‘ตึกร้าง’ มักเป็นสถานที่อันดับต้นๆ ที่ใช้เป็นโลเคชันประจำในรายการแนวลึกลับ กับการเข้าไปทำภารกิจพิสูจน์ความลี้ลับของอาคารเก่าทรุดโทรม ไม่ว่าจะเป็นตึกร้างชื่อดังหรือตึกร้างโนเนม เพราะทุกที่มีเรื่องเล่าทั้งสิ้น
แต่นอกเหนือจากเรื่องผีๆ ที่เชื่อมโยงกับตึกร้างแล้ว ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมกรุงเทพฯ ถึงมีตึกร้างเยอะแยะนัก เพราะไม่ว่าเราจะเดินทางไปย่านไหนก็มักพบเห็นตึกสูงที่ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้แทบทุกที่ ทั้งๆ ที่มีข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในตึกร้างมาให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ
คอลัมน์ Curiocity ชวนมาหาคำตอบถึงเรื่องนี้ พร้อมกับสำรวจว่าการมีอยู่ของตึกร้างพวกนี้ส่งผลเสียอะไรกับเมืองและผู้คนบ้าง
เบื้องหลังตึกสูงที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง
ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟูและพัฒนา ส่งผลให้เกิดโครงการก่อสร้างอาคารจำนวนมากในเมือง โดยส่วนใหญ่เป็นอาคารที่พักอาศัยในทำเลทองต่างๆ เพื่อรองรับการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมือง
แต่ขณะที่การก่อสร้างกำลังดำเนินไป ก็เกิดวิกฤตการเงินปี 2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เศรษฐกิจพังพินาศ สถาบันการเงินหลายแห่งถูกสั่งปิดจนทำให้ต้องยุติการกู้เงิน โครงการก่อสร้างต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยังไม่เสร็จดีก็ตาม ทำให้มีอาคารที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมากกว่า 200 แห่ง
เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี หลายตึกได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นตึกใหม่ใช้งานได้แล้ว แต่บางตึกก็ยังถูกปล่อยทิ้งไว้ด้วยหลายเหตุผล ตั้งแต่ปัญหาเงินทุนที่นายทุนยังไม่สามารถหามาเดินหน้าโครงการต่อได้ การรอเจ้าของคนใหม่มารับช่วงต่อในการก่อสร้าง การฟ้องร้องค่าเสียหายจากการหยุดปล่อยเงินกู้จนผู้รับผิดชอบโครงการไม่สามารถดำเนินการจนแล้วเสร็จได้ ติดคดีความเกี่ยวกับการสร้างอาคารผิดแบบหรือโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง และอีกเหตุผลสำคัญคือค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคารที่อาจสูงกว่าการเดินหน้าสร้างต่อ นายทุนหลายเจ้าจึงเลือกวิธีการปล่อยอาคารทิ้งไว้เฉยๆ ให้เก่าไปตามกาลเวลา ดีกว่าต้องมาเสียเงินก้อนโต
นอกจากนี้ อาคารบางแห่งที่ถูกหน่วยงานรัฐฟ้องร้องเนื่องจากก่อสร้างโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เรายังเห็นตึกร้างเหล่านี้ตั้งตระหง่านอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วเมือง เนื่องจากปัญหาจากการรื้อถอนที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและบริเวณรอบข้าง จนทำให้การรื้อถอนนั้นไม่เสร็จสมบูรณ์เสียที ต้องปล่อยเศษซากอาคารเหลือทิ้งเอาไว้เป็นอนุสรณ์ของความล้มเหลวในที่สุด
ข้อเสียของตึกร้างที่ไม่ใช่แค่บังวิวเมือง
จริงอยู่ที่การอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่นั้น ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ตึกสูงเต็มไปหมด แต่การมองเห็นตึกร้างที่สร้างไม่เสร็จและถูกปล่อยทิ้งให้เสียหายตามกาลเวลา ก็คงทำให้ทัศนียภาพในเมืองของเราต้องสะดุดไปเช่นเดียวกัน
ทว่าไม่ใช่แค่เรื่องการบดบังความสวยงามของวิวเมืองเท่านั้น ตึกร้างยังกลายเป็นพื้นที่อันตรายจากการบุกรุกเข้าพื้นที่ของคนหลายกลุ่ม ทั้งเพื่อจุดประสงค์ท้าพิสูจน์ความลี้ลับ ขึ้นไปชั้นสูงๆ เพื่อบันทึกภาพวิวเมืองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ หรือแม้แต่คนเร่ร่อนที่เข้าไปลงหลักปักฐานเป็นที่พักอาศัย
