกิดการแก้ไขอะไรจริงๆ สักที”

Pokpong Chanan

05 ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์

อาชีพ : อาจารย์พิเศษและนักเขียน

เมืองที่อยากให้แม่ไปอยู่ : เมืองทิพย์ (เมืองในจินตนาการ)

“การดำรงชีวิตและการออกนอกบ้านแต่ละครั้ง ระบบสาธารณูปโภคหรือขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ไม่ได้เอื้อให้การใช้ชีวิตของแม่เราง่ายเลย เราอยากให้ทั้งแม่ตัวเองและแม่คนอื่นๆ ได้อยู่ในสังคมที่มีสวัสดิการของคนตั้งครรภ์ที่ดี ทั้งสวัสดิการว่าจ้างงาน เรื่องวันลาคลอดหกสิบวัน กฎหมายต้องให้เงินค่าจ้างเต็มเดือนกับคนเป็นแม่ แต่พอแรงงานต้องลาคลอด หมายความว่าเป็นการผลักภาระทุกอย่างให้กับผู้หญิงและแม่ที่ต้องหาเงินมาใช้เอง เราเลยคิดว่าควรจะยืดระยะวันลาเลี้ยงบุตรได้มากกว่านี้ เพราะกฎหมายนี้เก่ามาก มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 แต่ไม่เคยได้รับการอัปเดตอะไรเลย

“ความเป็นเมืองต้องมีกฎหมายเป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้นกฎหมายของรัฐควรลงไปถึงความละเอียดอ่อนเรื่องแม่ เพราะชีวิตของแม่และเด็กสัมพันธ์กับสุขอนามัยเจริญพันธุ์ ไม่ได้มีแค่เรื่องครรภ์นะ แต่เรื่องของผ้าอนามัยก็ไม่ควรมีแค่ในร้านค้า ต้องจัดสรรให้ผู้หญิงมีใช้งานง่ายและเพียงพอด้วย ในแต่ละเมืองควรมีพื้นที่สาธารณะเพียงพอเพื่อให้คนออกมาพักผ่อนหย่อนใจ การที่แม่ได้เดินสนามหญ้าจะดีต่อการตั้งครรภ์ ดีต่อการพาลูกออกมาวิ่งเล่น และดีกับทุกๆ คนด้วย

“ควรมีพื้นที่รองรับให้แม่ได้ให้นมบุตรได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่ว่าคนเป็นแม่ต้องขนอุปกรณ์เลี้ยงลูกมากมาย ต้องมีกระโจมคลุมสุมร่างกายตัวเองเพื่อให้นมลูก ซึ่งเป็นภาระเมื่อต้องออกจากบ้านไม่มีใครอยากจะมีลูกในเมืองที่ไม่ซัปพอร์ตการดำรงชีวิตของคนที่เกิดมา อย่างการฝากครรภ์ก็ควรเข้าถึงง่าย ไม่ใช่ต้องเดินทางไกลๆ เพราะไม่มีโรงพยาบาลที่อยู่ในชุมชน เรื่องความปลอดภัยของแม่ อย่างการดูแลภาวะโรคระบาดตอนนี้ก็สำคัญ เพราะถ้าติดโรคมันก็ส่งผลกับลูกด้วย ถ้าเมืองเรามีความสะอาด จัดการโรคระบาดได้ดีก็จะดีกับแม่ และทำให้คนอยากจะเป็นแม่มากขึ้นด้วย 

“เวลาขับรถ แม่เราจะบ่นว่ารถติดมาก ลานจอดรถก็ไม่เพียงพอ ยิ่งขนส่งมวลชนไม่ดี คนยิ่งใช้รถส่วนตัวมากขึ้น มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เลือกยากนะว่าอยากจะให้แม่ไปอยู่เมืองไหน ถ้าพาไปได้ต้องเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดีไซน์สำหรับผู้สูงอายุอย่างดี มีสุขอนามัยกับโภชนาการที่ดี อาหารการกินดีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าประเทศเรามีอัตราสารพิษเจือปนในอาหารสูง อย่างประเทศญี่ปุ่นเขาพร้อมเป็นเมืองผู้สูงอายุแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อนเขาก็มีการเตรียมการแล้วว่าจะเอายังไงกับ Aging Society แต่คำถามคือเมืองไทยคิดเรื่องนี้มากแค่ไหนกัน ถ้างั้นเราเลือกให้แม่ไปอยู่เมืองทิพย์แล้วกัน (หัวเราะ) เพราะน่าจะมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีสำหรับคนทุกเพศทุกวัยในทุกสภาวะ ไม่ว่าคุณจะตั้งครรภ์หรือไม่ จะเป็นแม่หรือไม่เป็นแม่ของใครก็ตาม” 

Boonlert TuAnt

06 บุญเลิศ วิเศษปรีชา

อาชีพ : อาจารย์ประจำสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

เมืองที่อยากให้แม่ไปอยู่ : เมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา 

