A Story of Khlong Saensaep : เรื่องเล่าบน “เรือคลองแสนแสบ” - Urban Creature

เช้าอันเร่งรีบของวันหนึ่งปลายเดือนมิถุนายน ผมตื่นมาตอนประมาณตีห้าครึ่งท่ามกลางความวุ่นวายและจอแจของเมืองหลวง เสียงแรกอันคุ้นเคยหลังจากกลับไปอยู่ต่างจังหวัดเสียนาน คือเสียงปิดฝาถังขยะของพนักงานเก็บขยะที่จะเข้าซอยมาเก็บทุกวันตอนเวลาตีห้าครึ่งพอดี ให้อารมณ์ประมาณเสียงไก่ขันที่บ้านต่างจังหวัดนั่นแหละครับ สาเหตุที่ผมมาโผล่อยู่กรุงเทพฯ เพราะรับงานพิเศษไว้งานนึง มันเป็นงานที่ตกทอดมาจากอาชีพเก่าเมื่อหลายปีก่อน อย่างอาชีพ “สตาฟฟรีแลนซ์”

ผมวางแผนการเดินทางไปทำงานไว้ตั้งแต่คืนก่อน ว่าจะนั่งรถเมล์ไปลงซอยลาดพร้าว 122 แล้วต่อกระป๊อ (รถซูบารุ) ไปลงท่าเรือมหาดไทย เพื่อนั่งเรือด่วนคลองแสนแสบไปยังประตูน้ำ ซึ่งจุดหมายที่ทำงานของผมอยู่แถวนั้น หลังจากที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มานาน ก็เลยออกอาการเงอะๆ งะๆ นิดหน่อยตอนจะขึ้นเรือ ผมขอบอกตรงๆ เลยว่า ‘ถ้าใครไม่ชินกับการขึ้นเรือคลองแสนแสบ มันมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก’ ด้วยความโคลงเคลงของเรือ, ความชันของขอบเรือ และจำนวนคนที่ขึ้น-ลงในแต่ละรอบ มองแล้วแสนจะวุ่นวายน่าดู จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนคนที่ชำนาญอยู่แล้วก็ก้าวขาขึ้นเรืออย่างชิลล์ๆ ครับ สบายๆ เลยล่ะคุณ

ลักษณะของเรือโดยสารนี้จะแบ่งเป็น 3 ตอนคร่าวๆ  คือส่วนที่นั่งด้านหน้า ส่วนยืนตรงกลางระหว่างเครื่องเรือ และส่วนที่นั่งด้านท้าย จากการสังเกตของผม คือพวกที่เก๋าเกมส์หรือพวกที่โดยสารเป็นประจำ มักจะเลือกนั่งส่วนหน้าของเรือกันก่อนจนเต็ม ต่อมาก็ลงมายืนเบียดกันข้างๆ เครื่องเรือในส่วนตรงกลาง และท้ายที่สุดที่กลุ่มคนเก๋าเกมส์จะเลือกคือส่วนท้ายเรือ ทำไมน่ะหรือ? เดี๋ยวผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังก็แล้วกันนะครับ…

| ส่วนด้านหน้าเรือ

เป็นส่วนที่นั่งสบายและปลอดภัยที่สุดแล้วในสายตาผมนะ ด้วยเหตุผลหลายๆ ข้อ เช่น ปลอดภัยจากน้ำที่กระเด็นใส่ซึ่งผมมองว่า ตามสรีระของเรือ บริเวณด้านหน้าจะโดนน้ำกระเด็นใส่น้อยที่สุด ตรงนี้จะไม่ค่อยได้รับมลภาวะใดๆ คนจึงเลือกไปนั่งด้านหน้ากันเยอะจนเต็มเร็วมาก บางทีก็เต็มมาจากท่าแรกที่วัดศรีบุญเรืองโน่นแล้วแหละ

| ส่วนตรงกลาง

เป็นที่ยืนรอบๆ เครื่องเรือที่มีไม้ตีโอบเครื่องเอาไว้ มีเชือกผูกบนหลังคาเพื่อใช้ห้อยโหนทรงตัวในเวลาที่เรือโคลงเคลงตามกระแสน้ำ ตรงนี้เป็นส่วนที่แออัดที่สุดแล้ว เพราะถ้าที่นั่งในส่วนหน้าและส่วนท้ายเต็ม คนก็จะมากองในส่วนนี้กันหมด ตรงนี้เราจะได้ยินเสียงพนักงานเก็บเงินของเรือพูดบ่อยๆ ว่า