เนื่องด้วยตัวอาคารที่ยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง ทำให้ยังมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอยู่ เช่น ไม่มีราวระเบียง บันไดเปิดโล่ง หรือกำแพงกั้นพื้นที่แต่ละชั้นที่ยังไม่สมบูรณ์ ฯลฯ จนอาจทำให้คนที่ขึ้นไปตึกนั้นๆ เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ขณะเดียวกัน การที่ตัวตึกไม่ได้มีคนดูแลอยู่ตลอดเวลา หรือไม่มีการสร้างกำแพงกั้นล้อมรอบ ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนนอกเข้าไปในตัวตึกได้อย่างง่ายดาย นอกจากจุดประสงค์ของการบุกรุกที่พูดถึงไปก่อนหน้า ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่อาศัยความเปลี่ยวร้างของตึกเหล่านี้เป็นพื้นที่ก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน จี้ ปล้น หรือแม้แต่กลายเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติดอย่างที่เราเคยเห็นในข่าว
นอกจากนี้ ตึกที่สร้างไม่เสร็จและถูกปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการดูแลก็อาจเสื่อมสภาพ ผุพัง และเสียหายไปตามกาลเวลา แม้ว่าตัวโครงสร้างของตึกจะยังแข็งแรงดีก็ตาม แต่วัสดุอาคารที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษา หรือเครื่องมือก่อสร้างที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ ก็มีโอกาสร่วงหล่นลงมาสร้างความเสียหายให้พื้นที่โดยรอบได้
วิธีการป้องกันอันตรายจากตึกร้าง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ทางรัฐบาลก็ได้มองหาวิธีการช่วยเหลือเจ้าของอาคารและเป็นการลดจำนวนตึกร้างในเมืองลง ด้วยการเปิดโอกาสให้เจ้าของตึกต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคาร เพื่อนำไปขออนุญาตในการก่อสร้างอาคารให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งต้องเป็นอาคารที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2535 – 7 ส.ค. 2543 และหยุดการก่อสร้างไว้
ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา หลังจากที่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารสำหรับอาคารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ พ.ศ. 2552 ที่มีผลบังคับใช้ 5 ปีนั้นหมดอายุไปในปี 2557 ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่เดินหน้าดำเนินงานหรือขายต่อ จนทำให้ในปีนั้นเหลือตึกร้างในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 67 หลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดฯ และอาคารสูง
นอกจากนี้ สำนักการโยธายังเข้าตรวจสอบตึกร้างเพื่อดำเนินการให้เจ้าของพื้นที่ปรับปรุงรั้วรอบอาคาร จัดสายตรวจเทศกิจ และร่วมมือกับตำรวจนครบาลท้องที่ ในการตรวจสอบและปราบปรามเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดอันตรายกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียง และยังมีนโยบายพิจารณาแนวทางการนำอาคารที่ถูกทิ้งร้างในกรุงเทพฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย
ขณะเดียวกัน ทางเจ้าของตึกร้างที่ยังเหลืออยู่ก็ควรให้ความร่วมมือในการดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้าไปใช้สถานที่ เช่น การล้อมรั้วให้มิดชิด เพราะการจ้างคนดูแลอาจไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง หรือหากจับคนที่แอบเข้าไปในตัวตึกได้ ก็ต้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกอย่างจริงจัง เพื่อลดโอกาสเกิดเหตุอาชญากรรม
และคงจะดีไม่น้อยหากเจ้าของตึกร้างร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ปรับปรุงบางส่วนของตึก เพื่อนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ เช่น ปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนโดยรอบ หรือใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ โดยเปิดให้เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัย เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและลดปัญหาอาคารรกร้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม
Sources :
Bangkok Biz News | bit.ly/3Y0n5oe
Post Today | bit.ly/3HQ0FAf
Thairath | bit.ly/3HPWp3F, bit.ly/40jum3U, bit.ly/40n3nV5
สมาคมสถาปนิกสยามฯ | bit.ly/3XYtCj0