หลังจากเกิดกระแสร้านชาบูหม่าล่าหม้อไฟและสายพานฮิตขึ้นมาแบบฉุดไม่อยู่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ร้านหม้อไฟสไตล์จีนหลากหลายรูปแบบเต็มเมืองไปหมด
โดยเฉพาะบริเวณห้วยขวางและถนนบรรทัดทองที่มีร้านอาหารทั้งที่เปิดแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจากกลุ่มทุนจีนปะปนกันอยู่ตลอดสองฝั่งถนน จนบางคนถึงกับตั้งฉายาใหม่ให้เป็นไชนาทาวน์แห่งที่ 2 และ 3 ที่ดูเหมือนว่าจะมีแห่งที่ 4 5 หรือ 6 ตามมาในอนาคตอันใกล้
หากรัฐไม่มีมาตรการการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ในอนาคตพื้นที่เหล่านี้อาจเต็มไปด้วยร้านอาหารทุนจีนผิดกฎหมาย เนื่องจากใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการลักลอบเปิด และทำให้ลูกค้าหลงเข้าไปใช้บริการโดยไม่รู้ตัว
เห็นปัญหาแบบนี้แล้ว ถ้าเราอยากกินหม่าล่าขึ้นมา แต่ไม่อยากสนับสนุนร้านอาหารทุนจีนผิดกฎหมาย ต้องทำอย่างไรดี วันนี้ Urban Creature ขอแนะนำวิธีง่ายๆ ในการดูว่าร้านไหนเป็นร้านค้าปลีกที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพากรผ่านบิลใบเสร็จที่เราจะได้รับหลังจากชำระค่าบริการ
🧾 ร้านแบบไหนต้องออกใบเสร็จให้ลูกค้าบ้าง
ปกติแล้วบิลใบเสร็จที่เราได้มาทุกครั้งหลังซื้อของหรือกินอาหาร จะถูกเรียกชื่อเต็มๆ ว่า ‘ใบกำกับภาษีอย่างย่อ’ เป็นเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมีหน้าที่ต้องจัดทำและออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือให้บริการ
โดยกิจการที่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในที่นี้คือกิจการที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะ ‘ขายปลีก’ เช่น ร้านขายยา ร้านขายของชำ หรือห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงกิจการที่ให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม และกิจการประเภทซ่อมแซมทุกชนิดนั่นเอง
ซึ่งใบกำกับภาษีอย่างย่อจะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ผู้ประกอบกิจการยื่น ‘จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม’ และ ‘ยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี’ ต่อ ‘กรมสรรพากร’ เท่านั้น
🧾 ใบเสร็จที่ถูกกฎหมายต้องเป็นอย่างไร
แต่การที่ผู้ประกอบกิจการจะออกใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อให้กับเราได้ ลำพังเพียงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีต่อกรมสรรพากรคงไม่พอ
เพราะใบเสร็จที่พรินต์ออกมาจำเป็นต้องมีลักษณะและองค์ประกอบภายในตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 86/6 ด้วย โดยใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- มีคำว่า ‘ใบกำกับภาษี’ หรือ ‘TAX INV (ABB)’ หรือ ‘TAX INVOICE (ABB)’ ที่เห็นได้เด่นชัด
- มีชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- มีหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- ราคาสินค้าหรือบริการ โดยต้องมีข้อความว่า ‘รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว’ หรือ ‘VAT INCLUDED’ ระบุอย่างชัดเจน
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นๆ ที่อธิบดีกำหนด
อีกหนึ่งข้อสังเกตสำคัญว่าร้านนั้นๆ จดทะเบียนอย่างถูกต้องคือ รายการภายในต้องใช้ภาษาไทย หน่วยเงินตราไทย และตัวเลขไทยหรืออารบิก เว้นแต่กิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีเท่านั้น
🧾 เจอกรณีแบบนี้ หนีการจดภาษีชัวร์
ถ้าเราจ่ายค่าสินค้าหรือบริการไปแล้วได้ใบเสร็จมาในรูปแบบที่ไม่มีข้อใดข้อหนึ่งใน 7 ข้อตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หรือยิ่งไปกว่านั้นคือได้มาเป็นภาษาจีนล้วนๆ จนอ่านอะไรไม่ออก เท่านี้ก็พอจะประเมินสถานการณ์คร่าวๆ ได้เลยว่า ร้านนี้อาจไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางสรรพากรเอาไว้อย่างถูกต้อง หรือที่เรียกง่ายๆ ว่ากำลังหลีกเลี่ยงภาษีอยู่นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้มีรายได้มากอาจไม่เป็นปัญหาใหญ่เท่าไหร่นัก เพราะตามระเบียบของกรมสรรพากร ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มคือผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
แต่กรณีที่จะเป็นปัญหาคือ ร้านขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีรายรับเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่มีองค์ประกอบของใบเสร็จไม่ครบตามเงื่อนไข แล้วยังจะเก็บ VAT 7 เปอร์เซ็นต์จากเราเพิ่มอีก ซึ่งถ้าเราไหวตัวทันและขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบก็กลับไม่ยอมให้ซะอย่างนั้น อันนี้แหละคือปัญหาใหญ่ เพราะแสดงว่าร้านเหล่านี้กำลังทำผิดกฎหมายหลายกระทง ดังต่อไปนี้
- ผู้ประกอบการซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดำเนินกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS) โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ประกอบการที่ไม่ทำใบกำกับภาษีหรือไม่ส่งมอบให้แก่ลูกค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มีรายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเองโดยไม่มีคุณสมบัติในการออก มีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี หรือตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ประกอบการมีเจตนาปลอมใบกำกับภาษี มีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เพียงเท่านี้เราก็สามารถรู้เท่าทันการเปิดร้านค้าปลีกแบบผิดกฎหมาย หรือร้านทุนจีนได้ง่ายๆ ผ่านการดูการออกใบเสร็จของร้านนั้นๆ โดยหากใครพบเห็นการหลีกเลี่ยงภาษี สามารถแจ้งเบาะแสได้ง่ายๆ ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร interapp61.rd.go.th
Sources :
Get Invoice | t.ly/3hzxf
Money Buffalo | t.ly/kYyS
กรมสรรพากร | www.rd.go.th/315.html