“ชิดในหน่อยเพ่ ! ชิดในหน่อยครับ น่ะๆ ตรงนั้นยังว่างเดินเข้าไปเลยครับ”

และวันนั้นผมก็ยืนอยู่ตรงส่วนนี้ พอเรือแล่นมาถึงท่าคลองตันซึ่งเป็นท่าที่คนลงเป็นจำนวนมาก มีอาบังท่านหนึ่งลงแทรกระหว่างคนที่กำลังเบียดจนแทบจะหายใจไม่ออกอยู่แล้วมายืนข้างๆ ผม พร้อมกับยกแขนข้างซ้ายเพื่อจับเชือก แล้วอาบังแกสูงกว่าผมไง ระดับหัวผมเลยไปเท่ากับรักแร้แกพอดิบพอดี จะหันหน้าหนีไปไหนก็ไม่ได้ อื้อหือออ ชั่วโมงนั้นเรียนตามตรงว่าขมคอไปหลายนาทีเลยทีเดียว !

ในส่วนตรงกลางนี้มลภาวะที่ได้รับแบบตรงๆ และเต็มๆ คือเสียงของเครื่องยนต์ ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนกับการที่เราเอาหูไปแนบกับตู้แอมป์กีต้าร์แบบหมุนโวรลุมไปจนสุดพร้อมใช้เอฟเฟคเสียงแตกแบบดิสโทรชั่นน่ะครับ แตกสากๆ หนักๆ กันไป ในแบบที่ว่า ถึงจะใส่หูฟังเปิดเพลงเร่งจนสุดก็เอาไม่อยู่หรอกครับ เสียงลั่นมาก ซึ่งถ้าคุณฟังเพลงแจ๊สอยู่มันจะกลายเป็นแจ๊สร็อคไปในทันทีเลยล่ะ

อีกอย่างสำหรับส่วนนี้นะครับ ถ้าคุณยังไม่เข้าใจคำว่า ”อัดกันจนเป็นปลากระป๋อง” เป็นอย่างไร ส่วนนี้มีคำตอบให้ครับ ต้องลองแล้วคุณจะรู้…

| ส่วนสุดท้าย

คือส่วนท้ายเรือ ตรงนี้เอาจริงๆ มันนั่งสบายมากเลยนะ ช่องระหว่างแถวของที่นั่งค่อนข้างกว้าง ทำให้ไม่เบียดมากนัก แต่มลภาวะร้ายแรงสำหรับส่วนท้ายเรือก็คือ… “ควันเครื่องยนต์ที่ออกมาจากท่อตรงท้ายเรือ” เพราะควันมันจะโฉมงโฉงเฉงทุกครั้งเวลาเรือกำลังเบรคเพื่อจะเข้าเทียบท่า ผมเข้าใจเอาเองนะว่าเวลาเรือบรค คนขับเรือจะใช้วิธีเดินเครื่องถอยหลัง ประมาณว่าหมุนใบพัดกลับไปอีกทาง มันเลยต้องใช้กำลังเครื่องมากเพื่อให้เรือชะลอความเร็ว และเมื่อใช้กำลังมาก ความเหน็ดเหนื่อยของเครื่องยนต์ก็แสดงออกมาในรูปของควันนั่นเอง ผมเคยนั่งตรงส่วนนี้ บอกเลย หายใจไม่ออกจริงๆ คือถ้ามีคุณผู้หญิงที่เพิ่งจะสระผมมาเมื่อเช้าแล้วมานั่งตรงท้ายเรือ รับรองว่าอวสานเลยแหละ หัวเหม็นแน่นอนไม่ต้องห่วง