“ผมคิดถึงแม่ในภาพกว้าง ซึ่งไม่ใช่แค่แม่ของผมเท่านั้น คุณแม่ในความหมายนี้คือผู้สูงวัยที่อาศัยในเมือง เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุไม่ควรมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม เราจะพูดถึงแม่โดยไม่ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นไม่ได้ คุณแม่ผมท่านสบายดี มีลูกหลานดูแลและได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดิมที่ท่านคุ้นเคย แต่ผมคิดว่าเวลาที่ผมลงชุมชนมีคุณแม่อีกหลายๆ คนต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ มันจึงเป็นเมืองที่ไม่เหมาะกับคนเป็นแม่ 

“เราควรมีเมืองที่อย่างน้อยผู้สูงอายุหกสิบถึงหกสิบห้าปีขึ้นไป ได้มีสวัสดิการที่พอให้ยังชีพได้ เบี้ยตามช่วงอายุตอนนี้ให้เงินแค่หกถึงแปดร้อยบาท มันไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต นอกจากรัฐสวัสดิการ ผู้สูงอายุควรมีความสุข เขาต้องได้อยู่ในบ้านและชุมชนที่คุ้นเคย สำหรับทฤษฎีทางสังคมวิทยาบ่งชี้ว่าผู้สูงอายุชอบอยู่ในย่านที่ตัวเองคุ้นเคย แต่การพัฒนาเมืองของไทย ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากพลัดถิ่น เพราะโครงการพัฒนาเมืองเป็นการพัฒนาที่ทำให้คนถูกพราก จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ไม่ใช่เฉพาะคนจนนะ ถ้าคุณเห็นการเปลี่ยนแปลงกลางเมือง เช่น เวิ้งนาครเขษมหรือสามย่าน ซึ่งเป็นที่ที่คนจีนอยู่ ตรงนั้นเป็นคนชนชั้นกลางด้วยซ้ำ พวกเขาต้องย้ายไปอยู่ชานเมือง ซึ่งก็จะอยู่กันอย่างไม่ค่อยมีความสุข ฉะนั้นการพัฒนาเมือง ต้องคำนึงถึงผู้ที่ยังอาศัยอยู่ในย่านชุมชนของเขาด้วย 

“ผมชอบขายไอเดีย The right to the city คนทุกคนควรมีสิทธิ์ในเมือง นอกจากผู้สูงอายุแล้ว เรายังต้องนึกถึงคนทุกกลุ่ม โครงสร้างของไทยวางแผนด้วยรูปแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ผมแปลกใจมากเวลาเลือกตั้ง กทม. ทีไร กลุ่มผู้หญิงยังต้องออกมารณรงค์เรื่องเมืองปลอดภัยตลอด ตอนผมไปทำงานที่เมืองเกียวโต อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งกลับมาดึกๆ เขาบอกว่าการอยู่กรุงเทพฯ กลับดึกแบบนี้ไม่ได้นะ แต่ที่นี่เดินได้เพราะเมืองปลอดภัย

“สังคมไทยพูดเกรียวกราวว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ที่เราไม่เคยพูดถึงคือการจัดการที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อสังคมรูปแบบนี้ เมืองที่จะเป็นมิตรกับคุณน้า คุณแม่ คุณป้าและคุณยายต้องเป็นเมืองที่ทำให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่ที่ปลอดภัย สังคมอย่างประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเริ่มพูดเรื่องนี้กันแล้ว ในขณะที่บ้านเรา ชนชั้นกลางและผู้มีรายได้ก็จะเลือกไปอยู่หมู่บ้านผู้สูงอายุที่มีระบบบริการดีๆ แต่คนจนยังต้องเสี่ยงกับการปีนบันไดและเสี่ยงกับการลื่นล้มในห้องน้ำ ทั้งที่ในเกาหลีและญี่ปุ่นมีโครงการให้ผู้สูงอายุนำเงินอุดหนุนไปปรับปรุงบ้านให้อยู่ได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย เพราะฉะนั้นจะทำให้เมืองเป็นมิตรกับคุณแม่ก็ต้องมาจากฐานการคิดและสร้างที่อยู่อาศัยหรือเมืองให้เหมาะสมกับคุณแม่ด้วย

“ถ้าให้เลือกเมืองโรลโมเดลที่อยากให้คุณแม่ไปอยู่ คงเป็นเมืองแมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผมเรียนจบจากที่นั่น เป็นเมืองที่น่าอยู่ คนแก่ก็อยู่ได้ อาจารย์ผมคนหนึ่งก็ให้คุณแม่ตัวเองย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวก แวดล้อมเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และมีสวัสดิการระดับหนึ่งที่ไม่แย่ อาจจะมีเมืองอื่นๆ ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุอีกมาก แต่จริงๆ ถ้าคุณมีเงิน คุณจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ในเมืองไทย เรามีเบี้ยยังชีพสำหรับคนชราเฉลี่ยตกวันละยี่สิบบาท เขาจะอยู่ได้ยังไง ผู้สูงอายุที่หาเช้ากินค่ำ ต้องส่งค่าเช่าห้องเดือนละสองพันห้าร้อยบาท มันเป็นชีวิตที่อยู่อย่างยากลำบาก ผมคิดว่าเมืองของเรายังมีคุณแม่และคุณยายที่ลำบากแบบนี้อยู่จำนวนมาก”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.