แต่ด้วยข้อดีของการโดยสารเรือที่มีความคล่องตัวสูงมาก และแล่นไปได้เร็ว ผมจึงประหยัดเวลาในการเดินทางช่วงเวลาเร่งด่วนได้มากโข แถมคลองแสนแสบยังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ครับ เพราะแล่นตัดผ่านทุกแหล่งที่เป็นจุดสำคัญของกรุงเทพฯ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอโศก, ชิดลม, นานา, ประตูน้ำ หรือถ้าจะต่อเรือที่ประตูน้ำก็ไปถึงยันโบ๊เบ๊โน่น และสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เรียกได้ว่าสะดวกสบายมากๆ เลยล่ะครับ

การโดยสารเรือ จำเป็นจะต้องรู้หน้าที่ของตัวเองเช่นกันนะครับ อย่างน้อยเราต้องรู้ว่าท่าที่เราจะลงมันอยู่ฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาของเรือ จะได้พาตัวเองไปอยู่ในฝั่งที่เราจะลง เพื่อให้เป็นภาระของเพื่อนร่วมทางน้อยที่สุด บางคนจะลงฝั่งขวาแต่ดันไปอยู่ฝั่งซ้ายสุด กว่าจะแทรกมาได้นี่เหนื่อยเหมือนกันนะ แต่ก็อย่างว่าแหละว่าบางทีคนมันเต็มจริงๆ การจะเลือกที่ยืนหรือนั่งก็เป็นไปได้ยากเช่นกันนะครับ

และหน้าที่อีกอย่างที่สำคัญมากคือ ตลอดกาบซ้ายและขวาของเรือจะมีเชือกปลายห่วง ที่ทำไว้ให้คนชักดึงผ้าใบด้านข้างเรือนั้นเด้งขึ้นมา เพื่อป้องกันการกระเด็นของน้ำจากภายนอก ซึ่งเวลาเรือแล่นสวนกัน น้ำจะกระเด็นใส่กันตูมตามเลยแหละครับ และก็อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วถึงสภาพน้ำในคลองแสนแสบ เป็นที่รู้กันว่าใครที่ยืนหรือนั่งตรงจุดนั้นเนี่ยจะต้องดึงเวลาที่เรือแล่น และจะต้องปล่อยในเวลาที่เรือเทียบท่า จนกว่าคนดึงขึ้นท่าไปแล้วคนใหม่มาดึงแทน เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ซึ่งผมมองว่ามันเป้นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการนั่งเรือคลองแสนแสบเลยล่ะ

อีกหนึ่งอย่างที่ผมชอบเป็นพิเศษในการโดยสารเรือก็คือ การส่งซิกเป็นภาษานิ้วเวลาจ่ายเงินค่าโดยสาร บางคนชูสองนิ้ว บางคนชูสามนิ้ว บางคนชูห้านิ้วแล้วจ่ายเงิน คนเก็บเงินก็จะฉีกตั๋วมาให้ เป็นอันรู้กันว่าลงไหนต้องเก็บเท่าไหร่ ตรงนี้ผมไม่เคยสอบถามใครเลยนะครับว่าเค้าเข้าใจกันแบบไหน สองนิ้วกี่บาทสามนิ้วกี่บาท และห้านิ้วล่ะกี่บาท ส่วนผมน่ะเหรอ เวลาคนเก็บเงินเดินมาเก็บผมจะตะโกนลั่นๆ แข่งกับเสียงเครื่องยนต์เรือเลยว่า… ”ประตูน้ำ !!!!” เป็นอันจบ

ผมชอบสังเกตผู้คน ผมชอบเห็นความเร่งรีบ และความเชื่องช้าของภาวะรอบข้าง ผมชอบอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นไปตลอดเวลา เพื่อซึมซับวิถีและบรรยากาศ รวมไปถึงอารมณ์ต่างๆ ณ ขณะนั้นด้วย

“มันน่าหลงใหลนะ การเฝ้าสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนผ่านเราไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตก็ตาม เพราะทุกสิ่งในโลกล้วนมีวิถีของตัวเอง และเชื่อมโยงถึงกันอยู่ตลอดเวลา”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.